ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าจอร์จที่ 2
พระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
เจ้านครรัฐผู้คัดเลือกแห่งฮันโนเฟอร์
ครองราชย์11 มิถุนายน 1727 – 25 ตุลาคม 1760
ราชาภิเษก11 ตุลาคม 1727
ก่อนหน้าพระเจ้าจอร์จที่ 1
ถัดไปพระเจ้าจอร์จที่ 3
รัชทายาท
นายกรัฐมนตรี
พระราชสมภพ30 ตุลาคม ค.ศ. 1683(1683-10-30)
ฮันโนเฟอร์, เยอรมนี
สวรรคต25 ตุลาคม ค.ศ. 1760(1760-10-25) (76 ปี)
พระราชวังเค็นซิงตัน, ลอนดอน
ฝังพระบรมศพ11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1760
เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์, ลอนดอน
คู่อภิเษกคาโรลีนแห่งบรันเดินบวร์ค-อันส์บัค
พระราชบุตร
รายละเอียด
พระนามเต็ม
จอร์จ ออกัสตัส
(หรือ เกออร์ค เอากุสท์ ในเยอรมัน)
ราชวงศ์ฮันโนเฟอร์
พระราชบิดาพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งบริเตนใหญ่
พระราชมารดาโซฟี โดโรเทอา แห่งเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์ค
ลายพระอภิไธย

พระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่[1] (อังกฤษ: George II of Great Britain) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์, ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์ค และเป็นเจ้านครรัฐแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่ 11 มิถุนายน 1727 ถึง 25 ตุลาคม 1760

นอกจากจะเป็นพระมหากษัตริย์ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และราชอาณาจักรไอร์แลนด์แล้วก็ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นดยุกแห่งเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์คและอัครเหรัญญิกและเจ้านครรัฐผู้คัดเลือกจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1727 จนถึงวันสวรรคต ทรงเป็นที่รู้จักจากการขัดแย้งกับพระราชบิดาหลายประการและต่อมากับพระราชโอรสของพระองค์เองด้วย แม้ว่าจะเป็นพระมหาษัตริย์แต่ก็ไม่ทรงมีอำนาจในการปกครองในระยะแรกที่ครองราชย์เท่าใดนัก อำนาจการปกครองในช่วงระยะเวลานั้นตกไปอยู่กับเซอร์โรเบิร์ต วอลโพล ผู้ที่ถือว่าเป็น “นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร”คนแรก [2]

ประวัติ

[แก้]

ชีวิตในเยอรมนี

[แก้]

พระเจ้าจอร์จที่ 2 มีพระนามเยอรมันว่า เกออร์ค เอากุสท์ (Georg August) ประสูติที่วังแฮร์เรินเฮาเซิน นครฮันโนเฟอร์ ราชรัฐเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์ค เป็นโอรสของเจ้าชายเกออร์ค ลูทวิช เจ้าชายผู้สืบบัลลังก์ฮันโนเฟอร์ (ต่อมาคือพระเจ้าจอร์จที่ 1) ซึ่งในวัยเด็กพระองค์ตรัสแค่ภาษาฝรั่งเศส แล้วจึงเริ่มเรียนภาษาเยอรมันเมื่อมีอายุสี่ปี[3] นอกจากนี้ยังเรียนภาษาอังกฤษกับอิตาลี แต่ตรัสไม่คล่องเท่าสองภาษาแรก ต่อมาในปี 1698 พระบิดาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าผู้ครองฮันโนเฟอร์ ส่งผลให้เจ้าชายเกออร์ค เอากุสท์ กลายเป็นเจ้าชายผู้สืบบัลลังก์ฮันโนเฟอร์

พระบิดาของพระองค์ไม่อยากเห็นโอรสถูกบังคับให้แต่งงานกับคนที่ไม่ได้รักเหมือนที่เกิดขึ้นกับตนเอง อย่างน้อยที่สุดทรงอยากให้โอรสมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับผู้หญิงก่อนที่จะทำการหมั้นหมายใด ในกลางปี 1705 เจ้าชายเกออร์ค เอากุสท์ เดินทางไปราชสำนักแห่งนครอันส์บัคภายใต้ชื่อปลอมว่า "เมอซีเยอ เดอ บุช" เพื่อมองหาหญิงที่จะมาเป็นคู่ครอง ท้ายที่สุด พระองค์ได้รู้จักกับเจ้าหญิงคาโรลีเนอแห่งอันส์บัค ทั้งสองสมรสกันเมื่อ 2 กันยายน 1705

