ข้ามไปเนื้อหา

โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท (ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท)
ไอคอนแอปพลิเคชันทางรัฐ
ชนิดของโครงการแจกเงิน
ประเทศประเทศไทย
นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน
แพทองธาร ชินวัตร
กระทรวงกระทรวงการคลัง
บุคคลสำคัญเศรษฐา ทวีสิน
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
เผ่าภูมิ โรจนสกุล[1]
เปิดตัวเมื่อ25 กันยายน พ.ศ. 2567; 51 วันก่อน (2567-09-25)
ทั่วประเทศ
งบประมาณ500,000 ล้านบาท
สถานะเริ่มต้นโครงการระยะที่ 1
เว็บไซต์digitalwallet.go.th

โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นนโยบายเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนที่สำคัญของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ภายใต้การกำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งพรรคเพื่อไทยประกาศเป็นนโยบายหลักในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566

การดำเนินโครงการนี้ จะเป็นการเติมเงินจำนวนคนละ 10,000 บาท เข้าไปในกระเป๋าเงินดิจิทัลของประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อให้ประชาชนนำไปจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าภายในอำเภอที่อยู่ของตนที่ระบุในบัตรประจำตัวประชาชน โดยกำหนดให้ใช้จ่ายเงินจำนวนนี้ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่เริ่มโครงการ

ต่อมาในสมัยรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ได้ปรับรูปแบบโครงการและเปลี่ยนชื่อเป็น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ พ.ศ. 2567 และแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

โครงการนี้ถูกวิจารณ์ว่ามีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดในการดำเนินโครงการหลายครั้ง ทั้งแหล่งที่มาของเงิน เทคโนโลยีที่ใช้, จำนวนผู้ได้รับสิทธิ และระยะเวลาเริ่มต้นโครงการ รวมถึงเคยถูกวิจารณ์เรื่องการกู้เงินมาแจกให้กับประชาชนโดยไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย และอาจทำให้โครงการถูกยกเลิกในที่สุดอีกด้วย

ภูมิหลัง

[แก้]

ก่อนที่จะมีโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลนี้ เคยมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมาก่อนแล้วหลายโครงการในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ครม.61 และ ครม.62) เช่น โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (พ.ศ. 2560 - 2561), ชิมช้อปใช้ (พ.ศ. 2562), เราไม่ทิ้งกัน (พ.ศ. 2563) และ คนละครึ่ง (พ.ศ. 2563 - 2564) ซึ่งโครงการเหล่านี้เน้นช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยว และการบริโภคของประชาชนผู้มีรายได้ปานกลาง และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดทั่วประเทศของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และรัฐบาลในขณะนั้นวางโครงสร้างพื้นฐานการใช้ดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการทั้งหมดไว้เรียบร้อยแล้ว[2]

จุดเริ่มต้นมาจากการประกาศของแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ในงานเปิดตัว "ครอบครัวเพื่อไทย : บ้านหลังใหญ่หัวใจเดิม" ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งได้ประกาศว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในครั้งถัดไป จะดำเนินการเติมเงินให้กับประชาชนทั่วประเทศอย่างมีเกียรติ และทำให้ประชาชนภาคภูมิใจ[3]

ต่อมาในงานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2566 เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศนโยบายเติมเงินอย่างเป็นทางการ โดยจะเติมเงินเข้าไปในกระเป๋าเงินดิจิทัลของประชาชนสัญชาติไทยทุกคน ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ในพื้นที่ร้านค้าชุมชนรัศมี 4 กิโลเมตร มีอายุการใช้งาน 6 เดือน ซึ่งร้านค้าสามารถนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินบาทได้กับธนาคารของรัฐในภายหลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับชุมชน นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับประเทศ[4]

