ข้ามไปเนื้อหา

กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38
เมืองเจ้าภาพจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำขวัญชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ คือ น้ำใจนักกีฬา
(SPORTSMANSHIP IS THE GREATEST VICTORY)
ทีมเข้าร่วม117 มหาวิทยาลัย
กีฬา25 ชนิดกีฬา
พิธีเปิด15 มกราคม 2554 (2554-01-15)
พิธีปิด24 มกราคม 2554 (2554-01-24)
ประธานพิธีเปิดสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นักกีฬาปฏิญาณรดมยศ มาตเจือ
ผู้ตัดสินปฏิญาณวิจิตร เกตุแก้ว
ผู้จุดคบเพลิงปานวาด จิตไพโรจน์
สนามกีฬาหลักสนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 หรือ จามจุรีเกมส์ 38 เป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างเหล่านิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จัดขึ้น ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 15 - 24 มกราคม พ.ศ. 2554 โดยใช้สถานที่ทำการแข่งขันทั้งภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์กีฬาภายนอก มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 117[1] สถาบันใน 25 ชนิดกีฬา การแข่งขันครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สี่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน และเป็นเจ้าภาพครั้งแรกนับแต่ พ.ศ. 2537 (จามจุรีเกมส์ 21)

การแข่งขันฯ ใช้สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสนามหลักในการจัดพิธีเปิด - ปิด ตลอดจนการทำการแข่งขันกรีฑาประเภทลู่และลาน ในส่วนกีฬาในร่ม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดสร้างอาคารศูนย์กีฬาและนันทนาการขึ้นใหม่ เพื่อรองรับการแข่งขันดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการใช้สนามกีฬาอื่นๆ ในบริเวณกรุงเทพมหานคร ตลอดจนจังหวัดนครนายกสำหรับการแข่งขันกอล์ฟ โดยมีการจัดการบริการขนส่งนักกีฬาระหว่างสนาม

งานการประชาสัมพันธ์การแข่งขัน ได้จัดทำผ่านโปสเตอร์และสื่อมวลชนหลายแขนง นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นิสิตของมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมโดยการจัดประกวดสัญลักษณ์ โปสเตอร์ สัญลักษณ์นำโชค และเพลงประจำการแข่งขัน โดยสัญลักษณ์เป็นรูปดอกจามจุรี 3 ดอกเรียงในแนวตั้งมีลักษณะคล้ายกับพระเกี้ยวและสามารถอ่านได้เป็นตัวเลข 38 ส่วนคำขวัญประจำการแข่งขันในครั้งนี้ คือ "ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ คือ น้ำใจนักกีฬา" และสัญลักษณ์นำโชค ได้แก่ กระรอก 2 ตัว คือ น้องน้ำใจและน้องไมตรี

ผลการแข่งขันปรากฏว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองในการแข่งขันครั้งนี้ เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน[2] และมหาวิทยาลัยสยามได้รับถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รางวัลชนะเลิศเหรียญรวม (ชาย) เหรียญรวม (หญิง) สำหรับกรีฑาอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยไปด้วย

การพัฒนาและเตรียมการ

[แก้]

การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ

[แก้]

เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการจัดการแข่งขันกีฬาและได้รับเชิญให้เป็นกรรมการกีฬาระดับชาติและนานาชาติหลายครั้ง และมีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพในด้านต่าง ๆ ทั้งสนามการแข่งขัน ด้านการแพทย์ การคมนาคม การบริการ อาหาร สิ่งอำนวยความสะดวกรอบมหาวิทยาลัย สถานที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่และนักกีฬา[3] ดังนั้น คณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย โดยมี รองศาสตราจารย์คิม ไชยแสนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประธานคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยเป็นประธานในที่ประชุม มีมติให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 โดยไม่มีมหาวิทยาลัยอื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพแข่งขัน[4] การรับเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเคยรับเป็นเจ้าภาพมาก่อนแล้วในกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2518), ครั้งที่ 11 (พ.ศ. 2527) และครั้งที่ 21 (พ.ศ. 2537)

