วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ | |
---|---|
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา | |
ดำรงตำแหน่ง 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 – 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 | |
นายกรัฐมนตรี | ประยุทธ์ จันทร์โอชา |
ก่อนหน้า | กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร |
ถัดไป | พิพัฒน์ รัชกิจประการ |
ดำรงตำแหน่ง 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 | |
นายกรัฐมนตรี | สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ |
ก่อนหน้า | สุวิทย์ ยอดมณี |
ถัดไป | ชุมพล ศิลปอาชา |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 23 ตุลาคม พ.ศ. 2508 อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี |
พรรคการเมือง | ชาติไทย (2535–2551)[1] |
คู่สมรส | มณีรัตน์ โควสุรัตน์ |
ลายมือชื่อ | |
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เป็นสมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการ และกรรมการบริหาร มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย [2] รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ[3]ประธานกรรมการในคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์[4] ประธานกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ[5]ประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน[6]กรรมการ[7]มูลนิธิสุรเกียรติ์ - ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย[8]กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สาขาภาพยนตร์[9]กรรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาชิกคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองเอเชีย[10] นักคิด นักยุทธศาสตร์ และนักวิชาการด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ
ด้วยความที่เป็นนักวิชาการด้านการเมืองและนักพัฒนาสังคม จึงมีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญหลายตำแหน่ง อาทิ เลขานุการประธานรัฐสภา เลขานุการประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ เลขานุการประธานคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายวุฒิสภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยอีกด้วย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
นอกเหนือจากทางการเมืองแล้ว ด้านงานวิชาการ ยังเป็นอาจารย์พิเศษ และผู้บรรยายพิเศษ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ประวัติ
[แก้]นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ หรือ "อาจารย์เอ" เกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2508จังหวัดอุบลราชธานี[11] เป็นบุตรของนายวิชัย และนางนันทนา โควสุรัตน์[12]
ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่อปี พ.ศ. 2532 นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท เมื่อปี พ.ศ. 2535 นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา (LL.M. Harvard Law School)
ความภูมิใจของวีระศักดิ์ ด้านการศึกษาคือช่วงจบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และได้เป็นนักเรียนทุน AFS (American Filed Service) ในสหรัฐอเมริกา 1 ปี ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เขามีความพร้อมด้านภาษาอังกฤษและการเข้าถึงวัฒนธรรมสหรัฐ ทั้งเชิงการเมืองและชีวิตนักเรียนอเมริกัน
การทำงาน
[แก้]วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเมืองมาเกือบสามทศวรรษ จนได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น "กุนซือ" ฝีมือเลิศล้ำ ท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีเว็บไซต์ชื่อ www.weerasak.org
- พ.ศ. 2532 ได้รับความไว้วางใจให้เป็น ผู้ช่วยของ ศาสตราจารย์ ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาลของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ในทีมที่ปรึกษา "บ้านพิษณุโลก" ตั้งแต่ยังเป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีส่วนร่วมดูแลงานด้านนโยบายสาธารณะ
- พ.ศ. 2533 เดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านกฎหมาย ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา
ระหว่างที่ศึกษาปริญญาโทนี้ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ยังได้เป็นบรรณาธิการที่ปรึกษา ของ นิตยสาร Harvard International Law Journal[[1]] (วารสารกฎหมายระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลก)
