การปะทะที่บางกลอย พ.ศ. 2535

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การปะทะที่บางกลอย พ.ศ. 2535
ส่วนหนึ่งของ สงครามปราบปรามยาเสพติด และการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย
วันที่7 สิงหาคม – 10 กันยายน พ.ศ. 2535
สถานที่
ผล กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ชุดสุดท้าย ถูกเปิดเผยที่ตั้งในเขตงานตะนาวศรีจึงทยอยวางอาวุธในปี พ.ศ. 2536–2537
คู่สงคราม
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ดาบตำรวจ อรัญ กิจกุล หัวหน้าชุดปฏิบัติการหาข่าว ธง แจ่มศรี (สหายธง)
หน่วยที่เกี่ยวข้อง
กองบินตำรวจ
กำลัง
ตำรวจตระเวนชายแดน 8 นาย
พรานนำทาง 1 คน
ไม่ทราบจำนวน
ความสูญเสีย
ตำรวจตระเวนชายแดน 4 นาย
พรานนำทาง 1 คน
ไม่ทราบจำนวน

เหตุการณ์นี้ถือเป็นการสู้รบครั้งสุดท้ายระหว่างกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) กับเจ้าหน้าที่รัฐ

การปะทะที่บางกลอย พ.ศ. 2535 หรือ ยุทธการนเรศวร[1][2] หรือ ยุทธการ 35 วัน นรกป่าบางกลอย[3] คือเหตุการณ์ที่ตำรวจตระเวนชายแดนได้นำกำลังจำนวน 8 นายพร้อมพรานนำทางไปพิสูจน์ทราบกองกำลังไม่ทราบฝ่ายในบริเวณพื้นที่ป่าบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และแนวชายแดนพม่า–ไทย เนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งผลิตยาเสพติด ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2535 และปะทะกับกองกำลังไม่ทราบฝ่ายในพื้นที่ ทำให้ตำรวจตระเวนชายแดนเสียชีวิต 4 นาย พรานนำทางเสียชีวิต 1 ราย

กองกำลังไม่ทราบฝ่ายได้ปรากฏในภายหลังว่าคือ กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ชุดสุดท้ายของประเทศไทยนำโดยสหายธงที่ถอยร่นปักหลักอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว[3] โดยถือว่าเป็นการปะทะครั้งสุดท้ายระหว่างกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยและเจ้าหน้าที่รัฐของไทย[3][4][5]

ภูมิหลัง[แก้]

ในอดีต แนวชายแดนไทย–พม่า ช่วงจังหวัดเพชรบุรี ไม่มีที่ตั้งของกองกำลังติดอาวุธของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในฝั่งประเทศพม่ารูปแบบเดียวกับช่วงอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้ช่วงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2535 ฝ่ายความมั่นคงซึ่งทราบการข่าวมาว่า มีการเคลื่อนไหวของ "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" ในพื้นที่กลางป่าแก่งกระจานติดต่อกับชายแดนไทยพม่า จึงได้จัดชุดตำรวจตระเวนชายแดนจากค่ายนเรศวร (ตำรวจพลร่ม) และตำรวจตระเวนชายแดนจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 เป็นกำลังผสมจำนวน 1 ชุด เพื่อลงพื้นที่หาข่าวเป็นระยะเวลา 7 วัน[3] ซึ่งได้เกิดการปะทะกันตั้งแต่นำเครื่องลงจอดเพื่อส่งกำลัง[6] ข้อมูลจากกำลังชุดแรกคาดว่าเป็นขบวนการค้ายาเสพติด[3] (ผลิตเฮโรอีน)[7] และการค้าแรงงานเถื่อนในฝั่งประเทศพม่า แต่ข้อมูลก็ยังไม่ชัดเจนมากนัก จึงมีคำสั่งให้จัดกำลังอีกชุดเข้าไปหาข่าวเพิ่มเติม[3]

ความขัดแย้ง[แก้]

ปฏิบัติการหาข่าว[แก้]

