แฟนพันธุ์แท้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แฟนพันธุ์แท้
ประเภทเกมโชว์
สร้างโดยประภาส ชลศรานนท์
พัฒนาโดยบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)
เสนอโดยดูในบทความ
ผู้ประพันธ์ดนตรีแก่นเรื่องO Verona (Craig Armstrong)[ต้องการอ้างอิง]
ดนตรีแก่นเรื่องเปิด"Fan of the Year 2001-2012"
ประเทศแหล่งกำเนิดประเทศไทย
ภาษาต้นฉบับไทย
จำนวนฤดูกาล15
จำนวนตอน>444
การผลิต
สถานที่ถ่ายทำสตูดิโอกรุงเทพ (2543-2548)
เวิร์คพอยท์สตูดิโอ (2549-2565)
ความยาวตอนดูในบทความ
ออกอากาศ
เครือข่ายสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
ช่องเวิร์คพอยท์
ออกอากาศดูในบทความ

แฟนพันธุ์แท้ เป็นรายการเกมโชว์ควิซโชว์ที่ส่งเสริมความรู้ ความรัก ความคลั่งไคล้ และแสดงถึงอัจฉริยภาพในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สิ่งของ สถานที่ วัฒนธรรม วรรณกรรม และเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยการแข่งขันเรื่องราวนั้น ๆ ผลิตรายการโดย บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เริ่มออกอากาศครั้งแรกทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2543 ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2558 จะย้ายช่องทางการออกอากาศมายังช่องเวิร์คพอยท์ และมีการปรับรูปแบบการแข่งขันตามความเหมาะสม

ประวัติ[แก้]

แฟนพันธุ์แท้มีไอเดียตั้งต้นจากการที่ ประภาส ชลศรานนท์ รองประธานบริษัทเวิร์คพอยท์ ได้ยินซูโม่ขิ่ม กฤษณ์ชัย ศิลป์วิสุทธิ์ เพื่อนร่วมรุ่นที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าเรื่องสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลที่เขาคลั่งไคล้ได้อย่างสนุกสนานและตื่นเต้น จึงเกิดความคิดในการนำเรื่องราวของกลุ่มแฟนคลับต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว มานำเสนอในรูปแบบเกมโชว์[1]

แฟนพันธุ์แท้เริ่มออกอากาศครั้งแรกทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2543[2] ในตอน คาราบาว มีพิธีกรคู่แรกคือ ปัญญา นิรันดร์กุล และ ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม (สังข์ 108 มงกุฎ) แต่ตั้งแต่เทปที่ 2 เป็นต้นมาทางรายการเหลือพิธีกรเพียงคนเดียวคือปัญญา[ต้องการอ้างอิง]

ปี พ.ศ. 2552 รายการแฟนพันธุ์แท้ได้ยุติการออกอากาศ เนื่องจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ยกเลิกสัญญา[ต้องการอ้างอิง]

ปี พ.ศ. 2555 รายการแฟนพันธุ์แท้กลับมาออกอากาศอีกครั้งหลังในรอบเกือบ 3 ปี ทางช่องเดิม โดยเปลี่ยนผู้ดำเนินรายการเป็น กฤษณ์ ศรีภูมิเศรษฐ์ เริ่มออกอากาศเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ต่อจากรายการ SME ตีแตก[3]

ปี พ.ศ. 2558 รายการแฟนพันธุ์แท้ย้ายมาออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ และเปลี่ยนรูปแบบเป็นเทปพิเศษออกอากาศในวันหยุดนักขัตฤกษ์แทน

ปี พ.ศ. 2559 รายการแฟนพันธุ์แท้กลับมาออกอากาศอีกครั้งในชื่อใหม่ว่า แฟนพันธุ์แท้ ซูเปอร์แฟน ได้เปลี่ยนผู้ดำเนินรายการอีกครั้งเป็น กันต์ กันตถาวร โดยเริ่มออกอากาศในวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ทางช่องเวิร์คพอยท์

ปี พ.ศ. 2561 รายการแฟนพันธุ์แท้กลับมาออกอากาศอีกครั้งในรูปแบบเดิม และกันต์ได้รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการอีกครั้ง โดยเริ่มออกอากาศในวันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ทางช่องเวิร์คพอยท์

ปี พ.ศ. 2566 รายการแฟนพันธุ์แท้กลับมาออกอากาศอีกครั้งในชื่อใหม่ว่า แฟนด้อมพันธุ์แท้ เป็นการปรับเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย และกันต์ได้รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการอีกครั้ง โดยเตรียมออกอากาศเทปแรกในวันที่ 25 ตุลาคม[4]

รายชื่อพิธีกร[แก้]

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รายการแฟนพันธุ์แท้มีการเปลี่ยนแปลงพิธีกรดังนี้

พิธีกรหลัก
ผู้ช่วยพิธีกร
  • ศิริลักษณ์ คิดชอบ (15 กันยายน พ.ศ. 2543 — 3 เมษายน พ.ศ. 2552)
  • สาริกา เลิศธนะแสงทอง (3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 — 2561)
ชื่อรายการ
  • แฟนพันธุ์แท้ (พ.ศ. 2543 - 2558 , พ.ศ. 2561) : รายการเป็นลักษณะยาวออกอากาศทั้งปี
  • แฟนพันธุ์แท้ ซูเปอร์แฟน (พ.ศ. 2559 - 2560) : รายการเป็นลักษณะเป็นซีซันจบภายใน 4 - 5 เดือน
  • แฟนพันธุ์แท้ สเปเชี่ยล (พ.ศ. 2565) : รายการเป็นลักษณะออกอากาศเฉพาะกิจเท่านั้น
  • แฟนด้อมพันธุ์แท้ (พ.ศ. 2566)

กติกาแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์[แก้]

ปี 2000-2001[แก้]

