จังหวัดกำแพงเพชร
จังหวัดกำแพงเพชร | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Kamphaeng Phet |
จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง: อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร, วัดช้างรอบ, น้ำตกคลองลาน, วัดพระบรมธาตุ, วัดทุ่งสนุ่นรัตนาราม, อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ | |
คำขวัญ: กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง พระแสงฯ ล้ำค่า ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ เลื่องลือมรดกโลก | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดกำแพงเพชรเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | นายชาธิป รุจนเสรี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2565) |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 8,607.490 ตร.กม. (3,323.370 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 22 |
ประชากร (พ.ศ. 2564)[2] | |
• ทั้งหมด | 704,948 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 37 |
• ความหนาแน่น | 82.74 คน/ตร.กม. (214.3 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 54 |
รหัส ISO 3166 | TH-62 |
ชื่อไทยอื่น ๆ | ชากังราว, นครชุม |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | สีเสียดแก่น |
• ดอกไม้ | พิกุล |
• สัตว์น้ำ | ปลาตะพากเหลือง |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ภายในศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชร หมู่ที่ 6 ถนนกำแพงเพชร-สุโขทัย ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร 62000 |
• โทรศัพท์ | 0 5570 5004 |
• โทรสาร | 0 5570 5099 |
เว็บไซต์ | www |
กำแพงเพชร ใช้อักษรย่อ กพ เป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคกลางตอนบน มีพื้นที่เป็นอันดับที่ 4 ของภาคกลาง รองจากจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดนครสวรรค์ และมีพื้นที่เป็นอันดับที่ 22 ของประเทศไทย และมีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 54 ของประเทศ นับเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณเก่าแก่หลายแห่ง เช่น เมืองชากังราว เมืองนครชุม เมืองไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร เมืองคณฑี เป็นต้น[3] มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมากมาย เช่น อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และยังเป็นที่ตั้งของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกอีกด้วย มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดตาก
จังหวัดกำแพงเพชรตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของภาคกลาง โดยมีสภาพภูมิประเทศที่หลากหลาย เพราะมีแม่น้ำปิงไหลผ่านจังหวัดเป็นระยะทาง 104 กิโลเมตร โดยจะมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำทางทิศตะวันออกและทิศใต้ เป็นเทือกเขาสูงอยู่ทางทิศตะวันตก จังหวัดกำแพงเพชรได้รับอิทธิพลของมรสุมที่พัดประจำฤดูกาล 2 ชนิด คือ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะพัดพามวลอากาศเย็นและแห้งจากประเทศจีนปกคลุม ประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว ทำให้จังหวัดกำแพงเพชรมีอากาศหนาวเย็นและแห้งทั่วไป กับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดพามวลอากาศชื้นจากทะเลและมหาสมุทรปกคลุมประเทศไทยในช่วงฤดูฝนทำให้มีฝนตกทั่วไป [4]
ประวัติ
จังหวัดกำแพงเพชรเป็นเมืองเก่าที่นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมือง เช่น เมืองชากังราว นครชุม ไตรตรึงษ์ เทพนคร และเมืองคณฑี นอกจากนี้เมืองกำแพงเพชรยังเป็นเมืองที่สองที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ครองเมือง มีบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาวชิรปราการ" ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 ได้เปลี่ยนเมืองกำแพงเพชรเป็นจังหวัดกำแพงเพชร...
