พรรคเสรีนิยม (ประเทศไทย พ.ศ. 2525)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พรรคเสรีนิยม
หัวหน้าพันเอก ณรงค์ กิตติขจร
ก่อตั้ง16 กันยายน พ.ศ. 2525
ถูกยุบ17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 (10 ปี 62 วัน)
ที่ทำการ231สุขุมวิท 55 ถนนสุขุมวิท เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร
สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2529
1 / 347
สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2531
3 / 357
การเมืองไทย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

พรรคเสรีนิยม พรรคการเมืองของไทยในอดีตซึ่งได้จดทะเบียนก่อตั้งตาม พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2525 [1] เป็นลำดับที่ 12/2525 พร้อมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ อีก 7 พรรคอาทิ พรรคประชากรไทย พรรคประชาราษฎร์ พรรคพลังใหม่ พรรคชาติประชาธิปไตย พรรคกิจสังคม พรรคแรงงานประชาธิปไตย และ พรรคสังคมประชาธิปไตย มีหม่อมราชวงศ์เศรณีพรหม กมลาสน์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรกและนายมารุต ชาญณรงค์ รองหัวหน้าพรรคเป็นเลขาธิการพรรคคนแรก

คณะกรรมการบริหารพรรค[แก้]

ในระยะแรกของการจัดตั้งพรรคเสรีนิยม มีหม่อมราชวงศ์เศรณีพรหม กมลาสน์ เป็นหัวหน้าพรรค และ มารุต ชาญณรงค์ เป็นรองหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2529 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มี ปรีดา พัฒนถาบุตร เป็นหัวหน้าพรรค[2] สำหรับเลขาธิการพรรคยังคงเดิม พร้อมกับเปลี่ยนแปลงที่ทำการพรรค

หลัง การเลือกตั้ง 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ทางพรรคเสรีนิยมได้ทำการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่โดยได้ พันเอก ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของ จอมพลถนอม กิตติขจร และบุตรเขยของ จอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งเป็นอดีต ส.ส. อยุธยา จาก พรรคชาติไทย เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และมี ชลินทร์ เผ่าวิบูลย์ เป็นเลขาธิการพรรค[3]

ในปี พ.ศ. 2531 ชลินทร์ เผ่าวิบูลย์ ลาออกจากสมาชิกพรรค[4] และในปีถัดมาได้แต่งตั้ง สุรศักดิ์ ฉวีวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค และยังปรากฏชื่อ สอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ ดารานักแสดงชื่อดัง แคล้ว ธนิกุล โปรโมเตอร์มวยชื่อดังและ เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง เป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย[5]

ในปี พ.ศ. 2535 พันเอก ณรงค์ กิตติขจร หัวหน้าพรรค และ สุรศักดิ์ ฉวีวงศ์ เลขาธิการพรรค ลาออกจากสมาชิกพรรค จึงได้แต่งตั้ง ร้อยเอก ตราชู บริสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรค รักษาการหัวหน้าพรรค[6]

การเลือกตั้ง[แก้]

ใน การเลือกตั้ง 18 มีนาคม พ.ศ. 2526 พรรคเสรีนิยมได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกปรากฏว่าทางพรรคไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว

ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2529 ได้รับเลือกตั้ง 1 ที่นั่ง คือ พันเอก ณรงค์ กิตติขจร จากนั้นใน การเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 พรรคเสรีนิยมได้ ส.ส. เข้าสภาทั้งสิ้น 3 คน

การยุบพรรค[แก้]

พรรคเสรีนิยม ถูกยุบเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2536 ตามคำสั่ง ศาลฎีกา ที่ 3671/2535 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 [7] เนื่องจากไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งใน การเลือกตั้ง 22 มีนาคม พ.ศ. 2535

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอน 154 ก พิเศษ หน้า 1 20 ตุลาคม พ.ศ. 2525
  2. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยอมรับการเปลี่ยนแปลงของพรรคเสรีนิยม ตามนัยมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๒๔ [เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จำนวน ๑๑ คน และเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานใหญ่]
  3. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยอมรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคเสรีนิยม ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 103 ตอน 163 ก พิเศษ หน้า 4 22 กันยายน พ.ศ. 2529
  4. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคเสรีนิยมเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค
  5. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคเสรีนิยมเปลี่ยนแปลงภาพเครื่องหมายพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค
  6. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคเสรีนิยมเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค
  7. ประกาศสำนักงานนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การยุบเลิกพรรคการเมือง (จำนวน 10 พรรค) เก็บถาวร 2018-03-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอน 39 ง หน้า 31 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2537