ข้ามไปเนื้อหา

รัฐประหารในอิหร่าน พ.ศ. 2496

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รัฐประหารในอิหร่าน พ.ศ. 2496
ส่วนหนึ่งของ วิกฤตอะบาดาน และ สงครามเย็น

ผู้สนับสนุนรัฐประหารได้เฉลิมฉลองในกรุงเตหะราน
วันที่15 ถึง 19 สิงหาคม 2496
สถานที่
ผล

สามารถโค่นล้มนายกรัฐมนตรี ดร.มูฮัมหมัด มูซัดเดก ได้สำเร็จด้วยดี

Government-Insurgents
รัฐบาลอิหร่าน

ราชวงศ์ปาห์ลาวี
 สหรัฐ[a]

 สหราชอาณาจักร[a]
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
มุฮัมหมัด มูซัดเดก Surrendered
โกลัม ฮุสเซน ซาดีกี (เชลย)
ฮอสเซน ฟาเตมี โทษประหารชีวิต
ตากี ริยาฮี (เชลย)
พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี
ฟัซลุลละห์ ซาเฮดี
เนอ์แมโทลลอฮ์ แนซีรี (เชลย)
ชาห์บัน จาฟารี
อาซาดุลละห์ ราชิดเดียน
ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์
อัลเลน ดัลเลส
เคอร์มิต โรสเวลต์ จูเนียร์
วินสตัน เชอร์ชิล
แอนโทนี อีเดน
จอห์น ซินแคลร์
หน่วยที่เกี่ยวข้อง
ฝ่ายของกองทัพจักรวรรดิอิหร่าน
ผู้สนับสนุนของมูซัดเดก
กองทหารรักษาจักรวรรดิ
กองทัพจักรวรรดิอิหร่าน
ผู้สนับสนุนราชวงศ์
ซีไอเอ
เอ็มไอ 6
ความสูญเสีย
ผู้เสียชีวิต 200 ถึง 300[3][4]
  1. 1.0 1.1 แอบแฝง

รัฐประหารในอิหร่าน พ.ศ. 2496 หรือเป็นที่รู้จักกันในอิหร่านในชื่อการรัฐประหาร 28 มอร์ดัด 1332 (เปอร์เซีย: کودتای ۲۸ مرداد) สำหรับการโค่นล้มของนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งของ ดร.มุฮัมหมัด มูซัดเดก (Mohammad Mossadegh) และจัดตั้งรัฐบาลที่นิยมกษัตริย์นำโดยพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี[5] ในวันที่ 19 สิงหาคม 2496 ซึ่งดำเนินการโดยสหรัฐอเมริกา (ในชื่อปฏิบัติการอาเจ็กซ์, Operation Ajax) ส่วนสหราชอาณาจักร (ในชื่อปฏิบัติการบูต, Operation Boot)[6][7][8][9]

ปฏิบทของเหตุการณ์

[แก้]

ในปีค.ศ. 1951 เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนอิหร่านกำลังตื่นตัวเรื่องชาตินิยม ในพฤษภาคมปีเดียวกันนั้นเอง ดร.มุฮัมหมัด มูซัดเดก ผู้นำคนหนึ่งในขบวนการชาตินิยมอิหร่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี[10] หลังจากนั้นนายมูซัดเดกได้ดำเนินการยึดบริษัทน้ำมันแองโกล-อิหร่านออยล์ซึ่งเป็นของอังกฤษเป็นของรัฐ[10] ทำให้ต่างชาติมีมาตรการตอบโต้บอยคอตน้ำมันอิหร่าน[11] ในวันที่ 22 ตุลาคมปีเดียวกัน รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอังกฤษ ขณะเดียวกันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มปั่นป่วน และเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และเกิดความวุ่นวายมากขึ้น[11]

การรัฐประหาร

[แก้]

เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1953 ชาห์และราชินีได้เสด็จออกนอกประเทศ 3 วันหลังจากนั้นนายพลซาเฮดีประกาศตนเป็นนายกรัฐมนตรี[12] และเข้าควบคุมอำนาจมูซัดเดก และคณะรัฐบาลของเขาถูกจับกุม ชาห์เสด็จกลับอิหร่านและทำการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายนิยมตะวันตก[12] อิหร่านได้ทำการเปิดสัมพันธไมตรีกับการทูตกับอังกฤษใหม่อีกครั้ง และมีการเจรจาตกลงกับบริษัทน้ำมันอังกฤษและสหรัฐอเมริกา[12] และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 เป็นต้นมา พระเจ้าชาห์ได้เริ่มมีบทบาทในการบริหารประเทศมากขึ้น และพาประเทศเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[12]