ตามประวัติศาสตร์ กล่าวว่า กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง และมีเมืองบริวารรายล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไตรตรึงษ์ เทพนคร ฯลฯ การที่กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกสงครามในอดีตอยู่เสมอ จึงเป็นเมืองยุทธศาสตร์มีหลักฐานที่แสดงให้เห็น ว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น กำแพงเมือง คูเมือง ป้อมปราการ วัดโบราณ มีหลักฐาน ให้สันนิษฐานว่าเดิมเคยเป็นที่ตั้งของเมือง 2 เมือง คือ เมืองชากังราว และเมืองนครชุม โดยเมืองนครชุมสร้างขึ้นก่อน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง พระเจ้าเลอไท กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์สุโขทัย เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1800 ต่อมาสมัยพระเจ้าลิไท กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุโขทัยได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำปิง
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงบันทึกเรื่อง กำแพงเมืองไว้ว่า เป็นกำแพงเมืองที่เก่าแก่ มั่นคง ยังมีความสมบูรณ์มาก และเชื่อว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังทรงวินิจฉัยว่า กำแพงเพชรเป็นเมืองเดียวกับเมืองชากังราว แต่ปัจจุบันมีแนวคิดที่แตกต่างออกไป
ปัจจุบันจังหวัดกำแพงเพชรเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง เพราะมีโบราณสถานเก่าแก่ซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาแลงหลายแห่งรวมอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดกำแพงเพชรมีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่แตกต่างกันตามการแบ่งแบบต่าง ๆ หากแบ่งเขตตามการพยากรณ์อากาศ จะจัดอยู่ในภาคเหนือตอนล่าง สำหรับเกณฑ์การแบ่งภาคอย่างเป็นทางการของราชบัณฑิตยสภา จะจัดอยู่ในภาคกลางตอนบน ห่างจากกรุงเทพมหานคร 362 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 8,607.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,379,688 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมืองตาก อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก, อำเภอบ้านด่านลานหอย อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย และอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอสามง่าม อำเภอบึงนาราง และอำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอบรรพตพิสัย อำเภอลาดยาว และอำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอพบพระ และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
สภาพภูมิประเทศ
จังหวัดกำแพงเพชรมีแม่น้ำปิงไหลผ่านเป็นระยะทางยาวประมาณ 104 กิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศ แบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ
- ลักษณะที่ 1 เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนล่างแบบตะพักลุ่มน้ำ (Alluvial Terrace) มีระดับความสูงประมาณ 43-107 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อยู่บริเวณทางด้านทิศตะวันออกและใต้ของจังหวัด
- ลักษณะที่ 2 เป็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับที่ราบ พบเห็นบริเวณด้านเหนือ และตอนกลางของจังหวัด
- ลักษณะที่ 3 เป็นภูเขาสลับซับซ้อน เป็นแหล่งแร่ธาตุ และต้นน้ำลำธารต่างๆ ที่สำคัญ เช่น คลองวังเจ้า คลองสวนหมาก คลองขลุง และคลองวังไทร ไหลลงสู่แม่น้ำปิง
โดยสรุปแล้ว ลักษณะพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชร ด้านตะวันตกเป็นภูเขาสูงลาดลงมา ทางด้านตะวันออก ลักษณะดินเป็นดินปนทรายเหมาะแก่การทำนา และปลูกพืชไร่
สภาพภูมิอากาศ
ลักษณะอากาศของจังหวัดกำแพงเพชร ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของมรสุมที่พัดประจำฤดูกาล 2 ชนิด คือ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะพัดพามวลอากาศเย็นและแห้งจากประเทศจีนปกคลุม ประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว ทำให้จังหวัดกำแพงเพชรมีอากาศหนาวเย็นและแห้งทั่วไป กับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดพามวลอากาศชื้นจากทะเลและมหาสมุทรปกคลุมประเทศไทยในช่วงฤดูฝนทำให้มีฝนตกทั่วไป สามารถแบ่งฤดูกาลออกเป็น 3 ฤดู
- ฤดูร้อน เริ่มประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคมมีอากาศร้อนอบอ้าว ทั่วไป โดยเฉพาะในเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมากที่สุดในรอบปี
- ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระยะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ประเทศไทย อากาศจะเริ่มชุ่มชื้นและมีฝนตกชุกตั้งแต่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนกันยายน
- ฤดูหนาว เริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย อากาศโดยทั่วไปจะหนาวเย็นและแห้ง เดือนที่มีอากาศหนาวที่สุดคือ เดือนธันวาคมและมกราคม [4]
