การลอบสังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี
เหตุการณ์การลอบสังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี | |
---|---|
ประธานาธิบดีบนรถลีมูซีนก่อนเกิดเหตุ | |
สถานที่ | เดลลีย์พลาซ่า, เมืองแดลลัส รัฐเท็กซัส, สหรัฐ |
วันที่ | 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 12:30 น. ตามเวลาท้องถิ่น |
ประเภท | การซุ่มยิงด้วยสไนเปอร์ |
อาวุธ | ปืนแมนลิเชอร์-คาร์กาโน รุ่น M91/38 ขนาด 6.5x52ม.ม. |
ตาย | จอห์น เอฟ. เคนเนดี เจ. ดี. ทิปปิต |
เจ็บ | จอห์น คอนเนลี เจมส์ เทคส์ |
ผู้ก่อเหตุ | ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ |
เหตุการณ์การลอบสังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีลำดับที่ 35 แห่งสหรัฐ เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 เวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ เดลลีย์พลาซา เมืองแดลลัส รัฐเท็กซัส ประธานาธิบดีเคนเนดีถูกยิงถึงแก่ชีวิตระหว่างที่นั่งขบวนรถประธานาธิบดีไปกับภรรยาของเขา แจ็กเกอลีน เคนเนดี โอนาสซิส
การสืบสวนของคณะกรรมการวอร์เรน ซึ่งกินเวลา 10 เดือนระหว่าง พ.ศ. 2506 - 2507 การสืบสวนของคณะกรรมการสมาชิกผู้แทนราษฎรสหรัฐว่าด้วยการลอบสังหารประธานาธิบดี (HSCA) ระหว่าง พ.ศ. 2519 - 2522 และการสืบสวนของรัฐบาล สรุปว่าประธานาธิบดีถูกลอบสังหารโดยลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ซึ่งในเวลาต่อมาออสวอล์ดถูกฆาตกรรมโดยแจ๊ค รูบี้ ก่อนที่เขาจะต้องขึ้นศาล ในช่วงแรกที่มีการเปิดเผยผลการสืบสวน ข้อสรุปนี้ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนอเมริกัน แต่ในภายหลัง ผลสำรวจที่มีการจัดทำขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2509 ถึง พ.ศ. 2547 เปิดเผยว่าชาวอเมริกันประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์มีความเชื่อตรงกันข้ามกับข้อสรุปที่ได้จากการสืบสวนดังกล่าว[1][2] การลอบสังหารนี้ยังคงเป็นประเด็นการอภิปรายในวงกว้าง และก่อให้เกิดประเด็นเรื่องทฤษฎีสมคบคิดและการจัดฉากอย่างนับไม่ถ้วน
ใน พ.ศ. 2522 คณะกรรมการสมาชิกผู้แทนราษฎรสหรัฐว่าด้วยการลอบสังหารประธานาธิบดี ค้นพบว่ารายงานการสืบสวนของเอฟบีไอและคณะกรรมการวอร์เรนมีข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง คณะกรรมการฯ ยังสรุปด้วยว่ามีการยิงปืนใส่ไม่ต่ำกว่า 4 นัด ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าอาจมีฆาตกรสองคน และทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจริง[3] อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาในภายหลัง ซึ่งรวมถึงผลการศึกษาของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ[4] ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของหลักฐานที่คณะกรรมการฯ ใช้เพื่อสนับสนุนทฤษฎีกระสุนสี่นัดดังกล่าว
ลำดับเหตุการณ์
[แก้]วันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ได้เดินทางไปยังเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส เพื่อหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยหน้าของเขา
