ข้ามไปเนื้อหา

อเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก
ww
พระฉายาลักษณ์ ปี ค.ศ. 1923
สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ
จักรพรรดินีแห่งอินเดีย
ดำรงพระยศ22 มกราคม 1901 - 6 พฤษภาคม 1910
ราชาภิเษก9 สิงหาคม 1902
(สหราชอาณาจักร)
1 มกราคม 1903
(อินเดีย)
ก่อนหน้าอัลเบิร์ต
(พระราชสวามี)
ถัดไปแมรี
(พระราชินี)
พระราชสมภพ1 ธันวาคม ค.ศ. 1844(1844-12-01)
โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก
สวรรคต20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1925(1925-11-20) (80 ปี)
ตำหนักซานดริงแฮม นอร์ฟอล์ก
ฝังพระศพ28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1925
โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์
พระราชสวามีสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร
พระราชบุตรเจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ ดยุกแห่งคลาเรนซ์และเอวอนเดล
สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5
เจ้าหญิงลูอีส พระราชกุมารี
เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร
ม็อดแห่งเวลส์ สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์
เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ จอห์นแห่งเวลส์
พระนามเต็ม
อเล็กซานดรา แคโรไลนา ชาร์ล็อต หลุยส์ จูเลีย
ราชวงศ์กลึคส์บวร์ค
พระราชบิดาพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดาลูอีเซอแห่งเฮ็สเซิน-คัสเซิล
ลายพระอภิไธย

อเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก (อเล็กซานดรา แคโรไลนา มารี ชาร์ล็อต หลุยส์ จูเลีย; 1 ธันวาคม ค.ศ. 1844 — 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1925) เป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร และสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งอินเดียในช่วงระหว่างรัชกาลของพระสวามี ก่อนหน้านี้ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ระหว่างปี ค.ศ. 1863 — ค.ศ. 1901 (ยาวนานกว่าผู้ใดที่เคยดำรงพระอิสริยยศนี้) หลังการเสด็จสวรรคตของพระสวามีในปี ค.ศ. 1910 ตราบจนถึงการเสด็จสวรรคตของพระองค์เอง ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระราชชนนี ที่ทรงเป็นทั้งพระราชินีในรัชกาลก่อนและพระราชชนนีของกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ คือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร แต่ไม่โปรดใช้พระอิสริยยศเช่นนี้ จึงได้มีพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา " (Her Majesty Queen Alexandra) ตลอดการเป็นหม้ายของพระองค์

ชีวิตในวัยเยาว์

[แก้]
เจ้าหญิงอเล็กซานดราและเจ้าหญิงแด็กมาร์แห่งเดนมาร์ก

เจ้าหญิงอเล็กซานดรา หรือ "อลิกซ์" ที่เรียกกันในหมู่พระประยูรญาติ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1844 ณ พระราชวังสีเหลือง ซึ่งเป็นตึกแถวในสมัยศตวรรษที่ 18 ที่เลขที่ 18 ถนนอมาลีกาด ถัดมาจากพระราชวังอามาเลียนบอร์ก ในกรุงโคเปนเฮเกน พระราชชนกคือ เจ้าชายคริสเตียน ซึ่งต่อมาเสวยราชสมบัติเป็นคริสเตียนที่ 9 ส่วนพระราชชนนีคือ สมเด็จพระราชินีลูอีเซอแห่งเดนมาร์ก แม้ว่าพระองค์จะมีพระราชเปตามหัยกาสองพระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 และ เฟรเดอริกที่ 5 เป็นพระมหากษัตริย์และทรงมีเชื้อสายของเจ้าชายครองรัฐ ครอบครัวของพระองค์ทรงมีความเป็นอยู่แบบธรรมดา และถึงแม้จะไม่ได้มีความมั่งคั่งมากมาย ก็ยังสามารถมีการอภิเษกสมรสอย่างน่าประทับใจได้ เช่น เจ้าหญิงแด็กมาร์ พระขนิษฐาที่ต่อมาทรงเป็น จักรพรรดินีมารีเยีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย พระอัครมเหสีในอะเลคซันดร์ที่ 3 และพระราชชนนีในนิโคลัสที่ 2 ทำให้พระราชชนกของพระองค์มีพระสมัญญาว่า "พระสัสสุระแห่งยุโรป" (Father-in-Law of Europe)

