พรรคมาตุภูมิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พรรคมาตุภูมิ
หัวหน้าพลเอก ดร.สนธิ บุญยรัตกลิน
รองหัวหน้า
เลขาธิการอุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา
รองเลขาธิการพลตรี วีระศักดิ์ นาทะสิริ
เหรัญญิกปรียาภา แสงสุรินทร์
นายทะเบียนสมาชิกอรรฆชัย ตระการศาสตร์
โฆษกพิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร
กรรมการบริหารพีรเดช โสมกุล
นโยบายสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ ธำรงไว้ซึ่งศาสนา พิทักษ์และเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งปกปักษ์และส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ ตลอดจนจะยึดมั่นในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนคนไทย[1]
คำขวัญรักมาตุภูมิ เทิดทูนคุณธรรม
ก่อตั้ง3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
ถูกยุบ27 ธันวาคม 2561 (10 ปี 54 วัน)
รวมตัวกับพรรคชาติไทยพัฒนา
พรรคประชาชาติ
แยกจากพรรคเพื่อแผ่นดิน
พรรคเพื่อไทย (กลุ่มวาดะห์)
ที่ทำการ190/4 ถนนรัชดา-รามอินทรา แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์
พรรคมาตุภูมิ
การเมืองไทย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

พรรคมาตุภูมิ (อังกฤษ: Matubhum Party) เป็นพรรคการเมืองในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยมีชื่อเดิมว่า "พรรคราษฎร" และเริ่มมีบทบาททางการเมืองในช่วงปลายปี พ.ศ. 2551 ภายหลังการเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคของกลุ่มวาดะห์ และกลุ่มปากน้ำ นำโดยนายวัฒนา อัศวเหม และ พลเอก ดร.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าพรรค

ประวัติ[แก้]

พรรคมาตุภูมิ หรือพรรคราษฎร ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เดิมชื่อพรรคราษฎร และเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น พรรคมาตุภูมิ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552[2] ในระยะแรกพรรคราษฎร ยังไม่มีบทบาททางการเมือง เนื่องจากไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัด

ต่อมากิจการของพรรคมาตุภูมิ ได้ถูกรื้อฟื้นอีกครั้ง ในปลายปี พ.ศ. 2551 ภายหลังคดียุบพรรคใหญ่หลายพรรค ดร.มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมด้วยสมาชิก ส.ส.กลุ่มวาดะห์ และกลุ่มปากน้ำของนายวัฒนา อัศวเหม ย้ายเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรค[3] จากนั้นได้มีการเชิญ พลเอก ดร.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. เป็นประธานพรรค[4] และรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคในเวลาต่อมา[5] โดยมี ดร.มั่น พัธโนทัย เป็นเลขาธิการพรรค

ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ที่ประชุมใหญ่ได้มีมติเลือกพลเอก ดร.สนธิ บุณยรัตนกลิน เป็นหัวหน้าพรรค และนายอุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา เป็นเลขาธิการพรรค[6]

ในปี พ.ศ. 2561 พรรคมาตุภูมิถูกยุบเนื่องจากไร้ผู้สนับสนุนพรรคที่เข้มแข็ง และ พลเอก ดร.สนธิ บุญยรัตกลินได้แก้ปัญหาโดยการนำสมาชิกพรรคที่เหลือเข้าร่วมพรรคชาติไทยพัฒนา[7][8] โดยพรรคมาตุภูมิได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งที่ประชุมมีมติเลิกพรรคมาตุภูมิและได้ส่งเรื่องให้ กกต. พิจารณาซึ่งที่ประชุม กกต. ครั้งที่ 70/2561 (34) วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เห็นชอบให้ยุบเลิกพรรคมาตุภูมิพร้อมกับพรรคการเมืองอีก 2 พรรคคือ พรรคเสรีนิยม และ พรรคพลังพลเมือง โดยได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอน 111 ก หน้า 1 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ประวัติการทำงานในรัฐสภา[แก้]

ครั้งที่ การเลือกตั้ง จำนวน ส.ส. สถานภาพพรรค นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ
1. - 3 คน ร่วมรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย้ายจากพรรคพลังประชาชน 4 คน
2. 2554 2 คน ฝ่ายค้าน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2551[แก้]

การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในประเทศไทย ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างลง เนื่องจากวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ที่ประชุมได้เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเพื่อให้สมาชิกลงมติเลือก จำนวน 2 คน คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.สัดส่วน กลุ่มจังหวัดที่ 6 หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก ส.ส.สัดส่วน กลุ่มจังหวัดที่ 3 ว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ผลการลงมติในครั้งนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคมาตุภูมิ ทั้ง 3 คน ลงมติสนับสนุนพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก เป็นนายกรัฐมนตรี

การเข้าร่วมรัฐบาลอภิสิทธิ์[แก้]

ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมรัฐบาล (พรรคเพื่อแผ่นดิน) บางส่วนลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากพรรคภูมิใจไทย ให้ขับพรรคเพื่อแผ่นดินออกจากการร่วมรัฐบาล ทำให้นายกรัฐมนตรี ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยการตัดโควตารัฐมนตรีของกลุ่ม ส.ส. พรรคเพื่อแผ่นดิน และดึงพรรคมาตุภูมิมาเข้าร่วมรัฐบาลแทน ซึ่งรัฐมนตรีในโควตาของพรรคมาตุภูมิ คือ ดร.มั่น พัธโนทัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (แทนนายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์)

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2554[แก้]

พรรคมาตุภูมิ เข้าร่วมเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2555 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคมาตุภูมิ ได้ลงมติไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ซึ่งเป็นการลงมติที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน

บุคคลสำคัญและ ส.ส. ของพรรค[แก้]

คณะกรรมการบริหารพรรค[แก้]

  1. พลเอก ดร.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรค
  2. พลเอก ภิญโญ แก้วปลั่ง รองหัวหน้าพรรค
  3. ร้อยตรี วัฒนา แก้วศิริ รองหัวหน้าพรรค
  4. ดร.มั่น พัธโนทัย รองหัวหน้าพรรค
  5. วันมูหะมัดนอร์ มะทา รองหัวหน้าพรรค
  6. นาย อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา เลขาธิการพรรค
  7. พลตรี วีระศักดิ์ นาทะสิริ รองเลขาธิการพรรค
  8. นาง ปรียาภา แสงสุรินทร์ เหรัญญิกพรรค
  9. นาย พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร โฆษกพรรค
  10. นาย อรรฆชัย ตระการศาสตร์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค
  11. นาย พีรเดช โสมกุล กรรมการบริหารพรรค

อ้างอิง[แก้]

  1. "นโยบายพรรคมาตุภูมิ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-15. สืบค้นเมื่อ 2010-04-02.
  2. "ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคราษฎร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-07. สืบค้นเมื่อ 2011-02-09.
  3. พรรคมาตุภูมิ ได้ถูกรื้อฟื้นอีกครั้ง
  4. มติพรรคมาตุภูมิเชิญ บิ๊กบัง นั่งหัวหน้า
  5. ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ เก็บถาวร 2011-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนณ วันที่ 8 มีนาคม 2554
  6. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และกรรมการบริหารพรรคมาตุภูมิ (จำนวน ๖ ราย)
  7. "บิ๊กบัง"ส่อยุบพรรคมาตุภูมิ ปมขาดผู้สนับสนุนพรรค
  8. บิ๊กบัง โผล่ซบ ‘ชาติไทยพัฒนา’ โผไม่พลิก กัญจนา ศิลปอาชา นั่งหัวหน้าพรรค[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]