ผลตามมาหลังเหตุการณ์

[แก้]

การปฏิวัติขาว

[แก้]
ชาห์ขณะมอบที่ดินแก่ราษฎรในการปฏิวัติขาว

ในปีค.ศ. 1963 ชาห์ได้เริ่มโครงการสำคัญหลายอย่างเพื่อพัฒนาอิหร่านให้ก้าวหน้า อาทิเช่น การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเลือกตั้ง การให้สิทธิแก่สตรี การตั้งหน่วยการศึกษา การจัดตั้งหน่วยอนามัย การพัฒนาการเกษตร การโอนป่าเป็นของรัฐเป็นต้น ซึ่งรัฐบาลอิหร่านเรียกโครงการเหล่านี้ว่า "การปฏิวัติขาว" เพราะเป็นการปฏิวัติที่ไม่เสียเลือดเนื้อ[13] ซึ่งนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ได้รับแนวคิดมาจากรัฐบาลอเมริกายุคจอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งต้องการให้รัฐบาลอิหร่านมีฐานอำนาจที่กว้างขึ้น มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมมากขึ้น และมีคอรัปชั่นน้อยกว่ายุคปี 1950 ที่ผ่านมา[14] นโยบายนี้ใช้วิธีสร้างประชานิยมโดยการปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก โดยให้ ดร.ฮัสซัน อาร์ซันจานี (Dr. Hassan Arsanjani) และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรเป็นผู้เริ่มต้น แต่พอทำไปแล้ว ทั้งสองคนได้รับความนิยมสูงมาก ชาห์จึงทรงปลด ดร. อาร์ซานจานิ ออกจากตำแหน่ง[14] และทรงถือเป็นพระราชกรณียกิจของพระองค์เอง[14] ชาห์ได้ทรงปรับโครงการปฏิรูปที่ดินที่ริเริ่มโดย ดร. อาร์ซานจานิ ใหม่โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างประชานิยมในพระองค์เองรวมทั้งรัฐบาลของพระองค์ การปรับใหม่นี้มีโครงการที่เสนอรวม 6 โปรแกรมด้วยกัน ซึ่งเรียกว่าการปฏิวัติขาว ได้แก่[14]

  1. ให้มีการปฏิรูปที่ดิน
  2. ขายโรงงานที่รัฐบาลเป็นเจ้าของเพื่อนำเงินมาปฏิรูปที่ดิน
  3. ออกกฎหมายเลือกตั้งใหม่ที่ให้สิทธิสตรีในการออกเสียง
  4. จัดให้ป่าไม้เป็นสมบัติของชาติ
  5. ตั้งองค์กรเพื่อการอ่านออกเขียนได้โดยเฉพาะเพื่อการสอนหนังสือในชนบท
  6. ร่างแผนการในการให้คนงานมีส่วนแบ่งในผลกำไรจากอุตสาหกรรม

การทำประชาพิจารณ์เพื่อขอความเห็นชอบในโครงการ 6 ข้อนี้ ได้รับการบอยคอตจากกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (National Front) เพราะต้องการให้การตัดสินใจในแผนการดังกล่าวซึ่งส่งผลกระทบสูงต่อชาติ ให้เป็นการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างเสรี ความขัดแย้งเรื่องนี้รุนแรงเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1963 หลังปราศรัยโจมตีรัฐบาล ท่านโคมัยนีก็ถูกจับไปขังคุกที่กรุงเตหะราน[15] ผลของการจับโคมัยนีทำให้ประชาชนโกรธแค้นมาก และพากันออกมาเดินขบวนเต็มไปหมดในถนนทุกสาย เหตุการณ์ต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยอายะตุลลอฮ์โคมัยนี ลุกลามรุนแรงถึงขั้นนองเลือด จนกลายเป็นจุดหักมุมของประวัติศาสตร์อิหร่านที่สำคัญและเป็นรู้จักกันไปทั่วโลกว่า “เหตุการณ์ลุกฮือ 15 กอร์ดัด 1342" (15 Khordad 1342 uprising) ซึ่งเป็นวันเดือนปีอิสลาม หนังสือพิมพ์ต่างประเทศบางฉบับลงข่าวว่า ทหารของชาห์ สาดกระสุนเข้าสังหารผู้ประท้วงคราวนั้น ทำให้คนเสียชีวิตถึง 15,000 คน[15] แรงกดดันจากประชาชนทำให้โคมัยนีได้รับการปล่อยตัว แต่ท่านก็ยังไม่ยอมเลิกต่อต้านนโยบายของชาห์ จนทำให้ถูกทหารจับตัวอีกครั้ง รัฐบาลตัดสินใจเนรเทศโคมัยนีออกนอกประเทศในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1964[16] โดยให้ไปอยู่ตุรกี และต่อมาย้ายไปอยู่เมืองนาจาฟในอิรัก รวมเป็นเวลาถึง 13 ปี โดยหวังว่าจะทำให้ความนิยมในตัวโคมัยนีจางหายไป[15]