รอบที่ 1 : ตอบคำถาม
ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 5 คน ฟังคำถามจากพิธีกร จากนั้นต้องกดรัวปุ่มไฟเพื่อชิงสิทธิในการตอบคำถามนั้น โดยจะมีทั้งหมด 4 รอบ หากผู้เข้าแข่งขันกดไฟได้และตอบถูกจะได้เข้ารอบต่อไปทันที หากตอบผิด ผู้เข้าแข่งขันที่เหลือจะได้สิทธิ์ในการกดไฟเพื่อตอบคำถามข้อนั้นแทน ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนได้ผู้เข้าแข่งขันที่เข้ารอบ 4 คน ถ้าหากมีผู้เข้าแข่งขันไม่ต่ำกว่า 2 คน ไม่สามารถตอบคำถามถูกภายใน 4 รอบจะมีคำถามรอบพิเศษให้ผู้เข้าแข่งขันได้เล่น
รอบที่ 2 : ตัดเชือก
แบ่งผู้เข้าแข่งขันออกเป็น 2 คู่ คู่ละ 2 คน แข่งเกมต่าง ๆ แล้วแต่เรื่อง โดยในเทปแรกให้ผู้เข้าแข่งขันจับคู่กันเอง ในเทปหลังจะให้ผู้เข้าแข่งขันคนแรกที่เข้ารอบจับคู่แข่งกับคนสุดท้ายที่เข้ารอบ และในอีกคู่จะให้ผู้เข้าแข่งขันคนที่สองที่เข้ารอบจับคู่กับผู้เข้าแข่งขันคนที่สามที่เข้ารอบ โดยสลับกันเล่นเกมตามหมายเลขของผู้เข้าแข่งขันที่จับคู่กัน ใครได้ 2 ใน 3 คะแนนก่อน จะได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ (แต่มีบางครั้งที่จะแบ่งเป็น 2 คู่ แล้วให้ทั้ง 2 คู่แข่งกันเอง คู่ใดได้ 2 ใน 3 คะแนนก่อนจะได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ)
รอบที่ 3 : ชิงชนะเลิศ
มีคำถาม 8 ชุด ชุดละ 2 ข้อ (คำถามเหลือง-แดง) ในเทปแรกให้ผู้เข้าแข่งขันตัดสินใจเองว่าจะเล่นคำถามเหลือง หรือ คำถามแดง ในเทปหลังจะเรียงตามลำดับสายการเล่นของรอบตัดเชือก โดยผลัดกันให้ผู้เข้าแข่งขัน 2 คนเลือกชุดคำถามแล้วตอบ โดยผู้เข้าแข่งขันที่เป็นคนเลือกชุดคำถามจะได้ตอบคำถามสีเหลือง ส่วนอีกคนจะได้ตอบคำถามสีแดง ถ้าผู้เข้าแข่งขันตอบถูกหรือตอบผิดทั้งคู่ ก็จะเล่นคำถามชุดต่อไป แต่ถ้ามีผู้ตอบถูกและผิด ผู้ที่ตอบถูกจะเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์

ปี 2002-2004[แก้]

รอบที่ 1 : 3 วินาที
ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 5 คนจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับแฟนพันธุ์แท้ในเรื่องนั้น ภายในเวลา 3 วินาที (หากตอบผิดสามารถตอบใหม่ได้ ภายในเวลา 3 วินาทีถ้าสัญญาณไฟยังไม่ติด และเอฟเฟคเสียง "วืด" ยังไม่ดัง) ใครตอบผิดหรือตอบไม่ทันใน 3 วินาทีตกรอบทันที ลักษณะคำถามในแต่ละเรื่องของรอบนี้อาจจะเป็นรูปภาพ แล้วให้ตอบว่าภาพนี้คือใคร อะไร หรืออาจเป็นโจทย์คำถามที่เป็นสิ่งต่าง ๆ แล้วให้ตอบว่าเกี่ยวข้องกับอะไรตามโจทย์คำถามหลัก แล้วแต่เรื่อง
มีข้อสังเกตประการหนึ่งในเกมนี้ก็คือ เมื่อมีผู้เข้าแข่งขันคนไหนที่ตอบไม่ได้ภายในเวลา 3 วินาที ไฟตรงหน้าผู้เข้าแข่งขันก็จะติดขึ้นมาและมีเสียงสัญญาณไฟ พร้อมกับมีเสียงวืดในห้องส่งของรายการ ต่อมาในปี 2004 ลดเหลือเพียงเสียงสัญญาณไฟและเสียงวืดในห้องส่งเท่านั้น
รอบที่ 2 : ตัดเชือก
แบ่งผู้เข้าแข่งขันออกเป็น 2 คู่ คู่ละ 2 คน แข่งเกมต่าง ๆ แล้วแต่เรื่อง โดยให้ผู้เข้าแข่งขันถูกจับคู่ตามหมายเลขที่ติดกันและสลับกันเล่นตามหมายเลขของผู้เข้าแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันหมายเลขก่อนได้เล่นเกมแรกก่อน ผู้เข้าแข่งขันหมายเลขหลังได้เล่นเกมที่สองก่อน ใครได้ 2 ใน 3 คะแนนก่อน จะได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ (เริ่มมีเกมกดไฟ ตั้งแต่กลางปี 2004 ใช้เป็นรอบตัดสิน เมื่อมีผู้เข้าแข่งขัน ที่คะแนนเท่ากัน โดยในรอบนี้พิธีกรจะอ่านคำสำคัญขึ้นมา ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับคำถามที่จะถามกันต่อไป ผู้เข้าแข่งขันจะต้องแย่งกันกดไฟ โดยจะกดไฟก่อนหรือหลังพิธีกรอ่านคำสำคัญ เมื่อไฟติดที่ใครคนนั้นจะต้องตอบคำถามให้ถูก ตอบถูกเข้ารอบทันที แต่ถ้าตอบผิด ผู้เข้าแข่งขันอีกคน จะถูกบังคับตอบทันที)
รอบที่ 3 : ชิงชนะเลิศ
มีคำถาม 8 ชุด ชุดละ 2 ข้อ (คำถามเหลือง-แดง) โดยผลัดกันให้ผู้เข้าแข่งขัน 2 คนเลือกชุดคำถามแล้วตอบ โดยผู้เข้าแข่งขันที่เป็นคนเลือกชุดคำถามจะได้ตอบคำถามสีเหลือง ส่วนอีกคนจะได้ตอบคำถามสีแดง ถ้าผู้เข้าแข่งขันตอบถูกหรือตอบผิดทั้งคู่ ก็จะเล่นคำถามชุดต่อไป แต่ถ้ามีผู้ตอบถูกและผิด ผู้ที่ตอบถูกจะเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์

ปี 2005-2006[แก้]

