ทฤษฎีโดมิโน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพแสดงการล้มตาม ๆ กันอย่างโดมิโนของบรรดาประเทศในเอเชีย เมื่อประเทศจีนหันไปใช้ระบอบคอมมิวนิสต์

ทฤษฎีโดมิโน (อังกฤษ: domino theory) เป็นทฤษฎีทางนโยบายด้านการต่างประเทศ อุปมาขึ้นจากลักษณะของเกมไพ่ต่อแต้ม ซึ่งถ้ามีไพ่ล้มหนึ่งใบ ไพ่ใบอื่น ๆ ก็จะล้มเป็นแถบติดต่อเป็นลูกโซ่ ทฤษฎีโดมิโนหมายความว่าถ้าประเทศหนึ่งหันไปใช้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ จะส่งผลให้ประเทศรอบข้างก็จะเอาอย่างตามไปด้วย เรียกว่า ผลกระทบแบบโดมิโน (อังกฤษ: domino effect)[1]

ทฤษฎีโดมิโนเกิดขึ้นจากกรณีการขยายตัวของลัทธิและระบอบคอมมิวนิสต์ใน ทวีปเอเชีย เมื่อจีน เกาหลีเหนือ และเวียดนามเหนือตกเป็นคอมมิวนิสต์ จึงมีความเชื่อว่าประเทศอื่น ๆ เช่น ลาว กัมพูชา ไทย มาเลเซีย ฯลฯ จะถูกครอบงำโดยระบบคอมมิวนิสต์ในที่สุดตามไปด้วย การล้มของโดมิโนจึงหมายถึงการล้มตัวของระบอบประชาธิปไตย

แต่เมื่อนำมาใช้กับประเทศในโลกตะวันตกแล้ว อาจกล่าวได้ว่าเป็นทฤษฎีโดมิโนแบบกลับตาลปัตร คือ แทนที่จะเป็นการล้มของระบอบประชาธิปไตย กลับเป็นการคลายตัวและแปรเปลี่ยนจากระบอบการปกครองแบบพรรคเดียว คือ คอมมิวนิสต์ และระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม ไปสู่การปกครองแบบหลายพรรค เช่น ในกรณีที่โปแลนด์ หรือในการสลายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ฮังการี การต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่โรมาเนีย รวมทั้งการมีท่าทีที่จะใช้ระบบหลายพรรคในสหภาพโซเวียต

อย่างไรก็ดี ราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศไทยวิเคราะห์ว่า "...ในสหภาพโซเวียตและในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกออกจะแปรเปลี่ยนเป็นทุนนิยมและประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ คงต้องเปิดช่องสำหรับข้อเท็จจริงที่ว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ที่หวังได้คือ การมีระบบผสมผสาน แต่ระบบเดิมคงเหลืออยู่เป็นฐาน ทฤษฎีโดมิโนเมื่อใช้ในกรณีกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกน่าจะถูกเพียงครึ่งเดียว ซึ่งก็เป็นกรณีเดียวกับที่ใช้กับกลุ่มประเทศแถบเอเชีย"

ทฤษฎีโดมิโนนี้ถูกต่อต้านโดยนายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส (John Foster Dulles) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยได้มีทฤษฎีต่อต้านคือทฤษฎีการสกัดกั้น (อังกฤษ: containment policy)

อ้างอิง[แก้]

  1. Leeson, Peter T.; Dean, Andrea (2009). "The Democratic Domino Theory". American Journal of Political Science. 53 (3): 533–551. doi:10.1111/j.1540-5907.2009.00385.x.
  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2532, 12 ธันวาคม). "ทฤษฎีโดมิโน". จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน, (ปีที่ 1).