การประท้วงต่อต้านชาห์

[แก้]

แต่การถูกเนรเทศไปอยู่อิรักครั้งนี้ แต่ก็ไม่ทำให้ประชาชนลืมบุรุษที่มีนามว่า อยาตุลเลาะห์ โคมัยนีได้เลย เขายังติดต่อกับนักศึกษาประชาชนอยู่ตลอด และมีการให้ความคิดเห็นต่อต้านการทำงานของรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง การเมืองในอิหร่านเองก็ยังไม่นิ่ง นักศึกษาประชาชนยังชุมนุมระลึกถึงเหตุการณ์ 15 กอร์ดัด 1342 ทุกปี[17] จนในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1978 หนังสือพิมพ์อิตติลาอัต (Ittila’at) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กระบอกเสียงของรัฐบาล ประณามโคมัยนีว่า เป็นผู้ทรยศต่อชาติ เรื่องนี้ทำให้วันต่อมานักศึกษาและประชาชนในเมืองกุม (Qom) ซึ่งเป็นเมืองที่โคมัยนีเคยอาศัยอยู่ตั้งแต่เด็ก ได้ออกมาประท้วงรัฐบาลอย่างรุนแรง[17] การปราบปรามการประท้วงนี้ทำให้สูญเสียชีวิตมากมายอีกครั้ง กลายเป็นแรงกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยมีเป้าหมายเพื่อขับไล่ชาห์และราชวงศ์ปาห์ลาวีออกจากราชบัลลังก์ และให้สถาปนารัฐบาลอิสลามขึ้นแทน[17]

แม้ว่าโครงการของชาห์จะได้รับการยอมรับในระยะแรก ซึ่งทำให้อิหร่านเจริญขึ้น แต่ก็ทำให้ประชาชนไม่พอใจ และลุกฮือต่อต้านชาห์[18] เนื่องจากผลจากการปฏิวัติขาว คือ คนในราชวงศ์และข้าราชบริพารใกล้ชิดได้รับที่ดินมหาศาล การมาของ บาร์ ไนต์คลับ หนังสือโป๊หลั่งไหลเข้ามา ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายศาสนาไม่พอใจอย่างยิ่ง[19] นอกจากนี้ผลประโยชน์จากการพัฒนาประเทศกลับตกอยู่ในตระกูลคนรวยเพียงไม่กี่ตระกูล รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์และเชื้อพระวงศ์ของชาห์กลับมีธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่[19] บรรดาบริษัทต่างชาติต่างก็เชื้อเชิญพระราชวงศ์และข้าราชบริพารชั้นสูงที่มีอำนาจการเมืองและการทหารเข้าเป็นคณะกรรมการในบริษัทของตนด้วย[19] ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างชนชั้น แต่ชาวอิหร่านส่วนใหญ่กลับมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากไร้การศึกษา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ขาดแคลนยารักษาโรค รวมไปถึงนโยบายของชาห์ที่ทรงสนับสนุนชาติอิสราเอลด้วย[19]

ด้วยเหตุที่ประชาชนต่อต้านนโนบายของพระองค์ ชาห์จึงตั้งตำรวจลับ "ซาวัค" โดยทำหน้าที่คล้ายตำรวจเกสตาโปของเยอรมนี[20] คอยแทรกซึมในวงการต่าง ๆ เพื่อจับกุมฝ่ายตรงข้ามของพระองค์ โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา อาจารย์ นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์[20] ซาวัคขึ้นชื่อในการจับกุม และทรมานอย่างทารุณ เป็นที่หวาดกลัวของประชาชน แต่ก็ไม่อาจปิดกั้นการเดินขบวนประท้วงที่เกิดในเวลาต่อมาได้[20]