รอบที่ 1 : 3 วินาที
ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 5 คนจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับแฟนพันธุ์แท้ในเรื่องนั้น ภายในเวลา 3 วินาที (หากตอบผิดสามารถตอบใหม่ได้ ภายในเวลา 3 วินาทีถ้าเอฟเฟคเสียง "วืด" ยังไม่ดัง) โดยในปี 2005 เล่น 5 รอบ และในปี 2006 เหลือเพียง 3 รอบ ใครมีคะแนนสะสมน้อยที่สุดจะตกรอบไป แต่ถ้ามีผู้เข้าแข่งขันมีคะแนนเท่ากัน จะใช้วิธีการเล่นแบบปี 2002-2004 คือ เล่นไปเรื่อย ๆ ผู้ที่ตอบผิดหรือตอบไม่ทันใน 3 วินาทีเป็นคนแรกจะตกรอบทันที
รอบที่ 2 : ตัดเชือก
แบ่งผู้เข้าแข่งขันออกเป็น 2 คู่ คู่ละ 2 คน แข่งเกมต่าง ๆ แล้วแต่เรื่อง โดยให้ผู้เข้าแข่งขันถูกจับคู่ตามหมายเลขที่ติดกันและสลับกันเล่นตามหมายเลขของผู้เข้าแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันหมายเลขก่อนได้เล่นเกมแรกก่อน ผู้เข้าแข่งขันหมายเลขหลังได้เล่นเกมที่สองก่อน สิ่งที่ต่างกันจากปี 2002-2004 คือ เมื่อผ่าน 2 ข้อแรกไปผู้เข้าแข่งขันคนหลังจะได้เล่นก่อน และผู้เข้าแข่งขันคนแรกได้เล่นทีหลัง ใครได้ 2 ใน 3 คะแนนก่อน จะได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ เมื่อผู้เข้าแข่งขันทั้งสองมีคะแนนเท่ากัน ก็จะมีคำถามตัดสิน โดยในรอบนี้พิธีกรจะอ่านคำสำคัญขึ้นมา ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับคำถามที่จะถามกันต่อไป ผู้เข้าแข่งขันจะต้องแย่งกันกดไฟ โดยจะกดไฟก่อนหรือหลังพิธีกรอ่านคำสำคัญ เมื่อไฟติดที่ใครคนนั้นจะต้องตอบคำถามให้ถูก ตอบถูกเข้ารอบทันที แต่ถ้าตอบผิด ผู้เข้าแข่งขันอีกคน จะถูกบังคับตอบทันที
รอบที่ 3 : ชิงชนะเลิศ
มีคำถาม 8 ชุด ชุดละ 2 ข้อ (คำถามเหลือง-แดง) โดยผลัดกันให้ผู้เข้าแข่งขัน 2 คนเลือกชุดคำถามแล้วตอบ โดยผู้เข้าแข่งขันที่เป็นคนเลือกชุดคำถามจะได้ตอบคำถามสีเหลือง ส่วนอีกคนจะได้ตอบคำถามสีแดง ถ้าผู้เข้าแข่งขันตอบถูกหรือตอบผิดทั้งคู่ ก็จะเล่นคำถามชุดต่อไป แต่ถ้ามีผู้ตอบถูกและผิด ผู้ที่ตอบถูกจะเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์ (ภายหลังจะมีคำถาม 8 ชุด ชุดละ 1 ข้อเท่านั้น และให้ผลัดกันเลือกคำถาม ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ เหมือนเดิม)

ปี 2007-2008[แก้]

รอบที่ 1 : 3 วินาที
กฎ - กติกา เหมือนกับ ปี 2005 - 2006

สิ่งที่ต่างกัน คือ ถ้ามีผู้เข้าแข่งขันมีคะแนนเท่ากัน จะมีรอบพิเศษ โดยพิธีกรจะอ่านคำถามหรือเปิดภาพขึ้นมา ผู้เข้าแข่งขันจะต้องกดไฟให้ติด ไฟติดที่ใครคนนั้นจะต้องตอบให้ถูก ตอบถูกเข้ารอบ แต่ถ้าตอบผิดจะต้องตกรอบทันที

