โรงพยาบาลพระปกเกล้า
โรงพยาบาลพระปกเกล้า Prapokklao Hospital | |
---|---|
กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 | |
ภูมิศาสตร์ | |
ที่ตั้ง | 38 ถนนเลียบเนิน ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี 22000, ประเทศไทย |
พิกัด | 12°36′15″N 102°06′08″E / 12.604293°N 102.102341°E |
หน่วยงาน | |
ประเภท | ภูมิภาค |
สังกัด | คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
บริการสุขภาพ | |
จำนวนเตียง | 886 เตียง |
ประวัติ | |
ชื่อเดิม | โรงพยาบาลจันทบุรี |
เปิดให้บริการ | 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 |
ลิงก์ | |
เว็บไซต์ | www |
โรงพยาบาลพระปกเกล้า ซึ่งบางครั้งเรียกว่า โรงพยาบาลประชาธิปกบรมราชานุสรณ์ เป็นโรงพยาบาลหลักของจังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย และจัดอยู่ในประเภทโรงพยาบาลระดับภูมิภาคของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีศูนย์แพทยศาสตรศึกษาโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทซึ่งจัดอบรมแพทย์ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[1][2]
ประวัติ
[แก้]การก่อสร้างโรงพยาบาลเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2480 โดยหลวงนิรนทร์ ประสาทเวชช์ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดจันทบุรี อาคารโรงพยาบาลหลังแรกสร้างเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2482 โดยมีความจุ 50 เตียง โรงพยาบาลดังกล่าวเปิดเป็นโรงพยาบาลจันทบุรีเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 โรงพยาบาลแห่งนี้ใช้เป็นโรงพยาบาลสนามตลอดช่วงกรณีพิพาทอินโดจีน และดูแลคนบาดเจ็บกว่า 300 รายจากยุทธนาวีเกาะช้าง ครั้นใน พ.ศ. 2497 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียน และได้ริเริ่มการขยายโรงพยาบาลเพิ่มเติมผ่านกองทุนของราชวงศ์ กระทั่งใน พ.ศ. 2498 หลังจากสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่แล้วเสร็จ โรงพยาบาลนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระปกเกล้าเพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย (ปัจจุบันคือวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า) ได้เปิดดำเนินการที่โรงพยาบาลใน พ.ศ. 2509 และใน พ.ศ. 2519 ทางโรงพยาบาลได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่ออบรมแพทย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD)[3]
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก
[แก้]ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกแห่งแรกของประเทศ โดยเป็นสถาบันสมทบของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติ
[แก้]ในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการเจรจากันระหว่างผู้อำนวยการกองฝึกอบรม กระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์กิติ ตยัคคานนท์) และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น (ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์) เรื่องการผลิตแพทย์เพื่อรับใช้ชาวชนบท โดยกระทรวงสาธารณสุขมีความประสงค์จะได้แพทย์ทำงานในชนบทมากขึ้นจึงได้มีหนังสือจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขถึงอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น (ศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระ) ขอความร่วมมือให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น โดยรับนิสิตเพื่อจะได้กลับไปทำงานในต่างจังหวัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พิจารณาเรื่องนี้แล้ว เห็นควรร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการผลิตแพทย์ดังกล่าว โดยอาศัยแนวคิด อยู่ 2 ประการ คือ
- จะต้องจัดหลักสูตรเน้นหนักทางชนบท และเรียนในชนบทเพื่อแก้ปัญหาในชนบท ในกรณีนี้การเรียนชั้นคลินิกจำเป็นต้องจัดทำในโรงพยาบาลต่างจังหวัดโดยตลอด
- ควรใช้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา โดยอาศัยแพทย์และบุคลากรอื่นของโรงพยาบาลเหล่านั้นเป็นผู้สอน ซึ่งจะเป็นวิธีที่มีความสิ้นเปลืองน้อย โดยใช้ทรัพยากรของชาติที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์
กระทรวงสาธารณสุข และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2520และได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2521 [4] จากนั้นจึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการซึ่งมีประธานร่วม ได้แก่ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระ) และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์อมร นนทสุต) โดยมีกรรมการจากทั้งสองฝ่ายรวมอยู่ด้วย
คณะกรรมการชุดนี้ ได้ดำเนินการพิจารณาแผนงาน โดยเสนอชื่อโครงการว่า “โครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุข” (Medical Education for Students in Rural Area Project-MESRAP) ได้วางโครงร่างการดำเนินการ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ คือ คณะอนุกรรมการพิจารณาเกณฑ์การคัดเลือกนิสิต คณะอนุกรรมการจัดทำหลักสูตร คณะอนุกรรมการแลกเปลี่ยนบุคลากร และคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกสถานที่[5] ซึ่งคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะได้ดำเนินการพิจารณาโครงสร้างและเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย โดยมีกองฝึกอบรม (สถาบันพระบรมราชชนก ในปัจจุบัน) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ประสานงาน ซึ่งคณะอนุกรรมการได้พิจารณาเลือกโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี เป็นศูนย์การศึกษาภาคคลินิก ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มีพิธีเปิด “ศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี” เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2525 โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และมีนายแพทย์ชัยสิทธิ์ ธารากุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และเริ่มจัดการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในปี พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัย จัดทำโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (the Collaborative Project to Increase Production of Rural Doctor-CPIRD) [6] เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ โดยใน พ.ศ. 2540 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้ง สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เก็บถาวร 2022-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เพื่อรับผิดชอบโครงการดังกล่าว สำนักงานนี้มีฐานะเทียบเท่ากองในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ใช้ชื่อย่อว่า “สบพช.”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ได้มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข คำสั่งที่ 1168/2541 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2541ให้จัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกขึ้นในโรงพยาบาลศูนย์ ศูนย์การศึกษาแพทย์ฯ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า” ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2542 โดยมีนายแพทย์ชัชวาล สมพีร์วงศ์ เป็นผู้อำนวยการคนแรกจนถึงปัจจุบันนี้
ปัจจุบันศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า ดูแลรับผิดชอบการผลิตแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โครงการทุนกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐด้านสาธารณสุข โดยนิสิตแพทย์ในโครงการต่าง ๆ จะศึกษาในชั้นปรีคลินิก ณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกลับมาศึกษาในชั้นคลินิก ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ก่อนสำเร็จการศึกษานิสิตแพทย์ทุกคนจะต้องสอบเพื่อปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต เมื่อสอบผ่านจะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลักสูตรระดับปริญญาตรี
[แก้]- หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2560)[ต้องการอ้างอิง]
ระยะเวลาในการศึกษา
[แก้]ใช้ระยะเวลาในการศึกษาตลอดหลักสูตรรวม 6 ปี ดังนี้
- ระดับชั้นเตรียมแพทยศาสตร์และปรีคลินิก
นิสิตแพทย์ (ชั้นปี 1 - 3) จะศึกษา ณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ระดับชั้นคลินิก
นิสิตแพทย์ (ชั้นปี 4 - 6) จะศึกษาและฝึกภาคปฏิบัติ ณ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า
การรับนิสิตแพทย์เข้าศึกษา
[แก้]ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้านิสิตแพทย์เข้าศึกษาในหลักสูตร แพทยศาสตรบัณฑิต ผ่านโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทและโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนของ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน
[แก้]- สาขากุมารเวชศาสตร์ โครงการร่วมจุฬาฯ-พระปกเกล้า
- สาขาอายุรศาสตร์ โครงการร่วมจุฬาฯ-พระปกเกล้า
- สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "CPIRD". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-02. สืบค้นเมื่อ 2019-09-22.
- ↑ "ข้อมูลพื้นฐานโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 ณ กุมภาพันธ์ 2565". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-27. สืบค้นเมื่อ 2022-05-09.
- ↑ "ประวัติโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี" (PDF).
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ มติคณะรัฐมนตรี 21 มีนาคม 2521 เรื่อง โครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท
- ↑ มติคณะรัฐมนตรี 18 ธันวาคม 2522 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานและคณะอนุกรรมการโครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท
- ↑ มติคณะรัฐมนตรี 7 มิถุนายน 2537 เรื่อง ขออนุมัติโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท