สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
International Institute for Trade and Development (Public Organization) | |
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 1 มิถุนายน พ.ศ. 2544 |
เขตอำนาจ | ทั่วราชอาณาจักร |
สำนักงานใหญ่ | ชั้น 8 อาคารวิทยพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาซอย 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 |
งบประมาณต่อปี | 29.7523 ล้านบาท (พ.ศ. 2564)[1] |
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน |
|
ต้นสังกัดหน่วยงาน | กระทรวงพาณิชย์ |
ลูกสังกัดหน่วยงาน | |
เว็บไซต์ | www.itd.or.th |
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า "สคพ." และใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า The International Institute for Trade and Development (Public Organization) เรียกโดยย่อว่า "ITD" เป็นองค์การมหาชน จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2544[2] เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร มีหน้าที่รับผิดชอบในการให้การศึกษาอบรม และค้นคว้าวิจัย เพื่อส่งเสริมการค้า การพัฒนา และดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา เดิมสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 โอนไปสังกัดกระทรวงพาณิชย์[3]
ประวัติ
[แก้]แนวคิดที่จะจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา มีความริเริ่มมาจากรูเบนส์ ริคูเปโร (Rubens Ricupero) เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากแรงจูงใจที่จะสนองตอบขอบคุณรัฐบาลไทยอย่างเป็นรูปธรรม ในฐานะที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพของการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีของอังค์ถัดครั้งที่ 10 ขึ้นที่ กรุงเทพฯ รวมทั้งเป็นความปรารถนาส่วนตัวมาช้านานของ ฯพณฯ ริคูเปโรที่ต้องการจะให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ยั่งยืนถาวรและเป็นแหล่งแพร่กระจายความรู้เพื่อการพัฒนาที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2540 รูเบนส์ ริคูเปโร ได้เข้าพบพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี โดยมีคณะรัฐมนตรีอาวุโสในสมัยนั้นร่วมด้วย วัตถุประสงค์ ได้แก่ การวางแผนจัดการประชุมอังค์ถัด 10 และในโอกาสนั้นเลขาธิการอังค์ถัดได้นำเสนอแผนงานการจัดตั้งองค์กรขึ้นซึ่งในชั้นนั้นเรียกว่าสถาบันเพื่อการพัฒนา (Institute of Development) และรัฐบาลไทยยินดีที่จะรับข้อเสนอนี้ หลังจากนั้นจึงเปิดเวทีการเจรจาขึ้นระหว่างอังค์ถัดกับผู้แทนรัฐบาลไทยต่อมาเป็นระยะเพื่อจัดทำความตกลงร่วมมือกัน จนปรากฏผลเป็นสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา
รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 10[4] เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอังค์ถัดทั้ง 190 ประเทศและผู้แทนกว่าร้อยคนจากองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชน ได้แลกเปลี่ยนทัศนะและความคิดเห็น ภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์การพัฒนากับการนำบทเรียนในอดีตมาปรับเปลี่ยนกระแสโลกาภิวัตน์ให้เป็นโอกาสที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและมวลประชากรโลก” ประเทศสมาชิกและกลุ่มพันธมิตรเพื่อการพัฒนาได้ร่วมกันรับรองเอกสารการประชุมในครั้งนี้ 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญากรุงเทพฯ และ แผนปฏิบัติการกรุงเทพฯ ซึ่งได้กล่าวเน้นถึงความจำเป็นสำหรับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่พยายามผลักดันให้มีการเจรจาอย่างเปิดเผยและให้ประเทศต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบการเงิน การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ และการบูรณาการเข้าสู่เศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขความขาดสมดุลและไม่สมมาตรที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างระเบียบของโลกขึ้นใหม่ที่มีการแบ่งสรรผลประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้นในอนาคต
การหารือกันเพื่อจัดตั้งสถาบันฯ ใหม่สัมฤทธิ์ผลในบริบทดังกล่าวด้วยการลงนามในความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามแทนรัฐบาลไทย และ ฯพณฯ รูเบนส์ ริคูเปโร เลขาธิการอังค์ถัดเป็นผู้ลงนามแทนสหประชาชาติ การลงนามในความตกลงนี้ถือเป็นจุดเด่นของการประชุมอังค์ถัดครั้งที่ 10 และเป็นสิ่งที่ ฯพณฯ ริคูเปโร ถือว่าเป็นรูปธรรมหนึ่งของการประชุมที่จะยั่งยืนอยู่สืบไป สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาได้รับการสถาปนาขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2544 และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2545
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของรัฐบาลไทยโดยมีสถานะเป็นองค์การมหาชน สถาบันฯ ดำเนินงานโดยอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย อังค์ถัด องค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ และองค์กรระดับภูมิภาค
อำนาจหน้าที่
[แก้]มาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2544 ระบุว่า “ให้สถาบันฯ มีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาอบรมและค้นคว้าวิจัย เพื่อส่งเสริมการค้าและการพัฒนา และดำเนินกิจกรรมอื่นที่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและองค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา”
โดยนัยนี้ สถาบันฯ จึงมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- จัดการศึกษาอบรมและให้การสนับสนุนเพื่อการค้นคว้าวิจัยแก่บุคลากรของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียด้านการค้าระหว่างประเทศการเงินการคลังการลงทุนการพัฒนาและสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บุคลากรเหล่านั้นสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์และแนวทางการเปิดเสรีทางการค้าต่างๆ
- ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสร้างเสริมศักยภาพและความสามารถในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เหมาะสมร่วมกันและการกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวได้
- ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และสร้างความเป็นเอกภาพโดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้
- เป็นศูนย์กลางจัดการฝึกอบรมและกิจกรรมเสริมศักยภาพต่างๆ ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาและองค์การอื่นที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการสถาบัน
[แก้]- ศาสตราจารย์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะกรรมการ
- นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ กรรมการโดยตำแหน่ง
- นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ กรรมการโดยตำแหน่ง
- นายธนู ขวัญเดช กรรมการโดยตำแหน่ง
- ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ กรรมการโดยตำแหน่ง
- นายขภัช นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- นางพิลาสลักษณ์ ยุคเกษมวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทำเนียบผู้อำนวยการ
[แก้]สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) | |
รายนามผู้อำนวยการ | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|
1. ดร.มนัสพาสน์ ชูโต | 11 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2545 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 |
2. นายเกริกไกร จีระแพทย์ | 16 กันยายน พ.ศ. 2548 - 9 กันยายน พ.ศ. 2549 |
3. ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ | 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 |
4. นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ | 28 กันยายน พ.ศ. 2552 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 |
5. ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล | 5 มกราคม พ.ศ. 2558 - 4 มกราคม พ.ศ. 2562 |
6. ดร.เชิดศักดิ์ วีระพัฒน์ | 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 |
7. นายมนู สิทธิประศาสน์ | 4 มกราคม พ.ศ. 2564 – 30 กันยายน พ.ศ. 2566 |
8. นายสุภกิจ เจริญกุล | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เล่ม 177 ตอนที่ 82ก วันที่ 7 ตุลาคม 2563
- ↑ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2544[ลิงก์เสีย]ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอน 35ก วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2544
- ↑ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
- ↑ การประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 10 (UNCTAD X, BANGKOK 2000) เก็บถาวร 2011-02-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