ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศโรดีเชีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
  • โรดีเชีย
    (ค.ศ. 1965–1970)
  • สาธารณรัฐโรดีเชีย
    (ค.ศ. 1970–1979)

ค.ศ. 1965–1979
ตราแผ่นดินของโรดีเชีย
ตราแผ่นดิน
คำขวัญSit Nomine Digna (ละติน)
"ขอให้เจ้าคู่ควรแก่ชื่อ"
ที่ตั้งของโรดีเชีย
สถานะรัฐที่ไม่ได้รับการรับรอง
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
ซอลส์บรี
ภาษาราชการอังกฤษ (โดยพฤตินัย)
ภาษาอื่น
กลุ่มชาติพันธุ์
(ค.ศ. 1969)
เดมะนิมชาวโรดีเชีย
การปกครอง
สมเด็จพระราชินีนาถ[a] 
• ค.ศ. 1965–1970
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ประธานาธิบดี 
• ค.ศ. 1970–1975
คลิฟฟอร์ด ดูปองต์
• ค.ศ. 1975–1976
เฮนรี เอเฟอราร์ด (รักษาการแทน)
• ค.ศ. 1976–1978
จอห์น ราธัล
• 1978
เฮนรี เอเฟอราร์ด (รักษาการแทน)
• ค.ศ. 1978–1979
แจ็ก พีธี (รักษาการแทน)
นายกรัฐมนตรึ 
• ค.ศ. 1965–1979
เอียน สมิธ
สภานิติบัญญัติรัฐสภา
วุฒิสภา
สภาผู้แทนราษฎร
ยุคประวัติศาสตร์สงครามเย็นและการให้เอกราชแอฟริกา
11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1965
2 มีนาคม ค.ศ. 1970
3 มีนาคม ค.ศ. 1978
1 มิถุนายน ค.ศ. 1979
พื้นที่
• รวม
390,580 ตารางกิโลเมตร (150,800 ตารางไมล์)
ประชากร
• สำมะโนประชากร ค.ศ. 1978
6,930,000
สกุลเงิน
เขตเวลาUTC+2 (CAT)
รหัส ISO 3166RH
ก่อนหน้า
ถัดไป
โรดีเชีย (ค.ศ. 1964–1965)
ซิมบับเวโรดีเชีย
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของซิมบับเว
  1. รัฐบาลรับรองสมเด็จพระราชินีาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นประมุขแห่งรัฐอย่างเป็นทางการตั้งแต่ ค.ศ. 1965 ถึง ค.ศ. 1970 โดยข้าราชการชั้นสูงสุดของโรดีเชียดำรงตำแหน่ง "เจ้าหน้าที่บริหารรัฐบาล" (OAtG) ซึ่งทำหน้าที่แทนผู้ว่าราชการ แต่เมื่อโรดีเชียเป็นสาธารณรัฐในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1970 ประธานาธิบดีจึงกลายเป็นตำแหน่งสูงสุดแทนที่เจ้าหน้าที่บริหารรัฐบาล

โรดีเชีย (อังกฤษ: Rhodesia;[a] โชนา: Rodizha) มีชื่ออย่างเป็นทางการตั้งแต่ ค.ศ. 1970 ว่า สาธารณรัฐโรดีเชีย (อังกฤษ: Republic of Rhodesia)[2][3] เป็นรัฐที่ไม่ได้รับการรับรองในภูมิภาคแอฟริกาใต้ที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ ค.ศ. 1965 ถึง ค.ศ. 1979 ตลอดสิบสี่ปีของการดำรงเป็นประเทศ โรดีเชียมีสถานะเป็นรัฐสืบทอดจากอาณานิคมเซาเทิร์นโรดีเชียของสหราชอาณาจักรโดยพฤตินัย จนกระทั่งใน ค.ศ. 1980 ประเทศจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศซิมบับเวเฉกเช่นปัจจุบัน

เซาเทิร์นโรดีเชียได้รับสิทธิในการปกครองตนเองตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลรับผิดชอบ (responsible government) ใน ค.ศ. 1923 โดยเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพรมแดนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับประเทศบอตสวานา (เบชวานาแลนด์ ซึ่งเป็นรัฐในอารักขาของสหราชอาณาจักรจนถึง ค.ศ. 1966) ทางทิศตะวันออกติดกับประเทศโมซัมบิก (มณฑลของโปรตุเกสจนถึง ค.ศ. 1975) ประเทศแอฟริกาใต้ทางทิศใต้ และประเทศแซมเบียทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โรดีเชียเป็นหนึ่งในสองประเทศเอกราชในแอฟริกาแผ่นดินใหญ่ที่ปกครองโดยชนกลุ่มน้อยผิวขาวที่มีเชื้อสายและวัฒนธรรมยุโรปนับตั้งแต่ ค.ศ. 1965 ถึง ค.ศ. 1979 โดยอีกแห่งคือประเทศแอฟริกาใต้

