รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บทความนี้อาศัยการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิมากเกินไป |
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน | คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 38 | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
สงัด ชลออยู่ | หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช |
รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เกิดขึ้นในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 อันเนื่องจากเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง โดยคณะทหารชื่อ "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
เหตุการณ์
[แก้]คณะทหารอ้างว่าไม่อาจควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ โดยใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
คณะนายทหารได้เชิญตัวนายกรัฐมนตรีไปปรึกษาหารือที่กองบัญชาการทหารสูงสุดที่สนามเสือป่า รวมทั้งได้ร่วมรับประทานโต๊ะจีนและพักค้างคืนด้วยกัน จนกระทั่งรุ่งเช้าของวันที่ 7 ตุลาคม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงลากลับไป อนึ่ง ในวันรัฐประหารเมื่อคืนวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้บันทึกไว้ในหนังสือชีวลิขิต ซึ่งเป็นหนังสืออัตชีวประวัติของท่าน ได้บอกว่า คณะปฏิรูป ฯ จะให้ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ท่านตอบปฏิเสธ จึงได้ขอให้ท่านรับเป็นหัวหน้าในการรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งท่านก็ตอบปฏิเสธอีก พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้บอกกับท่านว่า มีความจำเป็นต้องยึดอำนาจ ไม่เช่นนั้นทหารอีกกลุ่มจะทำการในเวลา 04.00 น. ของวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นคณะของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ อีกทั้งก่อนหน้านั้น พล.ร.อ.สงัดได้เคยเตือนท่านมาครั้งหนึ่งว่า ทหารจะรัฐประหารและมีผู้ชักชวนท่านให้ทำการด้วย อีกทั้งท่านยังสงสัยในพฤติกรรมของบุคคลร่วมรัฐบาลบางคน ในการประชุมสถานการณ์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากเข้า ๆ ออก ๆ ที่ประชุมตลอด ว่าอาจรู้เห็นเป็นใจกับกลุ่มบุคคลที่เข้าทำร้ายกลุ่มนักศึกษาผู้ชุมนุมหรือรู้เห็นเป็นใจกับคณะนายทหารอีกคณะหนึ่งที่ พล.ร.อ.สงัดอ้างว่าจะรัฐประหาร (ในหนังสือ ม.ร.ว.เสนีย์ ระบุว่าเป็นสมาชิกพรรคชาติไทย อันได้แก่ พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร และ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ)[1]
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ออกประกาศคณะปฏิรูปออกมาหลายฉบับ โดยมากมีเนื้อหาควบคุมเพื่อสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยอาทิแต่งตั้ง พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ เป็นผู้บัญชาการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ[2]
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า มี 2 ฝ่ายต้องการรัฐประหารในสมัยนั้น โดยฝ่ายหนึ่งชิงรัฐประหารในเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตัดหน้าอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งชัยอนันต์ สมุทวณิชกับเดวิด มอร์เรล อธิบายว่า พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายขวา และนายทหารที่ใกล้ชิดกับจอมพลประภาส-ถนอมวางแผนก่อเรื่องเพื่อเป็นข้ออ้างรัฐประหาร โดยการนำสองจอมพลดังกล่าวกลับประเทศเป็นส่วนหนึ่งของแผนด้วย แต่ "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" เป็นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับกลุ่มแรก ซึ่งฤดี เริงชัยเสนอว่า เหตุการณ์นี้อาจน่าสยดสยองขึ้นหากไม่มีรัฐประหารดังกล่าว[3]: 4 สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขียนว่า ตัวการปราบปรามนักศึกษาน่าจะเป็นกลุ่มซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นกลุ่มพลเอกฉลาดและพลโทวิทูรย์ และเตรียมก่อการรัฐประหารในเวลาดึก[3]: 75
พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามคำสั่งที่ ๔๓/๒๕๑๙ [4] โดยแต่งตั้งนาย ประกอบ หุตะสิงห์ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยและนาย ปรีดี เกษมทรัพย์ เป็นอธิการบดีและปลดนาย โกศล สินธวานนท์ พ้นจากอธิบดีกรมการเมืองปลดนาย ชวาล ชวณิชย์ จากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานอาเซียนแห่งประเทศไทยตามคำสั่งที่ ๕๐/๒๕๑๙ [5]
โดยประกาศฉบับหนึ่งที่ความสำคัญคือ ประกาศฉบับที่ 5 ที่ว่าด้วยการควบคุมสื่อมิให้เผยแพร่ภาพและเนื้อหาที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเวลา 3 วัน คือตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม - 9 ตุลาคม ซึ่งในช่วงเวลา 3 วันนั้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวจนบัดนี้ที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับถูกห้ามตีพิมพ์และจัดจำหน่าย และประกาศคณะปฏิรูปฉบับนี้ได้ครอบคลุมรวมถึงสื่อทุกสื่อรวมถึงโทรทัศน์ด้วย[6]