- เวลา 11:40 น. ได้มีขบวนพาเหรดต้อนรับประธานาธิบดีจากสนามบินสู่ตัวเมือง โดยท่านประธานาธิบดีได้นั่งรถลีมูซีนเปิดประทุน รถมี 3 ช่วง ประกอบด้วยประธานาธิบดีอยู่ด้านหลังสุด ช่วงที่ 3 โดยมีภรรยานั่งอยู่เคียงข้าง และช่วงที่ 2 มี นายจอห์น บี คอนนอลลี (John B. Connally) ผู้ว่ารัฐเท็กซัสและภรรยา ช่วงหน้ามีนายบิล เกรเออร์ (Bill Greer) คนขับรถ และนายรอย เคลเลอร์แมน (Roy Kellerman) ตัวแทนพิเศษของทำเนียบขาว ซึ่งสองข้างทางมีประชาชนชาวดัลลัสเดินทางมาต้อนรับประธานาธิบดีอย่างล้นหลาม[5]
- เวลา 12:30 น. ขบวนรถได้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเอล์ม และในระหว่างนั้นเกิดเสียงปืนดังขึ้น กระสุนถูกประธานาธิบดีที่คอ กระสุนนัดนั้นยังถูกผู้ว่าจอห์นที่บริเวณหลังอีกด้วย ในขณะที่ภรรยาของท่านประธานาธิบดีเข้าใจว่าเป็นเสียงประทัดที่ประชาชนจุดต้อนรับขบวน ทันใดนั้นเสียงปืนก็ดังขึ้นอีก 1 นัด กระสุนถูกประธานาธิบดีที่ศีรษะ ภรรยาของท่านจึงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ประชาชนที่อยู่ 2 ข้างทางต่างพากันแตกตื่น บางคนหมอบลงกับพื้น บางคนวิ่งหนี เพื่อหลบลูกกระสุนที่อาจเกิดการยิงขึ้นมาอีก ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าว ภรรยาของท่านประธานาธิบดี (แจ็คเกอลีน โอนาซิส) มองเห็นเศษกะโหลกชิ้นหนึ่งของสามี กระเด็นไปค้างอยู่ท้ายกระโปรงรถ เธอจึงเสี่ยงตายปีนไปท้ายรถเพื่อไปเก็บเศษกะโหลกของประธานาธิบดี เจ้าหน้าที่หน่วย secret service (หน่วยรักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดี) ต้องวิ่งตามรถและปีนขึ้นไปช่วยจับ เพราะเกรงว่าเธอจะตกลงมาจากรถ (ภายหลังเมื่อถึงโรงพยาบาล เธอได้นำชิ้นส่วนของกะโหลกศีรษะไปให้แพทย์แล้วบอกว่า "ช่วยนำเศษกะโหลกนี้ไปต่อให้สามีฟื้นคืนชีพมาที") [6]
- เวลา 13:00 น. ประธานาธิบดีทนพิษบาดแผลไม่ไหวและได้เสียชีวิตลง และได้มีการชันสูตรศพ ผลชันสูตรพบว่าประธานาธิบดีเสียชีวิตจากกระสุนนัดที่ยิงเข้าศีรษะ กระสุนได้เข้าทำลายเนื้อสมอง ทำให้ท่านเสียชีวิต
ในช่วงเย็น ได้มีการลำเลียงศพของเคนเนดี้ออกจากเมืองดัลลัสด้วยเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน และรองประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน ได้ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีบนเครื่องบินลำดังกล่าว[7]
การจับกุม
[แก้]เวลาประมาณ 13:15 น. จอห์นนี่ เคลวิน บรูเวอร์ (Johnny Calvin Brewer) พนักงานขายรองเท้าร้านฮาร์ดี้ ได้แจ้งต่อตำรวจว่าเขาเห็นคนยิงตำรวจเสียชีวิตที่บริเวณหัวมุมถนน 10 กับแพตตันและฆาตกรได้หลบหนีเข้าไปในโรงหนังเท็กซัส
ตำรวจหลายสิบนายก็บุกเข้าไปในโรงหนังเพื่อจับตัวผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องสงสัยได้ขัดขืนและเกิดการต่อสู้กันเล็กน้อย ก่อนที่ผู้ต้องสงสัยจะถูกควบคุมตัว ตำรวจสัณนิษฐานว่าสาเหตุที่เขายิงตำรวจเสียชีวิตเพราะมีคนแจ้งว่าเห็นเขาอยู่ตรงหน้าต่างของตึก Texas School Textbook Depository ในช่วงที่เคนเนดี้ถูกยิง ทางตำรวจจึงแจ้งรูปพรรณสัณฐานของคนร้าย และระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งนามว่า เจ. ดี. ทิปปิต ที่ลาดตระเวณอยู่แถวนั้น เห็นผู้ต้องสงสัยเข้าก็ขอตรวจค้น ก็เลยถูกยิงเสียชีวิต จนผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมในที่สุด
ผู้ต้องสงสัยมีนามว่า ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ (Lee Harvey Oswald) เจ้าหน้าที่ได้ค้นตัวและพบบัตรประจำตัวปลอมของ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (Selective Service System) ที่ใช้ชื่อว่า อเล็ก เจมส์ ไฮเดลล์ (Alek James Hidell) [8] ออสวอลด์ถูกตั้งข้อหาฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและสังหารประธานาธิบดี แต่เขาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยบอกว่าตัวเองเป็นแค่แพะรับบาป ซึ่งออสวาลด์ได้งานทำชั่วคราวที่อาคารเก็บหนังสือโรงเรียนเท็กซัส ในช่วงที่เคนนาดี้ถูกลอบสังหาร[9]
หลักฐานมัดตัว
[แก้]เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจค้นในอาคารเก็บหนังสือโรงเรียนเท็กซัส และได้พบปลอกกระสุนปืนไรเฟิลที่ยิงแล้วจำนวน 3 ปลอกที่ชั้น 6 ของอาคารหลังนี้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พบปืนไรเฟิลซุกซ่อนอยู่หลังกล่องในบริเวณเดียวกัน เจ้าหน้าที่ได้ตรวจหาลายนิ้วมือบนกล่องพบว่าตรงกับลายนิ้วมือของ ลี ฮาร์วี ออสวอลด์ และจากการสืบสวนของเอฟบีไอ พบว่าประวัติเขาพัวพันกับเคจีบี รัสเซีย และคิวบาอีกด้วย[10]
การสังหารลี ฮาร์วี ออสวอลด์
[แก้]ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 สองวันหลังจากวันลอบสังหาร เขาจึงถูกส่งตัวจากสถานีตำรวจดัลลัสไปยังเรือนจำของรัฐเท็กซัส โดยมีกำลังตำรวจหลายสิบนายคุ้มกันอย่างแน่นหนา ซึ่งในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังพาออสวอลด์ไปขึ้นรถ ก็มีชายชื่อว่า แจ็ค รูบี้ เดินตรงไปยังออสวอลด์ และใช้อาวุธปืนสังหารออสวอลด์ บนทางเดินไปยังที่จอดรถสถานีตำรวจดัลลัสนั่นเองต่อหน้านักข่าวที่อยู่บริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก ตัวออสวอลด์นั้นบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา รูบี้ อ้างว่าเขาโกรธแค้นออสวอลด์เป็นอย่างมากที่บังอาจมาสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี้อันเป็นที่รักของเขา ทำให้เขาระงับความโกรธแค้นไม่อยู่และต้องฆ่าให้ตาย ตัวแจ็ค รูบี้ นั้น เป็นเจ้าของผับเล็ก ๆ ในเท็กซัส แต่มีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับองค์การมาเฟียใหญ่ในรัฐชิคาโก อัล คาโปน (Al Capone) ซึ่งตัวรูบี้นั้นป่วยเป็นโรคระยะสุดท้าย และได้ฆ่าตัวตายระหว่างถูกคุมขัง ทำให้ไม่ถูกนำตัวไปขึ้นศาล[11]
การตั้งคณะกรรมการสอบสวน
[แก้]วันที่ 29 พฤศจิกายน ประธานาธิบดีจอห์นสัน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาโดยมีผู้พิพากษานามว่า เอิร์ล วาร์เรน เป็นประธาน คนทั่วไปมักเรียกว่า คณะกรรมาธิการวาร์เรน ทำการสืบสวนเรื่องนี้อย่างละเอียด โดยสืบสวนจากหลักฐานและพยานในที่เกิดเหตุ โดยใช้เวลาสืบสวนนาน 10 เดือน ได้รายงานยาวกว่า 900 หน้า และมีเอกสารประกอบรายงานรวบรวมเป็นเล่มไว้ถึง 26 เล่ม ได้สรุปว่า การลอบสังหารประธานาธิบดีในครั้งนี้ก่อการขึ้นโดยคนๆเดียวคือนายลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ โดยใช้ปืนการ์กาโนที่ผลิตจากประเทศอิตาลี รุ่น M91/38 เป็นปืนไรเฟิลแบบลูกเลื่อน ที่ใช้กระสุนขนาด 6.5 × 52 มม. ที่ถูกพบบนชั้นที่ 6 ของตึกเก็บหนังสือของเท็กซัส อันเป็นสถานที่ที่ใช้ในการลอบสังหารด้วยการเล็งปืนไรเฟิลไปยังประธานาธิบดีที่กำลังเดินทางด้วยรถลิมูซีนแบบเปิดประทุนและกำลังโบกมือให้กับฝูงชนที่มาต้อนรับ โดยมีการยิงด้วยปืนไรเฟิ้ลเพียงสามนัดเพราะพบปลอกกระสุนจำนวนเท่านั้นอยู่ที่ชั้นหกของตัวอาคาร มีเพียงนัดเดียวที่พลาดเป้า กระสุนที่เข้าไปที่คอของเคนนาดี้เป็นกระสุนนัดเดียวกันที่โดนตรงหลังของผู้ว่าการรัฐแท็กซัส[12] แต่ไม่มีการกล่าวถึงแรงจูงใจในการสังหารแต่อย่างใด