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
- ตราประจำจังหวัด: รูปกำแพงมีเพชรฝังอยู่ในใบเสมา
- ธงประจำจังหวัด: เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นสีอยู่ 3 สี คือ สีเหลือง สีแดง และสีเขียวใบไม้ มีรูปตราประจำจังหวัดกำแพงเพชรอยู่ตรงกลางแถบสีแดง
- คำขวัญประจำจังหวัด: กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง พระแสงฯล้ำค่า ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ เลื่องลือมรดกโลก
- ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกพิกุล (Mimusops elengi)
- ต้นไม้ประจำจังหวัด: สีเสียดแก่น (Acadia catechu)
-
ตราประจำจังหวัดกำแพงเพชร
-
ต้นสีเสียดแก่น ต้นไม้ประจำจังหวัดกำแพงเพชร
-
ดอกพิกุล ดอกไม้ประจำจังหวัดกำแพงเพชร
การเมืองการปกครอง
จังหวัดกำแพงเพชรมีรูปแบบการปกครองเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นในประเทศไทย โดยจะแบ่งเป็นสองลักษณะ คือ การปกครองส่วนภูมิภาค และการปกครองส่วนท้องถิ่น[5] สำหรับการปกครองส่วนภูมิภาคระดับจังหวัดจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ควบคุมดูแลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในจังหวัด โดยจังหวัดต่าง ๆ ประกอบด้วย "อำเภอ" ซึ่งมีนายอำเภอที่มาจากการแต่งตั้งเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมดูแลท้องที่ของอำเภอนั้น ๆ แล้วในแต่ละอำเภอก็จะมี "ตำบล" ซึ่งมีกำนันเป็นผู้ตรวจตราความสงบเรียบร้อยของตำบล และแต่ละตำบลก็จะมี "หมู่บ้าน" ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้านที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนของท้องที่นั้น ๆ เป็นผู้ปกครองหมู่บ้านปกครองและมีหน้าที่ในการเลือกผู้ใหญ่บ้านด้วยกันเองขึ้นมาเป็นกำนัน
โดยจังหวัดกำแพงเพชรแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น 11 อำเภอ 78 ตำบล 823 หมู่บ้าน มีรายชื่ออำเภอดังนี้
ลำดับ | ชื่ออำเภอ (ภาษาไทย) |
ชื่ออำเภอ (อักษรโรมัน) |
จำนวนตำบล | ประชากร (พ.ศ. 2566) |
---|---|---|---|---|
1 | เมืองกำแพงเพชร | Mueang Kamphaeng Phet | 16 | 207,335 |
2 | ไทรงาม | Sai Ngam | 7 | 49,697 |
3 | คลองลาน | Khlong Lan | 4 | 61,715 |
4 | ขาณุวรลักษบุรี | Khanu Woralaksaburi | 11 | 101,107 |
5 | คลองขลุง | Khlong Khlung | 10 | 67,553 |
6 | พรานกระต่าย | Phran Kratai | 10 | 69,717 |
7 | ลานกระบือ | Lan Krabue | 7 | 42,408 |
8 | ทรายทองวัฒนา | Sai Thong Wattana | 3 | 22,300 |
9 | ปางศิลาทอง | Pang Sila Thong | 3 | 30,014 |
10 | บึงสามัคคี | Bueng Samakkhi | 4 | 25,308 |
11 | โกสัมพีนคร | Kosamphi Nakhon | 3 | 27,794 |
สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชรมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้ใช้อำนาจในการสั่งการหรือกำหนดนโยบายเพื่อบริหารราชการภายในจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในเขตจังหวัด และมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งในแต่ละอำเภอเป็นผู้ถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรคนปัจจุบัน คือ สุนทร รัตนากร จากกลุ่มกำแพงเพชรสามัคคี ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งภายหลังจากการเลือกตั้งโดยตรง พ.ศ. 2563
ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเมืองหรือตำบลนั้น ได้แก่ "เทศบาล" และ "องค์การบริหารส่วนตำบล" ซึ่งเป็นการปกครองในรูปแบบกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น มีนายกเทศมนตรีหรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่มาจากการเลือกตั้งตามชุมชนหรือหมู่บ้านเป็นผู้ควบคุมดูแลท้องที่ของเขตการปกครองนั้น ๆ โดยจังหวัดกำแพงเพชรมีเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมด 89 แห่ง ประกอบด้วยเทศบาลเมือง 3 แห่ง เทศบาลตำบล 22 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 64 แห่ง ซึ่งรายชื่อเทศบาลทั้งหมดแบ่งตามอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดกำแพงเพชร ดังนี้
อำเภอเมืองกำแพงเพชร
อำเภอไทรงาม
อำเภอขาณุวรลักษบุรี
|
อำเภอพรานกระต่าย
อำเภอคลองขลุง
อำเภอคลองลาน |
อำเภอลานกระบือ
อำเภอทรายทองวัฒนา อำเภอปางศิลาทอง
อำเภอบึงสามัคคี อำเภอโกสัมพีนคร
|
รายชื่อเจ้าเมืองและผู้ว่าราชการจังหวัด
|
|
การศึกษา
จังหวัดกำแพงเพชร มีสถาบันการศึกษาหลากหลายแห่ง ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา ดังนี้
มัธยมศึกษา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำแพงเพชร
ประถมศึกษา
อาชีวศึกษา
- วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร
- วิทยาลัยสารพัดช่างกำแพงเพชร
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลเมืองกำแพงเพชร
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาภักดีพณิชยการและเทคโนโลยี กำแพงเพชร
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชร
- วิทยาลัยการอาชีพขาณุวรลักษบุรี
อุดมศึกษา
- มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
- มหาวิทยาลัยนเรศวร ศูนย์วิทยบริการกำแพงเพชร (โรงเรียนวัชรวิทยา)
- มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา ศูนย์การศึกษากำแพงเพชร (โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร กีฬา)
- มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศูนย์การศึกษากำแพงเพชร (วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง))
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (หน่วยวิทยบริการ วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร)
- วิทยาลัยสงฆ์กำแพงเพชร (กำลังดำเนินการ พื้นที่ก่อสร้างบริเวณตลาดคลองแม่ลาย)
การคมนาคม
รถยนต์
จากกรุงเทพมหานครสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ มายังจังหวัดกำแพงเพชรได้หลายเส้นทาง คือ
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 หรือถนนพหลโยธิน ผ่านมาจากพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี จนถึงจังหวัดนครสวรรค์ แล้วไปทางทิศตะวันตก เรื่อยไปจนถึงทางแยกสลกบาตร ที่อำเภอขาณุวรลักษณบุรี คลองขลุง และจังหวัดกำแพงเพชร รวมระยะทางทั้งหมด 350 กิโลเมตร
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 115 (กำแพงเพชร-สากเหล็ก) ผ่านจากจังหวัดนครสวรรค์ แล้วขับตรงไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117จนถึงทางแยกปลวกสูง ที่อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปจนถึงอำเภอไทรงาม และจังหวัดกำแพงเพชร รวมระยะทางทั้งหมด 398 กิโลเมตร
ทางหลวงแผ่นดิน
ทางหลวงสายสำคัญของจังหวัดกำแพงเพชรมีดังนี้
- ทางหลวงหมายเลขหลักเดียว
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร เริ่มจากรอยต่อจังหวัดนครสวรรค์กับอำเภอขาณุวรลักษบุรี-สลกบาตร-โค้งวิไล-คลองขลุง-ท่าพุทรา-ปากดง-คลองแม่ลาย-บ้านทุ่งเศรษฐี-นครชุม-แล้วไปเชื่อมต่อกับจังหวัดตากที่อำเภอโกสัมพีนคร
- ทางหลวงหมายเลขสามหลัก
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 (ถนนกำแพงเพชร-สุโขทัย) ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร เริ่มจากแยกนครชุม-วงเวียนต้นโพธิ์ (แยกเทศา)-ผ่านอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร-หนองปลิง (กำแพงเพชร)-พรานกระต่าย-แล้วไปเชื่อมต่อกับจังหวัดสุโขทัยที่ตำบลวังตะแบก อำเภอพรานกระต่าย
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 115 (ถนนกำแพงเพชร-สากเหล็ก) ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร เชื่อมต่อจากถนนเจริญสุข (เทศบาลเมืองกำแพงเพชร)-สระแก้ว (กำแพงเพชร)-หนองเต่า-บ้านบ่อทอง-ทุ่งมหาชัย-แก้วสุวรรณ (วังพิกุล)-ไทรงาม-แล้วไปเชื่อมต่อกับจังหวัดพิจิตรที่ตำบลหนองไม้กอง อำเภอไทรงาม
ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอต่างๆ
- อำเภอพรานกระต่าย 26 กิโลเมตร
- อำเภอโกสัมพีนคร 34 กิโลเมตร
- อำเภอไทรงาม 43 กิโลเมตร
- อำเภอลานกระบือ 45 กิโลเมตร
- อำเภอคลองขลุง 46 กิโลเมตร
- อำเภอคลองลาน 52 กิโลเมตร
- อำเภอทรายทองวัฒนา 60 กิโลเมตร
- อำเภอปางศิลาทอง 63 กิโลเมตร
- อำเภอบึงสามัคคี 80 กิโลเมตร
- อำเภอขาณุวรลักษบุรี 83 กิโลเมตร
งานประเพณี
- ประเพณีนบพระ-เล่นเพลง
- ประเพณีงานสารทไทย กล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร
- งานเทศกาลกินก๋วยเตี๋ยว เที่ยวเมืองกำแพงเพชร
- งานแข่งขันเรือยาวประเพณีลำน้ำปิง จังหวัดกำแพงเพชร ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- งานเทศกาลกินกุ้งก้ามกราม
สถานที่สำคัญ
|
บุคคลที่มีชื่อเสียง
|
|
อ้างอิง
- ↑ ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_66.pdf 2566. สืบค้น 13 มีนาคม 2567.
- ↑ [1] เก็บถาวร 2021-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ข้อมูลจังหวัด - ประวัติความเป็นมา.
- ↑ 4.0 4.1 [2], สภาพภูมิอากาศของจังหวัดกำแพงเพชร.
- ↑ สุเทพ เอี่ยมคง (2557). "การบริหารราชการแผ่นดิน". สถาบันพระปกเกล้า. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2567.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help)[ลิงก์เสีย]
ดูเพิ่ม
- รายชื่อวัดในจังหวัดกำแพงเพชร
- รายชื่อโรงเรียนในจังหวัดกำแพงเพชร
- พิพิธภัณฑสถานกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ
- ศูนย์รวมสายพันธุ์กล้วย
- รายชื่อห้างสรรพสินค้าในจังหวัดกำแพงเพชร
แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด เก็บถาวร 2021-04-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
16°28′N 99°31′E / 16.47°N 99.52°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ จังหวัดกำแพงเพชร
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย