เขตพญาไท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขตพญาไท
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันKhet Phaya Thai
อาคารสำนักงานและคอนโดมิเนียมริมถนนพหลโยธิน บริเวณย่านอารีย์
อาคารสำนักงานและคอนโดมิเนียมริมถนนพหลโยธิน บริเวณย่านอารีย์
คำขวัญ: 
เขตพญาไทยิ่งใหญ่ด้วยสถาน หน่วยงานทหารกระทรวงการคลัง โทรทัศน์ดังช่องห้าสี อีกทั้งกรมประชาสัมพันธ์ สถานสำคัญการสื่อสาร สะพานควายหนาแน่นผู้คน พหลโยธินรถไฟฟ้า ชาวประชาสุขสันต์
แผนที่กรุงเทพมหานคร เน้นเขตพญาไท
แผนที่กรุงเทพมหานคร เน้นเขตพญาไท
พิกัด: 13°46′48″N 100°32′34″E / 13.78000°N 100.54278°E / 13.78000; 100.54278
ประเทศ ไทย
เขตปกครองพิเศษกรุงเทพมหานคร
พื้นที่
 • ทั้งหมด9.595 ตร.กม. (3.705 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2566)[1]
 • ทั้งหมด64,037 คน
 • ความหนาแน่น6,674.00 คน/ตร.กม. (17,285.6 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์10400
รหัสภูมิศาสตร์1014
ต้นไม้
ประจำเขต
พญาสัตบรรณ
ที่อยู่
สำนักงาน
เลขที่ 13 ซอยอารีย์สัมพันธ์ 2 ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
เว็บไซต์www.bangkok.go.th/phayathai
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

พญาไท เป็นหนึ่งในห้าสิบเขตของกรุงเทพมหานคร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นแหล่งการค้า การบริการ และแหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

เขตพญาไทตั้งอยู่ทางฝั่งพระนคร มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่การปกครองต่าง ๆ เรียงตามเข็มนาฬิกาดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตจตุจักร มีคลองบางซื่อเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตดินแดง มีถนนวิภาวดีรังสิตฟากตะวันออกเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศใต้ ติดต่อกับเขตดินแดงและเขตราชเทวี มีถนนดินแดงฟากใต้และคลองสามเสนเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตดุสิต มีทางรถไฟสายเหนือเป็นเส้นแบ่งเขต

ประวัติ[แก้]

อำเภอพญาไท ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2509[2] ตั้งชื่อตามพระราชวังพญาไทซึ่งเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นตำหนักสำหรับเสด็จประพาสบนที่ดินริมคลองสามเสน ทุ่งพญาไท[3] ช่วงแรกอำเภอพญาไทแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 ตำบล เป็นพื้นที่อำเภอดุสิตเดิม 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลทุ่งพญาไท ตำบลถนนพญาไท ตำบลถนนเพชรบุรี ตำบลมักกะสัน และตำบลสามเสนใน และเป็นพื้นที่อำเภอบางกะปิเดิม 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลห้วยขวางและตำบลบางกะปิ[2] จนกระทั่งใน พ.ศ. 2514 จังหวัดพระนครถูกรวมเข้ากับจังหวัดธนบุรี เปลี่ยนฐานะเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี[4] และในปี พ.ศ. 2515 จึงเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นกรุงเทพมหานคร[5] ซึ่งเปลี่ยนคำเรียกเขตการปกครองใหม่ด้วย อำเภอพญาไทได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น เขตพญาไท ส่วนตำบลต่าง ๆ ก็เปลี่ยนฐานะเป็นแขวง

จากนั้นทางราชการได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ปกครองของเขตพญาไทหลายครั้ง เพื่อจัดขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรของแต่ละเขตให้มีความสมดุล เริ่มตั้งแต่ใน พ.ศ. 2516 แขวงห้วยขวางและแขวงบางกะปิได้รับการยกฐานะเป็นเขตห้วยขวาง[6] ต่อมาใน พ.ศ. 2521 แขวงดินแดงและบางส่วนของแขวงสามเสนในถูกโอนไปขึ้นกับเขตห้วยขวาง ในขณะที่พื้นที่บางส่วนของแขวงห้วยขวางและแขวงบางกะปิก็ถูกโอนมารวมกับแขวงสามเสนในและแขวงมักกะสัน[7] ใน พ.ศ. 2532 พื้นที่ 4 แขวงทางทิศใต้ของเขตได้ถูกแยกออกไปตั้งเป็นเขตราชเทวี[8] การปรับปรุงเขตปกครองครั้งนี้ส่งผลให้เขตพญาไทเหลือแขวงสามเสนในอยู่เพียงแขวงเดียว ส่วนพระราชวังพญาไทซึ่งเป็นที่มาของชื่อเขต รวมทั้งถนนพญาไทก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของเขตอีกต่อไป แต่ไปอยู่ในเขตราชเทวีแทน และสุดท้ายในปี พ.ศ. 2537 พื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขตก็ถูกแยกไปรวมกับเขตดินแดงที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่[9]

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 กรุงเทพมหานครได้ประกาศจัดตั้งแขวงพญาไทแยกจากพื้นที่แขวงสามเสนใน โดยใช้ถนนพหลโยธินเป็นเส้นแบ่งเขต และให้มีผลบังคับใช้ในวันเดียวกัน ส่งผลให้เขตพญาไทในปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 2 แขวง[10] ได้แก่