- พ.ศ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ตัดสินใจอุปสมบท ที่วัดสุปัฏตนาราม อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี เมื่อเดือน ก.พ.2534
- พ.ศ. 2535 ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานรัฐสภา (สมัยนายวรรณ ชันซื่อ เป็นประธานวุฒิสภา)
- พ.ศ. 2538 - 2539 ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ถูกมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านนโยบายวิชาการ นโยบายสังคม การต่างประเทศ และข่าวกรองแห่งชาติ รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญ ในการร่วมเตรียมการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติที่สำคัญ เช่น การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงเทพมหานคร, การแสดงปาฐกถาพิเศษของนายกรัฐมนตรีที่นิวยอร์ก ในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งองค์การสหประชาชาติร่วมกับผู้นำทั่วโลกที่ไปพร้อมกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองโลก ,การจัดให้นายกรัฐมนตรีไทยเยือนพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ให้ราบรื่นยิ่งขึ้น,การจัดให้นายกรัฐมนตรีเยือนประเทศอาเซียนอย่างเป็นทางการ, การร่วมประชุมผู้นำเอเปกที่ญี่ปุ่น ณ นครโอซาก้า เป็นต้น
- พ.ศ. 2540 - 2544 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ หอสมุดตำหนักพระองค์เจ้าหญิงอัพภัณตรีปชา ซึ่งปรับปรุงอาคารโบราณสถานแห่งนี้ ให้เป็นห้องสมุดที่รวบรวมเอกสาร หลักฐานความรู้ทางการเมือง และวิชาการต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเปิดให้บุคคลภายในและภายนอกพรรคชาติไทย ใช้เป็นที่พบปะ สังสรรค์ พูดคุย วางแผน ตลอดจนศึกษาค้นคว้าข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการพัฒนานโยบายสาธารณะ หลังจากนั้นไม่นานอาคารแห่งนี้ได้รับ รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นี่เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เขาได้มีส่วนช่วยผลักดันให้อาคารร้างหลังหนึ่ง กลับขึ้นมามีชีวิตชีวา และมีบทบาทในทางบ้านเมือง จนมีภาพยนตร์ ตลอดจนสารคดีหลายเรื่องมาถ่ายทำเรื่องราวและถ่ายทอดความสำคัญของอาคารหลังนี้
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้จุดประกายการทำงานเรื่องใหม่ๆ ให้กับกระทรวงศึกษาธิการด้วยการค้นหาโครงการที่ไม่ใช้งบประมาณ แต่ใช้ความร่วมมือบนความเข้าใจ และเปิดมิติการบริการที่เพิ่มพื้นที่การรู้จักมักคุ้นระหว่างเอกชน ภาคชุมชน กับงานด้านการศึกษา เช่น โครงการโรงเรียนสีขาว ซึ่งเป็นการลดรั้วที่ปิดกั้นการสื่อสารระหว่างผู้บริหารสถานศึกษา กับ ปราชญ์ท้องถิ่น และผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ผู้ปกครอง ตลอดจนตัวเด็กนักเรียนเอง
นอกเหนือจากงานที่กระทรวงศึกษาธิการแล้ว วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ยังถูกแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาช้างไทย
- พ.ศ. 2544 - 2545 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
- พ.ศ. 2545 - 2547 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผลงานที่โดดเด่นของวีระศักดิ์ในช่วงนี้ ต้องยกให้เป็นความสามารถพิเศษที่เชื่อมโยงปัญหาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แล้วแยกแยะเป็นมิติต่าง ๆ ง่ายต่อการทำความเข้าใจ เขามักจะเลือกใช้คำพูดง่าย ๆ แต่กินใจ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้รับฟังเกิดพลังร่วมในการขับเคลื่อนประเด่นทางสังคม เช่น โครงการ "บ้านเอื้ออาทร" ซึ่งเป็นชื่อโครงการที่วีระศักดิ์คิดขึ้นเอง โดยมีความหมายว่าให้เกิดความเอื้ออาทรระหว่างผู้อยู่อาศัยในชุมชนดียวกัน แต่น่าเสียดายที่ภายหลังมีการหยิบใช้คำว่า บ้านเอื้ออาทร ไปใช้ในความหมายที่ชวนให้เข้าใจว่ารัฐบาลเอื้อเฟื้อเมตตาแก่ประชาชน ซึ่งไม่ตรงกับความตั้งใจครั้งแรกของเขา
นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของแนวคิดเรื่องโรงรับจำนำชุมชน การติดตามและแก้ปัญหาการค้าหญิงและเด็ก การดูแลเด็กเร่ร่อน การผลักดันกฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายผู้สูงอายุ และกฎหมายส่งเสริมการจัดระบบสวัสดิการสังคม เป็นต้น งานด้านความช่วยเหลือสังคม ทำให้ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ องค์กร UNIFEM ของสหประชาชาติให้เป็นต้นแบบดีเด่นในด้านการรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง, รางวัล "ทูตพิทักษ์สิทธิเด็กดีเด่น" สาขานักการเมือง และภายหลังองค์กรเครือข่ายทำงานเพื่อส่งเสริมสถานภาพหญิงชายมีมติมอบรางวัล "เอกบุรุษ" ซึ่งจะมีผู้ได้รับเพียงปีละ 1 คนเท่านั้น
- พ.ศ. 2548 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย
- พ.ศ. 2550 ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคชาติไทย
- พ.ศ. 2551 ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ นับเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการริเริ่มผลักดันนโยบายด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับต่าง ๆ อันก่อให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ แม้จะดำรงตำแหน่งรมต. ไม่ยาวนาน ด้วยบุคลิกที่โดดเด่นในเรื่องการจับประเด็น วิเคราะห์ข้อมูลสมเหตุผล และมีหลักการคิดที่สมบูรณ์ครบถ้วน กล้าคิดกล้าตัดสินใจ สามารถต่อสู้แข่งขันกับนานาประเทศได้ไม่แพ้ใคร ประกอบกับเป็นคนจิตใจเปิดกว้าง คอยติดตามความเคลื่อนไหวของกระแสโลกทันท่วงทีอยู่สม่ำเสมอ และสามารถมองหาแง่มุมที่เป็นจุดแข็งจุดอ่อนของไทยเพื่อเทียบกับของคู่แข่งขันได้แม่นยำ จึงทำให้เกิดผลงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
โดยผลงานที่โดดเด่น คือ เพิ่มรายได้ทางการท่องเที่ยวในตลาดต่างประเทศเป็น 8 แสนล้านบาท เติบโต 30% (จากเดิม 6 แสนล้านบาท) จากภูมิหลังที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง ประกอบกับใช้หลักกลยุทธ์บริหารช่องทางการตลาด ททท.ดันตลาดใน รักษาตลาดนอก จึงทำให้การท่องเที่ยวไทยในปีนั้นเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
"ททท. ต้องรุกหนัก หยุดไม่ได้ ด้วยช่องทางเดิมเพื่อไม่ให้จมหาย ในขณะที่ทุกประเทศก็ต้องรักษาฐานเดิมของตัวเองเช่นกัน ในขณะเดียวกันต้องเพิ่มเส้นทางรุกแบบใกล้ชิดในตลาดไทยด้วยเช่นกัน เพื่อช่วยพยุงเส้นเลือดทุกเส้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ขยับตัวได้อย่างต่อเนื่อง"
และอีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นคือ การแก้ไขวิกฤตการท่องเที่ยวในภาวะฉุกเฉิน (เหตุการณ์การปิดสนามบินสุวรรณภูมิปลายปี 2551) โดยยืนอยู่บนหลักการบริหารจัดการเฉพาะหน้าที่ไม่ตำหนิกันเอง แต่ให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นแกนกลางประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง และผนึกทีมกันทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่าแสนคนที่ตกค้าง ภายใน 48 ชั่วโมง โดยใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็น ศูนย์กลางขึ้น-ลง เที่ยวบินระหว่างประเทศ
ในขณะที่อีกด้านหนึ่งคือผลงาน ดำเนินการด้านกีฬา แบ่งออกเป็น 5 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมพัฒนาการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ เช่น การร่วมโอลิมปิกเกมส์, การช่วยประเทศลาว ในการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ปี 2552, 2.การส่งเสริมพัฒนากีฬาเพื่อมวลชน เช่น การจัดมหกรรมกีฬาเพื่อมวลชน, การประกวดวงโยธวาทิต, 3.การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการกีฬา เช่น การจัดตั้งทีวีกีฬา, เพลงเชียร์กีฬา และมาตรการด้านลดภาษีการกีฬา, 4. การส่งเสริมพัฒนากีฬาความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการพลศึกษา กับ สถาบันพลศึกษาของจีน, 5. การส่งเสริมพัฒนากีฬาพื้นฐาน พัฒนาบุคลากรทางการกีฬาและพลศึกษา
- พ.ศ. 2552 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
- ปลายปีพ.ศ. 2552 -2554 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา สคพ. (ITD) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่พัฒนาองค์ความรู้และเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ การคลัง การลงทุนและการพัฒนา รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ ทำวิจัย และอีกส่วนงานคือการฝึกอบรมและสัมมนา ซึ่งจะมุ่งเน้นในเรื่องของการเปิดเสรีทางการค้าในกรอบของ WTO ASEAN และทวิภาคีต่างๆ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ มีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเจตนารมณ์ของการจัดตั้งองค์ ITD ซึ่งสามารถเห็นได้จากผลงานที่โดดเด่น อาทิ การจัดงาน เปิดข้อมูลรายงานการลงทุนโลก 2011 (World Investment Report 2011) รายงานตัวนี้ตัวช่วยตัวที่สำคัญชิ้นหนึ่งเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทย เพราะเนื้อหาเจาะลึก ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ แนวโน้มการลงทุนในต่างประเทศ (FDI) โดยตรงทั่วโลก รวมถึงมาตรการใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงการมีส่วนร่วมไปสู่การพัฒนา
- พ.ศ. 2556 ดำรงตำแหน่งประธาน สหกรณ์บริการท่องเที่ยวไทย เพื่อการพัฒนา จำกัด
- พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
- พ.ศ. 2560 - 2562 ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์สมาคมนิสิตเก่าคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลงานที่โดดเด่น
[แก้]- ปัญหาช้างไทย
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ มีส่วนสำคัญยิ่งในการแก้ไขปัญหาช้างไทย เมื่อครั้งถูกแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาช้างไทย ซึ่งภารกิจนี้ทำให้ได้ศึกษาปัญหาช้างไทยอย่างแตกฉาน ทั้งปัญหาช้างป่า และช้างบ้าน ได้รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสองกลุ่มปัญหา และมีข้อเสนอแนะในด้านกฎหมาย และการใช้มาตรการที่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาช้างไทยได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน จนทำให้ งานเขียนเรื่องช้างไทยของวีระศักดิ์ได้รับการเผยแพร่โดยองค์กรเอกชนที่สนใจปัญหาเรื่องช้างอย่างกว้างขวาง และเป็นเอกสารอ้างอิงที่ผู้สนใจเรื่องช้างกล่าวถึงเสมอๆ จวบจนปัจจุบันนี้
ปรัชญาที่ได้รับจากการทำงาน
[แก้]- "ผมได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ซึ่งผมมองว่าการเมืองเป็นพาหนะ แต่ไม่ใช่เป้าหมาย เป้าหมายคือ การได้เห็นนโยบายสาธารณะที่ดี ๆ ถูกนำออกมาปฏิบัติใช้"
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2566 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[13]
- พ.ศ. 2563 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[14]
- พ.ศ. 2555 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 7 เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ (ร.ง.ภ.)[15]
- พ.ศ. 2551 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1[16]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ครม.ใหม่ น้อมรับกระแสรับสั่ง ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ’ ให้ทำงานเพื่อประชาชน
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รัฐมนตรีลาออก, เล่มที่ ๑๓๖, ตอน พิเศษ ๑๑๘ ง, ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒, หน้า ๑
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/019/9.PDF
- ↑ ครม.ไฟเขียว แต่งตั้งบอร์ดประเมินผลกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/292/4.PDF
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-24. สืบค้นเมื่อ 2016-03-07.
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2552/D/109/153.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/D/057/41.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/204/8.PDF
- ↑ https://www.prachachat.net/politics/news-256352
- ↑ ประวัติผู้สมัคร ส.ส. เก็บถาวร 2012-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
- ↑ ททท.จัดงานโบนัสแห่งวัย ครั้งหนึ่งกับคุณแม่ ที่โรงละครอักษรา
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสายสะพาย ประจำปี ๒๕๖๖, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๔ ข หน้า ๕, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๓, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๑๔, ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๕, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๓๔, ๒๘ มกราคม ๒๕๕๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๕๑, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๕ ข หน้า ๑๐, ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒
ก่อนหน้า | วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ร้อยโทสุวิทย์ ยอดมณี (ครม.56) กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร (ครม.61) |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ครม.57) • (ครม.58) • (ครม.61) (6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 – 23 กันยายน พ.ศ. 2551 24 กันยายน] พ.ศ. 2551 – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 – 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562) |
ชุมพล ศิลปอาชา (ครม.59) พิพัฒน์ รัชกิจประการ (ครม.62) |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2508
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากอำเภอวารินชำราบ
- อาจารย์คณะนิติศาสตร์
- นักการเมืองไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยแบบบัญชีรายชื่อ
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยแบบสัดส่วน
- พรรคชาติไทย
- นิสิตเก่าคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
- บุคคลจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- บุคคลจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- บุคคลจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ม.