เจ้าหญิงแห่งเวลส์

[แก้]

เจ้าชายอัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเรียกกันว่า "เบอร์ตี้" ทรงทำให้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี พระชนนีและพระชนกทรงหนักใจอย่างมาก และพระชนนีซึ่งตอนนี้ทรงเป็นม่ายทรงกระตือรือร้นที่จะให้พระองค์อภิเษกสมรส เจ้าหญิงอเล็กซานดรามิได้ทรงเป็นตัวเลือกแรกของพระองค์ เนื่องจากว่าประเทศเดนมาร์กเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศปรัสเซีย และพระประยูรญาติในพระราชวงศ์อังกฤษส่วนมากเป็นชาวเยอรมัน

อย่างไรก็ตาม ในการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เจ้าหญิงอลิกซ์ผู้ทรงพระสิริโฉมงามทำให้พระองค์และเจ้าชายเบอร์ตี้ทรงพึงพอพระทัยมาก อัลเฟรด เทนนีสัน กวีเอกแห่งราชสำนัก ได้ประพันธ์บทกวีสรรเสริญพระเกียรติเจ้าหญิงอเล็กซานดรา และเซอร์ อาร์เธอร์ ซัลลิแวนก็ได้แต่งดนตรีเป็นพิเศษเพื่อการต้อนรับเจ้าหญิงในการเสด็จมาถึงสหราชอาณาจักร ทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสกันเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1863 ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ พระชนกของเจ้าหญิงได้เสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์เดนมาร์กในอีกแปดเดือนต่อมา

ในการเสด็จไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ของทั้งสองพระองค์ก็ได้มีเด็กนักเรียนจากวิทยาลัยอีตัน ที่อยู่ข้างปราสาทวินด์เซอร์ส่งเสด็จ รวมทั้งลอร์ด แรนดอล์ฟ เชอร์ชิล บิดาของวินสตัน เชอร์ชิล ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรด้วย

เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์มีพระโอรสและธิดา 6 พระองค์ดังนี้

ชีวิตส่วนพระองค์

[แก้]

เจ้าหญิงอลิกซ์ทรงทุ่มเทให้กับพระโอรสธิดาและข้าราชบริพารทั้งหลายอย่างมากและทรงรื่นรมย์กับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเต้นรำและการเล่นสเก็ตน้ำแข็ง แม้หลังการประสูติของเจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ ("เอ็ดดี้") พระโอรสพระองค์แรกในปี พ.ศ. 2407 พระองค์ก็ยังทรงปฏิบัติพระองค์ดังเดิมเหมือนแต่ก่อน ทำให้การกระทบกระทั่งกันระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถกับทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์อยู่บ้าง อย่างไรก็ดี หลังจากการประสูติพระธิดาพระองค์ที่สามในปี พ.ศ. 2410 ความยุ่งยากต่าง ๆ ก็เข้ามาคุกคามชีวิตของพระองค์และทรงจมอยู่ในความทุกข์ใจอย่างถาวร อีกทั้งยังทรงทนทุข์กับระดับความหูหนวกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกรรมพันธุ์ ด้วยความอายรอยแผลเป็นบนพระศอ (ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นผลมาจากอุบัติเหตุเมื่อทรงพระเยาว์) ทำให้พระองค์ทรงพยายามซ่อนแผลเป็นโดยการสวมสร้อยพระศอแบบรัดคอสูงและทรงฉลองพระองค์คอตั้ง เนื่องจากทรงเป็นสตรีที่มีรูปโฉมงดงาม พระคอที่เรียวระหงทำให้การแต่งพระองค์เช่นนี้เกิดเป็นกระแสความนิยมขึ้นมา