ร.ต.อ. ณรงค์ฤทธิ์ พรหมโยธี (ยศในขณะนั้น นักบินเฮลิคอปเตอร์ในปฏิบัติการ

ก่อนเดินทางจริงเฮลิคอปเตอร์ได้ทำการบินสำรวจพื้นที่ลงจอดมาก่อนแล้วหนึ่งครั้งในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2535 โดยมี ร้อยตำรวจเอก ณรงค์ฤทธิ์ พรหมโยธี ทำหน้าที่เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์จากกองบินตำรวจที่จะเป็นนักบินในวันปฏิบัติการจริง เดินทางไปพร้อมกับ จ่าสิบตำรวจ โชคดี ชัยยะเจริญ และผู้กำกับการที่ดูแลปฏิบัติการ ใช้ระยะเวลาประมาณ 13 นาทีในการไปถึงพื้นที่เป้าหมาย ระหว่างตรวจการณ์พบหมู่บ้านอยู่ใกล้เคียงพื้นที่ลงจอด ซึ่งมีพื้นที่พอที่จะนำเครื่องลงจอดเพื่อส่งกำลังพลลงได้ จึงได้สอบถามนักบินว่าเป็นหมู่บ้านใด ได้รับคำตอบว่าเป็นหมู่บ้านใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นมิตรกับทางการไทย แต่จ่าโชคดีสังเกตเห็นความผิดปกติในการปลูกสร้างของสิ่งก่อสร้างซึ่งแปลกไปจากธรรมชาติของชาวกะเหรี่ยง คือการปลูกบ้านสลับฟันปลาตามลำน้ำ มีลักษณะเหมือนการก่อสร้างเชิงยุทธวิธี แต่ก็ไม่ได้ทัดทานอะไรในการตรวจการณ์ครั้งนั้น[6]

ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เวลา 09.00 น. ชุดปฏิบัติการหาข่าวด้วยวิธีการแทรกซึมและหลีกเลี่ยงการตรวจพบ[6] ประกอบกำลังตำรวจตระเวนชายแดนจากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ค่ายนเรศวร (ตำรวจพลร่ม) จำนวน 6 นาย และจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 ค่ายพระมงกุฎเกล้า จำนวน 2 นาย รวม 8 นาย และพรานป่านำทางอีก 1 คน[7] ประกอบไปด้วย

  • กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ค่ายนเรศวร จำนวน 6 นาย[6]
    • ดาบตำรวจ อรัญ กลิ่นกุล หัวหน้าชุดปฏิบัติการหาข่าว
    • ดาบตำรวจ สำเริง ชัยชนะสงคราม (ไชยชนะสงคราม)
    • จ่าสิบตำรวจ โชคดี ชัยยะเจริญ[6]
    • จ่าสิบตำรวจ อดุลย์ พวงงาม[8]
    • สิบตำรวจโท พลอย ศิลปศร[9]
    • สิบตำรวจโท สมชาย เพิ่มพงศาเจริญ[10]
  • เจ้าหน้าที่การข่าว กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 จำนวน 2 นาย[6]
    • สิบตำรวจโท ไพฑูรย์
    • สิบตำรวจโท ภิญโญ มีทรัพย์[7]
  • นายเมือง เอมมาก พรานป่าชาวกะเหรี่ยงนำทาง[6]

การปะทะครั้งแรก[แก้]

ชุดปฏิบัติการหาข่าวเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567 โดยเฮลิคอปเตอร์ได้ร่อนลงจอดในพื้นที่เป้าหมายและถอนตัวออกจากพื้นที่ และมีกำหนดในการนัดหมายในการกลับมารับกลับในอีก 7 วันข้างหน้า[3] และใช้อาณัติสัญญาณในการลงจอดคือธงชาติไทย และหากพื้นที่ถอนตัวแรกไม่สามารถใช้การได้จะไปยังจุดที่ 2 หากไม่สามารถใช้งานได้อีกเช่นกันให้บินตรวจสอบตามแนวลำน้ำ[6] หลังจากชุดปฏิบัติการลงมายังพื้นที่แล้วได้พบความผิดปกติของภูมิประเทศ โดยมีกระต๊อบปลูกอยู่ริมลำห้วยอยู่หลายหลัง พร้อมกับการขุดคูโดยรอบ[3] ลักษณะคล้ายคูรบ โดยชุดปฏิบัติการได้จัดกำลังเข้าไปตรวจการณ์กระต๊อบหลังนั้น ซึ่งหัวหน้าชุดเข้าใจผิดว่าหมู่บ้านนั้นเป็นหมู่บ้านใจแผ่นดินจากการสรุปการตรวจการณ์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เป็นมิตรกับฝ่ายตน จึงได้แสดงตนว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน[6]

ขณะนั้นเองชุดปฏิบัติการได้ถูกซุ่มโจมตีจากกองกำลังไม่ทราบฝ่ายโดยไม่ทันตั้งตัวด้วยการระดมยิงเป็นชุด ทำให้ชุดปฏิบัติการต้องยิงตอบโต้และถอยร่นเข้าไปในแนวป่า[3] ซึ่งพรานป่าเป็นรายแรกที่ถูกกระสุนปืนทะลุแขนและขา แต่อาการยังไม่สาหัส พวกเขาจึงคาดว่าพื้นที่ดังกล่าวน่าจะเป็นพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่หมู่บ้านใจแผ่นดินอย่างที่เข้าใจกัน จึงถอยร่นไปยังทิศตะวันออกเพื่อกลับเข้าแนวเขตของประเทศไทย อาศัยเข็มทิศ และความชำนาญพื้นที่ของพรานเมือง และจ่าโชคดี ซึ่งชุดปฏิบัติการดังกล่าวหลบหนีออกมาได้จากกองกำลังไม่ทราบฝ่ายโดยไม่ถูกตรวจพบถึง 5 วัน[7][4] ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บจากการปะทะ ซึ่งจ่าโชคดีได้เน้นย้ำว่าให้ทำการซ่อนพรางอุปกรณ์ปฐมพยาบาลให้ดีเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจพบและสะกดรอยจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย[6]

การปะทะครั้งที่ 2[แก้]

ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ชุดปฏิบัติการหาข่าวได้ปะทะกับกองกำลังไม่ทราบฝ่ายอีกครั้งขณะกำลังนอนพักผ่อนเอาแรงบริเวณโป่งดินระหว่างยอดเขาและเชิงเขา จากกองกำลังไม่ทราบฝ่ายประมาณ 20-30 คน เปิดฉากกระหน่ำยิงเข้าใส่ จนมีผู้เสียชีวิต 3 นาย[4] คือ สิบตำรวจโท พลอย ศิลปสอน เสียชีวิตคาที่ สิบตำรวจโท ไพฑูรย์ ปิดสายะ โดนยิงที่สะโพกบาดเจ็บสาหัสจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา และนายเมือง กระสุนถูกที่คอ เสียชีวิตคาที่ ในขณะที่ดาบตำรวจ อรัญ ถูกกระสุนยิงโดนแขน และจ่าสิบตำรวจ อดุลย์ หายตัวไปในระหว่างการปะทะ โดยระหว่างการปะทะตำรวจตระเวนชายแดนได้ยิงตอบโต้และปาระเบิดขว้างตอบโต้ไปจำนวน 2 ชุด จนกระทั่งเสียงปืนสงบลง ชุดปฏิบัติการที่เหลือคาดว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่ายได้ล่าถอยไปแล้ว จึงได้เก็บปืน เครื่องกระสุนจากผู้เสียชีวิตและสิ่งของจำเป็น พร้อมกับทำศพอย่างเรียบง่ายและทำสัญลักษณ์เพื่อกลับมาเก็บกู้ศพในภายหลัง[3][7] ซึ่งจ่าโชคดีคาดกว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่ายสามารถติดตามสะกดรอยมาได้จากการประมาทภายในทีมที่ไม่ซ่อนพรางผ้าก็อตซ์ทำแผลด้วยการขุดฝังตามข้อกำชับ[6]

จากนั้นกำลังชุดที่เหลือได้ถอยร่นจากการติดตามไล่ล่า โดยซ่อนตัวในพุ่มไม้ในเวลากลางวัน และเคลื่อนที่ในเวลากลางคืนตามแนวเชิงเขา ระหว่างนั้นเสบียงอาหารที่เตรียมมาสำหรับ 7 วันได้ร่อยหรอลง กำลังได้ถอยร่นลงมาในแนวป่าทึบ จนกระทั่งพบตัวจ่าอดุลย์ จากพุ่มไม้สั่นไหวและเห็นหมวกไหมพรม จึงได้ค่อย ๆ แสดงตัวให้จ่าอดุลย์รับทราบ โดยจ่าอดุลย์ได้นำเนื้อค่างส่วนขามาด้วย จึงได้แบ่งให้กำลังในชุดทานกัน[7]

ในช่วงแรกของการถอยร่นหลบหนีจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย จ่าสำเริงได้เล่าว่า ชุดปฏิบัติการได้ใช้เส้นทางตามแนวทางน้ำ แต่ก็ถูกจัดกำลังไล่ล่าอย่างหนัก จึงเปลี่ยนยุทธวิธีเป็นการเดินหนีขึ้นภูเขา แต่ช่วงเวลานั้นก็มีฝนตกอยู่ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งก็ถูกจัดกำลังมาปิดล้อมอีก จึงทำให้ทราบแน่ชัดแล้วว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่ายตั้งใจจะปิดล้อมเพื่อฆ่าชุดปฏิบัติการทั้งหมด โดยได้ปรับกลยุทธมาเดินในลำน้ำซึ่งเป็นลำธารความลึกไม่มาก[7] สามารถเดินได้ เพื่อซ่อนร่องรอยในการเดินทาง จนกระทั่งลำน้ำดังกล่าวบรรจบกับลำน้ำขนาดใหญ่ ไม่สามารถเดินเท้าไปต่อได้ จึงได้วางกำลังคุ้มกันและชุดที่เหลือต่อแพเพื่อล่องตามลำน้ำ[6] แต่ก็เจอกับผาน้ำตกทำให้แพแตก โชคดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บจึงต้องเดินเท้ากันต่อ ระหว่างนั้นก็มีการแยกกำลังขึ้นไปอยู่บนที่สูงเพื่อติดต่อสื่อสารด้วยวิทยุสื่อสาร แต่ไม่สามารถใช้ติดต่อกับหน่วยเหนือได้[7]

