ข้ามไปเนื้อหา

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ธงชาติสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ธง
ตราของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตรา
คำขวัญ"One Vision, One Identity, One Community"
(หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม)
[5]
สำนักงานใหญ่อินโดนีเซีย จาการ์ตา, อินโดนีเซีย
เมืองใหญ่สุดอินโดนีเซีย จาการ์ตา, อินโดนีเซีย
ภาษาทางการภาษาอังกฤษ[6]
ภาษาราชการ
ของประเทศสมาชิก
รัฐสมาชิก
2 รัฐผู้สังเกตการณ์
ผู้นำ
เกา กึมฮวน
• ประธานอาเซียน
 ลาว
ก่อตั้ง
8 สิงหาคม พ.ศ. 2510
• รับสมาชิกล่าสุด
30 เมษายน พ.ศ. 2542
16 ธันวาคม พ.ศ. 2551
พื้นที่
• รวม
4,522,518[7] ตารางกิโลเมตร (1,746,154 ตารางไมล์)
ประชากร
• 2021 ประมาณ
เพิ่มขึ้น 667,393,019[8]
144 ต่อตารางกิโลเมตร (373.0 ต่อตารางไมล์)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2021 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น $8.993 ล้านล้าน[8]
เพิ่มขึ้น $13,475[8]
จีดีพี (ราคาตลาด) 2021 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น $3.356 ล้านล้าน[8]
เพิ่มขึ้น $4,849[8]
เอชดีไอ (2019)เพิ่มขึ้น 0.729[a]
สูง
เขตเวลาUTC+6:30 ถึง UTC+9 (เวลามาตรฐานอาเซียน)
เว็บไซต์
www.asean.org

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อังกฤษ: Association of South East Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN) เป็นองค์การทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ไทย บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย อาเซียนมีพื้นที่ราว 4,479,210 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 625 ล้านคน[9] ในปี พ.ศ. 2553 จีดีพีของประเทศสมาชิกรวมกันคิดเป็นมูลค่าราว 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[10] คิดเป็นลำดับที่ 9 ของโลกเรียงตามจีดีพี อาเซียนมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ[11]

อาเซียนมีจุดเริ่มต้นจากสมาคมอาสา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2504 โดยไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 ได้มีการลงนามใน ปฏิญญากรุงเทพฯ อาเซียนได้ถือกำเนิดขึ้นโดยมีรัฐสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ[12] หลังจาก พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา อาเซียนมีรัฐสมาชิกเพิ่มขึ้นจนมี 10 ประเทศในปัจจุบัน กฎบัตรอาเซียนได้มีการลงนามเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้อาเซียนมีสถานะคล้ายกับสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น

เขตการค้าเสรีอาเซียนได้เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2553 และกำลังก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะประกอบด้วยสามด้าน คือ ประชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558[13]

ประวัติ

สมาคมอาสาและปฏิญญากรุงเทพ

  ประเทศสมาชิกอาเซียน
  ผู้สังเกตการณ์อาเซียน
  ประเทศที่ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน
    อาเซียนบวกสาม
      การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก
             การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum)

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2504 โดยประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ได้ร่วมกันจัดตั้ง สมาคมอาสา (ASA, Association of South East Asia) ขึ้นเพื่อการร่วมมือกันทาง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่ดำเนินการได้เพียง 2 ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากความผกผันทางการเมืองระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย จนเมื่อทั้งสองประเทศฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน จึงได้มีการแสวงหาลู่ทางจัดตั้งองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจขึ้นในภูมิภาค "สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" และถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร โดยมีการลงนาม "ปฏิญญากรุงเทพ" ที่พระราชวังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510

รัฐสมาชิก

a map
การขยายตัวของอาเซียนตั้งแต่ ค.ศ. 1967-1999
  รัฐสมาชิก
  รัฐที่มีโอกาสได้รับสถานะสังเกตการณ์: ประเทศบังกลาเทศและประเทศฟีจี

รัฐสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้:

ประเทศ สถานะสมาชิก ปีที่เข้า
 ไทย สมาชิกเต็ม 1967
 สิงคโปร์ สมาชิกเต็ม 1967
 ฟิลิปปินส์ สมาชิกเต็ม 1967
 มาเลเซีย สมาชิกเต็ม 1967
 อินโดนีเซีย สมาชิกเต็ม 1967
 บรูไน สมาชิกเต็ม 1984
 เวียดนาม สมาชิกเต็ม 1995
 พม่า สมาชิกเต็ม 1997
 ลาว สมาชิกเต็ม 1997
 กัมพูชา สมาชิกเต็ม 1999

รัฐสังเกตการณ์สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้:

ประเทศ สถานะสมาชิก ปีที่เข้า
 ปาปัวนิวกินี ไม่ใช่สมาชิก รัฐสังเกตการณ์ 1976
 ติมอร์-เลสเต ไม่ใช่สมาชิก รัฐสังเกตการณ์ 2002

การขยายตัว

ในปี พ.ศ. 2519 ปาปัวนิวกินีได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์[14] และตลอดช่วงพุทธทศวรรษ 2510 กลุ่มประเทศสมาชิกได้มีการจัดตั้งโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง หลังจากผลของการประชุมที่จังหวัดบาหลี ในปี พ.ศ. 2519 แต่ว่าความร่วมมือดังกล่าวได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหนักในช่วงพุทธทศวรรษ 2520 ก่อนจะได้รับการฟื้นฟูเมื่อปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากไทยเสนอให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีขึ้น ต่อมา บรูไนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเป็นประเทศที่หก เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2527 หลังบรูไนประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 1 มกราคม เพียงสัปดาห์เดียว[15]