ในปี 1714 พระนางเจ้าแอนน์แห่งบริเตนใหญ่ มีพระพลานามัยย่ำแย่ พรรควิกจึงสนับสนุนให้เจ้าชายเกออร์ค ลูทวิช เจ้าผู้ครองฮันโนเฟอร์และดยุกแห่งเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์ค (ผู้สืบสายเลือดโซฟีแห่งฮันโนเฟอร์และมีสิทธิ์ลำดับแรกตามกฎหมาย) ขึ้นครองราชสมบัติบริเตนใหญ่ ท้ายที่สุดเมื่อพระนางเจ้าแอนน์สวรรคตในปีนั้น เจ้าชายเกออร์ค ลูทวิช จึงได้เป็นกษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ภายใต้นามว่า "พระเจ้าจอร์จที่ 1"

รัชทายาทแห่งบริเตนใหญ่

[แก้]

เมื่อพระบิดาได้รับการถวายราชสมบัติบริเตนใหญ่ เจ้าชายเกออร์ค เอากุสท์ (ออกเสียงอังกฤษคือ จอร์จ ออกัสตัส) ในวัย 30 ปีจึงเดินทางตามเสด็จพระบิดาไปยังเกาะบริเตนใหญ่ในเดือนกันยายน 1714 ทั้งสองเสด็จเข้ากรุงลอนดอนด้วยขบวนพระราชพิธี[4] ความยิ่งใหญ่ของลอนดอนสร้างความตื่นตะลึงแก่ทั้งคู่ เนื่องจากลอนดอนมีประชากรมากกว่าฮันโนเฟอร์ถึงห้าสิบเท่า เจ้าชายจอร์จ ออกัสตัส ได้รับยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าหญิงคาโรลีเนอพร้อมพระบุตร เสด็จตามมาลอนดอนในหนึ่งเดือนให้หลัง

หลังพระเจ้าจอร์จที่ 1 ประดับในอังกฤษเป็นเวลาเกือบสองปี ก็เสด็จเยือนฮันโนเฟอร์ในเดือนกรกฎาคม 1716 และประทับที่ฮันโนเฟอร์เป็นเวลาหกเดือน เจ้าชายจอร์จ ออกัสตัส เจ้าชายแห่งเวลส์ ได้รับอำนาจในฐานะ "ผู้พิทักษ์และผู้แทนพระองค์แห่งอาณาจักร" (Guardian and Lieutenant of the Realm) เพื่อทำหน้าที่ปกครองแทนพระบิดา ในช่วงนี้ เจ้าชายแห่งเวลส์เสด็จตรวจราชการในภาคใต้ของอังกฤษ[5] และเปิดโอกาสให้ประชาชนบางส่วนได้รับชมการเสวยพระกระยาหารกลางวัน การออกงานต่างๆแทนพระบิดา ทำให้พระองค์ได้รับความนิยมชมชอบ

บาดหมางกับองค์กษัตริย์

[แก้]

เนื่องด้วยพระเจ้าจอร์จที่ 1 (ผู้ตรัสภาษาอังกฤษไม่ได้) ไม่ได้เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ชาวบริติช พระองค์จึงรู้สึกอิจฉาลูกชายที่ได้รับความนิยมกว่าตัวพระองค์ ท้ายที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกก็ย่ำแย่ พ่อลูกทะเลาะเบาะแว้งกันหลายครั้ง จนในที่สุด พระเจ้าจอร์จที่ 1 ก็สั่งไล่พระโอรสออกจากพระราชวังเซนต์เจมส์ (ที่ประทับของกษัตริย์) เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์จำต้องย้ายออกจากพระราชวังเซนต์เจมส์ โดยที่ทิ้งพระบุตรให้อยู่ในความดูแลของพระเจ้าจอร์จที่ 1[6] ต่อมาพระเจ้าจอร์จที่ 1 ยอมอ่อนข้อให้ทั้งคู่เข้าวังได้สัปดาห์ละครั้ง[7]

ภายหลังถูกขับไล่จากวัง เจ้าชายแห่งเวลส์ก็ย้ายไปอยู่พระตำหนักเลสเตอร์ในละแวกเวสต์มินสเตอร์ แล้วคบหากับบรรดานักการเมืองฝ่ายค้านพระเจ้าจอร์จที่ 1 เป็นเวลาหลายปี[8] ทรงร่วมคัดค้านนโยบายหลายอย่างของพระบิดา เช่น นโยบายเพิ่มเสรีภาพทางศาสนา และนโยบายขยายดินแดนของฮันโนเฟอร์ด้วยเงินของสวีเดน[9] พระตำหนักเลสเตอร์กลายเป็นที่รวมตัวของนักการเมืองฝ่ายค้านบ่อยครั้ง เช่นเซอร์รอเบิร์ต วอลโพล ผู้ถูกปลดจากรัฐบาล

เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 1 เสด็จเยือนฮันโนเฟอร์อีกครั้งในปลายปี 1719 คราวนี้พระองค์ไม่ยอมแต่งตั้งเจ้าชายแห่งเวลส์ว่าว่าราชการแทนเหมือนครั้งก่อน แต่กลับตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ท้ายที่สุดในปี 1720 เซอร์รอเบิร์ต วอลโพล ร้องขอให้พ่อลูกคืนดีกันเพื่อให้ราษฎรเห็นถึงความสามัคคีในราชสำนัก ทั้งสองก็ยอมทำตามแบบไม่เต็มใจ วอลโพลได้รับแต่งตั้งกลับสู่ตำแหน่งในรัฐบาล แต่แล้วสถานการณ์ก็กลับเป็นเหมือนเดิม พระเจ้าจอร์จที่ 1 ยังคงไม่ยอมแต่งตั้งเจ้าชายแห่งเวลส์ให้ว่าราชการแทนในยามที่กษัตริย์ไม่อยู่[10] พระองค์เชื่อว่าตนเองโดนวอลโพลหลอกใช้เสียแล้ว ท้ายที่สุด พระองค์ก็ตัดสินใจใช้ชีวิตอย่างสงบกับพระชายา ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกต่อไป

กษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่

[แก้]

พระเจ้าจอร์จที่ 1 สวรรคตในเดือนมิถุนายน 1727 ขณะประทับอยู่ในฮันโนเฟอร์ ส่งผลให้เจ้าชายแห่งเวลส์ขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และเจ้าผู้ครองฮันโนเฟอร์ในวัย 43 ปีภายใต้พระนาม พระเจ้าจอร์จที่ 2 พระองค์ตัดสินใจไม่เสด็จไปร่วมงานพระศพของพระบิดาที่ฮันโนเฟอร์ เหตุนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากชาวอังกฤษ ว่าพระองค์เลือกความเป็นอังกฤษมากกว่าความเป็นเยอรมัน[11] พระองค์ยับยั้งคำสั่งเสียของพระบิดา ที่หมายจะแยกการสืบราชบัลลังก์บริเตนใหญ่กับราชบัลลังก์ฮันโนเฟอร์ออกจากกันในรุ่นเหลน แทนที่จะให้บุคคลเดียวครองบัลลังก์ทั้งสอง รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลฮันโนเฟอร์เห็นตรงกันว่าคำสั่งเสียพระเจ้าจอร์จที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากจอร์จที่ 1 ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะตัดสินประเด็นนี้เพียงลำพัง[12]

พระเจ้าจอร์จที่ 2 ประกอบพิธีราชาภิเษกที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์เมื่อเดือนตุลาคม 1727[11] ในเวลานั้น หลายคนต่างคิดว่าพระองค์จะปลดเซอร์วอลโพลออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อเอาคืนที่เขาเคยหักหลังพระองค์เมื่อเจ็ดปีก่อน และแทนที่ด้วยสเปนเซอร์ คอมป์ตัน แต่ท้ายที่สุด พระนางคาโรลีนก็แนะนำให้พระองค์ไม่ปลดวอลโพล เนื่องจากวอลโพลยังคุมเสียงข้างมากในรัฐสภา และรัฐสภาชุดนี้ก็กำหนดให้มีการถวายเงินมหาถึงแปดแสนปอนด์ต่อปีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในพระองค์[13] (เทียบเท่าทองคำ 5.8 ตัน) ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจอร์จที่ 1 จึงจำต้องให้วอลโพลเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

วอลโพลเป็นผู้กำกับราชการภายในประเทศโดยตรง และภายหลังปี 1730 ก็เข้ากำกับราชการต่างประเทศโดยตรงด้วย นักประวัติศาสตร์มองว่าจอร์จที่ 2 ยอมเล่นบทที่มีเกียรติ พระองค์เชื่อฟังคำแนะนำของวอลโพลและคณะรัฐมนตรี และให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจในประเด็นสำคัญ เห็นได้จากการที่พระองค์อยากเข้าร่วมกับกลุ่มราชรัฐเยอรมันในสงครามสืบราชบัลลังก์โปแลนด์ แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี[14]

ในปี 1739 บริเตนใหญ่เริ่มวิวาทกับสเปนอีกครั้ง เหตุนี้สมใจพระเจ้าจอร์จแต่เป็นที่ขัดใจนายกรัฐมนตรีวอลโพล ท้ายที่สุดในปีต่อมา บริเตนใหญ่ก็ทำศึกกับสเปนในสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย ซึ่งในช่วงนี้ พระองค์ในฐานะเจ้าผู้ครองฮันโนเฟอร์เสด็จไปประทับในเยอรมนี เพื่อที่จะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและรวดเร็ว

ในการเลือกตั้งทั่วไปคริสต์ศักราช 1741 วอลโพลไม่สามารถมีเสียงข้างมากในรัฐสภา ท้ายที่สุด วอลโพลก็ลาออกจากนายกรัฐมนตรีในปี 1742 หลังดำรงตำแหน่งถึงยี่สิบปี ผู้ที่มาแทนวอลโพลคือสเปนเซอร์ คอมป์ตัน เอิร์ลแห่งวิลมิงตัน อดีตตัวเต็งที่พระเจ้าจอร์จที่ 2 เคยจะแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อพึ่งขึ้นครองราชย์ อย่างไรก็ตาม อำนาจที่แท้จริงในคณะรัฐมนตรีวิลมิงตันกลับอยู่ที่คนอื่นอย่างลอร์ดคาร์เทอเร็ต[15] ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคนโปรดของจอร์จที่ 2 ถัดจากวอลโพล[16]

พระเจ้าจอร์จที่ 2 สวรรคตด้วยเส้นพระโลหิตแตกในห้องสรงเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1760 พระศพถูกฝังไว้ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ โดยรัชกาลต่อไปเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 3 พระราชนัดดา (ผู้เป็นพระโอรสในเจ้าชายเฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์ ผู้ล่วงลับ)

พระอิสริยยศ

[แก้]
ตราอาร์มระหว่างปี 1714–1727
ในฐานะเจ้าชายแห่งเวลส์
ตราอาร์มระหว่างปีค.ศ. 1727–1760
ในฐานะกษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่
  • 9 พฤศจิกายน 1706 – 25 ตุลาคม 1760 : ดยุกและมาร์ควิสแห่งเคมบริดจ์ เอิร์ลแห่งมิลฟอร์ดแฮเวน ไวเคานต์นอร์ทัลเลอร์ตันและบารอนแห่งทุกค์สบรี[17]
  • 1 สิงหาคม 1714  – 27 กันยายน 1714 : จอร์จ ออกัสตัส เจ้าชายแห่งบริเตนใหญ่ เจ้าผู้คัดเลือกแห่งเบราชไวน์-ลือเนอบวร์ค ดยุกแห่งคอร์นวอลล์และรอธเซย์[18]
  • 27 กันยายน 1714  – 11/22 มิถุนายน 1727: เจ้าชายแห่งเวลส์
  • 11/22 มิถุนายน 1727 – 25 ตุลาคม 1760: กษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์

หมายเหตุ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 252
  2. Eccleshall, Robert (1998). Biographical Dictionary of British Prime Ministers. Routledge.
  3. Thompson, p. 16.
  4. Trench, p. 38; Van der Kiste, p. 37.
  5. Van der Kiste, p. 59.
  6. Black, George II, p. 46; Thompson, p. 53; Trench, p. 78.
  7. Van der Kiste, pp. 66–67.
  8. Trench, pp. 67, 87.
  9. Thompson, pp. 48–50, 55.
  10. Trench, pp. 88–89.
  11. 11.0 11.1 Van der Kiste, p. 97.
  12. Trench, pp. 130–131.
  13. Trench, pp. 132–133.
  14. Trench, pp. 173–174; Van der Kiste, p. 138.
  15. Black, George II, p. 86.
  16. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ cannon
  17. Weir, p. 277.
  18. e.g. "No. 5264". The London Gazette. 28 September 1714. p. 1.
ก่อนหน้า พระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่ ถัดไป
พระเจ้าจอร์จที่ 1 กษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
เจ้าผู้ครองฮันโนเฟอร์

(1727–1760)
พระเจ้าจอร์จที่ 3
ว่างนาน
(ล่าสุดคือ เจมส์ สจวต)
เจ้าชายแห่งเวลส์
ดยุกแห่งคอร์นวอลล์
ดยุกแห่งรอธซี

(1714–1727)
เฟรเดอริก