ชุดปฏิบัติการได้ถอยร่นไปจนถึงพื้นที่นัดหมายถอนตัวตามกำหนดครบ 7 วัน แต่ปรากฏว่าเฮลิคอปเตอร์กลับมองไม่เห็นชุดของพวกเขาเนื่องจากสภาพอากาศที่ปิด[6] และได้บินตัดผ่านไปโดยไม่เห็นสัญญาณที่ส่งให้ ทำให้ชุดปฏิบัติการต้องอาศัยอยู่ในป่าต่อ โดยจ่าสิบตรีโชคดีบอกเล่าว่าได้อาศัยของป่า เช่น ลูกมะเดื่อ งูเขียว แม้แต่ตัวทากเพื่อประทังชีวิต วิชาการเอาชีวิตรอดที่ได้รับการฝึกฝนมาได้ถูกนำมาใช้ทั้งหมดหลังจากนั้น โดยชุดปฏิบัติการได้ถอยร่นต่อไปจนไม่ทราบวันทราบคืน จนมาเจอไม้ที่ถูกฟันสัญลักษณ์คล้ายกับของชนเผ่ากะเหรี่ยง จึงได้จัดทีมล่วงหน้าไปก่อน 2 นาย คือจ่าสิบตรี สมชาย เพิ่มพงศาเจริญ และ สิบตำรวจโท ภิญโญ มีทรัพย์ จนกระทั่งผ่านไปหลายชั่วโมงก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นจำนวน 2 นัด ชุดปฏิบัติการหลักจึงทราบได้ว่าอาจเกิดปัญหากับชุดล่วงหน้าของจ่าสมชายและสิบตำรวจโทภิญโญ จึงลดความเร็วการเคลื่อนที่ลง เปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ แต่ยังคงมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก[7]

ความช่วยเหลือ[แก้]

กระทั่งชุดปฏิบัติการที่เหลือทั้ง 4 นายมั่นใจแล้วว่าได้ข้ามกลับเข้ามาในฝั่งไทยแล้ว ซึ่งชุดปฏิบัติการหลักยังคงคาดหวังว่าชุดปฏิบัติการล่วงหน้าที่เดินทางมาก่อนจะยังคงมีชีวิตอยู่ จนกระทั่งชุดปฏิบัติการเดินทางมาพบกับศพของสิบตำรวจโทภิญโญ เสียชีวิตในท่านั่งมีเชือกผูกอยู่ที่คอ ที่หัวมีแผลถูกฟันขนาดใหญ่ที่เริ่มเน่า[7][3] มีรอยกรีดที่เท้าบริเวณเอ็นร้อยหวาย และปืนประจำกายสูญหายไป[6] ในขณะที่จ่าสมชายหาร่างไม่พบ พบเพียงกางกางซึ่งมีสัญลักษณ์ของหน่วยพลร่มลอยตามน้ำมา และน้ำมีกลิ่นสาปศพติดมาด้วย จึงคาดว่าเสียชีวิตแล้วเช่นกัน[7][3]

ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2535[3] ชุดปฏิบัตการเดินตามลำน้ำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งพบกับชุดค้นหาคือชาวกะเหรี่ยง 2 คน[7] คือหน่อสะ[1] และกะยอ[6] โดยขณะนั้นชุดปฏิบัติการได้ยกปืนขึ้นขู่ทีมค้นหา เนื่องจากไม่ไว้ใจว่าเป็นกองกำลังไม่ทราบฝ่ายหรือไม่ ชาวกะเหรี่ยงทั้ง 2 จึงได้แนะนำว่าตนเป็นคนที่ทางการสั่งให้มาร่วมค้นหา โดยตนได้รับคำสั่งจากผู้กองนิพนธ์[6] เบื้องแรกชุดปฏิบัติการไม่เชื่อจึงได้สั่งให้พรานกะเหรี่ยงทั้ง 2 เทของออกจากย่ามทั้งหมด ซึ่งในนั้นมีซองยาของหน่วย ตชด. และห่อข้าวสุกที่กินไม่หมดติดมาด้วย ทำให้ข้าวห่อนั้นที่กะเหรี่ยงทั้ง 2 พกมาเป็นอาหารมื้อแรกของชุดปฏิบัติการหลังจากออกจากป่ามาได้ จากนั้นพรานชาวกะเหรี่ยงได้พาชุดปฏิบัติการทั้ง 4 นายไปยังหมู่บ้านซึ่งอยู่บนเขาสูง ซึ่งหมู่บ้านนั้นคือ หมู่บ้านใจแผ่นดิน ที่ปู่คออี้อาศัยอยู่นั่นเอง และได้ทานข้าวมื้อแรกอย่างเต็มที่ในหมู่บ้าน[7] ซึ่งกะเหรี่ยงที่ให้การช่วยเหลือทั้งหมดประกอบไปด้วย หน่อสะ[11][1] กะยอ[6] หน่อแอะ[12][11][1] โกละ และโมลิ[11]

