พระยาอู่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาอู่
ဗညာဥူ
กษัตริย์แห่งเมาะตะมะ–หงสาวดี
ครองราชย์ค.ศ. 1348 – 2 มกราคม ค.ศ. 1384
ก่อนหน้าพระยาอายลาว
ต่อไปพระเจ้าราชาธิราช
มุขมนตรีแพรจอ (1348–1369)
สมิงชีพราย (1370s–1384)
ประสูติป. พฤศจิกายน ค.ศ.1323
ป. เดือนนะดอ จ.ศ. 685
เมาะตะมะ
อาณาจักรเมาะตะมะ
สวรรคต2 มกราคม ค.ศ. 1384 (60 พรรษา)
วันเสาร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนตะโปแตฺว จ.ศ. 745
พะโค
หงสาวดี (อาณาจักรหงสาวดี)
ชายานางจันทะมังคะละที่ 2
นางอำเตียว
นางมหาจันทเทวี
นางราชเทวี
พระนางสิริมายาเทวี
พระราชบุตร
รายละเอียด
ตะละแม่ศรี
พระเจ้าราชาธิราช
ตะละแม่ท้าว
พ่อขวัญเมือง
ราชวงศ์พระเจ้าฟ้ารั่ว
พระราชบิดาพระเจ้ารามมะไตย
พระราชมารดานางจันทะมังคะละ
ศาสนาพุทธเถรวาท

พระยาอู่ (มอญ: ဗညာဥူ; พม่า: ဗညားဦး; อักษรโรมัน: Binnya U; ค.ศ. 1323–1384) พระนามอย่างเป็นทางการว่า พระเจ้าช้างเผือก (พม่า: ဆင်ဖြူရှင်; อักษรโรมัน: Hsinbyushin) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรหงสาวดีตั้งแต่ ค.ศ. 1348 ถึง ค.ศ. 1384 รัชกาลของพระองค์มีความวุ่นวายภายในและภายนอก เช่น จากกบฏ และการรุกรานจากล้านนา ซึ่งพระองค์ทรงผ่านมาได้ด้วยดีจนถึง ค.ศ. 1364 นับแต่นั้นเป็นต้นมา ขอบอำนาจของพระองค์กินพื้นที่เพียงภูมิภาคหงสาวดี แต่ก็เป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดในทางยุทธศาสตร์ในบรรดาภูมิภาคทั้งสามของอาณาจักร นอกจากนี้ พระองค์ยังประชวรบ่อยครั้ง ทำให้ทรงอาศัยพระพี่นาง คือ พระมหาเทวี (Maha Dewi) ว่าราชการแทนเป็นนิจ ครั้น ค.ศ. 1383 พระองค์ทรงมอบหมายพระราชอำนาจทั้งปวงให้แก่พระมหาเทวีอย่างเป็นทางการ เนื่องจากพระราชโอรสพระองค์โต คือ พระยาน้อย (Binnya Nwe) ทรงเป็นกบฏ แต่เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว พระยาน้อยก็สืบราชสมบัติต่อมาเป็นพระเจ้าราชาธิราช (Razadarit)

ในหน้าประวัติศาสตร์พม่า พระยาอู่ทรงเป็นที่จดจำในฐานะที่เป็นพระบิดาของพระเจ้าราชาธิราช ส่วนมรดกตกทอดจากรัชกาลของพระองค์ คือ การที่เมืองหงสาวดีสามารถตั้งตัวเป็นศูนย์อำนาจแห่งใหม่ในเขตพม่าตอนล่างแทนเมาะตะมะ และอยู่ในสถานะนั้นต่อไปจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16

ต้นพระชนม์[แก้]

พระยาอู่ประสูติเมื่อราวปลาย ค.ศ. 1323[note 1] เป็นพระโอรสพระองค์เดียวของพระยารามมะไตย (Binnya Ran De) พระมหากษัตริย์แห่งหงสาวดีซึ่งตั้งเมืองหลวงอยู่เมาะตะมะ กับพระนางจันทะมังคละ (Sanda Min Hla) ผู้เป็นพระมเหสี พระยาอู่มีพระพี่นางสองพระองค์ คือ เม้ยเน (Mwei Ne) ซึ่งสิ้นพระชนม์แต่ยังเยาว์ กับเม้ยนะ (Mwei Na) ซึ่งภายหลังได้พระนามใหม่ว่า พระมหาเทวี นอกจากนี้ พระยาอู่มีพระอนุชาสองพระองค์ซึ่งร่วมพระบิดากัน คือ มิฉาน (Mi Ma-Hsan) กับมังลังกา (Min Linka)[1]

ด้วยสถานะดังกล่าว พระยาอู่จึงเป็นที่คาดหมายว่า จะได้สืบราชสมบัติต่อจากพระบิดา แต่เมื่อพระบิดาถูกปลงพระชนม์ใน ค.ศ. 1330 พระมารดา คือ พระนางจันทะมังคละ ก็ทรงยึดอำนาจและตั้งพระเชษฐาของพระนางเอง คือ พระยาอายลาว (Binnya E Law) ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ และตั้งตนเองเป็นพระมเหสีของพระเชษฐา เพื่อจะได้อยู่ในอำนาจต่อไป[2] ทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองเรื่องผู้ใดจะสืบราชสมบัติต่อจากพระยาอายลาว ระหว่างพระยาอายลอง (Binnya E Laung) พระโอรสของพระยาอายลาว กับพระยาอู่ พระโอรสของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน ความตึงเครียดดังกล่าวยิ่งทวีขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1340 เมื่อพระพลานามัยของพระยาอายลาวทรุดโทรมลงตามลำดับ จนที่สุดแล้ว พระยาอายลองกับพระยาอู่ก็กระทำยุทธหัตถีกัน และพระยาอู่ทรงมีชัยเหนือพระยาอายลอง ทำให้พระยาอายลาวพิโรธและรับสั่งให้จับพระยาอู่ไปฆ่า[3] แต่พระนางจันทะมังคละทรงห้ามไว้ พระยาอายลาวจึงทรงให้ปล่อยพระยาอู่ ไม่นานหลังจากนั้น พระยาอายลองสิ้นพระชนม์เพราะไข้ทรพิษ จึงเหลือพระยาอู่เป็นผู้มีสิทธิขึ้นสืบราชบัลลังก์แต่ผู้เดียว ครั้น ค.ศ. 1348 พระยาอายลาวสิ้นพระชนม์ พระยาอู่ขณะนั้นมีพระชนม์ 25 ชันษา จึงได้สืบราชสมบัติต่อ[4][5]

เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว พระยาอู่มีพระนามว่า "พระเจ้าช้างเผือก" เพราะทรงครอบครองช้างเผือกหนึ่งช้าง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลแห่งความเป็นราชาในคติพม่า[4]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. พงศาวดาร Razadarit Ayedawbon (Pan Hla 2005: 161) ว่า พระยาอู่สิ้นพระชนม์ในวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน Tabodwe จ.ศ. 745 (ตรงกับวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1384) พระชนม์ได้ 60 ปี แสดงว่า พระองค์ประสูติ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน Tabodwe จ.ศ. 684 (ตรงกับวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1323) ถึงวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน Tabodwe จ.ศ. 685 (ตรงกับวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1324) อนึ่ง พงศาวดารนี้บอกว่า (Pan Hla 2005: 40) เมื่อพระยาอู่ประสูตินั้น พระบิดาของพระยาอู่ได้ขึ้นครองราชย์แล้ว และบอก (Pan Hla 2005: 41) อีกว่า พระบิดาขึ้นครองราชย์ในเดือน Thadingyut จ.ศ. 685 (ตรงกับช่วงวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1323 ถึงวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1323) ข้อมูลทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า พระยาอู่จะต้องประสูติ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงเดือน Thadingyut (ตรงกับเดือนกันยายน ค.ศ. 1323) จนถึงวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน Tabodwe จ.ศ. 685 (ตรงกับวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1324)

อ้างอิง[แก้]

  1. Pan Hla 2005: 40
  2. Pan Hla 2005: 41–42
  3. Pan Hla 2005: 43
  4. 4.0 4.1 Pan Hla 2005: 44
  5. Phayre 1967: 67