เจ้าหญิงวิคโทรีอา เมอลีทา แห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตา
แกรนด์ดัชเชสวิกตอเรีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย
ประสูติ25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1876(1876-11-25)
แอสทาซ บริติชมอลตา
สิ้นพระชนม์2 มีนาคม ค.ศ. 1936(1936-03-02) (59 ปี)
บาวาเรีย นาซีเยอรมนี
ฝังพระศพ10 มีนาคม 1936
สุสานหลวงโคบวร์ค
7 มีนาคม 1995
มหาวิหารปีเตอร์และพอล
พระสวามีแอนทส์ ลูทวิชที่ 5 แกรนด์ดยุกแห่งเฮ็สเซิน (1894-1901)
แกรนด์ดยุกคิริล วลาดิมิโลวิชแห่งรัสเซีย (1905-1936)
พระบุตรเจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งเฮ็สเซิน
แกรนด์ดัชเชสมาเรีย คิริลลอฟนาแห่งรัสเซีย
แกรนด์ดัชเชสคิรา คิริลลอฟนาแห่งรัสเซีย
แกรนด์ดยุกวลาดิมีร์ คิริลโลวิชแห่งรัสเซีย
ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา
พระบิดาเจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา
พระมารดาแกรนด์ดัชเชสมาเรีย อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย

เจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตาแห่งเอดินบะระและซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (วิกตอเรีย เมลิตา; 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1876 - 2 มีนาคม ค.ศ. 1936) ทรงเป็นสมาชิกในพระราชวงศ์อังกฤษ โดยเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เจ้าหญิงได้ทรงดำรงพระอิสริยยศทั้ง แกรนด์ดัชเชสพระชายาแห่งเฮ็สเซิน (ค.ศ. 1894 - ค.ศ. 1901) และ แกรนด์ดัชเชสวิกตอเรีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (ค.ศ. 1905 - ค.ศ. 1917)

เจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตาได้ทรงสร้างความอื้อฉาวให้กับราชวงศ์ยุโรปด้วยการหย่าร้างและอภิเษกสมรสอีกครั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

ชีวิตในวัยเยาว์[แก้]

เจ้าหญิงวิคโทรีอาประสูติในวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1876 ณ พระราชวังซานอันโตนิโอ ประเทศมอลตา จึงมีพระนามว่า เมอลีทา พระชนกซึ่งทรงประจำอยู่ที่นั่นในฐานะทหารแห่งราชนาวีคือ เจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชโอรสองค์ที่สองในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และ เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ส่วนพระชนนีของพระองค์คือ แกรนด์ดัชเชสมารี อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย พระราชธิดาในจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย และ จักรพรรดินีมารีเยีย อะเลคซันโดรฟนาแห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นพระจักรพรรดินีมเหสีพระองค์แรก ในฐานะที่เป็นพระราชนัดดาในองค์ประมุขแห่งอังกฤษ เจ้าหญิงทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าฟ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเอดินบะระ พระองค์มีพระนามเรียกกันแบบเล่นๆ ในหมู่พระราชวงศ์ว่า "ดัคกี้" เมื่อตอนประสูติ เจ้าหญิงทรงอยู่ในลำดับที่ 10 ของลำดับการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ

พระชนกทรงเป็นดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา[แก้]

ในฐานะที่เป็นพระโอรสในเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา พระชนกในเจ้าหญิงทรงอยู่ในลำดับการสืบราชบัลลังก์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา เจ้าชายอัลเฟรดทรงเป็นรัชทายาทที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ในบัลลังก์แห่งดัชชีเมื่อเจ้าชายแห่งเวลส์ (หรือ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7) พระเชษฐาและพระปิตุลาในเจ้าหญิงวิคโทรีอา ทรงสละราชสิทธิ์การในการสืบทอดบัลลังก์ ดังนั้นครอบครัวทั้งหมดจึงได้ย้ายไปเมื่อเมืองโคบวร์ค ประเทศเยอรมนีเมื่อ ค.ศ. 1889

เรื่องราวความรัก[แก้]

ในปี ค.ศ. 1891 เจ้าหญิงโดยเสด็จพระชนนีไปที่งานพระศพของแกรนด์ดัชเชสอเล็กซานดรา จอร์จิเยฟนา พระชายาในแกรนด์ดยุกพอล อเล็กซานโดรวิช พระอนุชาในพระชนนี พระองค์ทรงได้พบกับแกรนด์ดยุกคิริล วลาดิมิโรวิช พระญาติฝ่ายพระชนนี แม้ว่าทั้งสองพระองค์จะทรงรู้สึกต้องพระทัยกันมาก พระชนนีของเจ้าหญิงทรงไม่เต็มใจจะอนุญาตให้ทั้งสองอภิเษกสมรสกันเนื่องจากศาสนจักรออร์โธด็อกซ์รัสเซียได้ห้ามไม่ให้พระญาติสนิทที่พระชนกและชนนีเป็นพี่น้องกันอภิเษกสมรสกันเอง

หลังจากที่เจ้าหญิงมารี พระภคินีได้อภิเษกสมรสไปกับมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์แห่งโรมาเนีย การเสาะหาพระสวามีที่เหมาะสมให้กับเจ้าหญิงวิกตอเรียก็ได้เริ่มขึ้น สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงสังเกตเห็นว่าเจ้าหญิงทรงเข้าได้ดีกับเจ้าชายแอร์นส์ ลุดวิกแห่งเฮ็สเซินและไรน์ พระญาติทางฝ่ายพระชนก รัชทายาทในบัลลังก์รัฐแกรนด์ดยุกแห่งเฮ็สเซิน พระโอรสในเจ้าฟ้าหญิงอลิซ แกรนด์ดัชเชสพระชายาแห่งเฮ็สเซิน พระราชธิดาพระองค์ที่สองในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียมีพระประสงค์จะให้พระราชนัดดาทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสกัน พระชนนีของเจ้าหญิงทรงกระตือรือร้นกับการอภิเษกอันเหมาะสมนี้อยู่ไม่น้อย เนื่องจากพระชนนีในพระองค์เองทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งเฮ็สเซินเช่นกัน แต่กระนั้นทั้งเจ้าหญิงวิคโทรีอาและเจ้าชายแอร์นส์ไม่ได้ทรงเต็มใจจะอภิเษกสมรสกัน เจ้าหญิงได้ทรงพบกับแกรนด์ดยุกคิริลอีกครั้งที่กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์กและทรงหมั้นหมายกันอย่างลับๆ

แกรนด์ดัชเชสแห่งเฮ็สเซิน[แก้]

ในที่สุดทั้งเจ้าหญิงวิคโทรีอาและเจ้าชายแอร์นส์ก็ทรงจำนนต่อความกดดันจากทางพระราชวงศ์และได้อภิเษกสมรสกันเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1894 ณ ปราสาทเอห์เร็นบูร์ก ในเมืองโคบวร์ค งานอภิเษกสมรสเป็นงานพิธีใหญ่โตที่มีพระราชวงศ์ต่างๆ ทั่วทั้งทวีปยุโรปมาร่วมเป็นสักขีพยานมากมาย เจ้าหญิงจึงทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น แกรนด์ดัชเชสพระชายาแห่งเฮ็สเซิน ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสและธิดา 2 พระองค์คือ

ชีวิตสมรสของทั้งสองพระองค์ไม่มีความสุขเลย เจ้าหญิงทรงสิ้นหวังกับการขาดความรักที่มีต่อพระองค์จากพระสวามีเป็นอันมาก ขณะเสด็จไปร่วมในงาน พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ความปรารถนาของเจ้าหญิงต่อแกรนด์ดยุกคิริลก็ได้ลุกโชนขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ชีวิตสมรสของทั้งสองพระองค์สิ้นสุดลงเมื่อปี ค.ศ. 1897 เมื่อเจ้าหญิงกล่าวอ้างว่าพระสวามีทรงเป็นพวกรักร่วมเพศ ตามคำกล่าวของเจ้าหญิงนั้นเมื่อเสด็จกลับมาจากการเยี่ยมพระภคินีที่ประเทศโรมาเนีย ทรงจับได้ว่าพระสวามีทรงกำลังหลับนอนอยู่กับข้าราชบริพารคนหนึ่ง ความพยายามในการประนีประนอมต่างๆ ล้มเหลวและศาลสูงสุดของเฮ็สเซินได้พิพากษาให้การอภิเษกสิ้นสุดลงในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1901 การหย่าร้างของแกรนด์ดยุกและแกรนด์ดัชเชสแห่งเฮ็สเซินสร้างความอื้อฉาวไปทั่วทั้งราชวงศ์ยุโรป หลังที่ทรงหย่าขาดแล้ว เจ้าหญิงได้เสด็จไปประทับกับพระชนนีที่พระตำหนักในริเวียร่าของฝรั่งเศส

การอภิเษกสมรสครั้งใหม่[แก้]