ในเบื้องต้นนั้นชุดปฏิบัติการทั้ง 4 นายที่รอดชีวิตไม่ไว้วางใจใครทั้งสิ้น เนื่องจากคิดว่าเพื่อนของตนที่เสียชีวิตทั้ง 2 นายอาจจะเป็นฝีมือของชาวกะเหรี่ยง เนื่องจากสัญลักษณ์ที่ได้พบก่อนจะแยกชุดออกจากกันมาก่อนหน้านี้ แต่เมื่อได้พบกับผู้ใหญ่บ้าน คือนายนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านบางกลอย[3] และคนของทางการไทยจึงได้วางใจและไว้ใจมากขึ้น และช่วยกันทำพื้นที่ลงจอดเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราวเพื่อรองรับความช่วยเหลือ โดยทั้งหมดถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลหัวหินด้วยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อตรวจเบื้องต้น[7] และย้ายไปพักฟื้นต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ[6] ประกอบไปด้วย[7]

  • ดาบตำรวจ อรัญ กลิ่นกุล มีแผลถูกยิงบริเวณแขน อาการสาหัส
  • ดาบตำรวจ สำเริง ไชยชนะสงคราม
  • จ่าสิบตำรวจ อดุลย์ พวงงาม
  • จ่าสิบตำรวจ โชคดี ไชยะเจริญ

ในระหว่างการสูญหายของชุดปฏิบัติการหาข่าวทั้ง 9 รายนั้น ได้มีการส่งกำลังคนเดินเท้าเพื่อค้นหากว่า 300 คน ใช้อากาศยานเฮลิคอปเตอร์บินค้นหามากกว่า 200 เที่ยว รวมไปถึงอากาศยานปีกตรึงอีกกว่า 60 เที่ยว แต่ก็ไม่พบชุดปฏิบัติการดังกล่าวแต่อย่างใด จนกระทั่งผ่านมาเกือบหนึ่งเดือนจึงได้พบชุดปฏิบัติการที่รอดชีวิตมาเพียง 4 นาย[7] ซึ่งปฏิบัติการค้นหาดังกล่าวมีครูป๊อด ทัศน์กมล โอบอ้อม ผู้ที่ศึกษาและคลุกคลีอยู่กับชาวกะเหรี่ยงคอยประสานงานให้ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอยและใจแผ่นดินร่วมออกค้นหาชุดปฏิบัติการที่สูญหาย[13]

ผู้เสียชีวิตทั้งหมด[แก้]

รายชื่อผู้เสียชีวิตของทางการไทยจากปฏิบัติการครั้งนี้ เรียงตามลำดับการเสียชีวิต ประกอบไปด้วย

  • นายเมือง เอมมาก พรานป่าชาวกะเหรี่ยง
  • สิบตำรวจโท พลอย ศิลปศร กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ค่ายนเรศวร
  • สิบตำรวจโท ไพฑูรย์ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 ค่ายพระมงกุฎเกล้า
  • สิบตำรวจโท ภิญโญ มีทรัพย์ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 ค่ายพระมงกุฎเกล้า
  • สิบตำรวจโท สมชาย เพิ่มพงศาเจริญ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ค่ายนเรศวร

สิ่งสืบเนื่อง[แก้]

หลังได้รับการช่วยเหลือ[แก้]

หลังการช่วยเหลือ ชุดปฏิบัติการทั้ง 4 นายได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระพันปีหลวงได้พระราชทานเงินส่วนหนึ่งให้ และส่งเสียบุตรหลานของชุดปฏิบัติการทั้ง 8 นาย จนเรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี[7][6]

ส่วนผู้เสียชีวิตทั้ง 4 นาย ไม่ได้รับการพูลบำเหน็จหรือการปรับเลื่อนชั้นยศแต่อย่างใดจากปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งการเก็บกู้ร่างสามารถทำได้เพียงร่างของ สิบตำรวจโท สมชาย เพิ่มพงศาเจริญ และร่างของ สิบตำรวจโท ภิญโญ ซึ่งอยู่ในฝั่งไทย ส่วนร่างของเจ้าหน้าที่อีก 2 นายและพรานป่าอยู่ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ไม่สามารถเข้าไปเก็บกู้ร่างได้[6]

เปิดเผยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย[แก้]

สหายธง หรือ ธง แจ่มศรี ผู้นำกองกำลังไม่ทราบฝ่ายซึ่งได้รับการเปิดเผยในปี พ.ศ. 2562 ว่าเป็นกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เขตงานตะนาวศรี

ในภายหลังได้มีการออกมายอมรับว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่ายที่ได้ปะทะกับตำรวจตระเวนชายแดนในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2535 คือ กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในเขตงานตะนาวศรี โดยเปิดเผยในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ณ งานฌาปนกิจ ธง แจ่มศรี ตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คนที่ 4 วัดพระประโทณเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม[3]

สหายโชติ ซึ่งเป็นอดีตคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้อ่านประวัติของ ธง แจ่มศรี มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเปิดเผยถึงเรื่องราวในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เอาไว้ว่าได้ปะทะกับกับกำลังของตำรวจตระเวนชายแดน ในยุทธการ 35 วันนรกบางกลอย เหนือเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งในเวลานั้นได้มีการย้ายศูนย์การนำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจากจังหวัดชุมพร มาอยู่ในพื้นที่ตะนาวศรีเขตเหนือ (เพชรบุรี-ราชบุรี)[3][4]

การปะทะกับตำรวจตระเวนชายแดนในครั้งนั้น ถือเป็นการสู้รบครั้งสุดท้ายระหว่างกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) กับเจ้าหน้าที่รัฐ[3][4] ซึ่งสหายธง หรือ ธง แจ่มศรี มองว่าภารกิจที่แท้จริงของชุดปฏิบัติการหาข่าวของตำรวจตระเวนชายแดนนั้นไม่ใช้การพิสูจน์ทราบอย่างที่ได้ออกมาเปิดเผย แต่เป็นภารกิจในการ ดับเสียงปืนแตก หรือการมุ่งเป้าในการสังหารตนและกลุ่มคอมมิวนิสต์กลุ่มสุดท้ายที่เหลือกำลังอยู่ไม่มาก เนื่องจากเลือกวันในการปฏิบัติการคือวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งตรงกันกับวันเสียงปืนแตก เนื่องจากคัดกำลังพลที่มีความสามารถสูงมาปฏิบัติการในภารกิจดังกล่าว[4]

หลังจากการปะทะกับกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนในครั้งนั้น ทำให้ ที่มั่นจรยุทธ์สุดท้าย ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยถูกเปิดเผย (แม้ขณะนั้นจนถึงก่อนการเปิดเผยเจ้าหน้าที่จะยังไม่ทราบว่าเป็น พคท.) จากการบุกเข้ามาถึงที่มั่น จึงต้องต่อสู้เพื่อป้องกันตนเอง ก่อนจะถอนกำลังทั้งหมดจากพื้นที่ดังกล่าวเข้าไปในป่าลึกติดกับชายแดนพม่า และได้ประเมินว่าที่มั่นบางกลอยถูกตรวจพบแล้ว จึงได้ทยอยส่งสหายร่วมอุดมการณ์ของพรรคออกมาจากป่าจนหมด สิ้นสุดกองทหารป่าชุดสุดท้ายในปี พ.ศ. 2536[3] ซึ่งสหายธงได้อยู่ในป่าต่อจนถึงปี พ.ศ. 2537 จึงได้ออกจากป่ามา แต่ไม่ได้มอบตัวแต่อย่างใด จนกระทั่ง พ.ศ. 2543 ได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2493[4]

ปัจจุบันยังมีการจัดงานรำลึกวีรชนปฏิวัติ ณ อนุสรณ์สถานเขตตะนาวศรี บ้านห้วยเกษม อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรีเป็นประจำทุกปี[3]

การผลักดันชาวกะเหรี่ยงและยุทธการตะนาวศรี[แก้]

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พื้นที่ปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี

หลังจากเหตุการณ์ 35 วันนรกบางกลอย ได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้ง หมู่บ้านป่าไม้ และเริ่มอพยพคนลงมาจากพื้นที่ป่าในปี พ.ศ. 2539[14] จำนวน 57 ครอบครัว 391 คน[15] และจัดที่ดินให้ 7-8 ไร่ เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่นั้นได้รับประโยชน์ แต่แนวคิดดังกล่าวไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก[14] เห็นได้ชัดในปี พ.ศ. 2552[1] เนื่องจากพื้นที่ทำกินใหม่เป็นหินแข็ง เพาะปลูกไม่ได้ ทำให้บางส่วนย้ายกลับขึ้นไปทำกินที่ใจแผ่นดินเหมือนเดิม[15] โดยมีการเขียนของบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านโป่งลึกบางกลอยตามพระราชดำริในปีงบประมาณ 2553 แต่กลับเกิดยุทธการตะนาวศรีขึ้นมาแทน ซึ่งมีความย้อนแย้งในตัวเอง[14]