รอบที่ 2 : ถาม-ตอบ
ในรอบนี้พิธีกรจะอ่านคำสำคัญขึ้นมา ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับคำถามที่จะถามกันต่อไป ผู้เข้าแข่งขันจะต้องแย่งกันกดไฟ โดยจะกดไฟก่อนหรือหลังพิธีกรอ่านคำถามสั้น ๆ เมื่อไฟติดที่ใครคนนั้นจะต้องตอบคำถามให้ถูก ในช่วงแรกของปี 2007 ผู้เข้าแข่งขันต้องตอบถูก 2 ครั้งถึงเข้ารอบ ภายหลังเปลี่ยนเป็นตอบถูกเข้ารอบทันที แต่ยังคงกฎเดิมคือตอบผิดต้องพักการเล่น 1 ข้อ ถ้าตอบผิดอีกเป็นครั้งที่ 2 จะตกรอบทันที รอบนี้คัด 3 คนผ่านเข้ารอบต่อไป
รอบที่ 3 : จิ๊กซอว์-คุณสมบัติ
ในเกมจิ๊กซอว์ ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 คนจะต้องผลัดกันเลือกป้ายจิ๊กซอว์ครั้งละ 1 ป้าย โดยช่วงแรกของปี 2007 ผู้เข้ารอบคนแรกได้สิทธิ์เล่นก่อน ให้ผู้เข้ารอบคนที่ 2 เลือกป้ายจิ๊กซอว์ให้ผู้เข้ารอบคนแรกตอบ ถ้าตอบผิดผู้เข้ารอบคนที่ 2 ได้สิทธิ์ตอบ ให้ผู้เข้ารอบคนที่ 3 เลือกป้ายจิ๊กซอว์ให้ผู้เข้ารอบคนที่ 2 ตอบ และถ้าตอบผิดอีกให้ผู้เข้ารอบคนที่ 3 ได้สิทธิ์ตอบ ให้ผู้เข้ารอบคนแรกเลือกป้ายจิ๊กซอว์ให้ผู้เข้ารอบคนที่ 3 ตอบ วนกันไปตามลำดับ ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นให้ผู้เข้ารอบได้เลือกป้ายของตนเอง แล้ววนตามลำดับการเข้ารอบจากเกมถาม-ตอบ โดยถ้าตอบผิด สิทธิ์ในการเล่นจะเป็นของผู้เข้าแข่งขันคนถัดไป ถ้าตอบผิดอีกก็จะเล่นวนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีผู้ที่ตอบถูก ซึ่งถ้าใครตอบถูกก็จะเข้ารอบชิงชนะเลิศทันที ส่วนอีก 2 คนที่เหลือจะต้องเล่นเกมคุณสมบัติ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องผลัดกันเลือกป้ายคุณสมบัติคนละ 1 ป้าย โดยลำดับการเล่นจะเป็นแบบเดิม ถ้าตอบผิด สิทธิ์ในการเล่นจะเป็นของผู้เข้าแข่งขันคนถัดไป ถ้าตอบผิดอีกการเล่นก็จะวนกลับมาที่คนแรก ถ้าใครตอบถูกจะได้เข้ารอบชิงชนะเลิศอีกคนหนึ่ง
รอบที่ 4 : ชิงชนะเลิศ
แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
  • ปี 2007 จะมีคำถามทั้งหมด 4 ชุด ชุดละ 3 ข้อ โดยผู้เข้าแข่งขันทั้ง 2 คนจะต้องเลือกคำถามคนละชุดกัน พิธีกรจะถามคำถามข้อที่ 1 ของคำถามทั้ง 2 ชุด โดยถ้าตอบคำถามถูก หรือผิดทั้งคู่ จะต้องเล่นในข้อต่อไป ถ้าใน 2 ชุดคำถามนั้นถามคำถามไปครบทั้ง 3 ข้อแล้ว ยังเสมอกันอยู่ จะต้องเล่นในอีก 2 ชุดคำถามที่เหลือ จนกว่าจะมีผู้ที่ตอบถูก และผู้ที่ตอบผิด ซึ่งผู้ที่ตอบถูกจะได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์
  • ปี 2008 จะมีรูปแบบเหมือนกับปี 2000-2006 คือ มีคำถาม 8 ชุด ชุดละ 2 ข้อ (คำถามเหลือง-แดง) แต่ในปีนี้จะแบ่งคำถามออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 (ชุดคำถามที่ 1-4) และช่วงที่ 2 (ชุดคำถามที่ 5-8) โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องเล่นคำถามในช่วงที่ 1 (ชุดคำถามที่ 1-4) โดยผลัดกันให้ผู้เข้าแข่งขัน 2 คนเลือกชุดคำถามแล้วตอบ โดยผู้เข้าแข่งขันที่เป็นคนเลือกชุดคำถามจะได้ตอบคำถามสีเหลือง ส่วนอีกคนจะได้ตอบคำถามสีแดง ถ้าผู้เข้าแข่งขันตอบถูกหรือตอบผิดทั้งคู่ ก็จะเล่นคำถามชุดต่อไป ถ้าถามคำถามครบทั้ง 4 ชุดแล้ว ก็จะเริ่มเล่นคำถามในช่วงที่ 2 (ชุดคำถามที่ 5-8) ต่อไป แต่ถ้ามีผู้ตอบถูกและผิด ผู้ที่ตอบถูกจะเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์

ปี 2012–2014[แก้]

รอบที่ 1 : 3 วินาที
ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 5 คน จะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับแฟนพันธุ์แท้ในสัปดาห์นั้น ๆ ภายในเวลา 3 วินาที หลังจากพิธีกรแสดงภาพหรืออ่านคำถามจบ (หากผู้เข้าแข่งขันตอบผิด สามารถตอบใหม่ได้หากเวลา 3 วินาทียังไม่หมดลง) โดยจะเล่นทั้งหมด 3 รอบ กฎ - กติกาจะเหมือนกับปี 2007 - 2008 ผู้เข้าแข่งขันที่มีคะแนนน้อยที่สุดจะตกรอบไป หากมีผู้เข้าแข่งขันที่คะแนนเสมอกัน จะต้องแย่งกันกดไฟเพื่อแย่งสิทธิ์ในการตอบ ตอบถูกเข้ารอบทันที แต่ถ้าผู้เข้าแข่งขันคนใดตอบผิดหรือตอบไม่ได้ภายใน 3 วินาที ก็จะตกรอบทันที (ใข้ในปี 2012)

สิ่งที่ต่างกัน คือ สำหรับ ปี 2013 มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเป็น 5 รอบ และแต่ละรอบคำถามก็จะเปลี่ยนรูปแบบที่หลากหลายขึ้น

และสำหรับ ปี 2014 นั้น คำถามทั้งหมด 5 รอบจะเหมือนกับปี 2013 แต่มีการปรับการเล่นใหม่เมื่อจบ 1 รอบ ก็จะมีการสลับคนเล่นใหม่ เช่น รอบที่ 1 ผู้เข้าแข่งขันคนแรกจะเป็นคนเล่น เมื่อมาถึงรอบที่ 2 ผู้เข้าแข่งขันคนที่ 2 ก็จะเป็นคนเล่นคนแรก (เดินไต่บันได) และเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ 5 รอบ ผู้เข้าแข่งขันที่มีคะแนนน้อยที่สุดจะตกรอบไป หากมีผู้เข้าแข่งขันที่คะแนนเสมอกัน จะต้องแย่งกันกดไฟเพื่อแย่งสิทธิ์ในการตอบ ผู้เข้าแข่งขันคนใดตอบผิดหรือตอบไม่ได้ภายใน 3 วินาที ก็จะตกรอบทันที