แกรนด์ดยุกคิริลซึ่งทรงเป็นรักแรกของเจ้าหญิงวิคโทรีอาทรงรู้สึกอดสูพระทัยกับการหย่าร้างของทั้งสองพระองค์ด้วย สมเด็จพระจักรพรรดินีอเล็กซานดรา พระกนิษฐาในเจ้าชายแอร์นส์ ทรงเกลี้ยกล่อมให้จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 พระราชสวามีส่งแกรนด์ดยุกไปยังตะวันออกไกล ต่อมาในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 1904 พระองค์ทรงรอดชีวิตกลับมากับกองทัพเรือรัสเซีย เสด็จมาถึงกรุงมอสโกในฐานะวีรบุรุษ จักรพรรดิจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แกรนด์ดยุกเสด็จออกจากรัสเซียเพื่อเสด็จไปหาเจ้าหญิงวิคโทรีอาที่เมืองโคบวร์ค

ทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1905 ณ เมืองเทแกร์นซี เป็นพิธีแบบเรียบง่ายโดยไม่มีพระราชวงศ์อื่นๆ จากยุโรปมาร่วมพิธี พระเจ้าซาร์ทรงตอบสนองการอภิเษกสมรสครั้งนี้ด้วยการงดเบี้ยหวัดแก่แกรนด์ดยุกและปลดพระองค์ออกจากราชนาวีแห่งรัสเซีย ทั้งสองพระองค์เสด็จไปประทับที่กรุงปารีส ซึ่งได้ทรงซื้อบ้านหลังหนึ่งใกล้กับถนนช็องส์-เอลิเซ่ส์

แกรนด์ดยุกคิริลและเจ้าหญิงวิกตอเรียมีพระโอรสและธิดา 3 พระองค์ ดังนี้

แกรนด์ดัชเชสแห่งรัสเซีย[แก้]

จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ทรงถูกบีบบังคับให้คืนฐานันดรศักดิ์แก่แกรนด์ดยุกคิริลหลังจากการสูญเสียสมาชิกในพระราชวงศ์รัสเซีย จึงทำให้ทรงอยู่ในลำดับที่ 3 ของสายการสืบราชบัลลังก์รัสเซีย ทั้งแกรนด์ดยุกและเจ้าหญิงวิกตอเรียเสด็จนิวัติรัสเซีย โดยเจ้าหญิงทรงได้รับพระราชทานพระราชอิสริยยศเป็น แกรนด์ดัชเชสแห่งรัสเซีย

หลังจากการปฏิวัติรัสเซียปี ค.ศ. 1917 แกรนด์ดยุกคิริลและเจ้าหญิงวิคโทรีอาเสด็จลี้ภัยไปยังประเทศฟินแลนด์ แล้วไปยังเมืองโคบวร์ค ประเทศเยอรมนี ต่อมาทั้งครอบครัวที่ลี้ภัยมาก็ได้ย้ายไปยังเมืองแซ็งต์บริยัก ประเทศฝรั่งเศส ที่ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้ทรงประทับอยู่จนตลอดช่วงพระชนม์ชีพ ในระยะเวลาที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเยอรมนี เจ้าหญิงวิคโทรีอาทรงชื่นชมพรรคนาซีเป็นอย่างมาก

เจ้าหญิงวิคโทรีอาสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1936 โดยพระศพถูกฝังอยู่ ณ สุสานหลวงในเมืองโคบวร์ค

พระอิสริยยศ[แก้]

  • 25 พฤศจิกายน 1876 - 22 สิงหาคม 1893: เฮอร์รอยัลไฮนิส เจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตาแห่งเอดินบะระ (Her Royal Highness Princess Victoria Melita of Edinburgh)
  • 22 สิงหาคม 1893 - 9 เมษายน 1894: เฮอร์รอยัลไฮนิส เจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตาแห่งเอดินบะระและแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (Her Royal Highness Princess Victoria Melita of Edinburgh and of Saxe-Coburg and Gotha)
  • 9 เมษายน 1894 - 21 ธันวาคม 1901: เฮอร์รอยัลไฮนิส แกรนด์ดัชเชสพระชายาแห่งเฮ็สเซิน (Her Royal Highness The Grand Duchess of Hesse and by Rhine)
  • 21 ธันวาคม 1901 - 8 ตุลาคม 1905: เฮอร์รอยัลไฮนิส เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเอดินบะระและแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (Her Royal Highness Princess Victoria Melita of Edinburgh and of Saxe-Coburg and Gotha)
  • 8 ตุลาคม 1905 - 2 มีนาคม 1936: เฮอร์อิมพีเรียลแอนด์รอยัลไฮนิส แกรนด์ดัชเชสวิกตอเรีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (Her Imperial and Royal Highness Grand Duchess Victoria Feodorovna of Russia)

ภายหลังจากปี ค.ศ. 1917 เจ้าหญิงวิกตอเรียทรงเรียกแทนพระองค์เองว่า วิกตอเรีย เฟโอโดรอฟนา พระองค์ยังคงทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ชั้นเจ้าฟ้า และยังคงอยู่ในลำดับสายการสืบราชบัลลังก์อังกฤษอีกด้วย