เจ้าชายเบอร์ตี้และเจ้าหญิงอลิกซ์ทรงให้ตำหนักแซนดริงแฮมเป็นพระราชฐานโปรด การอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์ถือว่ามีความสุขในหลาย ๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม เจ้าชายเบอร์ตี้มิได้ทรงสนพระทัยพระชายาหรือพระโอรสธิดามากเท่าที่ควร และทั้งสองพระองค์ก็เหินห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งการประชวรอย่างรุนแรงของเจ้าชายในต้นทศวรรษ 1870 ได้นำความปรองดองกลับคืนมา ความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดเวลาหลายปี แม้ว่าเจ้าชายเบอร์ตี้จะทรงได้รับความรักใคร่จากพระชายากลับคืนมา แต่ก็ยังคงมีพระสนมลับอยู่เรื่อย ๆ เช่น ลิลลี แลงทรีย์ ซึ่งเป็นนักแสดงละคร เดซี เกรวิลล์ เค้านท์เตสแห่งวอร์วิค แอ็กเนส เคย์เซอร์ หญิงสาวผู้มีมนุษยธรรม และอลิซ เค็พเพล หญิงสาวแม่งานสังคม

เจ้าหญิงทรงทราบเรื่องราวเกี่ยวกับบรรดาสนมลับส่วนใหญ่อย่างเต็มที่ และเค็พเพลถึงขนาดได้รับพระราชานุญาตจากพระองค์ให้มาเข้าเฝ้าที่ข้างพระแท่นบรรทมของพระสวามีในช่วงการเสด็จสวรรคต อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงเพียงแค่ยอมทนกับเค็พเพลเท่านั้นแต่ก็ไม่ได้ทรงยอมรับเธอ ในบรรดาหญิงสาวคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าชายเบอร์ตี้ เคย์เซอร์ดูเหมือนจะได้รับการยอมรับอย่างดีที่สุดจากเชื้อพระวงศ์ เนื่องมาจากลักษณะนิสัยที่สุขุมรอคอบและมีความเคารพนบนอบ และความจริงที่ว่าเธอเองก็ยังไม่ได้แต่งงาน

เรย์มอนด์ ลามอนท์-บราวน์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Edward VII's Last Loves: Alice Keppel and Agnes Keyser (ความรักครั้งสุดท้ายของเอ็ดเวิร์ดที่ 7: อลิซ เค็พเพลและแอ็กเนส เคย์เซอร์) เขียนว่าอิทธิพลด้านบวกที่ความสัมพันธ์นอกสมรสทั้งสองครั้งนี้มีอิทธิพลต่อพระองค์สามารถบรรยายออกมาอย่างเต็มที่ได้ เขาได้อ้างอิงถึงอลิซ เค็พเพลและแอ็กเนส เคย์เซอร์ ซึ่งความสัมพันธ์เกิดขึ้นพร้อมกัน โดยเริ่มต้นในระหว่างปี พ.ศ. 2441 และ พ.ศ. 2443 และดำเนินต่อมาจนกระทั่งการเสด็จสวรรคตของพระองค์ ส่วนเจ้าหญิงอเล็กซานดราเองก็ทรงมีความซื่อสัตย์ตลอดชีวิตการสมรสของพระองค์

การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ในปี พ.ศ. 2435 เป็นความหายนะอันรุนแรงต่อเจ้าหญิงซึ่งทรงจิตใจที่อ่อนไหว และพระองค์ทรงยืนยันให้คงสภาพห้องพระบรรทมและสิ่งของทุกอย่างให้เหมือนเดิมอย่างที่เจ้าชายทรงทิ้งไว้มากเท่ากับที่พระสัสสุ (แม่สามี) เคยปฏิบัติหลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอัลเบิร์ตในปี พ.ศ. 2404 เจ้าหญิงอลิกซ์ยังคงมีพระสิริโฉมที่อ่อนเยาว์ในช่วงกลางพระชนม์ชีพ ราวกับว่าพระองค์ยังสาว ยังต้องขอบคุณผ้าคลุมอันประณีตและการแต่งพระพักตร์อย่างหนา (นักสังเกตคนหนึ่งบรรยายพระองค์ว่า ทรงดูเหมือนเคลือบเอาไว้)

สมเด็จพระราชินี

[แก้]

เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จสวรรคตในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1901 เจ้าชายแห่งเวลส์ก็เสวยราชสมบัติสืบต่อเป็นสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และเจ้าหญิงแห่งเวลส์ได้กลายเป็นสมเด็จพระราชินี ตั้งแต่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชินีในรัชกาลของพระสวามี และสมเด็จพระราชชนนีต่อจากนั้นจนกระทั่งสวรรคต พระองค์ทรงเป็นที่รักของประชาชนชาวอังกฤษอย่างมาก พระองค์ทรงประกอบการกุศลมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Alexandra Rose Day ในช่วงของสงครามบัวร์ พระองค์ได้ทรงก่อตั้งกองร้อยพยาบาลแห่งสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา (Queen Alexandra's Nursing Corps) หรือที่รู้จักกันในนาม "Q.A.s" ไม่ได้มีหลักฐานอันชี้ชัดว่าพระองค์ทรงขาดไหวพริบทางการการเมือง พระองค์ทรงมีความไม่โปรดจำเพาะกับชาวเยอรมัน เป็นความเกลียดชังซึ่งเกิดมาจากการที่ปรัสเซียยึดครองชเลสวิชและฮ็อลชไตน์ ซึ่งเป็นอดีตดินแดนของเดนมาร์กในช่วงสงครามชเลสวิชในปี ค.ศ. 1864

เฉกเช่นเดียวกับพระราชวงศ์ต่าง ๆ ในสมัยของพระองค์ สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรามิทรงมีความเข้าพระทัยเรื่องเงินตรา แม้จะมีความอุตสาหะของเซอร์ ดิกตัน โพรบีน ผู้ควบคุมบัญชีอันจงรักภักดี ซึ่งมีบทบาทที่คล้ายคลึงกันเมื่อพระสวามีทรงเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์และต่อมาทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1925 ด้วยอาการพระหทัยวาย ณ พระราชวังแซนดริงแฮม และพระบรมศพฝังอยู่ในหลุมผังพระศพที่ตกแต่งอย่างปราณีตทางด้านขวาของแท่นบูชาหลัก เคียงข้างพระราชสวามีในโบสถ์เซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ และถัดมาอีก 13 ปี ในปี 2481 ม็อดแห่งเวลส์ สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ พระราชธิดาของพระองค์ ก็สวรรคตลงในวันเดียวกัน

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 1 ธันวาคม ค.ศ. 1844 – 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1853: เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บูร์ก-กลึกซ์บูร์ก (Her Serene Highness Princess Alexandra of Schleswig-Holstein-Sonderburg-Glücksburg)
  • 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1853 – 21 ธันวาคม ค.ศ. 1858: เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก (Her Highness Princess Alexandra of Denmark)
  • 21 ธันวาคม ค.ศ. 1858 – 10 มีนาคม ค.ศ. 1863: เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก (Her Royal Highness Princess Alexandra of Denmark)
  • 10 มีนาคม ค.ศ. 1863 – 22 มกราคม ค.ศ. 1901: เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Her Royal Highness The Princess of Wales)
  • 22 มกราคม ค.ศ. 1901 – 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1910: สมเด็จพระราชินี (Her Majesty The Queen)
  • 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1910 – 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1925: สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา (Her Majesty Queen Alexandra)

    ตราพระนามาภิไธยเเละตราอาร์มประจำพระองค์


ก่อนหน้า อเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก ถัดไป
เจ้าชายอัลเบิร์ต สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร
มาเรียแห่งเท็ค
ไม่มี สมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งอินเดีย
ใน สมเด็จพระจักรพรรดิเอ็ดเวิร์ดที่ 7

สมเด็จพระจักรพรรดินีแมรี
คาโรลีเนอแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล
เจ้าหญิงแห่งเวลส์
มาเรียแห่งเท็ค
คาโรลีเนอแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล
ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์
มาเรียแห่งเท็ค
คาโรลีเนอแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล
ดัชเชสแห่งรอธเซย์
มาเรียแห่งเท็ค