ภูมิศาสตร์

ในปัจจุบัน สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยประเทศสมาชิกจำนวน 10 ประเทศ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 560 ล้านคน (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2549) [12] ยอดเขาที่สูงสุดในภูมิภาค คือ ยอดเขาคากาโบราซีในพม่า ซึ่งมีความสูง 5,881 เมตร และมีอาณาเขตติดต่อกับจีน อินเดีย บังกลาเทศ

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 27-36 °C[16] พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าฝนเขตร้อน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าสน ป่าหาดทรายชายทะเล ป่าไม้ปลูก มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง สับปะรด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และพริกไทย[17]

วัตถุประสงค์

จากสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการสรุปแนวทางของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้จำนวนหกข้อ ดังนี้[18]

  1. ให้ความเคารพแก่เอกราช อำนาจอธิปไตย ความเท่าเทียม บูรณภาพแห่งดินแดนและเอกลักษณ์ของชาติสมาชิกทั้งหมด
  2. รัฐสมาชิกแต่ละรัฐมีสิทธิที่จะปลอดจากการแทรกแซงจากภายนอก การรุกรานดินแดนและการบังคับขู่เข็ญ
  3. จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของรัฐสมาชิกอื่น ๆ
  4. ยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน หรือแก้ปัญหาระหว่างกันอย่างสันติ
  5. ประณามหรือไม่ยอมรับการคุกคามหรือการใช้กำลัง
  6. ให้ความร่วมมือระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ

การเมือง

ประธานอาเซียน

กฎบัตรอาเซียน ข้อ 31 ระบุว่า ตำแหน่งประธานอาเซียนจะเวียนกันทุกปีตามลำดับพยัญชนะภาษาอังกฤษของชื่อรัฐสมาชิก รัฐสมาชิกที่เป็นประธานจะเป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาประสานงานอาเซียน สภาประชาคมอาเซียนสามสภา องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาและข้าราชการอาวุโส และคณะกรรมาธิการผู้แทนถาวร

สำนักเลขาธิการ

ทำเนียบเลขาธิการอาเซียน ที่ประเทศอินโดนีเซีย

สำนักเลขาธิการอาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2519 ในตอนนั้นตั้งอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย สำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ 70A Jalan Sisingamangaraja กรุงจาการ์ตา ซึ่งซูฮาร์โต ประธานาธิบดีอินโดนีเซียขณะนั้น ก่อตั้งในปี 2524

หน้าที่หลักของสำนักเลขาธิการอาเซียนคือเพิ่มประสิทธิภาพการประสานงานขององค์กรอาเซียน และให้การนำโครงการและกิจกรรมของอาเซียนไปปฏิบัติมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น[19]

เลขาธิการ

เลขาธิการอาเซียนได้รับแต่งตั้งโดยการประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งห้าปี สมัยเดียว โดยเลือกมาจากผู้มีสัญชาติรัฐสมาชิกอาเซียนตามลำดับพยัญชนะภาษาอังกฤษ

เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน คือ เกา กึมฮวน ชาวกัมพูชา ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2566–2570

ผู้นำคนปัจจุบันในอาเซียน

ประชาคมเศรษฐกิจ

ชาติสมาชิกอาเซียนตาม
ดัชนีการพัฒนามนุษย์
[20]: 22–24 
ประเทศ HDI (2022)
 สิงคโปร์ 0.939 สูงมาก
 บรูไน 0.829 สูงมาก
 มาเลเซีย 0.803 สูงมาก
 ไทย 0.800 สูงมาก
 อาเซียน 0.725 สูง
 อินโดนีเซีย 0.705 สูง
 เวียดนาม 0.703 สูง
 ฟิลิปปินส์ 0.699 ปานกลาง
 ลาว 0.607 ปานกลาง
 กัมพูชา 0.593 ปานกลาง
 พม่า 0.585 ปานกลาง

กลุ่มอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในภูมิภาค อันประกอบด้วย "หลักสามประการ" ของความมั่นคง สังคมวัฒนธรรมและการรวมตัวทางเศรษฐกิจ[12] การรวมกลุ่มกันในภูมิภาคได้ทำให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะประสบความสำเร็จในการก่อตั้งประชาคมเศษฐกิจอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2558[21] ประชาคมเศรษฐกิจดังกล่าวจะมีประชากรรวมกัน 560 ล้านคน และมูลค่าการค้ากว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[12]

เขตการค้าเสรี

รากฐานของการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเริ่มต้นมาจากเขตการค้าเสรีอาเซียน[21] ซึ่งเป็นการลดอัตราภาษีศุลกากรเพื่อให้สินค้าภายในอาเซียนเกิดการหมุนเวียน เขตการค้าเสรีอาเซียนเป็นข้อตกลงโดยสมาชิกกลุ่มอาเซียนซึ่งกังวลต่อผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นของตน ได้รับการลงนามในสิงคโปร์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2535 ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก 10 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ไทย เวียดนาม (เข้าร่วมในปี 2538) ลาว พม่า (เข้าร่วมในปี 2540) และกัมพูชา (เข้าร่วมในปี 2542)[22][23]