การปฏิวัติอิสลาม

[แก้]

ความไม่พอใจของประชาชนเริ่มถึงจุดระเบิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1978 ซึ่งตรงกับเดือนรอมฎอน ได้เกิดเหตุไฟไหม้รุนแรงในโรงภาพยนตร์ที่เมืองอะบาดาน มีผู้เสียชีวิต 387 คน[21] รัฐบาลได้ออกข่าวว่าพวกศาสนานิยมหัวรุนแรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทว่าเมื่อตำรวจไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ก็ทำให้ประชาชนเคียดแค้นรัฐบาล และเกิดการประท้วงตามเมืองต่าง ๆ[22] ส่วนคู่ปรับของชาห์คืออยาตุลเลาะห์ โคมัยนี แม้จะถูกเนรเทศไปยังประเทศอิรัก 12 ปี และภายหลังถูกรัฐบาลอิรักขอร้องให้ออกไปนอกประเทศ โคมัยนีจึงได้อพยพไปอยู่ฝรั่งเศส[22] แต่โคมัยนีก็ใช้การอัดเสียงใส่เทปคาสเซตได้ทำการอัดซ้ำและทำการเผยแพร่แก่นักศึกษาประชาชน และลุกลามถึงนักศึกษาอิหร่านในต่างประเทศด้วย[22]

หลังโศกนาฏกรรมที่เมืองอะบาดาน ประชาชนในเตหะรานได้รวมกันประท้วงชาห์ เผาธงชาติ ถือป้ายข้อความ "แยงกี้ โกโฮม" "ชาห์ต้องลาออก" และ "โคมัยนีต้องปกครองอิหร่าน" มีสตรีแต่งกายด้วยชุดดำสวมคลุมศีรษะจำนวนมาเข้าร่วมขบวนด้วย[23] ขบวนได้ปะทะกับทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายคน[23] หลังจากเหตุการณ์นี้ ก็เกิดเหตุการณ์ประท้วงระลอกแล้วระลอกเล่าตามหัวเมืองอื่น กรรมกรนับแสนคนนัดหยุดงาน พนักงานรัฐวิสาหกิจ บรรดาครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ต่างเข้าร่วมกันประท้วง[23] โคมัยนีเองแม้จะอยู่ต่างประเทศ แต่ก็ได้เรียกร้องให้มุสลิมทั่วโลกหันมาสนใจการต่อสู้ของประชาชนชาวอิหร่าน โดยได้กล่าวในระหว่างฤดูกาลประกอบพิธีฮัจญ์ มีใจความตอนหนึ่งว่า

ชาห์ได้ยกทรัพยากรธรรมชาติ และผลประโยชน์ที่ประชากรพึงมีพึงได้ให้แก่ชาวต่างชาติจนหมดสิ้น ชาห์ยกน้ำมันให้อเมริกา ยกก๊าซธรรมชาติให้โซเวียต ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ป่า และน้ำมันส่วนหนึ่งให้อังกฤษ โดยปล่อยให้ประชาชนอยู่ในความล้าหลัง

การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1978 ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงการเสียชีวิตของอิหม่ามฮุเซน วันนั้นประชาชนนับล้านได้ออกมาชุมนุมกันบนท้องถนนและที่สาธารณะ มีการชูรูปโคมัยนี มีการตะโกนด่าทออเมริกา และเรียกร้องรัฐอิสลาม[24]

การประท้วงใหญ่เกิดขึ้นอีกที่เมืองมาชาดมีการลุกฮือเผาบ้านของชาวอเมริกัน ตลอดจนกิจการต่าง ๆ ของชาวตะวันตก[25] ทหารได้สกัดกั้นและทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายนับร้อย เหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตจนรัฐบาลอเมริกา และยุโรปสั่งให้คนของตนออกจากอิหร่าน[25] ความตึงเครียดที่กดดันทำให้ชาห์ทำตามคำแนะนำของอเมริกา โดยการเสด็จออกนอกประเทศพร้อมครอบครัว เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1979[25][26] โดยที่รัฐบาลของนายชาห์ปูร์ บัคเตียร์ ได้ออกประกาศว่า พระองค์มิได้สละบัลลังก์แต่อย่างใด[25] และแล้วในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โคมัยนีพร้อมผู้ช่วยราว 500 คน และนักหนังสือพิมพ์อีก 150 คน ได้โดยสารเครื่องบินโบอิ้ง 747 ของสายการบินฝรั่งเศสกลับสู่อิหร่าน โดยมีประชาชนต้อนรับอย่างเนืองแน่น แม้ระยะแรกกองทัพบกประกาศว่าพร้อมหลั่งเลือดเพื่อค้ำบัลลังก์ชาห์[25] หรือหนุนรัฐบาลนายบัคเตียร์ ภายหลังกองทัพบกได้วางตัวเป็นกลาง[25] ประชาชนฝ่ายโคมัยนีจึงได้เข้าควบคุมเตหะรานไว้ได้โดยบุกยึดที่ทำการรัฐบาล กระทรวงทบวงกรม ตึกรัฐสภา และสถานีตำรวจไว้ได้หมด[25]