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดินแดนทรานส์วาลทางตอนเหนือเป็นเขตเช่าของบริษัทแอฟริกาใต้ของบริเตนที่นำโดยเซซิล โรดส์ โดยโรดส์และกองกำลังของเขา (Pioneer Column) เดินทัพขึ้นเหนือใน ค.ศ. 1890 และยึดครองดินแดนขนาดใหญ่ที่บริษัทปกครองจนถึงต้นทศวรรษ 1920 ต่อมาใน ค.ศ. 1923 สัญญาเช่าของบริษัทถูกเพิกถอนและเซาเทิร์นโรดีเชียได้รับอำนาจปกครองตนเอง รวมถึงมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติ จากนั้นในช่วง ค.ศ. 1953 ถึง ค.ศ. 1963 เซาเทิร์นโรดีเชียได้รวมกับนอร์เทิร์นโรดีเชียและนยาซาแลนด์เพื่อก่อตั้งเป็นสหพันธรัฐโรดีเชียและนยาซาแลนด์

การให้เอกราชแอฟริกาที่ดำเนินขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ถึงต้นทศวรรษ 1960 สร้างความกังวลให้กับประชากรผิวขาวในเซาเทิร์นโรดีเชีย เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองของคนผิวดำ รัฐบาลเซาเทิร์นโรดีเชียที่นำโดยคนผิวขาวจึงได้ประกาศเอกราชฝ่ายเดียวจากสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1965 ประเทศใหม่ซึ่งเรียกว่าโรดีเชียนี้พยายามขอการรับรองในฐานะสมาชิกเครือจักรภพ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนสถานะเป็นสาธารณรัฐใน ค.ศ. 1970

ภายหลังการประกาศเอกราชใน ค.ศ. 1965[4] คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติเรียกร้องให้นานาประเทศไม่รับรองเอกราชของโรดีเชีย กอปรกับพรรคชาตินิยมแอฟริกา 2 พรรค ได้แก่ สหภาพประชาชนแอฟริกาแห่งซิมบับเว (ZAPU) และสหภาพแห่งชาติแอฟริกาแห่งซิมบับเว (ZANU) ได้เริ่มทำสงครามกองโจรเพื่อต่อต้านรัฐบาล อันเป็นการเริ่มต้นของสงครามโรดีเชีย การคว่ำบาตรทางการค้าและแรงกดดันทางการทูต ทำให้เอียน สมิธ นายกรัฐมนตรีโรดีเชีย ยินยอมให้มีการปกครองโดยกลุ่มชนส่วนใหญ่ใน ค.ศ. 1978 อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวแบบพหุเชื้อชาติ ซึ่งสมิธถูกแทนที่โดยผู้นำสายกลาง อาเบิล มูโซเรวา ไม่สามารถทำให้นักวิจารณ์ระดับนานาชาติพอใจหรือยุติสงครามได้ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1979 มูโซเรวาจึงได้เจรจาข้อตกลงกับสหภาพประชาชนแอฟริกาและสหภาพแห่งชาติแอฟริกา ทำให้โรดีเซียกลับคืนสู่สถานะอาณานิคมชั่วคราว และจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใต้การกำกับดูแลของสหราชอาณาจักร สหภาพแห่งชาติแอฟริกาชนะการเลือกตั้งใน ค.ศ. 1980 และประเทศได้รับการรับรองเอกราชในระดับนานาชาติในเดือนเมษายนปีเดียวกันในชื่อ "ซิมบับเว"

เมืองที่ใหญ่ที่สุดของโรดีเชีย คือ ซอลส์บรี (มีสถานะเป็นเมืองหลวง ปัจจุบันคือฮาราเร) และบูลาวาโย ช่วงก่อน ค.ศ. 1970 สภานิติบัญญัติเป็นระบบสภาเดียวที่มีผู้แทนชนผิวขาวเป็นส่วนใหญ่ โดยมีที่นั่งจำนวนน้อยสำหรับผู้แทนชนผิวดำ แต่หลังการประกาศเป็นสาธารณรัฐใน ค.ศ. 1970 สภานิติบัญญัติถูกแทนที่ด้วยระบบสองสภา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ระบบสองสภานี้ยังคงใช้อยู่ในซิมบับเวหลัง ค.ศ. 1980 นอกเหนือจากการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ โรดีเชียได้ปกครองตามระบบเวสต์มินสเตอร์ที่ได้รับมาจากสหราชอาณาจักร โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐเชิงพิธีการ และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่บริหารประเทศ

หมายเหตุ

[แก้]
  1. /rˈdʒə/ roh-dee-zhə, /rˈdʃə/ roh-dee-shə[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Chambers, Allied (1998). The Chambers Dictionary. Allied Publishers. p. 1416. ISBN 978-81-86062-25-8.
  2. Votes and Proceedings of the Senate, Volume 12, Parliament of Rhodesia, 1970, page 2
  3. "46. Rhodesia/Zimbabwe (1964-present)". uca.edu.
  4. History, Elizabeth Schmidt / Made by (2023-10-30). "A Lesson From the History of Rhodesia". TIME (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-09-03.