เขตการลงทุนร่วม

เขตการลงทุนร่วมมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนหมุนเวียนภายในอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยหลักการดังต่อไปนี้:[24]

  • เปิดให้อุตสาหกรรมทุกรูปแบบเกิดการลงทุนและลดขั้นตอนตามกำหนดการ
  • ทำสัญญากับผู้ลงทุนในกลุ่มอาเซียนที่เขามาลงทุนในทันที
  • กำจัดการกีดขวางทางการลงทุน
  • ปรับปรุงกระบวนการและระเบียบการลงทุนให้เกิดความคล่องตัว
  • สร้างความโปร่งใส
  • ดำเนินการตามมาตรการอำนวยความสะดวกในการลงทุน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากเขตการลงทุนร่วมจะเป็นการกำจัดการกีดกันในกิจการเกษตรกรรม การประมง การป่าไม้และการทำเหมืองแร่ ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จภายในปี พ.ศ. 2553 สำหรับประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าจะสำเร็จในปี พ.ศ. 2558 สำหรับประเทศกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม[24]

การแลกเปลี่ยนบริการ

สมาชิก 16 ประเทศของ RCEP

ข้อตกลงการวางกรอบเรื่องการแลกเปลี่ยนบริการเริ่มต้นขึ้นในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงเทพมหานครในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548[25] ภายใต้กรอบข้อตกลงดังกล่าว รัฐสมาชิกของกลุ่มอาเซียนจะสามารถประสบความสำเร็จในการเจรจาอย่างเสรีในด้านการแลกเปลี่ยนบริการ โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากขึ้น ผลของการเจรจาการแลกเปลี่ยนบริการซึ่งได้เริ่มดำเนินการตามหมายกำหนดการเป็นรายเฉพาะจะถูกรวมเข้ากับกรอบข้อตกลง ซึ่งหมายกำหนดการดังกล่าวมักจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มการแลกเปลี่ยนบริการ ในปัจจุบัน พบว่ามีกลุ่มการแลกเปลี่ยนบริการจำนวนเจ็ดกลุ่มภายใต้กรอบข้อตกลงดังกล่าว[26]

ตลาดการบินเดียว

แนวคิดเรื่องตลาดการบินเดียวเป็นความคิดเห็นที่เสนอโดยกลุ่มงานขนส่งทางอากาศอาเซียน ได้รับการสนับสนุนในการประชุมการขนส่งอย่างเป็นทางการของอาเซียน และได้รับการอนุมัติโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคมของรัฐสมาชิก ซึ่งจะนำไปสู่การจัดระเบียบน่านฟ้าเปิดในภูมิภาคภายในปี พ.ศ. 2558[27] โดยตลาดการบินเดียวมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดการคมนาคมทางอากาศระหว่างรัฐสมาชิกเป็นไปอย่างเสรี ซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มอาเซียนจากการเติบโตของการเดินทางทางอากาศในปัจจุบัน และยังเป็นการเพิ่มการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนและการบริการให้กับรัฐสมาชิกทั้งหมด[27][28] เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ข้อจำกัดเสรีภาพทางอากาศที่สามและที่สี่ระหว่างเมืองหลวงของรัฐสมาชิกสำหรับบริการสายการบินจะถูกยกเลิก[29] ในขณะที่หลังจากวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 จะมีเสรีภาพบริการการบินในภูมิภาค[27][28] และภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 จะมีการเปิดเสรีเสรีภาพทางอากาศข้อที่ห้าระหว่างเมืองหลวงทั้งหมด[30]

ข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียน

อาเซียนได้เปิดการค้าเสรีกับประเทศภายนอกหลายประเทศ ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และล่าสุด อินเดีย[31] ข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศจีนได้สร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ในปัจจุบัน อาเซียนนั้นกำลังเจรจากับสหภาพยุโรปในการที่จะทำการค้าเสรีด้วยกัน[32] ผลดีของข้อตกลงนั้น คือการเปิดโอกาสการค้าของอาเซียน ให้มีศักยภาพและขยายตัวมากขึ้น รวมไปถึงการลงทุนจากต่างชาติด้วย[33] ไต้หวันยังแสดงความสนใจที่จะทำข้อตกลงกับอาเซียน แต่ได้รับการคัดค้านทางการทูตจากประเทศจีน[34]

ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อก้าวเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 ประเด็นปัญหาเริ่มมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยกลุ่มประเทศสมาชิกได้เริ่มเจรจากันถึงข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึง การลงนามในความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ในปี พ.ศ. 2545 ในความพยายามที่จะจำกัดขอบเขตของมลภาวะฟ้าหลัวในเขตพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้[35] แต่ทว่าในพื้นที่ก็ยังเกิดปัญหาฟ้าหลัวในประเทศมาเลเซีย ในปี พ.ศ. 2548 และปัญหาฟ้าหลัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ. 2549 ส่วนสนธิสัญญาฉบับอื่นที่ได้รับการลงนามโดยสมาชิกอาเซียนได้แก่ ปฏิญญาเซบูว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานเอเชียตะวันออก[36] เครือข่ายกำกับดูแลสัตว์ป่าอาเซียนในปี พ.ศ. 2549[37] และ หุ้นส่วนเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยการพัฒนาความสะอาดและสภาพอากาศ ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อปรากฏการณ์โลกร้อน และผลกระทบทางด้านลบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ใน พ.ศ. 2550 ปฏิญญาเซบูว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานเอเชียตะวันออก ซึ่งลงนามในกลุ่มอาเซียน ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยการหาพลังงานทางเลือกเพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์