หมาย
เลข
อักษรไทย อักษรโรมัน พื้นที่
(ตร.กม.)
จำนวนประชากร
(ธันวาคม 2566)
ความหนาแน่นประชากร
(ธันวาคม 2566)
แผนที่
1.
สามเสนใน Sam Sen Nai
4.923
29,479
5,988.02
แผนที่
6.
พญาไท Phaya Thai
4.672
34,558
7,396.83
ทั้งหมด
9.595
64,037
6,674.00

หมายเลขที่หายไปปัจจุบันคือแขวงในเขตราชเทวี

ประชากร[แก้]

สถานที่สำคัญ[แก้]

วิลลามาร์เก็ต สาขาอารีย์
สะพานลอยแยกอารีย์

ตามที่ปรากฏในคำขวัญของเขต เขตพญาไทมีสถานที่ราชการ โดยเฉพาะที่ตั้งหน่วยทางทหารและตำรวจอยู่หลายแห่ง มีส่วนราชการพลเรือนระดับกระทรวงอยู่ 2 กระทรวง นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารและโทรคมนาคมด้วย กล่าวคือ กรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ไทยทีวีโกลบอลเน็ตเวิร์ก โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ศูนย์ข่าววิทยุกองทัพบก ทรูวิชั่นส์ ทีเอ็นเอ็น24 ทรูโฟร์ยู วอยซ์ทีวี พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีระบบรถไฟฟ้าตัดผ่านในพื้นที่เขต และมีย่านสะพานควาย ซึ่งแต่เดิมเคยมีสภาพเป็นทุ่งนาและตลาดนัดซื้อขายโคกระบือ แต่ต่อมาเมื่อบ้านเมืองขยายตัวขึ้น ก็ได้กลายสภาพเป็นแหล่งชุมชนหนาแน่น มีอาคารร้านค้า ห้างสรรพสินค้า อาทิ ศรีศุภราชอาเขต ที่ตั้งห้างสรรพสินค้าเมอร์รี่คิงส์ สะพานควาย (เลิกกิจการไปแล้ว) และห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เป็นต้น สถานที่สำคัญในเขตนี้ มีอาทิ

โรงพยาบาล[แก้]

   โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

การคมนาคม[แก้]

ถนน

ถนนสายหลักในพื้นที่เขตพญาไท ได้แก่

ส่วนทางสายรองและทางลัด ได้แก่

ระบบขนส่งมวลชน

ในพื้นที่เขตพญาไท ตามแนวเหนือถนนพหลโยธิน มีสถานีสะพานควาย สถานีสนามเป้า และสถานีอารีย์ของรถไฟฟ้าบีทีเอส

รถไฟ

ทางรถไฟสายเหนือก็ผ่านพื้นที่เขตนี้ โดยถือเป็นแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตพญาไทกับเขตดุสิตด้วย มีสถานีสามเสนตั้งอยู่ในเขตพญาไท โดยมีพื้นที่บางส่วนของสถานีอยู่ในเขตดุสิต

อ้างอิง[แก้]

  1. "สถิติประชากรและบ้าน - จำนวนประชากรแยกรายอายุ". สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2024.
  2. 2.0 2.1 ราชกิจจานุเบกษา. "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอพญาไท พ.ศ. ๒๕๐๙". เล่ม 83 ตอนที่ 39 ฉบับพิเศษ หน้า 1–3. 1 พฤษภาคม 2509.
  3. "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพญาไท". Museum Thailand. 27 กรกฎาคม 2018.
  4. ราชกิจจานุเบกษา. "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔". เล่ม 88 ตอนที่ 144 หน้า 816–819. 21 ธันวาคม 2514.
  5. ราชกิจจานุเบกษา. "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕". เล่ม 89 ตอนที่ 190 ฉบับพิเศษ หน้า 187–201. 13 ธันวาคม 2515.
  6. ราชกิจจานุเบกษา. "พระราชกฤษฎีกาแบ่งกรุงเทพมหานครออกเป็นเขต พ.ศ. ๒๕๑๖". เล่ม 90 ตอนที่ 107 ฉบับพิเศษ หน้า 4–7. 23 สิงหาคม 2516.
  7. ราชกิจจานุเบกษา. "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตพญาไท เขตห้วยขวาง และเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๑". เล่ม 95 ตอนที่ 48 หน้า 180–184. 2 พฤษภาคม 2521.
  8. ราชกิจจานุเบกษา. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตพญาไท และตั้งเขตราชเทวี". เล่ม 106 ตอนที่ 208 ฉบับพิเศษ หน้า 9. 24 พฤศจิกายน 2532.
  9. ราชกิจจานุเบกษา. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง และตั้งเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร". เล่ม 110 ตอนที่ 184 ฉบับพิเศษ หน้า 3–6. 10 พฤศจิกายน 2536.
  10. ราชกิจจานุเบกษา. "ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงสามเสนใน และตั้งแขวงพญาไท เขตพญาไท". เล่ม 134 ตอนพิเศษ 215 ง หน้า 36–37. 31 สิงหาคม 2560.
  11. "จำนวนประชากร". stat.bora.dopa.go.th. สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°46′48″N 100°32′31″E / 13.780°N 100.542°E / 13.780; 100.542