มีบางตอนที่ไม่ได้นำเกม 3 วินาทีมาเล่น

  • วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 เทป Bodyslam ให้ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 5 คนแย่งกันกดไฟเพื่อตอบคำถาม โดยผู้ที่ตอบถูก 3 คนแรก จะได้เข้าไปเล่นในรอบถัดไป เหมือนกับรอบแรกของแฟนพันธุ์แท้ปี 2000 - 2001 แต่จำนวนคนที่เข้ารอบถัดไปจะลดลงเหลือ 3 คน จากปกติ 4 คน ในชื่อรอบ "แฟนพันธุ์แท้กับความเร็ว"
  • วันที่ 30 มีนาคม 2555 เทป Angry Birds ให้ผู้เข้าแข่งขันเล่นเกม Angry Birds Seasons ตามที่จับสลากมาได้ใน 2 ด่านแรก ผู้เข้าแข่งขันที่มีดาวน้อยที่สุดจะตกรอบ[ต้องการอ้างอิง]
รอบที่ 2 : คลาสสิกเกม
ผู้เข้าแข่งขันที่เหลือ 4 คน จะต้องตอบคำถามที่มาในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงเกมจิ๊กซอว์ และ เกมคุณสมบัติ (5 แผ่นป้าย) โดยผู้ที่ตอบถูกในแต่ละเกมจะได้เข้าไปเล่นในรอบชิงชนะเลิศทันที แต่ถ้าหากผู้เข้าแข่งขันคนใดตอบผิดครบ 2 ครั้งจะตกรอบทันที รอบนี้จะคัดผู้เข้าแข่งขันผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศเพียง 2 คนเท่านั้น เริ่มใช้รอบนี้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 เทปเมืองทอง ยูไนเต็ด ในชื่อรอบ "แฟนพันธุ์แท้ คลาสสิก" แต่ในช่วงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 เฉพาะเทป Bodyslam ผู้เข้าแข่งขันลดลงเหลือ 3 คน โดยคนที่ตอบถูกก่อนในรอบแฟนพันธุ์แท้กับความเร็วจะได้สิทธิ์ตอบคำถามก่อน รอบนี้ใช้กฎเดียวกันกับรอบจิ๊กซอว์-คุณสมบัติของปี 2007-2008 ใครสามารถตอบคำถามได้ถูกต้อง 1 ข้อเข้ารอบ รอบนี้คัดผู้เข้าแข่งขัน 2 คนเหมือนรอบปกติของรายการ
รอบที่ 3 : ชิงชนะเลิศ
ผู้เข้าแข่งขันที่เหลือ 2 คน ผลัดกันเลือกคำถามซึ่งมีอยู่ 6 ข้อแล้วตอบ ถ้าผู้เข้าแข่งขันตอบถูกหรือตอบผิดทั้งคู่ ก็จะเล่นคำถามต่อไป แต่ถ้ามีผู้ตอบถูกและผิด ผู้ที่ตอบคำถามถูกต้องจะเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ หากคำถามที่มีอยู่ 6 ข้อถูกเล่นจนหมด ก็จะมีคำถามพิเศษมาตัดสิน 1 ข้อ โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องแย่งกันกดไฟเพื่อตอบคำถามนั้น ในระหว่างที่พิธีกรกำลังอ่านคำถามนั้น หากมีผู้เข้าแข่งขันคนใดคนหนึ่งกดไฟ พิธีกรจะหยุดอ่านคำถามและผู้ที่กดไฟได้จะต้องตอบคำถามทันที ถ้าตอบถูกจะได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ทันที แต่ถ้าหากตอบผิดก็จะส่งผลให้อีกคนได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์ทันทีเช่นกัน ข้อสังเกตคือในเทป Bodyslam รอบนี้ถูกเรียกว่ารอบ "คำถามจุดโทษ"

ปี 2015[แก้]

*มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเทปพิเศษ

รอบที่ 1 : 3 วินาที
ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 ท่าน จะต้องสะสมคะแนน จากการตอบคำถามในชุดที่ผู้เข้าแข่งขันได้เลือกไว้ ให้ได้มากที่สุด ในแต่ละ 1 ชุดคำถาม = 20 คะแนน ผู้เข้าแข่งขันคนใดที่สะสมคะแนนน้อยที่สุด ก็จะตกรอบทันที

รอบที่ 2 : คลาสสิกเกม

ผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 2 ท่าน จะต้องต่างคนต่างสะสมคะแนนของตัวเอง ในหมวด จิ๊กซอว์/คุณสมบัติ คะแนนเต็ม 1 หมวด = 25 คะแนน โดยผู้เข้าแข่งขันคนใดที่สะสมคะแนนรวม จาก 2 หมวดนี้ ได้มากกว่า จะเป็นได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ทันที

รอบที่ 3 : คำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้

ผู้ที่ได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ จะต้องตอบคำถามในหมวดนี้ให้ถูกต้อง เพื่อคว้าของรางวัลพิเศษสุดยิ่งใหญ่ไปให้ได้

ปี 2016 - 2017 (แฟนพันธุ์แท้ ซูเปอร์แฟน)[แก้]

โดยแฟนพันธุ์แท้ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันมาเป็นรูปแบบ สภาแฟนพันธุ์แท้ คือสภาที่มีสุดยอดแฟนพันธุ์แท้เรื่องต่าง ๆ ทั้งสิ้น 10 คนมาทำหน้าที่คัดเลือกผู้เข้าแข่งขันที่มานำเสนอความชื่นชอบของตัวเองต่อเรื่องนั้น ๆ ในเวลา 2 นาทีว่าจะเหมาะสมเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ในเรื่องนั้นหรือไม่โดยทั้ง 10 คนมีคนละ 1 คะแนนหากผู้เข้าแข่งขันคนใดได้ถึง 7 คะแนนหรือมากกว่านั้นก็จะได้ผ่านเข้าสู่รอบคลาสสิกเกมแต่หากผู้เข้าแข่งขันท่านใดได้คะแนนไม่ถึง 7 คะแนนก็ต้องตกรอบไป

เมื่อผู้เข้าแข่งขันได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ในเรื่องนั้นแล้วก็จะต้องเข้ามาแข่งต่อในรอบคลาสสิกเกมทั้งสิ้น 4 หมวดประกอบไปด้วย

  • 3 วินาที
  • จิ๊กซอว์
  • ถามตอบ
  • คุณสมบัติ

ซึ่งสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ต้องสุ่มเลือกหมวดคำถามจากทั้ง 4 หมวดหากสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ตอบถูกก็จะได้เข้าสู่รอบต่อไปหากสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ตอบผิดก็ต้องตกรอบไป

ปี 2018[แก้]

รอบที่ 1 : 3 วินาที

ผู้เข้าแข่งขันจะต้องตอบคำถามให้ได้ภายในเวลา 3 วินาที (ถ้าตอบผิด มีสิทธิ์ตอบใหม่ได้จนกว่าจะหมดเวลา) โดยแบ่งเป็น 3 รอบ คำถาม 3 ชุดแบ่งเป็นรอบละชุดคำถาม ใครมีคะแนนน้อยที่สุดตกรอบ แต่หากผู้เข้าแข่งขันตอบผิดเท่ากันหรือไม่มีใครตอบผิดเลย ก็จะใช้กฎเหมือนปี 2007-2014 โดยพิธีกรจะอ่านคำถามสำรองขึ้นมา และผู้เข้าแข่งขันจะต้องแย่งกันกดไฟเพื่อแย่งสิทธิ์ในการตอบ ไฟติดที่ใคร คนนั้นต้องตอบ โดยถ้าตอบถูกเข้ารอบทันที ถ้าตอบผิดหรือตอบไม่ได้ภายใน 3 วินาที ก็จะตกรอบทันทีเช่นกัน โดยในรอบนี้จะหาผู้เข้าแข่งขัน 4 คนเพื่อเข้าสู่รอบ Action Game ต่อไป