ความร่วมมือทางวัฒนธรรม

ความร่วมมือทางวัฒนธรรมนั้น มีจุดประสงค์เพื่อที่จะช่วยสร้างภาพรวมในด้านต่าง ๆให้ดีขึ้น โดยการให้การสนับสนุน ทั้งการกีฬา การศึกษา และกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ความร่วมมือต่าง ๆ ดังนี้

รางวัลซีไรต์

ได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เพื่อมอบรางวัลแก่นักประพันธ์หรือนักเขียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้สร้างผลงานที่ดีมีชื่อเสียง ที่ประสบความสำเร็จในช่วงชีวิตของนักเขียนนั้น ๆ ผลงานนั้นเป็นผลงานเขียนทุกประเภท ทั้งวรรณกรรมต่าง ๆ เรื่องสั้น กลอน รวมไปถึงผลงานทางศาสนา ซึ่งจะมีการจัดงานที่กรุงเทพมหานคร โดยมีเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์ไทยเป็นผู้พระราชทานรางวัล

การศึกษา

สถาบันเพื่อการศึกษาขั้นสูงแห่งอาเซียน เป็นองค์การเอกชนที่จัดตั้งขึ้น ในปี พ.ศ. 2499 เพื่อที่จะพัฒนาระดับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ทั้งสถาบันการศึกษาระดับสูง การสอน การบริการสาธารณะที่ดีได้มาตรฐานที่สูงขึ้น โดยสอดคล้องไปกับวัฒนธรรมและพื้นที่นั้น ๆ

อุทยานมรดก

ได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2527 และเริ่มใหม่อีกรอบในปี พ.ศ. 2547 เป็นการรวมรายชื่อของอุทยานแห่งชาติทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจุดประสงค์ที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมป่าไม้ ปัจจุบันมีรวมทั้งหมด 35 แห่ง

การประชุม

การประชุมสุดยอดอาเซียน

ป้ายประกาศในกรุงจาการ์ตาต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 18

ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนได้จัดการประชุมขึ้น เรียกว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งหัวหน้ารัฐบาลแต่ละประเทศสมาชิกจะมาอภิปรายและแก้ไขประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมไปถึงการจัดการประชุมร่วมกับประเทศนอกกลุ่มสมาชิกเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ. 2519 จากผลของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่สาม ณ กรุงมะนิลา ในปี พ.ศ. 2530 สรุปว่าผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนควรจะจัดการประชุมขึ้นทุกห้าปี[38] อย่างไรก็ตาม ผลของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งต่อมาที่ประเทศสิงคโปร์ ในปี พ.ศ. 2535 ได้เสนอให้จัดการประชุมให้บ่อยขึ้น และได้ข้อสรุปว่าจะมีการจัดการประชุมสุดยอดขึ้นทุกสามปีแทน[38] ต่อมา ในปี พ.ศ. 2544 ผู้นำสมาชิกประเทศกลุ่มอาเซียนได้เสนอให้จัดการประชุมขึ้นทุกปีเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาด่วนที่ส่งผลกระทบในพื้นที่ ประเทศสมาชิกจะได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดขึ้นเรียงตามตัวอักษร ยกเว้นประเทศพม่า ซึ่งถูกยกเลิกการเป็นเจ้าภาพการประชุมในปี พ.ศ. 2549 เนื่องจากปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547[39]

การประชุมอาเซียนอย่างเป็นทางการมีกำหนดการสามวัน ดังนี้

  • ผู้นำของรัฐสมาชิกจะจัดการประชุมภายใน
  • ผู้นำของรัฐสมาชิกจะหารือร่วมกันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในที่ประชุมกลุ่มอาเซียน
  • การประชุมที่เรียกว่า "อาเซียนบวกสาม" ผู้นำรัฐสมาชิกจะประชุมร่วมกับผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยจัดขึ้นพร้อมกับการประชุมสุดยอดอาเซียน
  • การประชุมที่เรียกว่า "อาเซียน-เซอร์" ผู้นำรัฐสมาชิกจะประชุมร่วมกับผู้นำออสเตรเลียและนิวซีแลนด์


การประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างเป็นทางการ
ครั้งที่ วันที่ ประเทศ สถานที่จัดการประชุม
1 23-24 กุมภาพันธ์ 2519 ธงของประเทศอินโดนีเซีย อินโดนีเซีย บาหลี
2 4-5 สิงหาคม 2520 ธงของประเทศมาเลเซีย มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์
3 14-15 ธันวาคม 2530 ธงของประเทศฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์ มะนิลา
4 27-29 มกราคม 2535  สิงคโปร์ สิงคโปร์
5 14-15 ธันวาคม 2538  ไทย กรุงเทพมหานคร
6 15-16 ธันวาคม 2541 ธงของประเทศเวียดนาม เวียดนาม ฮานอย
7 5-6 พฤศจิกายน 2544 ธงของประเทศบรูไนดารุสซาลาม บรูไน บันดาร์เซอรีเบอกาวัน
8 4-5 พฤศจิกายน 2545 ธงของประเทศกัมพูชา กัมพูชา พนมเปญ
9 7-8 ตุลาคม 2546 ธงของประเทศอินโดนีเซีย อินโดนีเซีย บาหลี
10 29-30 พฤศจิกายน 2547 ธงของประเทศลาว ลาว เวียงจันทน์
11 12-14 ธันวาคม 2548 ธงของประเทศมาเลเซีย มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์
12 11-14 มกราคม 25501 ธงของประเทศฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์2 เซบู
13 18-22 พฤศจิกายน 2550  สิงคโปร์ สิงคโปร์
143 27 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2552  ไทย ชะอำ, หัวหิน
10–11 เมษายน 2552 พัทยา
15 23-25 ตุลาคม 2552 ชะอำ, หัวหิน
16 8-9 เมษายน 2553 ธงของประเทศเวียดนาม เวียดนาม ฮานอย
17 28-31 ตุลาคม 2553
18 7-8 พฤษภาคม 2554 ธงของประเทศอินโดนีเซีย อินโดนีเซีย4 จาการ์ตา
19 14-19 พฤศจิกายน 2554 บาหลี
20 3-4 เมษายน 2555 ธงของประเทศกัมพูชา กัมพูชา พนมเปญ
21 17–20 พฤศจิกายน 2555
22 24–25 เมษายน 2556 ธงของประเทศบรูไนดารุสซาลาม บรูไน บันดาร์เซอรีเบอกาวัน
23 9–10 ตุลาคม 2556
24 10–11 พฤษภาคม 2557 ธงของประเทศพม่า พม่า กรุงเนปยีดอ
25 10–12 พฤศจิกายน 2557
26 26‒27 เมษายน 2558 ธงของประเทศมาเลเซีย มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์, เกาะลังกาวี
27 18–22 พฤศจิกายน 2558 กัวลาลัมเปอร์
28 6–8 กันยายน 2559 ธงของประเทศลาว ลาว เวียงจันทน์
29
30 26-27 เมษายน 2560 ธงของประเทศฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์ ปาไซ
31 10-14 พฤศจิกายน 2560
32 25-28 เมษายน 2561  สิงคโปร์ สิงคโปร์
33 11–15 พฤศจิกายน 2561
34 20–23 มิถุนายน 2562[40]  ไทย กรุงเทพมหานคร
35 31 ตุลาคม–4 พฤศจิกายน 2562[41] กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี[42][43]
36 14 เมษายน 2563 ธงของประเทศเวียดนาม เวียดนาม ฮานอย (ประชุมทางไกลผ่านวีดิทัศน์)5
37 11–15 พฤศจิกายน 2563
387 26–28 ตุลาคม 2564 ธงของประเทศบรูไนดารุสซาลาม บรูไน บันดาร์เซอรีเบอกาวัน (ประชุมทางไกลผ่านวีดิทัศน์)5
397
407 10–13 พฤศจิกายน 2565 ธงของประเทศกัมพูชา กัมพูชา พนมเปญ
417
427 9–11 พฤษภาคม 2566 ธงของประเทศอินโดนีเซีย อินโดนีเซีย ลาบูอันบาโจ
437 5–7 กันยายน 2566 จาการ์ตา
447 6–11 ตุลาคม 2567 ธงของประเทศลาว ลาว เวียงจันทน์
457
1 การประชุมเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 10-14 ธันวาคม เนื่องจากภัยไต้ฝุ่น.
2 พม่าไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เนื่องจากความกดดันอย่างหนักจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป.
3 การประชุมถูกเลื่อนออกไปสองครั้งเนื่องจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล.
4 อินโดนีเซียเสนอแลกเปลี่ยนกับบรูไนอาจจะเป็นเจ้าภาพเอเปค (และอาจมีการประชุม G20) ในปี 2013.
5 เวียดนามและบรูไนเป็นประธานการประชุมสมัยพิเศษว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล.
6 เลื่อนจากกำหนดเดิมปลายเดือนเมษายน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยเวียดนามเป็นประธานการประชุม.
7 ตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 38 พม่าซึ่งอยู่ในสถานการณ์การประท้วงอันสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม แม้อาเซียนจะมีหนังสือเชิญผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ตาม[44][45][46]


การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

ประเทศผู้เข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก:
  อาเซียน
  อาเซียนบวกสาม
  สมาชิกเพิ่มเติม
  ผู้สังเกตการณ์

การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเป็นการจัดการประชุมทั่วเอเชียซึ่งจัดขึ้นทุกปีโดยผู้นำเอเชียตะวันออก 16 ประเทศ หัวข้อการประชุมนั้นเกี่ยวกับการค้า พลังงานและความมั่นคง และการประชุมสุดยอดดังกล่าวยังมีบทบาทในการสร้างประชาคมภูมิภาค

ประเทศผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ชาติอาเซียน 10 ประเทศร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากรรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของโลก เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 รัสเซียและสหรัฐอมริกาได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นสมาชิกเต็มตัวอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศเข้าร่วมการประชุมสุดยอดใน พ.ศ. 2554

การประชุมสุดยอดครั้งแรกจัดขึ้นในกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2548 และการประชุมครั้งต่อ ๆ มาถูกจัดขึ้นหลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนประจำปี


การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกอย่างเป็นทางการ
ครั้งที่ วันที่ ประเทศ ที่จัดงาน หัวหน้างาน หมายเหตุ
1 14 ธันวาคม ค.ศ. 2005  มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์ นายกรัฐมนตรี อับดุลละฮ์ อะฮ์มัด บาดาวี ประธานาธิบดีรัสเซียได้รับเชิญเข้าประชุม
2 15 มกราคม ค.ศ. 2007  ฟิลิปปินส์ มันดาเว ประธานาธิบดี กลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย ย้ายจากวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2006
มีการลงนามปฏิญญาเซบูว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานเอเชียตะวันออก
3 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007  สิงคโปร์ สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ปฏิญญาสิงคโปร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พลังงานและสิ่งแวดล้อม[47]
ข้อตกลงว่าด้วยการก่อตั้งสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก
4 25 ตุลาคม ค.ศ. 2009  ไทย ชะอำและหัวหิน นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันที่และสถานที่ประชุมมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง โดยมีการประกาศในช่วงปลายตุลาคม ค.ศ. 2008 ว่าย้ายที่จัดการประชุมสุดยอดจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพ
5 30 ตุลาคม ค.ศ. 2010  เวียดนาม ฮานอย ประธานาธิบดี เหงียน มิญ เจี๊ยต เชิญสหรัฐและรัสเซียเข้าร่วมการประชุม
6 18–19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2011  อินโดนีเซีย บาหลี ประธานาธิบดี ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน เชิญสหรัฐและรัสเซียเข้าร่วมการประชุม
7 19–20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2012  กัมพูชา พนมเปญ นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ความตึงเครียดในข้อพิพาทดินแดนในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกบดบังความก้าวหน้าในการทำข้อตกลงทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกในการประชุม[48]
8 9–10 ตุลาคม ค.ศ. 2013  บรูไน บันดาร์เซอรีเบอกาวัน สุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์
9 12–13 พฤศจิกายน ค.ศ. 2014  พม่า เนปยีดอ ประธานาธิบดี เต้นเซน
10 21–22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2015  มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์ นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก
11 6–8 กันยายน ค.ศ. 2016  ลาว เวียงจันทน์ นายกรัฐมนตรี ทองลุน สีสุลิด
12 13–14 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017  ฟิลิปปินส์ ปาไซ ประธานาธิบดี โรดรีโก ดูแตร์เต นายกรัฐมนตรีแคนาดาเข้าร่วมประชุม
13 14–15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018  สิงคโปร์ สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน เข้าร่วมประชุม[49]
14 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019  ไทย กรุงเทพ นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา
15 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020  เวียดนาม ฮานอย (ในฐานะสถานที่จัดงาน) นายกรัฐมนตรี เหงียน ซวน ฟุก จัดออนไลน์เพราะโรคระบาดโควิด-19[50]
16 26–27 ตุลาคม ค.ศ. 2021  บรูไน บันดาร์เซอรีเบอกาวัน (ในฐานะสถานที่จัดงาน) สุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์ จัดออนไลน์เพราะโรคระบาดโควิด-19
17 ค.ศ. 2022  กัมพูชา พนมเปญ นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน


การประชุมเชื่อมสัมพันธไมตรี

การประชุมเชื่อมสัมพันธไมตรีเป็นการประชุมระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างชาติอาเซียน ถูกจัดตั้งขึ้นเนื่องในวาระครบรอบการก่อตั้งความสัมพันธ์ทางการทูต ประเทศนอกกลุ่มอาเซียนจะเป็นผู้เชิญชวนผู้นำชาติอาเซียนเพื่อประชุมเชื่อมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือในอนาคต

ที่ประชุมกลุ่มอาเซียน

ที่ประชุมกลุ่มอาเซียนเป็นการประชุมหลายฝ่ายอย่างเป็นทางการในภาคพื้นแปซิฟิก ในเดือนกรกฎาคม 2550 ที่ประชุมดังกล่าวประกอบด้วย ประเทศสมาชิก 27 ประเทศ; ออสเตรเลีย บังกลาเทศ แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี รัสเซีย ติมอร์-เลสเต สหรัฐ และศรีลังกา จุดประสงค์ของที่ประชุมเพื่อการปรึกษาหารือ นำเสนอความไว้วางใจและธำรงความสัมพันธ์ทางการทูตในกลุ่มสมาชิก ที่ประชุมกลุ่มอาเซียนจัดการประชุมครั้งแรกในปี 2537[51][52]

การประชุมอื่น

นอกเหนือจากการประชุมที่กล่าวมาข้างต้น อาเซียนยังได้มีการจัดการประชุมอื่นขึ้นอีก[53] ประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนประจำปี[54] รวมไปถึงคณะกรรมการย่อย อย่างเช่น ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประชุมดังกล่าวมักจะมีหัวข้อการประชุมที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่น ความมั่นคงระหว่างประเทศ[53] สิ่งแวดล้อม[53][55] ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมประชุมจะเป็นรัฐมนตรีแทนที่จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลทั้งหมด