จากนั้น เศรษฐาได้ประกาศเมื่อวันที่ 5 เมษายน ในงาน "คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ตอน One Team for all Thais : หนึ่งทีมเพื่อไทยทุกคน" ว่า ประชาชนจะได้รับเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลตามเงื่อนไขข้างต้นเป็นจำนวนคนละ 10,000 บาท[5] โดยต่อมา พรรคเพื่อไทยได้แจ้งที่มาของแหล่งเงินทุนในการดำเนินโครงการให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งว่า มาจากการบริหารงบประมาณ และการเก็บภาษี ประกอบด้วย

  1. ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2567: 260,000 ล้านบาท
  2. ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย: 100,000 ล้านบาท
  3. การบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ. 2567: 110,000 ล้านบาท
  4. การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน: 90,000 ล้านบาท

โดยคิดเป็นเงินจำนวน 560,000 ล้านบาท ทั้งนี้ สามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ[6]

ภายหลังจากเศรษฐา ทวีสิน ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามเกณฑ์ที่กำหนด และได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 เศรษฐาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อขับเคลื่อนโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทโดยเฉพาะ[7] โดยเศรษฐาได้ประกาศว่าจะเริ่มต้นโครงการนี้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567[8] และในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เศรษฐาได้แถลงว่าโครงการนี้เป็น 1 ใน 5 นโยบายระยะเร่งด่วนของรัฐบาล[9]

การดำเนินโครงการ

[แก้]

ในการประชุมนัดแรกของคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยเป็นตัวแทนของกระทรวงการคลังในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือกับสำนักงบประมาณ, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากร, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์, สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และธนาคารออมสิน เพื่อศึกษารายละเอียด กำหนดเงื่อนไข และแนวทางในการดำเนินโครงการ[10] โดยได้มีการประชุมดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 และ 27 กันยายน[11][12]

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีองค์ประกอบดังนี้[13]

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม คณะกรรมการนโยบายโครงการได้จัดการประชุมนัดแรก (ครั้งที่ 1/2566) ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อพิจารณารายละเอียดของโครงการ โดยมีจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ[14] และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการได้จัดการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม[15] ซึ่งคณะอนุกรรมการได้มอบหมายภารกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงการให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปดำเนินการ เช่น สมาคมธนาคารไทยจัดหาผู้จัดทำระบบเติมเงินที่มีเงื่อนไขผ่านทางกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งต่อมาเปิดเผยว่าเป็น "โปรแกรมประยุกต์พิเศษแห่งชาติ"[16], สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบและป้องกันการทุจริต, กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลองค์การตลาด ช่วยยืนยันร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ[17]

นโยบาย

[แก้]

เบื้องต้น

[แก้]

ในเบื้องต้น โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเป็นการเติมเงินจำนวนคนละ 10,000 บาท ให้กับประชาชนสัญชาติไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนประมาณ 54.8 ล้านคน จำนวน 1 ครั้ง[18] โดยประชาชนสามารถนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่ายได้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตร ยึดจากที่อยู่ที่ปรากฏในบัตรประจำตัวประชาชนของตน ภายในระยะเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ[19] โดยใช้งบประมาณอย่างมากจำนวน 548,000 ล้านบาท[20]

โครงการจะเริ่มต้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 โดยเป็นการเปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ จากนั้นจะเปิดให้ประชาชนยืนยันตัวตนในลำดับถัดไป[21] โดยประชาชนทุกคนที่อยู่ในเงื่อนไขข้างต้น และยืนยันตัวตนผ่านกระบวนการทำความรู้จักกับลูกค้า (KYC) ตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว สามารถยืนยันการรับสิทธิ์ในโครงการนี้ได้ทันที[22] ทั้งนี้ หากมีผู้ขอไม่รับสิทธิ์ เงินที่เหลือจะถูกส่งคืนกระทรวงการคลังเพื่อเป็นงบประมาณแผ่นดินต่อไป[20]

