ข้ามไปเนื้อหา

พรรคธรรมสังคม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พรรคธรรมสังคม
หัวหน้าทวิช กลิ่นประทุม
รองหัวหน้าสุรินทร์ เทพกาญจนา
ทองหยด จิตตวีระ
นิพนธ์ ศศิธร
เลขาธิการพันตำรวจโท บุญเลิศ เลิศปรีชา
ก่อตั้ง20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517
ถูกยุบพ.ศ. 2519
ที่ทำการ61 ถนนเกษมราษฎร์ แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพฯ
การเมืองไทย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

พรรคธรรมสังคม เป็นพรรคการเมืองในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 เป็นพรรคการเมืองลำดับที่ 12/2517 มีนายทวิช กลิ่นประทุม เป็นหัวหน้าพรรค และมีพันตำรวจโท บุญเลิศ เลิศปรีชา เป็นเลขาธิการพรรค[1]

คณะกรรมการบริหารพรรค

[แก้]

คณะกรรมการบริหารพรรคชุดแรก ประกอบด้วย

บทบาททางการเมือง

[แก้]

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2518

[แก้]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2518 พรรคธรรมสังคม ได้รับเลือกตั้งในสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 45 ที่นั่ง เป็นลำดับที่ 2 รองจากพรรคประชาธิปัตย์[2] ซึ่งหลังเลือกตั้ง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 35 โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคเกษตรสังคม และพรรคแนวร่วมสังคมนิยม แต่ได้คะแนนเสียงสนับสุนนเพียง 103 คน ไม่ถึงครึ่งของสภา (135 คน)

รัฐธรรมนูญสมัยนั้น กำหนดว่า การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อถึงวันแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภา วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2518 ปรากฏว่า รัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 111 เสียง ถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร หม่อมราชวงศ์เสนีย์ และพรรคประชาธิปัตย์ จึงแสดงความรับผิดชอบ โดยการลาออก และสละสิทธิ์การตั้งรัฐบาล

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมี ส.ส.ในสภาเพียง 18 เสียง สามารถรวบรวม ส.ส.พรรคต่าง ๆ รวม 8 พรรค ได้ 135 เสียง เท่ากับครึ่งหนึ่งพอดี ซึ่งพรรคธรรมสังคม ได้เข้าร่วมในการสนับสนุน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จัดตั้งรัฐบาลด้วย โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีเสียงมากที่สุด 74 เสียง กลายเป็นฝ่ายค้าน ในครั้งนั้นพรรคธรรมสังคม ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี 9 ตำแหน่ง คือ

  • ทวิช กลิ่นประทุม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • ทองหยด จิตตวีระ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • นิพนธ์ ศศิธร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  • ประชุม รัตนเพียร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • สุรินทร์ เทพกาญจนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
  • พลโท ชาญ อังศุโชติ เป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ
  • เรืออากาศตรี บุญยง วัฒนพงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
  • พันตำรวจโท บุญเลิศ เลิศปรีชา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • สุวรรณ ธนกัญญา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายบุญส่ง สมใจ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2519

[แก้]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2519 พรรคธรรมสังคม ได้รับที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 28 ที่นั่ง เป็นลำดับที่ 4 ของจำนวนพรรคการเมืองทั้งหมด รองจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคกิจสังคม

พรรคธรรมสังคม มี ส.ส. ทั่วทุกภาคของประเทศ ยกเว้นเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้รับที่นั่งทั้งหมด โดยภาคอีสานมีจำนวนมากที่สุด 12 ที่นั่ง ภาคเหนือ 5 ที่นั่ง ภาคตะวันตก 4 ที่นั่ง ภาคตะวันออกและภาคกลาง ภาคละ 3 ที่นั่ง และภาคใต้ 1 ที่นั่ง

หลังการเลือกตั้งได้มีการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพรรคธรรมสังคมได้เข้าร่วมรัฐบาล และมีสมาชิกของพรรคได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี อาทิ พลอากาศเอก ทวี จุลทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ ทวิช กลิ่นประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นิพนธ์ ศศิธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชุบุรี เป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เป็นต้น

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2522

[แก้]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2522 พรรคธรรมสังคม มีสามาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 1 คน คือ อัมพล จันทรเจริญ จากจังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น

ยุบพรรค

[แก้]

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 6 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พุทธศักราช 2517 มีผลให้บรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่เป็นอันสิ้นสุดลง [3] ในปี พ.ศ. 2522 ได้จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง พรรคธรรมสังคม จึงดำเนินกิจกรรมในฐานะเป็น "กลุ่มการเมืองธรรมสังคม" ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 ยกเลิกคำสั่งฉบับดังกล่าว [4] ส่งผลให้ทุกพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 ยังคงดำรงอยู่เหมือนเดิม

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งพรรคการเมือง เก็บถาวร 2011-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 193 วันที่ 18 กันยายน 2517
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-09-21. สืบค้นเมื่อ 2020-05-12.
  3. คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 6
  4. พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524