การประชาสัมพันธ์

[แก้]
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ

การประชาสัมพันธ์งานแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 นั้น คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์สื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CICC) และสำนักงานสารนิเทศ ทั้ง 3 หน่วยงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายให้เป็นคณะกรรมการดำเงินงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ร่วมกัน

สำหรับการประชาสัมพันธ์จามจุรีเกมส์เพื่อให้เป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป เริ่มตั้งแต่การแถลงข่าวเปิดตัวกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 โดยได้เชิญสื่อจากทุกสำนักมาในงานเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์งานไปทั่วประเทศ[5] การประชาสัมพันธ์การแข่งขันในครั้งนี้ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบทั้งทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เอกสารแผ่นพับ เป็นต้น โดยทางทีมประชาสัมพันธ์ได้เดินทางเข้าพบสื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ เพื่อขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์การแข่งขัน[6][7] และมีการเปิด "ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชน" เพื่อการรับรองสื่อมวลชนที่มารายงานข่าวการแข่งขัน[8] รวมทั้ง การส่งโปสเตอร์ไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การแข่งขันในครั้งนี้

สำหรับการประชาสัมพันธ์ภายในมหาวิทยาลัยนั้น ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชวนนิสิตให้มีส่วนร่วมผ่านการประกวดการออกแบบตราสัญลักษณ์ ตัวนำโชค เพลงประจำการแข่งขัน รวมถึงแผ่นปิดประชาสัมพันธ์ (โปสเตอร์) รวมทั้ง การใช้ป้ายประชาสัมพันธ์และป้ายเคาต์ดาวน์เพื่อให้นิสิตตื่นตัวในการเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันในครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ประจำการแข่งขัน, เฟซบุ๊ก และการประชาสัมพันธ์ระหว่างหมู่นิสิตนักศึกษาผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ อาทิ การประกวดผลงานวิชาการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านการตีพิมพ์เอกสารวิชาการหรือสิ่งประดิษฐ์[9] และจัดกิจกรรม "ตลาดนัดสร้างเสริมสุขภาพ" เป็นงานออกบูธของนิสิตนักศึกษาเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น[10]

ผู้ให้การสนับสนุน

[แก้]

ในการแข่งขันในครั้งนี้ทางเจ้าภาพตั้งงบประมาณไว้ราว 60 ล้านบาท โดยมีผู้ให้การสนับสนุนการแข่งขันในครั้งนี้เป็นอย่างดีจากภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และภาคเอกชน ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด เป็นต้น โดยได้รับการสนับสนุนเป็นเงินสดกว่า 35 ล้านบาท[11][12][13]

การคมนาคม

[แก้]
สถานีจอดรถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งอยู่บริเวณใจกลางกรุงเทพมหานคร มีการคมนาคมขนส่งมวลชนที่สะดวกทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม และสายสีน้ำเงิน สถานีสามย่าน นอกจากนี้ยังมีระบบขนส่งมวลชนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รถประจำทาง) ดังต่อไปนี้[14]

  • ถนนพระราม 1 สายรถประจำทางที่ผ่านมหาวิทยาลัย ได้แก่ สาย 11 25 54 73 73ก 79 และ 204
  • ถนนพระราม 4 สายรถประจำทางที่ผ่านมหาวิทยาลัย ได้แก่ สาย 21 34 47 50 67 93 และ 141
  • ถนนพญาไท สายรถประจำทางที่ผ่านมหาวิทยาลัย ได้แก่ สาย 27 29 36 36 ก 65 และ 501
  • ถนนอังรีดูนังต์ สายรถประจำทางที่ผ่านมหาวิทยาลัย ได้แก่ สาย 16 21 และ 141

การคมนาคมภายในมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดระบบการเดินรถภายในมหาวิทยาลัยเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักกีฬาและผู้เข้าร่วมแข่งขันที่จะรับส่งเข้าสู่พื้นที่แข่งขันกีฬากับสถานีรถและป้ายรถประจำทางต่างๆ นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้ปรับปรุงอาคารสถานที่จอดรถอีกหลายแห่งในมหาวิทยาลัยเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางมาด้วยรถส่วนบุคคล

ที่พัก

[แก้]

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดห้องพักบริการนักกีฬาโดยใช้หอพักนิสิตที่มีความจุกว่า 3,500 คน และมีที่พักเอกชน โรงแรมโดยรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการกว่า 40 แห่ง[15] และมีการปรับปรุงอาคารโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อใช้เป็นที่พักซึ่งรวมแล้วมีความจุกว่า 5,000 คน[16] นอกจากนี้ยังมีระบบการจองห้องพักออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักกีฬาและบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกด้วย[17]

สัญลักษณ์ประจำการแข่งขัน

[แก้]

ตราสัญลักษณ์และคำขวัญ

[แก้]
กระรอก : ตัวนำโชคในจามจุรีเกมส์

ตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ ออกแบบโดยปิติ ประวิชไพบูลย์ นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกจามจุรีซึ่งเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย โดยนำแฉกรัศมีของพระเกี้ยวมาเรียงเป็นดอกจามจุรี 3 ดอกในแนวตั้งจากใหญ่ขึ้นไปเล็กมีลักษณะคล้ายกับพระเกี้ยวอันสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย และยังสามารถอ่านได้เป็นตัวเลข 38 อันเป็นครั้งของการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ โดยเลือกใช้สีชมพูอันเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยไล่เฉดสีจากอ่อนขึ้นไปเข้มสื่อความหมายถึงความรุ่งเรืองของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่พร้อมจะต้อนรับนักกีฬาทุกสถาบันในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย และดอกจามจุรีทั้ง 3 ยังสื่อถึงการรู้แพ้ รู้ชนะ และรู้อภัย ซึ่งเป็นคุณสมบัติของน้ำใจนักกีฬาด้วย[18] นอกจากนี้ บริเวณปลายดอกบนสุด จะแทรกด้วย สีฟ้า เขียว เหลือง แดง และชมพู โดยมีความหมายรวมกันเป็นคำว่า SPORT ซึ่งมีความหมายดังนี้ Success (ความสำเร็จ) แทนด้วย สีเขียว, Peace (ความสันติ) แทนด้วย สีฟ้า, Original (ความเป็นต้นแบบ) แทนด้วย สีเหลือง, Relationship (ความสัมพันธ์) แทนด้วย สีชมพู และ Teamwork (การทำงานเป็นหมู่คณะ) แทนด้วย สีแดง[19]

สำหรับคำขวัญประจำการแข่งขันในครั้งนี้ คือ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ คือ น้ำใจนักกีฬา (SPORTSMANSHIP IS THE GREATEST VICTORY) ผลงานของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[18]

ตัวนำโชค

[แก้]

สัญลักษณ์นำโชคในการแข่งขันจามจุรีเกมส์ ได้แก่ กระรอก สองตัว ชื่อ น้องน้ำใจ (ตัวเมีย) และน้องไมตรี (ตัวผู้) ออกแบบโดยณัฐกรณ์ ไทยรัตนสุวรรณ นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีที่มาเนื่องจากกระรอกเป็นสัตว์ที่สามารถพบเห็นทั่วไปในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นสัตว์ที่มีความน่ารัก ฉลาดเฉลียว และมีลักษณะของความคล่องแคล่วปราดเปรียว ซึ่งทำให้สามารถสื่อได้ถึงการพัฒนาและเกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง มีลักษณะของความเป็นนักกีฬาผู้มากด้วยความสามารถ มีความมุ่งมั่น และเต็มไปด้วยน้ำใจของนักกีฬา เปรียบเสมือนตัวแทนของนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบันที่เข้าร่วมในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยในครั้งนี้[18]

พิธีการ

[แก้]

พิธีเปิด

[แก้]

พิธีเปิดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 หรือ จามจุรีเกมส์ จัดขึ้นในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554 ณ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธี โดยเริ่มต้นด้วยขบวนพาเหรดของนักกีฬาจาก 117 สถาบันเข้าสู่สนาม ตามด้วยขบวนพาเหรดเชิญธงกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ธงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธงจามจุรีเกมส์เข้าสู่สนาม จากนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันกราบบังคมทูลรายงาน

หลังจากองค์ประธานมีพระราชดำรัสเปิดการแข่งขันแล้ว พิธีเชิญธงกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ธงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธงจามจุรีเกมส์ ขึ้นสู่ยอดเสาจึงเริ่มขึ้น ตามมาด้วยพิธีจุดกระถางคบเพลิง ซึ่งเจ้าภาพจัดให้นักกีฬาที่เป็นศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันวิ่งคบเพลิงคู่กันเรียงตามยุค จำนวน 18 คน คือ รศ.จันทร์ ผ่องศรี, รศ.นพ.พินิจ ทวีสิน, รศ.มล.ปาณสาร หัสดินทร, ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง, ธนากร ศรีชาพันธุ์, นราธร ศรีชาพันธุ์, ลดาวัลย์ มูลศาสตร์สาธร, สมพล คูเกษมกิจ, ศรสวรรค์ (ภู่วิจิตร) มีชัย, ธีรัช โพธิ์พานิช, ร.อ.ดำรงศักดิ์ วงศ์ทิม, สิทธิชัย สุวรประทีป, สัพพัญญู อวิหิงสานนท์, ชนาภา ซ้อนขำ, พิสิษฐ์ พูดฉลาด, ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย และสุดท้ายปานวาด จิตไพโรจน์ นักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทย เป็นผู้จุดคบเพลิง[20] หลังจากนั้น จึงเป็นพิธีกล่าวคำปฏิญาณตนของนักกีฬาและผู้ตัดสิน โดยรดมยศ มาตเจือ เป็นตัวแทนนักกีฬากล่าวคำปฏิญาณตนและวิจิตร เกตุแก้วเป็นตัวแทนผู้ตัดสินกล่าวคำปฏิญาณตน[21]

สำหรับการแสดงในพิธีเปิดทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมไว้ 3 ชุด ได้แก่ ขบวนพาเหรด ชุด "การรู้รักสามัคคี" การแสดงชุด "นำสังคมไทยนี้สู่ดุลยภาพและความกลมกลืน" และ การแสดงเฉลิมพระเกียรติชุด "84 พรรษา พระบารมีปกเกล้าชาวประชาร่มเย็น"[22]

พิธีปิด

[แก้]

พิธีปิดจามจุรีเกมส์จัดขึ้นในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554 ณ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยมีพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธาน โดยเริ่มด้วยโหมโรงพิธีปิดการแข่งขันโดยวง CU Band ทำการบรรเลงเพลงเพื่อนำนักกีฬาทั้ง 25 ชนิดกีฬาเข้าสู่สนาม [23][24]

หลังจากประธานในพิธีกล่าวปิดการแข่งขันแล้ว จะมีพิธีดับไฟกระถางคบเพลิง ตามด้วยการเชิญธง ก.ก.ม.ท. ธงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธงจามจุรีเกมส์ลงจากยอดเสา และพิธีมอบธง ก.ก.ม.ท. ให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 39 หลังจากนั้น ขบวนพาเหรดนักกีฬาเคลื่อนออกจากสนาม และเป็นการแสดงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งจัดขึ้น 2 ชุด ได้แก่ การแสดงจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม) ชุด Hello Thailand, การแสดงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชุด Power of Wave เมื่อเสร็จสิ้นการแสดงแล้ว นักกีฬาร่วมกันร้องเพลง สามัคคีชุมนุม นับเป็นการเสร็จสิ้นพิธีปิดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38[24]

สถาบันที่เข้าร่วมแข่งขัน

[แก้]

สถาบันการศึกษาที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 มีจำนวนทั้งสิ้น 117 สถาบัน มีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมกว่า 16,149 คน (ถ้านับนักกีฬาตั้งแต่รอบคัดเลือกจะมีจำนวนประมาณ 17,000 คน[25]) คณะกรรมการฝ่ายจัดการแข่งขันกว่า 1,500 คน กรรมการผู้ตัดสินกว่า 800 คน อาสาสมัครกว่า 1,800 คน สื่อมวลชนกว่า 300 คน รวมผู้เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 20,549 คน[26] รายชื่อสถาบันที่เข้าร่วมการแข่งขัน มีดังนี้[27]

รายชื่อสถาบันที่เข้าร่วมแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38

สนามแข่งขัน

[แก้]
สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 ได้กำหนดให้ใช้สนามกีฬาทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้งบประมาณกว่า 395 ล้านบาทในการก่อสร้างอาคารศูนย์กีฬาและนันทนาการ[28] เพื่อเป็นสนามกีฬาหลักในการแข่งขันกีฬาในร่มและว่ายน้ำ และปรับปรุงภูมิทัศน์ตลอดจนอัฒจรรย์ของสนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเป็นสถานที่ใช้ในพิธีเปิดและปิดของการแข่งขัน และยังมีการใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งเป็นสถานที่แข่งขัน อาทิ ศาลาพระเกี้ยวในการแข่งขันลีลาศ สนามหน้าพระบรมรูปสองรัชกาลในการแข่งขันรักบี้

นอกจากการใช้สนามกีฬาภายในบริเวณมหาวิทยาลัยแล้วนั้น การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 ยังได้ทำการแข่งขันบริเวณสนามในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครอื่นๆ อาทิ สนามนิมิบุตร สนามกีฬาของการกีฬาแห่งประเทศไทย สนามกีฬาโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนามกีฬาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และในพื้นที่จังหวัดนครนายก คือสนามกอล์ฟวอเตอร์มิลล์อีกด้วย[29]

สนามกีฬาหลักในการแข่งขันครั้งนี้คือสนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสนามกีฬามาตรฐานมีความจุผู้ชมกว่า 25,000 คน มหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงสนามดังกล่าวรองรับการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553 สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถทำการแข่งขันกีฬาในประเภทฟุตบอลและกรีฑาทั้งประเภทลู่และลาน สนามหญ้าเป็นหญ้าสังเคราะห์ระดับมาตรฐานที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) รับรองเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และลู่วิ่งยางสังเคราะห์ จำนวน 8 ลู่ ซึ่งได้รับรองจากสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF) ในส่วนของการแข่งขันกีฬาในร่มจะดำเนินการแข่งขัน ณ ศูนย์กีฬาและนันทนาการเป็นหลัก นอกจากการปรับปรุงสนามกีฬาของมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาดังกล่าว มหาวิทยาลัยยังมีความมุ่งหวังต่อการบริการด้านกีฬาแก่ประชาชนและนิสิตเพิ่มเติมอีกด้วย

ลำดับ สนามแข่งขัน กีฬาที่แข่ง
1 สนามศุภชลาศัย กรีฑา
2 สระว่ายน้ำ C.U. Sports Complex ว่ายน้ำ
3 C.U. Sports Complex ชั้น 4 บาสเกตบอล
4 สนามเทพหัสดิน, สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สนามกีฬากองทัพบก, สนามกีฬาศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น), สนามกีฬามหาวิทยาลัยรามคำแหง (หัวหมาก) ฟุตบอล
5 สนาม โรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 4 วอลเลย์บอล
6 สนามกอล์ฟ วอเตอร์มิลล์ กอล์ฟ
7 สนามฮอกกี้ การกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก ฮอกกี้
8 สนามกีฬาในร่ม สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เซปักตะกร้อ ยูโด
9 ศาลาพระเกี้ยว ดาบสากล ลีลาศ
10 C.U. Sports Complex ชั้น 3 เทควันโด คาราเต้โด
11 สนามเทนนิส สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เทนนิส
12 C.U. Sports Complex ชั้น 1 เทเบิลเทนนิส
13 อาคารนิมิบุตร แบดมินตัน
14 เวทีมวยหน้าอาคารนิมิบุตร มวยสากลสมัครเล่น
15 สนามยิงปืน การกีฬาแห่งประเทศไทย ยิงปืน
16 สนามหน้าพระบรมรูปสองรัชกาล และ สนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ รักบี้ฟุตบอล
17 สนามวอลเลย์บอลชายหาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วอลเลย์บอลชายหาด
18 สนามเปตอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปตอง
19 อาคารมหาจักรีสิรินธร ครอสเวิร์ด บริดจ์ หมากกระดาน
20 สนามตะกร้อลอดห่วง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตะกร้อลอดห่วง

การแข่งขัน

[แก้]

ชนิดกีฬา

[แก้]

ตารางการแข่งขัน

[แก้]
 ●  พิธีเปิด     การแข่งขัน N การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ (N คือจำนวนเหรียญ)  ●  พิธีปิด
มกราคม 2554 13
พฤหัส
14
ศุกร์
15
เสาร์
16
อาทิตย์
17
จันทร์
18
อังคาร
19
พุธ
20
พฤหัส
21
ศุกร์
22
เสาร์
รวมจำนวนเหรียญทอง
กรีฑา 3 9 5 10 7 8 42
ว่ายน้ำ 6 6 7 6 5 7 37
บาสเกตบอล 2 2
ฟุตบอล 1 1 2
วอลเล่ย์บอล 2 2
กอล์ฟ 4 4
เซปักตะกร้อ 2 1 1 1
ดาบสากล 2 2 2 2 2 2 12
เทควันโด 7 4 4 4 19
เทนนิส 2 5 7
ปิงปอง 2 2 3 2
แบดมินตัน 2 5 7
มวยสากลสมัครเล่น 8 8
ยิงปืน 6 4 6 4 4 24
ยูโด 3 3 3 3 4 16
รักบี้ฟุตบอล 1 1 2
ฮอกกี้ 2 2
วอลเล่ย์บอลชายหาย 2 2
เปตอง 2 2 1 2 2 9
คาราเต้-โด 7 6 4 17
ลีลาศ 4 4 8
ครอสเวิร์ด 2 1 2 5
บริดจ์ 2 2 4
หมากกระดาน 8 8 16
ตะกร้อลอดห่วง 1 1
รวมเหรียญทอง 4 11 23 30 30 35 41 33 43 9 259
พิธี
มกราคม 2554 13
พฤหัส
14
ศุกร์
15
เสาร์
16
อาทิตย์
17
จันทร์
18
อังคาร
19
พุธ
20
พฤหัส
21
ศุกร์
22
เสาร์
รวมจำนวนเหรียญทอง


สรุปเหรียญการแข่งขัน

[แก้]

สรุปเหรียญการแข่งขัน[30] ได้แก่

อันดับ มหาวิทยาลัย ภาพเหรียญทอง ภาพเหรียญเงิน ภาพเหรียญทองแดง รวม
1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 51 36 40 127
2 มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต 19 5 8 32
3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง 18 18 13 49
4 สถาบันการพลศึกษา 17 15 28 60
5 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 16 19 27 62
6 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 15 14 16 45
7 มหาวิทยาลัยสยาม 15 6 8 29
8 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 14 15 27 56
9 มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต 13 7 10 30
10 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต 13 6 13 32
11 มหาวิทยาลัยศรีปทุม 6 9 19 34
12 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 6 2 4 12
13 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 5 11 11 27
14 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 11 18 33
15 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 4 6 10 20
16 มหาวิทยาลัยมหิดล 4 5 6 15
17 มหาวิทยาลัยปทุมธานี 4 5 1 10
18 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 4 4 12 20
19 มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 3 5 3 11
20 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 3 3 9 15
21 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 3 3 4 10
22 มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ 3 2 1 6
23 มหาวิทยาลัยนเรศวร 3 1 4 8
24 มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1 9 8 18
25 มหาวิทยาลัยรังสิต 1 7 5 13
26 มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ 1 4 2 7
27 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 1 3 2 6
28 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 1 2 7 10
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 1 2 7 10
30 มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 1 1 6 8
31 มหาวิทยาลัยเกริก 1 1 3 5
32 มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ 1 1 1 3
33 มหาวิทยาลัยอีสาน 1 1 0 2
34 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช 1 0 1 2
35 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 1 0 0 1
มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต 1 0 0 1
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก 1 0 0 1
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 1 0 0 1
วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย 1 0 0 1
40 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ 0 4 0 4
41 มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี 0 3 1 4
42 มหาวิทยาลัยศิลปากร 0 2 1 3
43 มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม 0 2 0 2
44 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 0 1 5 6
45 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 0 1 4 5
46 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 0 1 2 3
47 มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ 0 1 1 2
วิทยาลัยราชพฤกษ์ 0 1 1 2
49 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 0 1 0 1
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร 0 1 0 1
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 0 1 0 1
มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง 0 1 0 1
53 มหาวิทยาลัยบูรพา 0 0 5 5
54 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร 0 0 2 2
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร 0 0 2 2
56 มหาวิทยาลัยพายัพ 0 0 1 1
มหาวิทยาลัยทักษิณ 0 0 1 1
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 0 0 1 1
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 0 0 1 1
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี 0 0 1 1
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร 0 0 1 1
มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม 0 0 1 1
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 0 0 1 1
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 0 0 1 1
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 0 0 1 1
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ 0 0 1 1
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 0 0 1 1
วิทยาลัยนครราชสีมา 0 0 1 1
สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา 0 0 1 1
รวม 259 259 372 890

รางวัล

[แก้]

หลังการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 เสร็จสิ้นลงแล้ว คณะกรรมการกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยได้คัดเลือกและมอบรางวัลนักกีฬาดีเด่นและทีมกีฬาดีเด่น ดังนี้[31][32]

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสยามได้รับถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รางวัลชนะเลิศเหรียญรวม (ชาย) เหรียญรวม (หญิง) กรีฑาอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยไปด้วย[33]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สถาบันที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 “จามจุรีเกมส์” เก็บถาวร 2011-01-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554
  2. "ขอเชิญร่วมงานแสดงความยินดีแก่นักกีฬา ในโอกาสที่จุฬาฯ เป็นเจ้าเหรียญทองกีฬามหาวิทยาลัย 3 สมัยติดต่อกัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-12. สืบค้นเมื่อ 2012-05-10.
  3. "ประวัติกีฬามหาวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-09. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
  4. 61 ปัญญาชน ลุยศึกกีฬามหาวิทยาลัยโลก ครั้งที่ 25
  5. ประชาสัมพันธ์ดีจามจุรีคึกคัก[ลิงก์เสีย] เรียกข้อมูลวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554
  6. สยามดารา เก็บถาวร 2010-11-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เดลินิวส์-ไทยรัฐ-ช่อง 5 พร้อมหนุนจามจุรีเกมส์ เรียกข้อมูลวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554
  7. "มติชน,ข่าวสด,บ้านเมืองส่งทีมเกาะติดจามจุรีเกมส์ เรียกข้อมูลวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-08. สืบค้นเมื่อ 2011-01-22.
  8. จุฬาฯ เปิดศูนย์ประสานงานสื่อมวลชน (Press Center) การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยฯ ครั้งที่ 38 “จามจุรีเกมส์” พร้อมเปิดตัวผู้สนับสนุน “จามจุรีเกมส์” ล่าสุด[ลิงก์เสีย], เรียกข้อมูลวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554
  9. “จุฬาฯ” จับมือ “สมาคมวิทยาศาสตร์การกีฬาฯ” จัดประกวดผลงานวิชาการ “มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ” เก็บถาวร 2010-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554
  10. ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมงาน “ตลาดนัดสุขภาพ” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ[ลิงก์เสีย] เรียกข้อมูลวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554
  11. สปอนเซอร์หนุนจามจุรีเกมส์อื้อ[ลิงก์เสีย], เรียกข้อมูลวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554
  12. จามจุรีเกมส์ยิ้มได้แล้ว 35 ล้าน ลีลาศชิงทองแรก[ลิงก์เสีย], เรียกข้อมูลวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554
  13. ผู้สนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 “จามจุรีเกมส์” เก็บถาวร 2011-01-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกข้อมูลวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554
  14. "การคมนาคมและแผนที่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-12. สืบค้นเมื่อ 2012-05-10.
  15. ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยครั้งที่ 38 “จามจุรีเกมส์” เก็บถาวร 2010-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จามจุรีเกมส์ เรียกข้อมูลวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554
  16. จุฬาฯ เจ้าบ้าน ประกาศเตรียมความพร้อม ต้อนรับทัพนักกีฬาสู่ “จามจุรีเกมส์ 38” อย่างเต็มที่ เก็บถาวร 2010-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จามจุรีเกมส์ เรียกข้อมูลวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554
  17. เปิดแล้ว! จองห้องพักนักกีฬาแบบบออนไลน์ สะดวก รวดเร็ว พร้อมข้อมูลที่พักนักกีฬาและเจ้าหน้าที่อย่างครบครัน เก็บถาวร 2010-10-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จามจุรีเกมส์ เรียกข้อมูลวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554
  18. 18.0 18.1 18.2 "คำขวัญ โลโก้ ตัวนำโชค เหรียญรางวัล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-02. สืบค้นเมื่อ 2010-07-11.
  19. รู้จัก “น้ำใจ-ไมตรี” กระรอกจามจุรีเกมส์ พร้อมทูตกีฬามหา'ลัย[ลิงก์เสีย]
  20. ลีลาศมศว.ประเดิม 3 ทอง "จามจุรีเกมส์" ชมพิธีเปิดอย่างเป็นทางการวันเสาร์ที่ 15 ม.ค.[ลิงก์เสีย]
  21. "17ฮีโร่วิ่งคบเพลิงเปิดจามจุรีเกมส์ช่อง11ยิงสด15ม.ค.นี้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-01-22.
  22. "กำหนดการพิธีเปิดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-31. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
  23. "พิธีปิดการแข่งขัน "จามจุรีเกมส์" เสาร์ที่ 22 ม.ค. นี้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-12. สืบค้นเมื่อ 2012-05-10.
  24. 24.0 24.1 "กำหนดการ พิธีปิดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 "จามจุรีเกมส์"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-31. สืบค้นเมื่อ 2011-01-13.
  25. "จุฬาฯ ประกาศความพร้อมเจ้าภาพ "จามจุรีเกมส์" หวังคว้าจ้าวเหรียญทองอีกสมัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-07. สืบค้นเมื่อ 2012-05-12.
  26. ข่าวจามจุรีเกมส์[ลิงก์เสีย] ฉบับที่ 10 ประจำวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2554
  27. "สถาบันที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-10. สืบค้นเมื่อ 2011-01-01.
  28. โครงการก่อสร้างศูนย์กีฬาและนันทนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554
  29. จุฬาฯ เจ้าบ้าน ประกาศเตรียมความพร้อม ต้อนรับทัพนักกีฬาสู่ “จามจุรีเกมส์ 38” อย่างเต็มที่ เก็บถาวร 2010-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จามจุรีเกมส์ เรียกข้อมูลวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554
  30. "สรุปเหรียญแยกตามสถาบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-20. สืบค้นเมื่อ 2011-01-15.
  31. จุฬา6-1ซิวแชมป์บอล ปิดฉาก "จามจุรีเกมส์"[ลิงก์เสีย], เข้าถึงวันที่ 27 มกราคม 2554
  32. จุฬาฯแชมป์บอลส่งท้าย'จามจุรีเกมส์', เข้าถึงวันที่ 27 มกราคม 2554
  33. ม.สยามครองถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรีฑาอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยใน "จามจุรีเกมส์"[ลิงก์เสีย], ข่าวจามจุรีเกมส์, ฉบับที่ 9, 22 มกราคม 2554

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 ถัดไป
กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
ครั้งที่ 37

(มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
(15 - 22 มกราคม พ.ศ. 2554)
กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
ครั้งที่ 39

(มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)