ผู้นำคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
[แก้]- พลเรือเอก สงัด ชลออยู่
- พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
- พลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์
- พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
- พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ
การตั้งรัฐบาลใหม่
[แก้]คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้แต่งตั้งให้ธานินทร์ กรัยวิเชียรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ร่วมร่างแถลงการณ์ต่างๆ ก่อนรัฐประหาร[7] โดยนายทหารในคณะปฏิรูปการปกครองได้เปลี่ยนสถานะของตัวเองเป็น สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีสมาชิก 340 คน ทำหน้าที่เหมือนรัฐสภาและฝ่ายนิติบัญญัติ ให้การสนับสนุนรัฐบาลธานินทร์ โดยที่คณะรัฐมนตรีธานินทร์มีรัฐมนตรี 17 คนเท่านั้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้แก่ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นั่นเอง ซึ่งนายธานินทร์ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อมาว่า รัฐบาลเสมือนหอยที่อยู่ในเปลือก โดยมีนัยถึงเป็นรัฐบาลที่มีคณะนายทหารคอยให้ความคุ้มกัน จึงได้รับฉายาว่า รัฐบาลหอย
รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำเนินนโยบายทางการเมืองอย่างขวาตกขอบ มีการจับกุมและทำร้ายผู้ที่สงสัยว่าอาจกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงโดยอาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 มาตรา ๒๑ จึงทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุด
แต่ทว่า การดำเนินงานของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ประสบกับปัญหาตลอด ทั้งเหตุการณ์การก่อการร้ายโดยคอมมิวนิสต์ และปัญหาภายในรัฐบาลเอง เช่น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นไปด้วยความล่าช้าอีกทั้งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ออกมามีแผนพัฒนาประชาธิปไตยนานถึง 3 ขั้น กินเวลา 12 ปี ไม่ทันการกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือ การเกิดเหตุการณ์กบฏ 26 มีนาคม 2520 โดย พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ การปราบปรามผู้ที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น จนหลายครั้งปราศจากการตรวจสอบ ส่งผลให้มีนักศึกษาและปัญญาชนจำนวนมากที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลต้องหลบหนีเข้าป่าเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สถานการณ์ของประเทศเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง ในที่สุดคณะนายทหารในสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินชุดเดิมที่นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ จึงได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 และแต่งตั้ง พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน สถานการณ์ต่าง ๆ จึงเริ่มคลี่คลาย เมื่อรัฐบาลพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนที่หลบหนีเข้าป่า จึงเริ่มทยอยกลับคืนสู่เมืองอีกครั้ง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช. ชีวลิขิต. กรุงเทพฯ : มูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, 2548. 90 หน้า. ISBN 974-9353-50-1
- ↑ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๒
- ↑ 3.0 3.1 อึ๊งภากรณ์, ใจ; ยิ้มประเสริฐ, สุธาชัย; และคณะ (2544). อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง (PDF). คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519. ISBN 9748858626. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-19. สืบค้นเมื่อ 2020-07-19.
- ↑ คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ ๔๓/๒๕๑๙ เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓ ตอน ๑๓๔ ง หน้า ๑๕ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
- ↑ คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ ๕๐/๒๕๑๙ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอน ๑๓๔ ง หน้า ๒๒ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
- ↑ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 (มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ คำสั่งให้สื่อมวลชนอยู่ในความควบคุมของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน)
- ↑ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิวัฒนาการการเมืองไทย เก็บถาวร 2007-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Foreign Relations of the United States, 1969–1976, Volume E–12, Documents on East and Southeast Asia, 1973–1976, Document 425. [ออนไลน์], ดูที่ คลิก
- แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์, โทรเลขสำนักงานต่างประเทศและเครือจักรภพ ที่ 418 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2519 [ออนไลน์], ดูที่ คลิก เก็บถาวร 2014-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน