รัฐสภาสหราชอาณาจักร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ

Parliament of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland
รัฐสภาสหราชอาณาจักรชุดที่ 58
โลโก้ที่ใช้กับรัฐสภาตั้งแต่ ค.ศ. 2018
ประเภท
ประเภท
องค์ประกอบสภาขุนนาง
สภาสามัญชน
ประวัติ
สถาปนา1 มกราคม ค.ศ. 1801
ก่อนหน้ารัฐสภาบริเตนใหญ่ และรัฐสภาไอร์แลนด์
ผู้บริหาร
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3
ตั้งแต่ 8 กันยายน ค.ศ. 2022
ลอร์ดแมคฟอลแห่งอัลคลุยธ์
ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2021
ลินด์เซย์ ฮอยล์
ตั้งแต่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019
ริชี ซูแน็ก, พรรคอนุรักษนิยม
ตั้งแต่ 25 กันยายน ค.ศ. 2022
เคียร์ สตาร์เมอร์, พรรคแรงงาน
ตั้งแต่ 4 เมษายน ค.ศ. 2020
โครงสร้าง
สมาชิกสภาขุนนาง: 762
สภาสามัญชน: 650
กลุ่มการเมืองใน
สภาขุนนาง[1]
ประธานสภา
  ประธานสภาขุนนาง
ขุนนางฝ่ายอาณาจักร
รัฐบาลในสมเด็จฯ
  อนุรักษนิยม (253)
ฝ่ายค้านอันภักดีในสมเด็จฯ
  แรงงาน (166)
ฝ่ายค้านอื่น ๆ
  เสรีประชาธิปไตย (84)
  สหภาพประชาธิปไตย (5)
  สหภาพอัลสเตอร์ (2)
  กรีน (2)
  ชาติเวลส์ (1)
  ไม่สังกัดพรรค (36)
ครอสเบนช์
  ครอสเบนช์ (184)
ขุนนางฝ่ายศาสนจักร
  บิชอป (25)
กลุ่มการเมืองใน
สภาสามัญชน[2]
รัฐบาลในสมเด็จฯ

ฝ่ายค้านอันภักดีในสมเด็จฯ

ฝ่ายค้านอื่น ๆ

คว่ำบาตรการประชุม

ประธานในที่ประชุม

  •   ประธานสภาฯ (1)
การเลือกตั้ง
การเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญชน[2]ครั้งล่าสุด
12 ธันวาคม ค.ศ. 2019
การเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญชน[2]ครั้งหน้า
ภายในวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 2025
ที่ประชุม
พระราชวังเวสต์มินสเตอร์
เวสต์มินสเตอร์, ลอนดอน
 บริเตนใหญ่
เว็บไซต์
www.parliament.uk

รัฐสภาสหราชอาณาจักร หรือ รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (อังกฤษ: Parliament of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland หรือ Parliament of the United Kingdom) เป็นสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติสูงสุดในสหราชอาณาจักรและดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร โดยมีประมุขเป็นพระมหากษัตริย์สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3

รัฐสภาสหราชอาณาจักรเป็นระบบสองสภา (Bicameralism) ซึ่งประกอบไปด้วย “สภาสูง” หรือ สภาขุนนาง (House of Lords) และ “สภาล่าง” หรือ สภาสามัญชน (House of Commons) [3] พระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบที่สามของรัฐสภา[4]

  • สภาสามัญชน สภาสามัญชนประกอบด้วยสมาชิกผู้ได้รับเลือกจากประชาชนอย่างน้อยทุก 5 ปึ[6]

สภาทั้งสองสภาประชุมแยกกันในห้องประชุมรัฐสภาภายในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ตึกรัฐสภา” ที่นครเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน ตามปกติแล้วรัฐมนตรีของรัฐบาลทั้งหมดรวมทั้งนายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกสภาสามัญชน แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางกรณีที่เป็นสมาชิกของสภาขุนนาง

ที่ประชุมรัฐสภา ณ พระราชวังเวสมินเตอร์

รัฐสภาสหราชอาณาจักรก่อตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1707 เพื่อแทนที่รัฐสภาอังกฤษ และ รัฐสภาแห่งสกอตแลนด์หลังจากการลงนามในพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ซึ่งรวมราชอาณาจักรอังกฤษและและ ราชอาณาจักรสกอตแลนด์เข้าด้วยกัน ซึ่งก็เป็นรัฐสภาอังกฤษเดิมที่มาเพิ่มสมาชิกจากสภาสามัญชนและสภาขุนนางของรัฐสภาแห่งสกอตแลนด์ รัฐสภาอังกฤษวิวัฒนาการมาจากสภาของต้นสมัยกลางซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อพระมหากษัตริย์อังกฤษ[7] ระบบรัฐสภาของอังกฤษได้รับการขนานนามว่าเป็น “แม่แห่งรัฐสภา”[8] ซึ่งเป็นระบบประชาธิปไตยที่เป็นรากฐานของมาตรฐานในการก่อตั้งระบบรัฐสภาทั่วโลก[9] นอกจากนั้นรัฐสภาสหราชอาณาจักรในปัจจุบันยังเป็นระบบรัฐสภาของประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ (Anglophone) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก[10]

ตามทฤษฎีแล้วอำนาจนิติบัญญัติเป็นอำนาจภายใต้ “รัฐสภากษัตริย์” (Queen-in-Parliament หรือ King-in-Parliament) แต่ในสมัยปัจจุบันอำนาจที่แท้จริงอยู่กับสภาสามัญชน พระมหากษัตริย์โดยทั่วไปมีหน้าที่ให้คำแนะนำต่อนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ส่วนอำนาจของสภาของสภาขุนนางเป็นอำนาจที่มีเพียงจำกัด[11]

ประวัติ[แก้]

ในสมัยกลางและต้นสมัยใหม่ราชอาณาจักรอังกฤษ ราชอาณาจักรสกอตแลนด์ และราชอาณาจักรไอร์แลนด์ ต่างก็มีรัฐสภาเป็นของตนเอง พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 รวมรัฐสภาอังกฤษและ รัฐสภาแห่งสกอตแลนด์เป็นรัฐสภาแห่งบริเตนใหญ่[12] และ พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 รวมไอร์แลนด์เป็น รัฐสภาสหราชอาณาจักร[13]

รัฐสภาอังกฤษ[แก้]

รัฐสภาอังกฤษมีรากฐานมาจากสภาวิททัน (Witenagemot) ของ แองโกล-แซ็กซอน ใน ค.ศ. 1066 พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 หลังจากที่ทรงได้รับชัยชนะต่ออังกฤษทรงนำระบบเจ้าขุนมูลนาย (feudal system) เข้ามาในอังกฤษ ระบบศักดินาของพระเจ้าวิลเลียมเป็นระบบที่พระองค์ต้องปรึกษาสภาราชสำนัก (crown council) ของขุนนางผู้ปกครองที่ดิน (tenants-in-chief) ภายในราชอาณาจักรและทางคริสตจักรก่อนที่จะออกกฎหมายได้ หลังจากนั้นสภาราชสำนักก็กลายมาเป็น สภาองคมนตรี (Curia Regis) ในอังกฤษเป็นสภาของขุนนางผู้มีที่ดินและนักบวชอาวุโสที่มีหน้าที่ในการถวายคำปรึกษาต่อพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับนิติบัญญัติ สภาองคมนตรี

ขุนนางผู้ปกครองที่ดินมักจะมึความขัดแย้งกันทางอำนาจกับพระเจ้าแผ่นดิน ใน ค.ศ. 1215 ขุนนางเหล่านี้ก็บังคับให้พระเจ้าจอห์น ลงนามในมหากฎบัตร (Magna Carta) ซึ่งกำหนดห้ามมิให้พระมหากษัตริย์เรียกเก็บภาษีที่นอกเหนือไปจากปกติได้ตามใจชอบนอกจากว่าจะได้รับการเห็นชอบจากสภาองค์มนตรีซึ่งค่อยกลายมาเป็นรัฐสภาในที่สุด

รัฐสภาแรกที่ตั้งขึ้นในอังกฤษตั้งขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ใน ค.ศ. 1265 ซีมง เดอ มงฟอร์ เอิร์ลที่ 6 แห่งเลสเตอร์ ปฏิปักษ์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 เรียกประชุมรัฐสภาของผู้สนับสนุนโดยมิได้รับพระราชานุญาตจากพระเจ้าเฮนรีล่วงหน้า อาร์ชบิชอป บิชอป อธิการอาราม เอิร์ล และบารอนต่างก็ถูกเรียกตัวมาประชุม และอัศวินสองคนจากแต่ละไชร์ (shire) และคหบดีสองคนจากแต่ละบุรี (borough) ระบบการเลือกผู้แทนมาประชุมของมองท์ฟอร์ทเรียกกันว่า ระบบรัฐสภา ค.ศ. 1295 (Model Parliament) และเป็นที่ยอมรับโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1

พระราชบัญญัติผนวกดินแดนเวลส์ ค.ศ. 1535–1542 รวมเวลส์มาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษ รัฐสภาอังกฤษจึงมีผู้แทนจาก เวลส์

เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จสวรรคต พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ก็ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ แต่ถึงแม้ว่าราชอาณาจักรอังกฤษ และ ราชอาณาจักรสกอตแลนด์ แต่แต่ละราชอาณาจักรก็ยังคงมีรัฐสภาแยกจากกัน พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ผู้ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ทรงมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐสภาอังกฤษ และทรงทำให้เกิดสงครามสามอาณาจักร (Wars of the Three Kingdoms) ซึ่งบานปลายออกไปเป็น สงครามกลางเมืองอังกฤษ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงถูกสำเร็จโทษเมื่อ ค.ศ. 1649 อังกฤษกลายมาเป็นเครือจักรภพอังกฤษ ปกครองโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ผู้ยุบสภาขุนนาง และสภาสามัญชนมาอยู่ภายใต้อำนาจของครอมเวลล์ หลังจาก ริชาร์ด ครอมเวลล์ (ลูกของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์) เสียชีวิตก็ได้มีการฟื้นฟูการปกครองกลับไปเป็นระบบราชาธิปไตยใน ค.ศ. 1660 และรื้อฟื้นสภาขุนนางอย่างที่เคยเป็นมา

ความที่กลัวว่าอังกฤษจะถูกปกครองโดยผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกของผู้สืบเชิ้อสายจากพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์จึงทรงยกทัพจากเนเธอร์แลนด์มาอังกฤษตามคำอัญเชิญของผู้อัญเชิญทั้งเจ็ด ใน ค.ศ. 1688 เพื่อโค่นราชบัลลังก์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ใน การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ เมื่อสำเร็จพระองค์และเจ้าหญิงแมรีก็ขึ้นครองราชย์ร่วมกันเป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และ สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 ตามข้อตกลงในพระราชปฏิญญาสิทธิซึ่งเป็นการเริ่มเข้าสู่ระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแต่อำนาจสูงสุดยังอยู่ที่พระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นก็ได้มีการเรียกประชุมรัฐสภากันเป็นครั้งที่สามเพื่อการกำหนดผู้มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์

รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์[แก้]

ภาพพิมพ์พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ก่อนอัคคีภัยในปีค.ศ. 1834

สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 มกราคม ค.ศ.​1801 โดยการรวมตัวของบริเตนใหญ่กับไอร์แลนด์ภายใต้พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 โดยหลักการด้านความรับผิดชอบต่อสภาสามัญชน (สภาล่าง) ยังไม่ได้รับการพัฒนาจนถึงช่วงปีศตวรรณที่ 19 ดังนั้นสภาขุนนางในสมัยนั้นจึงมีบทบาทและมีอำนาจมากกว่าทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ การเลือกตั้งในสมัยนั้นยังคงเป็นระบบเก่าซึ่งขนาดของเขตเลือกตั้งนั้นแตกต่างกันในขนาดอย่างมาก ดังนั้น เขตโอลด์ซารัมซึ่งมีผู้ลงคะแนนเจ็ดคนสามารถออกเสียงเลือกผู้แทนได้ถึงสองคน ซึ่งมีผู้แทนเท่ากับเขตดันวิคซึ่งแทบจะไม่หลงเหลือแผ่นดินอยู่เนื่องมาจากปัญหาด้านการพังทลายของหน้าดินลงไปในทะเล

ยังมีเขตเลือกตั้งขนาดเล็กอีกจำนวนมากซึ่งควบคุมโดยสมาชิกสภาขุนนางซึ่งควบคุมผลการเลือกตั้งได้ผ่านผู้สนับสนุนและสมาชิกในครอบครัวของตน ในช่วงสมัยการปฏิรูปในศตวรรษที่ 19 ซึ่งผ่านโดยพระราชบัญญัติปฏิรูป ค.ศ. 1832 ทำให้มีการจัดระเบียบระบบการลงคะแนนสำหรับสภาสามัญชนอย่างครอบคลุมขึ้น โดยทำให้สมาชิกสภาสามัญชนนั้นไม่ต้องพึ่งพาเหล่าขุนนางในการเลือกตั้งอีกต่อไป

อำนาจสูงสุดในสภาสามัญชนบริเตนใหญ่นั้นได้รับการยืนยันอีกครั้งหนึ่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในปีค.ศ.​1909 สภาสามัญชนได้ผ่านกฎหมายที่เรียกว่า "งบประมาณของปวงชน" (People's Budget) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีอย่างมีนัยสำคัญโดยผู้เสียประโยชน์จากกฎหมายนี้คือเหล่าเจ้าของที่ดินที่ร่ำรวย สภาขุนนางซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมากได้รวมตัวกันตีร่างกฎหมายนี้ตกไป ผลของความสนใจของประชาชนเรื่องกฎหมายนี้พร้อมทั้งความไม่พึงพอใจต่อสภาขุนนางที่มีเพิ่มมากขึ้นทำให้พรรคเสรีนิยมชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปีค.ศ. 1910 ทั้งสองครั้ง

เมื่อชนะการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว นายกรัฐมนตรีเฮอร์เบิร์ท เฮนรี แอสควิธได้ถือว่าชัยชนะในการเลือกตั้งนั้นถือเป็นอาณัติของปวงชน ได้ทำการเสนอร่างกฎหมายรัฐสภาขึ้นเพื่อให้จำกัดบทบาทและอำนาจของสภาขุนนาง สภาขุนนางจึงตีตกร่างกฎหมายนี้ไปเช่นกัน แอสควิธจึงตอบโต้ด้วยคำสัญญาที่ทำไว้กับพระมหากษัตริย์อย่างลับๆ ก่อนการได้รับชัยชนะเป็นครั้งที่สองในการเลือกตั้งทั่วไปในปีค.ศ.​1910 และได้ขอให้มีการเพิ่มตำแหน่งขุนนางจากพรรคเสรีนิยมอีกหลายร้อยคนเพื่อจะได้มีเสียงข้างมากในสภาขุนนางซึ่งมากกว่าฝั่งพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งแผนการนี้ทำให้สภาขุนนางยอมผ่านกฎหมายนี้ไป

ร่างกฎหมายนี้ ต่อมาคือพระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. ​1911 ห้ามมิให้สภาขุนนางกระทำการใดๆ เพื่อจะเป็นการระงับกฎหมายงบประมาณ (ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านภาษีอากร) และยินยอมให้สภาขุนนางยืดระยะเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายอื่นๆ ได้อย่างช้าสุดถึงสามสมัยประชุม (ต่อมาลดลงเหลือสองสมัยในปีค.ศ. 1949) ซึ่งหลังจากนั้นจะถือว่าร่างกฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการเห็นชอบ อย่างไรก็ตามในการบังคับใช้พระราชบัญญัติรัฐสภาทั้งสองฉบับนี้ สภาขุนนางก็ยังสามารถใช้อำนาจที่มีไม่จำกัดในการยับยั้งร่างกฎหมายใดๆ ทันทีที่เข้าพิจารณาเพื่อเป็นความตั้งใจในการยืดอายุของรัฐสภาให้นานขึ้น[14]

รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ[แก้]

พระราชบัญญัติรัฐบาลแห่งไอร์แลนด์ ค.ศ. 1920 ได้ก่อตั้งรัฐสภาแห่งไอร์แลนด์เหนือและไอร์แลนด์ใต้ขึ้นและลดจำนวนผู้แทนของทั้งสองส่วนนี้ในรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ลง ต่อมาได้มีการเพิ่มที่นั่งผู้แทนในส่วนของไอร์แลนด์เหนืออีกครั้งหนึ่งภายหลังจากการปกครองโดยตรงในปีค.ศ. 1973 เสรีรัฐไอริชได้กลายเป็นประเทศเอกราชในปีค.ศ.​ 1922 และในปีค.ศ. 1927 รัฐสภาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ

สืบเนื่องต่อจากการปฏิรูปสภาสามัญชนในศตวรรษที่ 20 ได้มีพระราชบัญญัติขุนนางตลอดชีพ ค.ศ.​ 1958 เพื่ออนุญาตให้มีการก่อตั้งบรรดาศักดิ์ขุนนางตลอดชีพขึ้น ภายในช่วงปีค.ศ. 1960 การพระราชทานบรรดาศักดิ์สืบตระกูลได้ถูกยกเลิกลงเกือบทั้งหมด โดยต่อมาขุนนางใหม่นั้นเกือบทั้งหมดเป็นขุนนางตลอดชีพ

พระราชบัญญัติสภาขุนนาง ค.ศ. 1999 ได้ยกเลิกสิทธิโดยชอบธรรมของขุนนางสืบตระกูลในการเป็นสมาชิกสภาขุนนางโดยอัตโนมัติ แต่ยังคงอนุโลมให้มีขุนนางสืบตระกูลจำนวน 92 คน โดยมาจากการเลือกตั้งโดยขุนนางสืบตระกูลทั้งหมดซึ่งสามารถเลือกตั้งใหม่ได้หากมีสมาชิกที่ถึงแก่กรรม สภาขุนนางนั้นขณะนี้จึงกลายเป็นสภาที่เป็นรองต่อสภาสามัญชน นอกจากนี้พระราชบัญญัติปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ค.ศ.​2005 ยังเพิกถอนอำนาจหน้าที่ด้านศาลยุติธรรมของสภาขุนนางอันสืบเนื่องมาจากการจัดตั้งศาลสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักรในปีค.ศ. 2009

องค์ประกอบและอำนาจ[แก้]

ตามหลักอำนาจนิติบัญญัติภายใต้ “รัฐสภากษัตริย์” มีองค์ประกอบสามประการ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ สภาขุนนาง และสภาสามัญชน ไม่มีผู้ใดสามารถเป็นสมาชิกได้ทั้งสองสภา และสมาชิกสภาขุนนางตามกฎหมายไม่สามารถออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญชนได้ ในอดีตนั้นสมาชิกรัฐสภาไม่สามารถได้รับตำแหน่งทางการเมืองได้เพื่อคงไว้ซึ่งหลักการแบ่งแยกอำนาจแต่ข้อจำกัดนี้ค่อยๆ ลดลง จนกระทั่งค.ศ.​ 1919 สมาชิกรัฐสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีจะต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาสามัญชนและจะต้องลงเลือกตั้งใหม่ในสมัยถัดไป ซึ่งกฎข้อนี้ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อค.ศ. 1926 โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ตามพระราชบัญญัติการตัดสิทธิ์สภาสามัญชน ค.ศ. 1975

กฎหมายใดๆ จะบังคับใช้ได้ตามกฎหมายจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งยังคงไว้ซึ่งอำนาจบริหารซึ่งแยกออกจากรัฐสภา คือ พระราชอำนาจ ได้แก่ อำนาจในการลงนามสนธิสัญญา ประกาศสงคราม พระราชทานบรรดาศักดิ์ และแต่งตั้งข้าราชการ ในทางปฏิบัติแล้วพระราชอำนาจนั้นจะกระทำผ่านคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นๆ ภายในคณะรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลนั้นจะต้องมีความรับผิดชอบต่อรัฐสภาผ่านการควบคุมด้านการคลังสาธารณะ และต่อปวงชนผ่านทางการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลจากสมาชิกรัฐสภา โดยผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสามารถเป็นผู้ใดก็ได้ที่สามารถควบคุมเสียงข้างมากและได้รับความไว้วางใจในสภาสามัญชนได้ ในอดีตนั้นพระมหากษัตริย์บางคราวได้ใช้พระราชอำนาจนี้ เช่นในคราวที่ทรงแต่งตั้งอเล็ก ดักลัส-ฮิวม์ในปีค.ศ. 1963 เมื่อนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ฮาโรลด์ แมคมิลแลน ได้ล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนั้นนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ถวายคำแนะนำว่าบุคคลใดควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลต่อไป

สภาขุนนาง เรียกแบบเต็มว่า "คณะขุนนางฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักรผู้ทรงเกียรติแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือในที่ประชุมรัฐสภา" (อังกฤษ: The Right Honourable the Lords Spiritual and Temporal of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland in Parliament assembled) โดยประกอบด้วยขุนนางฝ่ายศาสนจักรซึ่งได้แก่เหล่ามุขนายกในคริสตจักรอังกฤษ และขุนนางฝ่ายอาณาจักรซึ่งเป็นผู้ครองบรรดาศักดิ์ในอาณาจักร โดยขุนนางทั้งสองประเภทถือว่าอยู่ต่างฐานันดรแต่นั่งอยู่ในสภาสูงด้วยกัน อภิปรายร่วมกัน และลงมติร่วมกัน

ภายหลังจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. 1911 และ 1949 อำนาจของสภาขุนนางได้ถูกลดทอนลงให้น้อยกว่าสภาสามัญชน โดยร่างกฎหมายทั้งหมดยกเว้นร่างกฎหมายงบประมาณจะได้รับการอภิปรายและลงมติโดยสภาขุนนาง อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีมติไม่เห็นชอบในร่างกฎหมายใดๆ สภาขุนนางสามารถประวิงเวลารอได้ไม่เกินสองสมัยประชุม ซึ่งภายหลังจากนั้นแล้วสภาสามัญชนสามารถลงมติผ่านร่างกฎหมายนี้ได้โดยไม่ต้องผ่านการลงมติโดยสภาขุนนาง สภาขุนนางยังสามารถกำกับดูแลการทำงานของรัฐบาลได้ผ่านทางการตั้งกระทู้ถามในรัฐสภาต่อคณะรัฐมนตรี และผ่านทางกลไกการตรวจสอบโดยคณะกรรมาธิการย่อยต่างๆ ได้ ศาลสูงสุดในอังกฤษและเวลส์รวมทั้งไอร์แลนด์เหนือนั้นในอดีตเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการในสภาขุนนาง แต่ต่อมาในภายหลังได้ถูกแยกออกมาจัดตั้งเป็นศาลสูงสุดในปีค.ศ. 2009

ขุนนางฝ่ายศาสนจักรในอดีตรวมถึงเหล่านักบวชอาวุโสในคริสตจักรอังกฤษ เช่น อัครมุขนายก มุขนายก เจ้าอาวาส เป็นต้น โดยหลังจากการยุบอารามในสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 เหล่าเจ้าอาวาสและนักบวชในไพรออรีจึงสูญเสียสิทธิในการเป็นสมาชิกในสภาขุนนางในรัฐสภา มุขนายกประจำมุขมณฑลยังคงมีสิทธิในความเป็นสมาชิกในรัฐสภา แต่ภายหลังจากพระราชบัญญัติมุขมณฑลแมนเชสเตอร์ ค.ศ. 1847 บัญญัติให้มีเพียงมุขนายกอาวุโสที่สุดจำนวนเพียง 26 องค์ ถือเป็นขุนนางฝ่ายศาสนจักร ซึ่งจะประกอบด้วยสมาชิกในมุขมณฑลใหญ่ทั้งห้า ได้แก่ อัครมุขนายกแห่งแคนเทอร์เบอรี อัครมุขนายกแห่งยอร์ก มุขนายกแห่งลอนดอน มุขนายกแห่งเดอรัม และมุขนายกแห่งวินเชสเตอร์ ส่วนอีก 21 องค์ ประกอบด้วยมุขนายกประจำมุขมณฑลต่างๆ เรียงตามลำดับอาวุโส ถึงแม้ว่าความในพระราชบัญญัติขุนนางฝ่ายศาสนจักร (สตรี) ค.ศ. 2015 นั้นอนุญาตให้มุขนายกสตรีเข้าร่วมในสภาขุนนางได้ในกรณีที่มีตำแหน่งว่างลง

กระบวนการนิติบัญญัติ[แก้]

ทั้งสองสภาในรัฐสภาสหราชอาณาจักรในการประชุมมีประธานคือ ประธานสภาสามัญชน สำหรับสภาสามัญชน และประธานสภาขุนนาง สำหรับสภาขุนนาง

สำหรับสภาสามัญชน การเลือกตั้งประธานจะมีผลได้ตามทฤษฎีจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ก่อน แต่ในทางจารีตรัฐธรรมนูญนั้นจะได้รับพระบรมราชานุญาตโดยอัตโนมัติ บทบาทประธานสภานั้นอาจจะปฏิบัติราชการแทนโดยประธานฝ่ายพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ รองประธานคนที่หนึ่ง หรือรองประธานคนที่สอง (ตำแหน่งทั้งสามนี้มาจากคณะกรรมาธิการรัฐสภาฝ่ายพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ ซึ่งเคยมีอยู่ในอดีต)

ก่อนเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2006 สภาขุนนางมีประธานในที่ประชุมคือลอร์ดชานเซลเลอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกในคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีบทบาทในสภาค่อนข้างจำกัด (ในขณะที่อำนาจและบทบาทของประธานสภาสามัญชนนั้นมีมหาศาล) อย่างไรก็ตาม ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2005 มีผลให้ตำแหน่งประธานในสภาขุนนางเป็นตำแหน่งที่แยกออกจากลอร์ดชานเซลเลอร์ (ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลงานกิจการด้านศาลยุติธรรม) โดยสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ดีนั้นในสภาขุนนางค่อนข้างจะมีระเบียบแบบแผนในการปกครองตนเองได้ อำนาจการตัดสินใจต่างๆ ด้านกฎระเบียบข้อบังคับในสภารวมทั้งบทบาทการลงโทษสมาชิกนั้นจะถูกตัดสินโดยทั้งสภา ในขณะที่สภาสามัญชนนั้นมีประธานมีหน้าที่รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว การอภิปรายต่างๆ ในสภาขุนนางต่อหน้าสภาจะใช้คำนำว่า "ท่านลอร์ดทั้งหลาย" (My Lords) ในขณะที่การอภิปรายในสภาสามัญชนนั้นจะใช้คำนำถึงประธานแต่เพียงผู้เดียวว่า "ท่านประธาน" (Mr. Speaker / Madam Speaker)

ทั้งสองสภาอาจใช้การลงมติต่างๆ ร่วมกันผ่านการลงมติด้วยเสียง โดยสมาชิกทั้งหลายจะตะโกนว่า "Aye!" (อัย!) และ "No!" (โน!) ในสภาสามัญชน หรือ "คอนเทนท์!" (Content!) และ "น็อต-คอนเทนท์" (Not-Content!) ในสภาขุนนาง และประธานในการประชุมจะตัดสินผลการลงมติ คำวินิจฉัยของประธานอาจจะถูกท้าทายผลการลงมติและจะต้องทำการนับคะแนน แต่ประธานสภาสามัญชนมีอำนาจปฏิเสธคำขอจากสภาในการนับคะแนนใหม่ได้ แต่ประธานสภาขุนนางไม่มีอำนาจนี้ ในกรณีการขอนับคะแนนใหม่นั้น แต่ละสภาจะต้องให้สมาชิกของแต่ละสภาเข้าแถวในห้องโถงด้านข้างทั้งสองฝั่งของห้องประชุมสภา โดยพนักงานจะทำการบันทึกชื่อ และการลงมติจะถูกนับทีละคนในขณะที่สมาชิกแต่ละคนเดินเข้าสภาทีละคน ประธานสภาสามัญชนจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง และจะต้องออกเสียงลงคะแนนยกเว้นในกรณีเสียงเสมอกัน อย่างไรก็ตามประธานสภาขุนนางนั้นสามารถลงมติร่วมกับสมาชิกในสภาขุนนางได้

ทั้งสองสภาสามารถประชุมและอภิปรายได้โดยสาธารณะ โดยในระหว่างการประชุมสภาสามารถให้บุคคลทั่วไปเข้าฟังการอภิปรายได้

อ้างอิง[แก้]

  1. "Lords by party, type of peerage and gender". UK Parliament.
  2. "Current State of the Parties". UK Parliament. สืบค้นเมื่อ 10 May 2021.
  3. "Legislative Chambers: Unicameral or Bicameral?". Democratic Governance. United Nations Development Programme. สืบค้นเมื่อ 2008-02-10.
  4. "Parliament and Crown". How Parliament works. Parliament of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 2008-02-10.
  5. "Different types of Lords". How Parliament works. Parliament of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 2008-02-10.
  6. "How MPs are elected". How Parliament works. Parliament of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 2008-02-10.
  7. "Parliament: The political institution". History of Parliament. Parliament of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 2008-02-10.
  8. "Messers. Bright And Scholefield At Birmingham", The Times, p. 9, January 19, 1865{{citation}}: CS1 maint: date and year (ลิงก์)
  9. Jenkin, Clive. "Debate: 30 Jun 2004: Column 318". House of Commons debates. Hansard. สืบค้นเมื่อ 2008-02-10.
  10. "Escort Notes" (pdf). New Hampshire. สืบค้นเมื่อ 2008-02-17.
  11. "Queen in Parliament". The Monarchy Today: Queen and State. Monarchy of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 2008-02-19.
  12. "Act of Union 1707". United Kingdom Parliament. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-31. สืบค้นเมื่อ 2008-02-17.
  13. "Act of Union (Ireland) 1800 (c.38) : Article Third". UK Statute Law. Ministry of Justice. สืบค้นเมื่อ 2008-02-17.
  14. "The Parliament Acts". Parliament of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 17 May 2013.

ดูเพิ่ม[แก้]