ปัจจุบันยังมีคนไม่น้อยที่ติดใจเกี่ยวกับคดีนี้อยู่ หนึ่งในนั้นคืออัยการ จิม แกริสัน (Jim Garrison) อัยการของเมือง นิว ออร์ลินส์ แกริสันเชื่อว่าออสวอลด์เป็นแพะรับบาปในคดีนี้ แกริสันพยายามสืบค้นเรื่องนี้ แหล่งข่าวต่างๆและฟิลม์ภาพยนตร์ และแกริสันก็ได้พบกับตัวละครเพื่มอีก คือ
- เคลย์ แอล ชอร์ นักธุรกิจในเมือง นิว ออร์ลินส์ เขาเป็นคนจ้างทนายให้ออสวอลด์หลังถูกจับ
- เดวิด เฟอร์รี หัวหน้าหน่วยบินกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นอาจารย์ของออสวอลด์สมัยเป็นทหาร
- วิลเลียม กาย บานิสเตอร์ อดีต FBI เชื่อว่าติดต่อออสวอลด์สมัยอยู่โซเวียต
แกริสันเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกับหน่วยงานของรัฐ รวมถึงเหล่ามาเฟีย และแกริสันยังเชื่ออีกว่าบุคคลทั้ง 3 น่าจะรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งบานิสเตอร์ก็ได้ฆ่าตัวตายอย่างน่าสงสัยไปก่อนหน้านี้ แกริสันพยายามเอา2คนแรกไปสอบสวนและขึ้นศาล แต่ก็ถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐ พยานถูกข่มขู่ ไม่กล้ามาให้ปากคำ บางคนได้เสียชีวิตอย่างปริศนา ทั้งชอร์และเฟอร์รีถูกยกฟ้อง ตัวเฟอร์รีนั้นแม้จะถูกยกฟ้องแต่ก็เสียชีวิตอย่างปริศนา ตัวแกริสันก็ถูกกล่าวหาว่าสร้างเรื่องราวขึ้นมาเพราะอยากดัง การสืบสวนของแกริสันนั้นก็กลายเป็นเพียงหนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดในหลายๆ ทฤษฎีที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เท่านั้น อย่างไรก็ตามเรื่องของแกริสันนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้โอลิเวอร์ สโตน นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง JFK ในปี 2534 โดยเควิน คอสต์เนอร์รับบทเป็นแกริสัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Gary Langer (November 16, 2003). "John F. Kennedy's Assassination Leaves a Legacy of Suspicion" (PDF). ABC News. สืบค้นเมื่อ May 16, 2010.
- ↑ Jarrett Murphy, 40 Years Later: Who Killed JFK? เก็บถาวร 2012-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, CBS News, November 21, 2003.
- ↑ "Report of the Select Committee on Assassinations of the U.S. House of Representatives". The National Archives. 1979.
- ↑ National Academy of Sciences, Report of the Committee on Ballistic Acoustics.
- ↑ www.thairath.co.th/content/oversea/48332
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-07. สืบค้นเมื่อ 2010-10-12.
- ↑ [https://web.archive.org/web/20100514121911/http://www.baanmaha.com/community/thread23531.html บทความ:ปริศนาคดีลอบสังหาร "เคนเนดี้"
- ↑ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=436082[ลิงก์เสีย] บทความ :JFK - ใครว่าอเมริกาไม่เคยมีรัฐประหาร.....
- ↑ http://writer.dek-d.com/cammy/story/viewlongc.php?id=205702&chapter=231 เก็บถาวร 2010-01-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บทความ: อีกครั้งกับคดีลอบสังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี ปริศนาบันลือโลก
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-07. สืบค้นเมื่อ 2010-10-08.
- ↑ http://www.d-looks.com/showblog.php?Bid=20563
- ↑ http://www.archives.gov/research/jfk/warren-commission-report/chapter-1.html#conclusions
- ↑ แผนลอบสังหารบันลือโลก ดารุณา เรียบเรียง