รอบที่ 2 : แอ็คชั่นเกม (Action Game)

กติกาในรอบนี้ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 4 คนต้องแย่งกันกดสัญญาณไฟเพื่อตอบคำถามของพิธีกรให้ถูกต้อง 1 ข้อ เพื่อเข้ารอบถาม-ตอบ รอบนี้ต้องการผู้เข้ารอบ 2 คน ถ้าเกิดมีผู้เข้าแข่งขันกดสัญญาณไฟได้แล้วตอบผิด พิธีกรจะเฉลยคำถามข้อที่ตอบผิดแล้วเริ่มถามคำถามข้อใหม่ โดยที่ผู้เข้าแข่งขันที่ตอบผิดเมื่อแย่งกดสัญญาณไฟแล้วไม่สามารถตอบผิดได้อีก ถ้าตอบผิดอีกครั้งตกรอบทันที ยกเว้นเกมจิ๊กซอว์และคุณสมบัติที่เมื่อใครตอบผิด พิธีกรจะไม่ถามคำถามข้อใหม่ ต้องเล่นต่อจนกว่าจะมีผู้ตอบถูก แต่ถ้าตอบผิดอีกครั้งใน 2 เกมนี้ตกรอบทันทีเช่นกัน (ใช้กฎเดียวกันกับปี 2012-2014)

รอบที่ 3 : ถาม-ตอบ

กติกาในรอบ ถาม-ตอบ ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 2 จะต้องตอบคำถามจากทั้งหมด 6 คำถาม คนละ 3 ข้อ ผู้เข้าแข่งขันที่เข้ารอบมาก่อนมีสิทธิ์เล่นก่อน โดยถ้าหากในรอบนั้นผู้เข้าแข่งขันตอบถูกทั้งคู่หรือผิดทั้งคู่ต้องตอบคำถามข้อที่เหลือต่อ หากผู้เข้าแข่งขันคนใดตอบผิดและผู้เข้าแข่งขันอีกคนตอบถูก ผู้ตอบถูกจะได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ในเรื่องนั้นและได้ตอบคำถามเพื่อชิงของรางวัลสุดพิเศษในรอบคำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้

คำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้[แก้]

สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ คือ บุคคลที่ชนะเลิศการแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ในแต่ละสัปดาห์ โดยหลังจากผ่านรอบชิงชนะเลิศแล้วจะต้องตอบคำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้อีก 1 ข้อ โดยถ้าตอบถูกจะได้รับของที่ระลึกสุดพิเศษ และเงินรางวัลจากทางรายการ แต่ถ้าตอบผิดจะไม่ได้รับของรางวัลสุดพิเศษอะไรเลย และที่สำคัญ ผู้ชนะเลิศประจำสัปดาห์ที่ตอบคำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ถูกต้องจะได้สิทธิ์เข้าแข่งขันสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี (Fan of the year) ซึ่งในแต่ละปีจะมีการนำสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ในแต่ละสัปดาห์ของปีนั้น ๆ มาแข่งขันสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี (ยกเว้นในปี 2000 ที่ไม่มีการแข่งขันสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี แต่มีเป็นตอน รวมมิตร คือเอาทุกตอนในปี 2000 มารวมเอาไว้ด้วยกัน และปี 2018 เนื่องจากออกอากาศในครึ่งปีหลัง) ซึ่งมีดังนี้

รูปแบบการแจกของรางวัล[แก้]

รูปแบบการแจกของรางวัล มีดังนี้คือ รางวัลปกติ คือถ้วยรางวัลรูปมือจากทางรายการ กับของสะสมที่ระลึกในแต่ละเรื่อง ซึ่งจะให้ทั้งผู้เข้าแข่งขันที่ตอบถูกและตอบผิด และรางวัลพิเศษ เป็นเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท ซึ่งจะให้เฉพาะผู้เข้าแข่งขันที่ตอบถูกเท่านั้น โดยใช้รูปแบบนี้จนถึงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2544

ต่อมาวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2544 ได้เปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยของสะสมในแต่ละเรื่อง จะย้ายไปเป็นรางวัลพิเศษ ดังนั้น หากผู้เข้าแข่งขันตอบผิด จะได้รับเฉพาะรางวัลปกติ คือถ้วยรางวัลรูปมือเท่านั้นแต่ของสะสมต่าง ๆ จะไม่ได้ โดยใช้รูปแบบนี้จนถึงวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2544 และในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ของรางวัลปกติได้เพิ่มอีก 1 รายการคือ ประกาศนียบัตรทองคำ และยกเลิกเงินรางวัล 100,000 บาท ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษที่ให้เฉพาะผู้เข้าแข่งขันที่ตอบถูกเท่านั้น

นับตั้งแต่แฟนพันธุ์แท้ปี พ.ศ. 2555 หากผู้เข้าแข่งขันตอบผิด ทางรายการจะไม่ได้บันทึกภาพและออกอากาศฉากที่ผู้ดำเนินรายการแสดงความเสียดายต่อของรางวัลที่ผู้เข้าแข่งขันไม่ได้รับ เพื่อเป็นการปกป้องผู้เข้าแข่งขัน

และในปี พ.ศ. 2561 สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ที่ตอบถูกจะได้รับถ้วยรางวัลสุดยอดแฟนพันธุ์แท้และรางวัลพิเศษ แต่หากตอบผิดจะได้รับเพียงถ้วยแฟนพันธุ์แท้กลับไป ในปีนี้ไม่มีจัดการแข่งขันแฟนพันธุ์แท้แห่งปีเหมือนปี พ.ศ. 2543

กติกาแฟนพันธุ์แท้แห่งปี[แก้]

ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนแข่งขันในเรื่องของตัวเอง โดยจะสุ่มลำดับการเล่นด้วยการจับลูกบอลซึ่งในลูกบอลจะระบุชื่อของผู้เล่นแต่ละคน จับออกมาเป็นชื่อของใคร คนนั้นจะต้องลงมาทำการแข่งขัน โดยแต่ละคนจะแข่งขันในเกม 4 หมวด แต่ละหมวดมีคะแนนเต็ม 25 คะแนน รวมทั้งสิ้น 100 คะแนน หากผู้เข้าแข่งขันสามารถทำคะแนนเต็ม 25 คะแนนได้ในหมวดใด จะได้รับรางวัลพิเศษ 10,000 บาท และหากผู้เข้าแข่งขันสามารถทำคะแนนเต็ม 100 คะแนนได้ จะได้รับรางวัลพิเศษ 100,000 บาท

หมวดที่ 1 : 3 วินาที
เกมนี้จะมีคำถามทั้งหมด 25 ข้อ โดยคำถามจะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ตามเรื่องของแฟนพันธุ์แท้ (อาจเป็นรูปภาพหรือคุณลักษณะต่าง ๆ) แต่ละข้อผู้เข้าแข่งขันจะมีเวลาตอบ 3 วินาทีและมีสิทธิ์ตอบได้เพียงครั้งเดียวโดยยึดจากคำตอบแรกที่ผู้เข้าแข่งขันตอบออกมาเป็นหลัก โดยจะเริ่มนับเวลาหลังจากพิธีกรแสดงภาพหรืออ่านคำถามจบ แต่ละข้อที่ตอบถูกจะได้ 1 คะแนน ระหว่างที่เล่นหากผู้เข้าแข่งขันไม่แน่ใจในคำตอบ สามารถบอก "ข้าม" เพื่อไปยังคำถามข้อต่อไปได้ (ใช้สิทธิ์ได้ไม่จำกัดจำนวนคำถาม) แต่คำถามที่ข้ามไปแล้วจะไม่นำกลับมาเล่นใหม่ แต่ถ้าหากตอบผิดหรือหมดเวลาที่คำถามใดก็ตามแต่ เกมจะหยุดลงทันที ใช้ในปี 2001 - 2008 , 2012 แต่ในปี 2013 และ 2014 สืบเนื่องจากในรอบประจำสัปดาห์ คำถามที่ใช้เล่นในรอบ 3 วินาทีมีรูปแบบที่หลากหลาย ดังนั้นในรอบแฟนพันธุ์แท้แห่งปี จึงได้มีการแบ่งรูปแบบคำถามออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ในคำถามที่ 1 - 10 , ช่วงที่ 2 ในคำถามที่ 11 - 20 และช่วงที่ 3 ในคำถามที่ 21 - 25 ส่วนรายละเอียดที่เหลือไม่มีการเปลี่ยนแปลง
หมวดที่ 2 : ถาม-ตอบ
ให้ผู้เข้าแข่งขันตอบคำถาม 1 ข้อ หากตอบทันที ตอบถูกจะได้คะแนนเต็ม 25 คะแนน หากผู้เข้าแข่งขันไม่แน่ใจในคำตอบ สามารถ "ขอดูคำตอบ" ได้ โดยทางรายการจะมีตัวเลือกให้ผู้เข้าแข่งขัน 5 ตัวเลือก และคะแนนที่ได้จะลดเหลือ 20 คะแนน แต่หากผู้เข้าแข่งขันยังไม่แน่ใจอีก สามารถ "ขอตัดคำตอบ" ได้ โดยทางรายการจะตัดตัวเลือกให้ครั้งละ 1 ตัวเลือก แต่คะแนนที่ได้จะลดลงครั้งละ 5 คะแนน หากตอบถูกจะได้คะแนนในขณะนั้น แต่ถ้าหากตอบผิดจะได้ 0 คะแนน
หมวดที่ 3 : จิ๊กซอว์
ให้ผู้เข้าแข่งขันตอบภาพปริศนาที่อยู่หลังจิ๊กซอว์ 25 ช่อง โดยผู้เข้าแข่งขันจะมีสิทธิ์เปิดได้ 1 ช่อง หากตอบถูกจะได้คะแนนเต็ม 25 คะแนน แต่ถ้าหากผู้เข้าแข่งขันไม่แน่ใจในคำตอบ สามารถ "เปิดเพิ่ม" ได้ครั้งละ 1 ช่อง แต่คะแนนจะลดลงครั้งละ 5 คะแนน หากตอบถูกจะได้คะแนนในขณะนั้น แต่ถ้าหากตอบผิดจะได้ 0 คะแนน
หมวดที่ 4 : คุณสมบัติ
เกมนี้จะมีข้อมูลคุณสมบัติ 5 ข้อ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนั้นจะเชื่อมโยงไปยังคำตอบที่ถูกต้องที่มีเพียงคำตอบเดียว โดยผู้เข้าแข่งขันจะมีสิทธิ์เปิดได้ 1 ข้อ หากตอบถูกจะได้คะแนน 25 คะแนน แต่ถ้าหากผู้เข้าแข่งขันไม่แน่ใจในคำตอบ สามารถ "เปิดเพิ่ม" ได้ครั้งละ 1 ข้อ แต่คะแนนเต็มจะลดลงครั้งละ 5 คะแนน หากตอบถูกจะได้คะแนนในขณะนั้น แต่ถ้าหากตอบผิดจะได้ 0 คะแนน

หลังจบการแข่งขันของผู้เข้าแข่งขันทุกคน ผู้เข้าแข่งขันที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก จะได้เข้าไปแข่งแฟนพันธุ์แท้แห่งปีในรอบชิงชนะเลิศ

รอบชิงชนะเลิศ[แก้]

รูปแบบการแข่งขันจะเหมือนกับรอบแรก คือสุ่มจับลูกบอลหาผู้เล่นก่อน-หลังเหมือนเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงกติกาคือผู้เข้าแข่งขันจะต้องเลือกเล่นหมวดใดหมวดหนึ่งเพียงหมวดเดียวจากทั้งหมด 4 หมวด (3 วินาที/คำถาม-คำตอบ/จิ๊กซอว์/คุณสมบัติ) ใครที่ได้คะแนนมากที่สุดจะได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี ถ้ามีคะแนนสูงสุดเสมอกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ก็จะต้องแข่งขันกันอีกครั้ง โดยเลือกเล่นหมวดใดหมวดหนึ่งจากหมวดที่เหลือที่ผู้เล่นคนนั้น ๆ ยังไม่ได้เล่น หากยังเสมอกันเมื่อครบทั้ง 4 หมวดแล้ว จะมีการแข่งขันในหมวดพิเศษเพื่อตัดสินหาผู้ชนะสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี

ของรางวัลที่สุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปีจะได้รับ[แก้]

  • ปี ค.ศ. 2001 บ้านโครงการพฤกษา, รถยนต์ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ รุ่น F-Style 1.6, เอส บี เฟอร์นิเจอร์ รวมมูลค่า 2,000,000 บาท
  • ปี ค.ศ. 2002 - 2004 บ้านโครงการภัสสรและรถยนต์มิตซูบิชิ แลนเซอร์ รุ่น Cedia รวมมูลค่า 3,000,000 บาท
  • ปี ค.ศ. 2005 - 2006 บ้านโครงการภัสสรและรถยนต์มิตซูบิชิ แลนเซอร์ รุ่น 1.6 เกียร์อัตโนมัติ รวมมูลค่า 3,000,000 บาท
  • ปี ค.ศ. 2007 - 2008 บ้านโครงการภัสสรและรถยนต์โตโยต้า คัมรี่ รวมมูลค่า 4,000,000 บาท
  • ปี ค.ศ. 2012 เงินรางวัล 1,000,000 บาทและรถยนต์ มิตซูบิชิ มิราจ GLS Limited มูลค่า 546,000 บาท รวมมูลค่า 1,546,000 บาท
  • ปี ค.ศ. 2013 เงินรางวัล 1,000,000 บาท, บ้านเดี่ยวสไตล์โมเดิร์นโครงการ The Plant Light 3,900,000 บาท, รถยนต์ มิตซูบิชิ Attrage GLS Limited เกียร์อัตโนมัติ มูลค่า 582,000 บาท รวมมูลค่า 5,482,000 บาท
  • ปี ค.ศ. 2014 เงินรางวัล 1,000,000 บาท, รถยนต์ มิตซูบิชิ Attrage GLS Limited เกียร์อัตโนมัติ มูลค่า 588,000 บาท รวมมูลค่า 1,588,000 บาท
  • ปี ค.ศ. 2016/2017 (แฟนพันธุ์แท้ ซูเปอร์แฟน) คอนโดมีเนียมในโครงการพลัมคอนโด เอ็กซ์ตร้า พระราม 2 โดย พฤกษา เรียลเอสเตท มูลค่า 1,500,000 บาท , รถยนต์ นิสสัน X-TRAIL Hybrid 2.0s มูลค่า 1,304,000 บาท รวมมูลค่า 2,804,000 บาท และองค์พระพิฆเณศวร ปางมหาเทพแห่งศิลปะของแผ่นดิน (รางวัลพิเศษจากป๋อง สุพรรณ)

หมายเหตุ : ปี ค.ศ. 2001 - 2008 ของรางวัลจากเบียร์ช้าง (เครื่องดื่มตราช้าง ในปัจจุบัน) และในปี ค.ศ. 2012 - 2014 หากผู้ที่เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปีเป็นผู้ที่ตอบคำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์ผิด จะได้รับของรางวัลสุดพิเศษประจำสัปดาห์ที่พลาดไปแล้วด้วย

สุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี[แก้]

ปี ค.ศ. ชื่อสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี เรื่อง
2001 วัชรพันธุ์ ลวันยานนท์ อุลตร้าแมน
ราม วัชรประดิษฐ์ พระเครื่อง
2002 สมมาตร ศรีสมาจาร มอเตอร์ไซค์ (ครั้งที่ 2)
2003 ป๋อง สุพรรณ (เสมอ งิ้วงาม) พระเครื่อง (ครั้งที่ 2)
2004 นิรุตต์ โลหะรังสี ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา (ครั้งที่ 4)
2005 แซนดี้ หงส์ ตุ๊กตาบาร์บี้
2006 แดน ดนัย สมุทรโคจร ซูเปอร์ฮีโร่
เอก ฮิมสกุล ฟุตบอลโลก
รักษ์ ศรีเกตุ พระพุทธรูป
2007 นิภาวรรณ ผดุงรส สิ่งมหัศจรรย์ของโลก
ปฏิภาค มิลินทประทีป

(ชื่อเก่า=ปฏิภาค มีสมบูรณ์พูนสุข)

โลกศิลปะ
2008 ต้น ท่าพระจันทร์ (ณัฐพงษ์ ชวาลรัตนสกุล) พระเหรียญ
ชัชวนันท์ สันธิเดช สามก๊ก (ครั้งที่ 3)
2012 เศกฤทธิ์ พลเสน

(ชื่อเก่า=เศกฤทธิ์ มะลิวัลย์)

กีตาร์
2013 ปกรณ์ชัย วรจิตชุติวัฒน์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
2014 วันชนะ ศรีจำปา นักเตะระดับโลก
Super Fan
(2016/2017)
ไอศวรรฎา ศิริลักษณ์ Miss Universe

เกียรติประวัติ[แก้]

รางวัลต่าง ๆ ที่ทางรายการได้รับ

ข้อวิจารณ์[แก้]

รายการแฟนพันธุ์แท้ถูกตั้งคำถามบ่อยครั้งถึงความถูกต้องของข้อมูล[ต้องการอ้างอิง]

การซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตต่อในต่างประเทศ[แก้]

รายการแฟนพันธุ์แท้มีการซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตต่อในแบบฉบับของประเทศต่าง ๆ ดังนี้

ประเทศ ชื่อ สถานีโทรทัศน์ เริ่มออกอากาศครั้งแรก อ้างอิง
 สวีเดน Fantasterna ทีวีโฟร์ (TV4) พ.ศ. 2556 [5]
 บริเตนใหญ่ The Fanatics สกาย-วัน (Sky-1) พ.ศ. 2558 [6]

อ้างอิง[แก้]

  1. ที่มาของรายการแฟนพันธุ์แท้
  2. https://maanow.com/แฟนพันธุ์แท้-2018.html
  3. "หึ่ง! รายการ "เวิร์คพอยท์" หลุดผังช่อง7 ยกแผง "ชิงร้อยชิงล้าน" ชิ่งซบวิก3". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-08. สืบค้นเมื่อ 2012-01-04.
  4. รายการในตำนาน ! แฟนพันธุ์แท้คัมแบคในรอบ 5 ปีกับรูปแบบใหม่
  5. ทีเซอร์ของรายการ Fantasterna
  6. ตอนหนึ่งของรายการ The Fanatics ที่มี End Credit ลงท้ายด้วยคำว่า Based on the Work Point Entertainment

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]