ต่อมารัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งจากโคมัยนีก็เข้ารับหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศ และนำอิหร่านเข้าสู่การปกครองของรัฐอิสลามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[27] โดยมีผู้นำสูงสุดคือ อิหม่ามโคมัยนี เรียกว่า ฟากิฮ์ หรือ รอฮ์บัรร์ ถือเป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณมีอำนาจครอบคลุมทั้งการเมืองและการปกครองทั้งหมด[27]

แหล่งอ้างอิง

[แก้]
  1. Parsa, Misagh (1989). Social origins of the Iranian revolution. Rutgers University Press. p. 160. ISBN 0-8135-1411-8. OCLC 760397425.
  2. Samad, Yunas; Sen, Kasturi (2007). Islam in the European Union: Transnationalism, Youth and the War on Terrors. Oxford University Press. p. 86. ISBN 978-0195472516.
  3. Wilford 2013, p. 166.
  4. Steven R. Ward (2009). Immortal: A Military History of Iran and Its Armed Forces. Georgetown University Press. p. 189. ISBN 978-1-58901-587-6.
  5. Olmo Gölz (2019). "The Dangerous Classes and the 1953 Coup in Iran: On the Decline of lutigari Masculinities". ใน Stephanie Cronin (บ.ก.). Crime, Poverty and Survival in the Middle East and North Africa: The 'Dangerous Classes' since 1800. I.B. Tauris. pp. 177–190. doi:10.5040/9781838605902.ch-011. ISBN 978-1-78831-371-1. S2CID 213229339.
  6. Wilber, Donald Newton (March 1954). Clandestine Service history: overthrow of Premier Mossadeq of Iran, November 1952-August 1953 (Report). Central Intelligence Agency. p. iii. OCLC 48164863. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2009. สืบค้นเมื่อ 6 June 2009.
  7. Ends of British Imperialism: The Scramble for Empire, Suez, and Decolonization. I.B.Tauris. 2007. pp. 775 of 1082. ISBN 9781845113476.
  8. Bryne, Malcolm (18 August 2013). "CIA Admits It Was Behind Iran's Coup". Foreign Policy.
  9. The CIA's history of the 1953 coup in Iran is made up of the following documents: a historian's note, a summary introduction, a lengthy narrative account written by Dr. Donald N. Wilber, and, as appendices, five planning documents he attached. Published 18 June 2000 by The New York Times
  10. 10.0 10.1 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 18
  11. 11.0 11.1 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 19
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 19
  13. จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 19
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 "ศาสนากับการเมืองในอิหร่าน". เสรีภาพ ณ ชะเยือง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-13. สืบค้นเมื่อ 2010-10-25.
  15. 15.0 15.1 15.2 "ศาสนากับการเมืองในอิหร่าน". เสรีภาพ ณ ชะเยือง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-13. สืบค้นเมื่อ 2010-10-25.
  16. จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 19
  17. 17.0 17.1 17.2 "ศาสนากับการเมืองในอิหร่าน". เสรีภาพ ณ ชะเยือง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-13. สืบค้นเมื่อ 2010-10-25.
  18. ใด ใด ในโลกล้วนอนิจจัง[ลิงก์เสีย]
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 20
  20. 20.0 20.1 20.2 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 20
  21. จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 20
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 21
  23. 23.0 23.1 23.2 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 21
  24. จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 21
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 25.5 25.6 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 22
  26. "อิหร่าน (๓)". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-26. สืบค้นเมื่อ 2009-10-26.
  27. 27.0 27.1 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 23

ลิ้งค์

[แก้]