สงครามฟุตบอล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามฟุตบอล

แผนที่ประเทศฮอนดูรัสซึ่งเป็นสนามรบส่วนใหญ่
วันที่14–18 กรกฎาคม ค.ศ. 1969
สถานที่
ผล สถานะเดิมก่อนสงคราม
การหยุดยิงโดยองค์การนานารัฐอเมริกาเข้าแทรกแซง
คู่สงคราม
เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ฟิเดล ซันเชซ เอร์นันเดซ โอซวลโด โลเปซ อาเรยาโน
กำลัง
30,000 นาย (กองกำลังภาคพื้นดิน)
1,000 นาย (กองกำลังทางอากาศ)
23,000 นาย (กองกำลังภาคพื้นดิน)
600 นาย (กองกำลังทางอากาศ)
ความสูญเสีย
900 คน [ต้องการอ้างอิง] (รวมพลเรือน) 2,100 คน [ต้องการอ้างอิง] (รวมพลเรือน)

สงครามฟุตบอล (สเปน: guerra del Fútbol) หรือ สงครามร้อยชั่วโมง (guerra de las Cien Horas) ซึ่งในเอลซัลวาดอร์ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ สงครามการป้องกันตน (guerra de Legítima Defensa) เป็นสงครามระยะสั้น ๆ ใน ค.ศ. 1969 ระหว่างเอลซัลวาดอร์กับฮอนดูรัส ต้นเหตุของสงครามเป็นเรื่องเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือ มาจากการที่รัฐบาลฮอนดูรัสตรากฎหมายปฏิรูปที่ดิน ค.ศ. 1962[1] ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1967 โดยให้อำนาจรัฐบาลและเทศบาลต่าง ๆ ในการยึดที่ดินคืนจากเกษตรกรชาวเอลซัลวาดอร์[2] ซึ่งเป็นผู้ครอบครองปรปักษ์หรือได้ครอบครองที่ดินด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง แล้วนำไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรและคนงานชาวฮอนดูรัสซึ่งยากจนและไม่มีที่ดินทำกิน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดแรงกดดันจากกลุ่มดังกล่าวซึ่งอาจรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาล นอกจากนี้ ในฮอนดูรัสยังมีการจัดตั้งกลุ่มลับชื่อ "มันชาบราบา" (Mancha Brava) เพื่อตามข่มขู่และสังหารชาวเอลซัลวาดอร์อีกด้วย ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ชาวเอลซัลวาดอร์จำนวนมากจึงอพยพกลับประเทศของตน

ความตึงเครียดระหว่างประเทศทั้งสองมาปะทุถึงขีดสุดในช่วงการแข่งขันรอบคัดเลือกของฟุตบอลโลก 1970 โดยทีมชาติฮอนดูรัสได้พบกับทีมชาติเอลซัลวาดอร์ 3 ครั้งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1969 และเอลซัลวาดอร์เป็นฝ่ายชนะฮอนดูรัสไป 2 ครั้ง ระหว่างนี้ได้เกิดเหตุจลาจลระหว่างแฟนบอลทั้งในกรุงเตกูซิกัลปาและกรุงซานซัลวาดอร์ซึ่งเป็นสนามแข่งขัน ในวันที่ 26 มิถุนายน รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฮอนดูรัส โดยแถลงว่า "รัฐบาลฮอนดูรัสยังไม่ใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพในการลงโทษบรรดาอาชญากรรมซึ่งถือเป็นการล้างเผ่าพันธุ์ และยังไม่ดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวเอลซัลวาดอร์ด้วย"[3] จากนั้น สงครามได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม เมื่อกองทัพเอลซัลวาดอร์เปิดฉากโจมตีฮอนดูรัส องค์การนานารัฐอเมริกาได้เจรจาให้ทั้งสองฝ่ายยุติการสู้รบในคืนวันที่ 18 กรกฎาคม (จึงเรียกว่า "สงครามร้อยชั่วโมง") โดยมีผลอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 20 กรกฎาคม กองทัพเอลซัลวาดอร์ถอนกำลังออกไปในต้นเดือนสิงหาคม

อ้างอิง[แก้]

  1. "La Gaceta Dec. 5, 1962(Library of Congress)" (PDF). Content.glin.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-02-24. สืบค้นเมื่อ 2013-07-19.
  2. Uppsala Conflict Data Program Conflict Encyclopedia, El Salvador, http://www.ucdp.uu.se/gpdatabase/gpcountry.php?id=51&regionSelect=4-Central_Americas เก็บถาวร 2013-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, viewed on 24 May 2013
  3. Anderson, Thomas P. The War of the Dispossessed: Honduras and El Salvador 1969. p.105 Lincoln: University of Nebraska Press, 1981.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Armstrong, Robert and Janet Shenk. (1982). El Salvador: The Face of a Revolution. Boston: South End Press.
  • Diamond, Jared. (2012). "The World Until Yesterday". New York: Viking.
  • Durham, William H. (1979). Scarcity and Survival in Central America: Ecological Origins of the Football War. Stanford: Stanford University Press.
  • Kapuscinski, Ryszard. (1990). The Soccer War. Translated William Brand. London: Granta Books.
  • Skidmore, T., and Smith, P. (2001). Modern Latin America (5th edition). New York: Oxford University Press, pg. 343.
  • Walzer, Michael. (1977). Just and Unjust Wars. New York: Basic Books.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]