โครงการนี้มีกำหนดเริ่มต้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567[8] โดยประชาชนสามารถใช้จ่ายสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันได้ทุกประเภท ยกเว้นสิ่งของเกี่ยวกับอบายมุข รวมถึงสินค้าออนไลน์ และไม่สามารถนำไปใช้หนี้ได้[23] โดยประชาชนสามารถใช้เงินจำนวนนี้ได้ผ่านโปรแกรมประยุกต์พิเศษแห่งชาติที่พัฒนาโดยผู้พัฒนาที่สมาคมธนาคารไทยมอบหมาย ซึ่งเก็บข้อมูลผ่านระบบบล็อกเชน[16] และจะทยอยเปิดฟังก์ชันต่าง ๆ ตามระยะเวลาที่เหมาะสม[24] ส่วนประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ สามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนคู่กับคิวอาร์โค้ดส่วนตัว โดยจะมีการผูกในระบบอยู่แล้ว[23] ส่วนร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี สามารถนำเงินจากการใช้จ่ายในโครงการนี้ไปแลกเป็นเงินสดได้[25]

การปรับปรุง

[แก้]

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้เปิดเผยภายหลังจากการประชุมคณะอนุกรรมการครั้งที่ 2/2566 ว่า ที่ประชุมเสนอแนวทางปรับกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการนี้ 3 แนวทาง คือ

  1. ตัดสิทธิ์กลุ่มบุคคลที่มีรายได้มากกว่า 25,000 บาทต่อเดือน และ/หรือ มีเงินฝากบัญชีมากกว่า 100,000 บาท จะทำให้เหลือบุคคลที่เข้าร่วมโครงการได้ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 430,000 ล้านบาท
  2. ตัดสิทธิ์กลุ่มบุคคลที่มีรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน และ/หรือ มีเงินฝากบัญชีมากกว่า 500,000 บาท จะทำให้เหลือบุคคลที่เข้าร่วมโครงการได้ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 490,000 ล้านบาท
  3. ให้สิทธิ์เฉพาะกลุ่มบุคคลที่ได้รับสิทธิ์สวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 160,000 ล้านบาท

ส่วนรัศมีในการใช้จ่าย คณะอนุกรรมการได้มีข้อสรุปว่าจะขยายให้ใช้จ่ายได้ภายในอำเภอที่ระบุไว้ในบัตรประจำตัวประชาชนของแต่ละคน ส่วนร้านค้าที่สามารถขึ้นเงินได้ จะต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี 3 ประเภท ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยยังไม่มีข้อสรุปเรื่องแหล่งที่มาของงบประมาณในโครงการ แต่ใช้งบประมาณแผ่นดินของไทย พ.ศ. 2567 เป็นพื้นฐาน ซึ่งอาจทำให้ต้องเลื่อนการเริ่มต้นโครงการออกไปอีก 2 เดือน เป็นช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2567[26]

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายครั้งที่ 2/2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบาย ได้แถลงปรับหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามความเห็นที่ได้รับฟังมาทั้งหมด โดยปรับเป็นการเติมเงินให้กับประชาชนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน และ/หรือ มีเงินฝากน้อยกว่า 500,000 บาท คิดเป็นจำนวนประชากรผู้ได้รับจำนวนประมาณ 50 ล้านคน ตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเติมเงินเข้าไปในกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยการใช้จ่ายเงินจำนวนนี้จะใช้แอปพลิเคชันที่พัฒนาต่อยอดจากแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยมีระบบบล็อกเชนเข้ามาช่วยลดการทุจริต โดยสามารถใช้เงินจำนวนนี้ได้สำหรับเฉพาะการซื้อของอุปโภคบริโภคเท่านั้น และให้ใช้สิทธิ์ครั้งแรกภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังจากที่โครงการเริ่ม นอกจากนี้ยังปรับรัศมีการใช้จ่ายเป็นในระดับอำเภอ ส่วนงบประมาณจะแบ่งใช้เป็น 2 ส่วน รวมจำนวนประมาณ 600,000 ล้านบาท โดยเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการซึ่งคิดเป็น 500,000 ล้านบาท จะมาจากการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน ซึ่งต้องผ่านการตีความทางกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ส่วนอีก 100,000 ล้านบาท จะดึงงบประมาณแผ่นดินมาสมทบเข้ากองทุนเสริมสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (New S Curve) เพื่อดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาลงทุนในประเทศ ทำให้คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567[27] ซึ่งต่อมาเศรษฐาและจุลพันธ์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าหากพระราชบัญญัติกู้เงินข้างต้นไม่สามารถประกาศใช้ได้ กระทรวงการคลังก็ยังไม่มีแผนสำรองในการดำเนินโครงการดังกล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลยังออกโครงการ e-Refund ให้ประชาชนลดหย่อนภาษีเงินได้จากการซื้อสินค้าและบริการ มูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้ใช้ใบกำกับภาษีมาประกอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แล้วรัฐจะคืนเงินให้ ซึ่งบุคคลที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท สามารถเข้าร่วมโครงการ e-Refund แทนได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นอีกด้วย[28] โดยเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 และสิ้นสุดโครงการในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 รวมระยะเวลา 45 วัน[29] ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการนี้ในชื่อ Easy E-Receipt ในการประชุมสัญจรเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2566[30]