การประชุมอาเซียนบวกสาม

ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ผลักดันให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เกาหลีใต้ก็ได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก ด้วยการผนึกสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เข้ากับกลุ่มประเทศอาเซียนที่เรียกชื่อว่า "อาเซียนบวกสาม" (APT) แต่สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินหน้าจัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน โดยกีดกันญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วยความจงใจ แม้ว่าตามข้อตกลงในการจัดซื้อเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน จะมีแผนที่จะผนวกเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเข้ามาในภายหลังเพื่อเป็นอาเซียนบวกสาม แต่มิได้กำหนดเงื่อนเวลาอันแน่นอน อันทำให้เขตการค้าเสรีอาเซียนบวกสาม

การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป

การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรปเป็นกระบวนการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ มีขึ้นครั้งแรกในปี 2538 เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาชิกของสหภาพยุโรปและอาเซียน[56] โดยกลุ่มอาเซียนจะส่งเลขาธิการอาเซียนเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมร่วมกับผู้แทนอีก 45 คน และได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้บริหารของมูลนิธิเอเชีย-ยุโรป ซึ่งเป็นองค์การความร่วมมือกันทางด้านสังคมและวัฒนธรรมระหว่างเอเชียกับยุโรป

การประชุมอาเซียน-รัสเซีย

เป็นการประชุมประจำปีระหว่างผู้นำของประเทศกลุ่มอาเซียนร่วมกับประธานาธิบดีของสหพันธรัฐรัสเซีย

การประชุมทางทหารของอาเซียน

การประชุมทางทหารของอาเซียน ประกอบไปด้วยหลายส่วน ประกอบไปด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ รวมไปถึงกิจกรรมทางทหารอื่น ๆ ภายในกองทัพของกลุ่มประเทศอาเซียน

หมายเหตุ

  1. การคำนวณเป็นค่าประมาณโดยเฉลี่ย ดัชนีการพัฒนามนุษย์เป็นข้อมูลของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติของประเทศสมาชิก

อ้างอิง

  1. "Ang Saligang Batas ng ASEAN" [The ASEAN Charter] (PDF) (ภาษาฟิลิปปินส์). Association of Southeast Asian Nations. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-01-10. สืบค้นเมื่อ 10 January 2018.
  2. "Piagam Persatuan Negara Asia Tenggara" [The ASEAN Charter] (PDF) (ภาษามาเลย์). Association of Southeast Asian Nations. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-01-10. สืบค้นเมื่อ 10 January 2018.
  3. "Hiến chương của Hiệp hội các Quốc gia Đông Nam Á" [The ASEAN Charter] (PDF) (ภาษาเวียดนาม). Association of Southeast Asian Nations. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-01-10. สืบค้นเมื่อ 10 January 2018.
  4. "Piagam Perhimpunan Bangsa-Bangsa Asia Tenggara" [The ASEAN Charter] (PDF) (ภาษาอินโดนีเซีย). Association of Southeast Asian Nations. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-12-15. สืบค้นเมื่อ 10 January 2018.
  5. "ASEAN Motto". ASEAN.org. ASEAN. สืบค้นเมื่อ 9 May 2015.
  6. ASEAN Charter (PDF). Association of Southeast Asian Nations. p. 29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-11-09. สืบค้นเมื่อ 2016-09-08. Article 34. The working language of ASEAN shall be English.
  7. "Selected Basic ASEAN Indicators" (PDF). ASEAN.organisation. ASEANstats. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 September 2015. สืบค้นเมื่อ 9 May 2015.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 "World Economic Outlook Database, October 2019". IMF.org. International Monetary Fund. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2020. สืบค้นเมื่อ 4 February 2020.
  9. "Selected basic ASEAN indicators" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 20 May 2012. สืบค้นเมื่อ 5 September 2010.
  10. EC.Europa.eu เก็บถาวร 2010-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, European Union Relations with ASEAN. Retrieved 29 October 2010.
  11. Termsak Chalermpalanupap. "ASEAN-10: Meeting the Challenges". Aseansec.org. ASEAN Secretariat. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 November 2011. สืบค้นเมื่อ 27 June 2008.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 "ASEAN - Overview" (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 November 2012.
  13. เคาต์ดาวน์สู่ ประชาคมอาเซียน. (8 สิงหาคม 2553). โพสต์ทูเดย์. สืบค้น 05-09-2010.
  14. "ASEAN secretariat". ASEAN. 23 July 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 July 2012. สืบค้นเมื่อ 2009-01-12.
  15. "Background Note:Brunei Darussalam/Profile:/Foreign Relations". United States State Department. สืบค้นเมื่อ 2007-03-06.
  16. "Asean Tourism" (ภาษาอังกฤษ).
  17. "Agriculture in ASEAN". Netherlandsworldwide.nl (ภาษาอังกฤษ).
  18. ASEAN at About.com:Geography เก็บถาวร 2009-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  19. About ASEAN Secretariat ASEAN Secretariat. สืบค้น 13 เมษายน 2557.
  20. Global 2022 Human Development Report Overview - English. New York: United Nations Development Programme (UNDP). 2020. pp. 22–24. สืบค้นเมื่อ 20 May 2021.
  21. 21.0 21.1 Sim, Edmund "Introduction to the ASEAN Economic Community", http://www.asil.org/aseanevent/Sim_Intro_to_ASEAN.pdf เก็บถาวร 2012-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  22. "Agreement on the Common Effective Preferential Tariff Scheme for the ASEAN Free Trade Area, Singapore, 28 January 1992". Aseansec.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 October 2012. สืบค้นเมื่อ 2008-12-21.
  23. "Overview - Trade". Aseansec.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-12. สืบค้นเมื่อ 2008-12-21.
  24. 24.0 24.1 "Highlights of the ASEAN Comprehensive Investment Agreement (ACIA)". Aseansec.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-05. สืบค้นเมื่อ 2008-12-21.
  25. "ASEAN Framework Agreement on Services (1995)". Aseansec.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 October 2012. สืบค้นเมื่อ 21 December 2008.
  26. "Overview - Services". Aseansec.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 August 2011. สืบค้นเมื่อ 21 December 2008.
  27. 27.0 27.1 27.2 "Asean Single Aviation Market". The Straits Times. 2 February 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-09. สืบค้นเมื่อ 26 September 2008.
  28. 28.0 28.1 "Singaporean PM urges ASEAN to liberalise aviation". chinaview.cn. Xinhua News Agency. 1 November 2007. สืบค้นเมื่อ 26 September 2008.
  29. Kaur, Karamjit (25 September 2008). "Tiger offers 50,000 free seats". The Straits Times. สืบค้นเมื่อ 26 September 2008.
  30. "Three quarters of a million more seats and counting- KL-Singapore benefits from liberalisation". Centre for Asia Pacific Aviation. 28 September 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-05. สืบค้นเมื่อ 26 September 2008.
  31. "Welcome to Singapore FTA Network". Fta.gov.sg. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-09. สืบค้นเมื่อ 21 December 2008.
  32. "Welcome to Singapore FTA Network". Fta.gov.sg. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-01. สืบค้นเมื่อ 21 December 2008.
  33. "การเติบโตทางการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน กับแนวโน้มของ AFTA". ห้องสมุดธนาคารไทยพาณิชย์. 31 March 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 August 2009.
  34. "Taipei Times - archives". Taipeitimes.com. สืบค้นเมื่อ 21 December 2008.
  35. "ASEAN Cooperation on Environment". ASEAN Secretariat. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 November 2012. สืบค้นเมื่อ 12 October 2006.
  36. East Asian leaders to promote biofuel เก็บถาวร 2011-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Philippine Daily Inquirer, 13 March 2007.
  37. "ASEAN Statement on Launching of the ASEAN Wildlife Law Enforcement Network (ASEAN-WEN)". ASEAN. 1 December 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 May 2012. สืบค้นเมื่อ 2009-01-12.
  38. 38.0 38.1 ASEAN Structure เก็บถาวร 2007-12-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ASEAN Primer
  39. Denis Hew (2005). Roadmap to an Asean Economic Community. Institute of Southeast Asian Studies. ISBN 981-230-347-2.
  40. "รายละเอียดการประชุม 34th ASEAN Summit". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-27. สืบค้นเมื่อ 2019-05-27.
  41. "รายละเอียดการประชุม 35th ASEAN Summit and Related Summits". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-27. สืบค้นเมื่อ 2019-05-27.
  42. กำหนดการสื่อมวลชน การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง เก็บถาวร 2020-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงเทพฯ และนนทบุรี
  43. "ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-01. สืบค้นเมื่อ 2019-11-01.
  44. "ASEAN summit begins without Myanmar after top general barred". Al Jazeera. October 26, 2021. สืบค้นเมื่อ November 3, 2021.
  45. "Southeast Asia leaders struggle with Myanmar crisis at summit". Al Jazeera. November 11, 2022. สืบค้นเมื่อ January 18, 2023.
  46. Widakuswara, Patsy (September 6, 2023). "Myanmar's Seat Empty as VP Harris Speaks to ASEAN Leaders". Voice of America. สืบค้นเมื่อ January 4, 2024.
  47. Singapore Declaration on Climate Change, Energy and the Environment เก็บถาวร 13 พฤษภาคม 2012 ที่ Library of Congress Web Archives
  48. Branigan, Tania (20 พฤศจิกายน 2012). "Obama urges Asian leaders to step back from territorial disputes". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2018.
  49. "Singapore to host 13th East Asia Summit in November". Connected to India. 23 March 2018. สืบค้นเมื่อ 23 March 2018.
  50. "Ha Noi Declaration on the 15th Anniversary of the East Asia Summit". Association of Southeast Asian Nations. November 15, 2020. สืบค้นเมื่อ November 19, 2020.
  51. About Us เก็บถาวร 2013-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ASEAN Regional Forum official website เก็บถาวร 2013-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 12 June 2006
  52. Official Website of Australian Department of Foreign Affairs and Trade เก็บถาวร 2008-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 3 August 2008
  53. 53.0 53.1 53.2 "ASEAN Calendar of Meetings and Events November 2006". ASEAN Secretariat. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 August 2010. สืบค้นเมื่อ 13 March 2007.
  54. "ASEAN Ministerial Meetings". ASEAN Secretariat. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 November 2012. สืบค้นเมื่อ 13 March 2007.
  55. "Malaysians have had enough of haze woes". The Malaysian Bar. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 December 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-03-13.
  56. Lay Hwee Yeo (2003). Asia and Europe: the development and different dimensions of ASEM. Routledge (UK). ISBN 0-415-30697-3.

แหล่งข้อมูลอื่น

เกี่ยวกับอาเซียน
การประชุมสุดยอดอาเซียน
องค์กรอาเซียน