ยุทธการตะนาวศรี นำโดย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขณะนั้น ดำเนินการผลักดันกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงออกมาจากพื้นที่ "บางกลอยบน" หรือ "ใจแผ่นดิน" มาอยู่ในพื้นราบคือบ้านบางกลอยล่าง และบ้านโป่งลึก[11][16] ด้วยการรื้อบ้าน เข้าจับกุม เผาบ้านและยุ้งข้าว พร้อมกับตั้งข้อหาการบุกรุกป่าพร้อมกับกล่าวหาว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธ ระหว่างปี พ.ศ. 2553 - 2554 ซึ่งดำเนินการไปประมาณ 10-12 ครั้ง จนเกิดเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกถึง 3 ลำในยุทธการดังกล่าวทำให้ยุทธการนี้ถูกเปิดเผยออกมา โดยกำลังประกอบด้วยหน่วยเฉพาะกิจชุดพระยาเสือ จากกองพลทหารราบที่ 9, ตำรวจตระเวนชายแดน[12] และเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช[11]

ในรายงานสรุปประจำเดือนของยุทธการตะนาวศรี มีส่วนหนึ่งระบุไว้ว่า หน่อแอะ มีมิ[1] ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ในยุทธการตะนาวศรี และระบุว่าเป็นผู้บุกรุกที่อพยพเข้าไปใหม่ในพื้นที่ใจแผ่นดิน และมีอาวุธสงครามในครอบครอง ซึ่งความจริงแล้วเขาคือหนึ่งในพรานชาวกะเหรี่ยง 4 คน ที่ช่วยเหลือตำรวจตระเวนชายแดนทั้ง 4 นายที่รอดชีวิตในปี พ.ศ. 2535 ซึ่งหน่อแอะเป็นลูกของปู่คออี้ โดยพรานอีก 3 คนที่เหลือคือ หน่อสะ[1] ลูกชายอีกคนของปู่คออี้ โกละ และโมลิ ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยดั่งเดิมในพื้นที่ ไม่ใช่การบุกรุกเข้ามาตั้งหมู่บ้านใหม่อย่างที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง[11]

นรก 35 วันในป่าบางกลอย[แก้]

นรก 35 วันในป่าบางกลอย  
ผู้ประพันธ์เริงศักดิ์ กำธร
ประเทศไทย
ภาษาไทย
หัวเรื่องการปะทะที่บางกลอย พ.ศ. 2535
ประเภทสารคดี
พิมพ์สำนักพิมพ์บางหลวง
วันที่พิมพ์พฤศจิกายน 2535
หน้า151 หน้า
ISBN9748564525 ครั้งที่ 1
9789744790750 ครั้งที่ 6

นรก 35 วันในป่าบางกลอย เป็นหนังสือสารคดี ที่เขียนขึ้นโดย เริงศักดิ์ กำธร ซึ่งเขียนมาจากเรื่องจริงของกรณีที่ตำรวจตระเวนชายแดนชุดพิสูจน์ทราบปะทะกับกองกำลังไม่ทราบฝ่ายในพื้นที่ป่าบางกลอย แก่งกระจานในปี พ.ศ. 2535 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 นาย 1 ราย และมีผู้รอดชีวิต 4 นาย

ประวัติ[แก้]

นรก 35 วันในป่าบางกลอย เคยถูกเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์เดลินิวส์โดยเผยแพร่แบ่งออกเป็นตอน ๆ[17] เขียนขึ้นโดย เริงศักดิ์ กำธร เจ้าของรางวัลพูลิเซอร์ปี 2533[18] โดยอาศัยข้อมูลจากตำรวจตระเวนชายแดนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้เขียนบันทึกและส่งมาให้กับเริงศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในขณะนั้น และได้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายวันเป็นรายตอน[5] ก่อนจะนำมารวบรวมเป็นรูปเล่มและตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บางหลวงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และสำนักพิมพ์เพื่องอักษรในปี พ.ศ. 2553 โดยได้อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นผู้เขียนคำนำ โดยเป็นเรื่องที่มีค่าลิขสิทธิ์แพงที่สุดในประเทศไทยเรื่องหนึ่ง[18]

รายละเอียด[แก้]

นรก 35 วันในป่าบางกลอย ตีพิมพ์จำนวน 6 ครั้ง ดังนี้

  • พิมพ์ครั้งที่ 1 พฤศจิกายน 2535 โดยสำนักพิมพ์บางหลวง ขนาด 12.8 x 18.5 เซนติเมตร มีจำนวน 151 หน้า [19]
  • พิมพ์ครั้งที่ 2 พฤศจิกายน 2535 โดยสำนักพิมพ์บางหลวง[20]
  • พิมพ์ครั้งที่ 3 เมษายน 2537 โดยสำนักพิมพ์บางหลวง ขนาด 130x185 มิลลิเมตร มีจำนวน 159 หน้า[21]
  • พิมพ์ครั้งที่ 4
  • พิมพ์ครั้งที่ 5
  • พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2553[22] โดยสำนักพิมพ์เฟื่องอักษร ขนาด 144 x 209 x 10 มิลลิเมตร มีจำนวน 160 หน้า หมายเลข ISBN 9789744790750[23]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 "ย้อนอดีต เส้นทางที่ไม่ได้เลือก: กะเหรี่ยงแก่งกระจาน | The Active". theactive.net. 2021-01-21.
  2. สิยา, น (2019-03-14). ""ผมพูดได้เสียงดังฟังชัด ไม่ต้องเกรงกลัวใคร"". COP'S Magazine.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 3.18 "รอยอดีต 'นรกบางกลอย' ไขปริศนา ตชด. ในสมรภูมิแก่งกระจาน". thepeople (ภาษาอังกฤษ). 2021-02-03.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 "จาก "วันเสียงปืนแตก" สู่ภารกิจ "ดับเสียงปืนแตก" การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของ พคท". www.silpa-mag.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 "#OCTcinema ชวนรับชมสารคดีและคลิป 6 ตุลา 19 | ประชาไท Prachatai.com". prachatai.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 6.13 6.14 6.15 6.16 6.17 6.18 6.19 โชคดี ไชยะเจริญ. 7 กุมภาพันธ์ 2566 : สัมภาษณ์ในรายการ Big Story | ติดนรกป่าบางกลอย 35 วัน UNCUT. YouTube: หนุมคงกระพัน official. (สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2566).
  7. 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 7.11 7.12 7.13 7.14 7.15 7.16 "3 นาทีคดีดัง : 35 วัน นรกในป่าบางกลอย (คลิป)". www.thairath.co.th. 2022-08-20.
  8. ตำรวจพลร่ม รุ่น 196 (bppparu.go.th)
  9. รายชื่อตำรวจพลร่ม รุ่น 37 (bppparu.go.th)
  10. รายชื่อตำรวจพลร่ม รุ่น 132 (bppparu.go.th)
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 พงษ์พิพัฒน์วัฒนา, สถาพร (2021-01-25). "บันทึกลับจาก 'บางกลอย' ปฐมบทการต่อสู้ของ 'กะเหรี่ยงแก่งกระจาน'". The 101 World (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  12. 12.0 12.1 "สุรชา บุญเปี่ยม: ฮ.ตก กับปัญหาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน | ประชาไท Prachatai.com". prachatai.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. "ป่าปริศนา ฆ่า "ครูป๊อด-บิลลี่" จอมบงการยังลอยนวล". คมชัดลึกออนไลน์. 2019-09-06.
  14. 14.0 14.1 14.2 "ตั้งหลักแก้ปัญหากะเหรี่ยงบางกลอยแบบวิน-วิน". THECITIZEN.PLUS (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-02-04.
  15. 15.0 15.1 "เปิดประวัติ "ปู่คออี้" ผู้อาวุโสนักต่อสู้แห่งป่าแก่งกระจาน". workpointTODAY.
  16. "สรุปทุกอย่างให้เข้าใจ #SAVEบางกลอย เรื่องราวการต่อสู้ระหว่างอำนาจรัฐกับชาวกะเหรี่ยง". workpointTODAY.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  17. "นรก 35 วันในป่าบางกลอย / เริงศักดิ์ กำธร". pantown.com.
  18. 18.0 18.1 "นรก 35 วันในป่าบางกลอย". Tumblr (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  19. "นรก 35 วันในป่าบางกลอย/ เริงศักดิ์ กำธร". www.chantrabook.com.
  20. "นรก 35 วันในป่าบางกลอย เริงศักดิ์ กำธร (มือ II หนังสือหายาก ราคาเกินปก) ร้านหนังสือเก่าออนไลน์ วรรณกรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ - Rare Book Shop". Thaipick.
  21. "นรก35วันในป่าบางกลอย". www.su-usedbook.com.
  22. "ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก โรงเรียนพะเยาพิทยาคม". 61.7.230.236.
  23. phanpha.com (2010-12-23). "นรก 35 วันในป่าบางกลอย | Phanpha Book Center (phanpha.com)". www.phanpha.com.