ต่อมาคณะกรรมการนโยบายได้รับหนังสือข้อเสนอแนะและความเห็นเกี่ยวกับโครงการจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อเสนอแนะและความเห็นของทั้ง 2 หน่วยงานข้างต้น โดยมีกรอบระยะเวลาศึกษาภายใน 30 วัน[31] จากนั้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายครั้งที่ 2/2567 กระทรวงการคลังได้เสนอความเป็นไปได้ของแหล่งเงินในการดำเนินโครงการ โดยที่ประชุมจะพิจารณาทางเลือกแหล่งเงินในภายหลัง และมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการไปพิจารณาจัดทำรายละเอียดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นไปตามข้อความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ และระบุว่าจะมีการแถลงข่าวอีกครั้งในวันที่ 10 เมษายน[32]

นโยบายจริง

[แก้]

รัฐบาลเศรษฐา

[แก้]

การแถลงในรอบแรก

[แก้]

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2567 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายครั้งที่ 3/2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบาย ได้แถลงข่าวเปิดตัวโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท อย่างเป็นทางการ โดยจะมีประชากรผู้ได้รับเงินจำนวนประมาณ 50 ล้านคน รวมเป็นวงเงินในโครงการจำนวน 500,000 ล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่ลงทะเบียนไว้ ทั้งนี้ จะเปิดให้ลงทะเบียนร้านค้าในไตรมาสที่ 3 และเริ่มต้นโครงการในไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2567[33] ส่วนแหล่งเงินในการดำเนินโครงการนั้น ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง แถลงว่า จำนวนแหล่งเงิน 500,000 ล้านบาทนี้ มาจากแหล่งงบประมาณแผ่นดินของไทยทั้งหมดโดยไม่มีการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน แบ่งเป็นจำนวน 3 ส่วน ดังนี้[34]

  1. งบประมาณแผ่นดินของไทย พ.ศ. 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท
  2. มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรดำเนินโครงการนี้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรจำนวนประมาณ 17.23 ล้านคน ตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 วงเงิน 172,300 ล้านบาท
  3. การบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดินของไทย พ.ศ. 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท

ส่วนแนวทางการดำเนินโครงการ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงเพิ่มเติมดังนี้

  1. ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
  2. การใช้จ่าย สามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
    1. ระหว่างประชาชนกับร้านค้า สำหรับการใช้จ่ายในรอบที่ 1 ใช้จ่ายได้เฉพาะในร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดในอำเภอภูมิลำเนาของแต่ละคน
    2. ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า สำหรับการใช้จ่ายในรอบที่ 2 ขึ้นไป ไม่กำหนดเงื่อนไขและขนาดของร้าน
  3. ประเภทสินค้า สามารถใช้จ่ายสินค้าทุกประเภทผ่านโครงการได้ ยกเว้นสินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ และอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับการกำหนดโดยกระทรวงพาณิชย์
  4. ระบบในโครงการ ใช้ระบบที่พัฒนาโดยหน่วยงานภายในภาครัฐ คือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะเป็นโปรแกรมประยุกต์พิเศษของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะวงเปิด (Open Loop)
  5. คุณสมบัติของร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดได้ จะต้องอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ของประมวลรัษฎากร และสามารถถอนเงินสดได้ตั้งแต่การใช้จ่ายรอบที่ 2 เป็นต้นไป
  6. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่ม 2 ชุด ดังนี้
    1. คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม
    2. คณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ โดยมีจุลพันธ์เป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดเงื่อนไข รายละเอียดโครงการ และระบบ ให้สอดคล้องตามเงื่อนไข กฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประสานงานและประชาสัมพันธ์โครงการในประเด็นต่าง ๆ

โดยคณะกรรมการนโยบายมีมติเห็นชอบทุกประเด็นข้างต้น และมอบหมายให้กระทรวงการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานเลขานุการ นำมติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63[35] และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567[36]

การแถลงในรอบที่ 2

[แก้]

รัฐบาลแพทองธาร

[แก้]

หลังจากที่เศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนจากนายกรัฐมนตรี จากกรณีทูลเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีที่เคยต้องโทษอาญาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนถัดมา ยืนยันว่า คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 64 ของตน จะยังคงดำเนินโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทไว้เหมือนเดิม แต่มีการปรับรูปแบบเล็กน้อยและเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ พ.ศ. 2567 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 เป็นการแจกเงินสดให้แก่กลุ่มผู้เปราะบาง คือกลุ่มผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงคนพิการด้วย[37][38][39] โดยเมื่อวันที่ 17 กันยายน คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณจำนวน 145,552.40 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการในระยะนี้ โดยเริ่มแจกเงินสดให้ 2 กลุ่มดังกล่าว แบ่งเป็นกลุ่มผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนไม่เกิน 12,405,954 คน และคนพิการ จำนวนไม่เกิน 2,149,286 คน รวมจำนวนไม่เกิน 14,555,240 คน โดยแบ่งจ่ายเป็นระยะเวลา 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 – 30 กันยายน พ.ศ. 2567[40] แต่ผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐจะต้องผูกบัญชีพร้อมเพย์ให้เรียบร้อยก่อน หากทำไม่ทัน จะมีการโอนในรอบเก็บตกอรกจำนวน 3 ครั้ง[41] ทั้งนี้ มีการเปิดให้กลุ่มนี้ตรวจสอบสิทธิ์ของตนตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน[42] และแพทองธารได้ทำพิธีเปิดโครงการในระยะที่ 1 นี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล[43]
  • ระยะที่ 2 เป็นการเติมเงินให้กับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐในช่วงระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังได้เลื่อนการประกาศผลการรับสิทธิ์จากกำหนดเดิมในวันที่ 22 กันยายน ออกไปอย่างไม่มีกำหนด[44]
  • ระยะที่ 3 เป็นการเติมเงินให้กับผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแบบไม่มีสมาร์ทโฟน ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังได้เลื่อนการเปิดลงทะเบียนสำหรับกลุ่มนี้จากกำหนดเดิมในวันที่ 16 กันยายน ออกไปอย่างไม่มีกำหนดเช่นเดียวกัน[45]

เส้นเวลา

[แก้]
  • 1 สิงหาคม — เริ่มต้นลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ (ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2) ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ตั้งแต่เวลา 08:00 น.[46]
  • 15 กันยายน — สิ้นสุดการรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ[47]
  • 25 กันยายน–19 ธันวาคม — เริ่มต้นโครงการในระยะที่ 1[48]
    • 25–30 กันยายน — เริ่มโอนเงินสดให้แก่ผู้พิการและผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ผูกบัญชีพร้อมเพย์
      • 25 กันยายน — โอนเงินสด 10,000 บาท ให้ผู้พิการทั้งหมด และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีเลขประจำตัวประชาชนลงท้ายด้วยเลข 0 ตั้งแต่เวลา 00:01 น.
      • 26 กันยายน — โอนเงินสด 10,000 บาท ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีเลขประจำตัวประชาชนลงท้ายด้วยเลข 1, 2 และ 3 ตั้งแต่เวลา 00:01 น.
      • 27 กันยายน — โอนเงินสด 10,000 บาท ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีเลขประจำตัวประชาชนลงท้ายด้วยเลข 4, 5, 6 และ 7 ตั้งแต่เวลา 00:01 น.
      • 30 กันยายน — โอนเงินสด 10,000 บาท ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีเลขประจำตัวประชาชนลงท้ายด้วยเลข 8 และ 9 ตั้งแต่เวลา 00:01 น.
    • 10 ตุลาคม–19 ธันวาคม — รอบเก็บตก[49]
      • ครั้งที่ 1
        • 10 ตุลาคม — สิ้นสุดการรับจดทะเบียนคนพิการเพื่อรับเงินในรอบนี้
        • 18 ตุลาคม — สิ้นสุดการผูกหรือแก้ไขข้อมูลบัญชีพร้อมเพย์เพื่อรับเงินในรอบนี้
        • 21 ตุลาคม — โอนเงินสด 10,000 บาท
      • ครั้งที่ 2
        • 12 พฤศจิกายน — สิ้นสุดการรับจดทะเบียนคนพิการเพื่อรับเงินในรอบนี้
        • 18 พฤศจิกายน — สิ้นสุดการผูกหรือแก้ไขข้อมูลบัญชีพร้อมเพย์เพื่อรับเงินในรอบนี้
        • 21 พฤศจิกายน — โอนเงินสด 10,000 บาท รอบเก็บตกครั้งที่ 2
      • ครั้งที่ 3
        • 3 ธันวาคม — สิ้นสุดการรับจดทะเบียนคนพิการเพื่อรับเงินในรอบนี้
        • 16 ธันวาคม — สิ้นสุดการผูกหรือแก้ไขข้อมูลบัญชีพร้อมเพย์เพื่อรับเงินในรอบนี้
        • 22 ธันวาคม — โอนเงินสด 10,000 บาท รอบเก็บตกครั้งที่ 3
  • ไม่มีกำหนด — ประกาศผลการรับสิทธิ์ในโครงการในระยะที่ 2[44]
  • ไม่มีกำหนด — เริ่มต้นลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในระยะที่ 3 สำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ผ่านธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์[45]

การตอบรับ

[แก้]

การสนับสนุน

[แก้]

ข้อวิจารณ์

[แก้]

ในช่วงการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย (ในขณะนั้น) ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งให้วินิจฉัยว่า โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เนื่องจากมีความไม่ชัดเจนในการชี้แจงแหล่งที่มาของเงินในโครงการหลายส่วน[50]

ภายหลังเสร็จสิ้นการจัดตั้งรัฐบาล กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระบุถึงโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า ให้สังเกตประมาณการสถานะทางการเงินล่าสุดของประเทศให้ดี เนื่องจากที่มาของเงินในโครงการนี้จำเป็นต้องกู้หรือยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจ และปัจจุบันรัฐบาลมีหนี้สินอยู่ 11 ล้านล้านบาท รัฐบาลต้องออกพันธบัตรใหม่มาชำระชุดเก่าตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุน และเพิ่มภาระงบประมาณ ทำให้ดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากหลากหลายปัจจัย รวมถึงรายจ่ายจากนโยบายดังกล่าว ถึงแม้ประเทศไทยจะมีหนี้ของสกุลเงินต่างประเทศในระดับต่ำ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของโลกที่ต้องระวัง[51]

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า หากรัฐบาลจะกู้เงินจากธนาคารออมสินซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ มาเป็นงบในโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยไม่ได้มาจากงบประมาณแผ่นดินตามที่เคยหาเสียง ข้อดีคือหนี้ของธนาคารของรัฐจะไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะ แต่มีข้อเสียคือต้องจ่ายเงินคืนธนาคารออมสินทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เบียดบังงบประมาณส่วนอื่น ๆ ในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เพียงมติ ครม. ในการกู้เงินได้ทันที โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบใด ๆ และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการกู้เงินต่อสาธารณะ[52]

นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์จำนวน 99 คน ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท และระบุเหตุผล 8 ข้อที่แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ "ได้ไม่คุ้มเสีย" ทั้งนี้ มีอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2 คน คือ วิรไท สันติประภพ และ ธาริษา วัฒนเกส ร่วมลงชื่อคัดค้านโครงการดังกล่าวด้วย[53] ทำให้ต่อมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการนี้ โดยเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทยมาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการ และเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการทุจริตหรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาวตามแถลงการณ์ของนักวิชาการข้างต้น ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[54]

วิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ยื่นคำร้องพร้อมความเห็นของนักวิชาการข้างต้นแก่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้วินิจฉัยพร้อมส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง ให้ตรวจสอบว่า โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 หรือไม่ โดยเบื้องต้นผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องไว้พิจารณา[55]

ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืนของฐานะทางการเงินการคลังของรัฐ ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561[56]

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลที่ยื่นคำร้องต่อองค์กรอิสระเพื่อให้สั่งระงับการดำเนินโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท เช่น นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ยื่นคำร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งเรื่องไปยังศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งระงับการดำเนินโครงการ[57], รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ที่ยื่นคำร้องไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 จัดประชุมร่วมกันเพื่อวินิจฉัยระงับการดำเนินโครงการ[58]

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2566 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลกรณีโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยมีคณะกรรมการจำนวน 30 คน และมีกรรมการ ป.ป.ช. 2 คน คือ สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานกรรมการ และสุวณา สุวรรณจูฑะ เป็นรองประธานกรรมการ[59] ทั้งนี้ สุภา ปิยะจิตติ มีฉายาว่า "มือปราบจำนำข้าว" เนื่องจากเคยเป็นประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นผู้เปิดเผยว่าโครงการนี้ทำให้มีข้าวสารหายไปจากระบบจำนวน 1,000,000 ตัน[60]

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ภายหลังการแถลงแนวทางการดำเนินโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล แล้วพบว่าแหล่งที่มาในการดำเนินโครงการมาจากการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แสดงความกังวลอีกว่า ในที่สุดอาจไม่มีใครได้รับเงิน 10,000 บาทแม้แต่คนเดียว เพราะการออกพระราชบัญญัติกู้เงินดังกล่าวขัดต่อมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เนื่องจากยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่มากพอสำหรับใช้เป็นเหตุผลในการกู้เงิน ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ดำเนินการออกร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 2,000,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมใช้ในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น (สายเหนือ) แต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ร่างตกไปเนื่องจากยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และเรื่องนี้ทั้งนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยก็รับรู้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ตนและพรรคก้าวไกลไม่สนับสนุนให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท เนื่องจากต้องการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการวินิจฉัยให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตกไปตั้งแต่ต้น[61]

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน ศรีสุวรรณ จรรยา ซึ่งเปลี่ยนตำแหน่งเป็นผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้ประกาศยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 13 พฤศจิกายน เวลา 10.00 น. เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขัดต่อมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ข้างต้นหรือไม่[62]

ภายหลังจากแพทองธาร ชินวัตร ได้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่า เศรษฐา ทวีสิน อาจเป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพที่จะต้องผลักดันโครงการนี้ให้เสร็จ ไม่ว่าจะกู้เงินโดยการออกเป็นพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติก็ตาม และภายหลังผลักดันโครงการนี้สำเร็จ อาจเป็นไปได้ที่เศรษฐาจะลาออก เพื่อเปิดทางให้แพทองธารขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อโครงการดังกล่าว[63]

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ หากอ้างว่าโครงการนี้เร่งด่วน ต้องออกเป็นพ.ร.ก. เพราะออกเป็นพ.ร.ก.สามารถบังคับใช้ได้ทันที แต่การออกเป็นพ.ร.บ.จะทำให้ล่าช้า และมีปัญหาในภาคปฎิบัติ[64][65]

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แถลงข่าววิเคราะห์ผลงานรัฐบาลหลังจากเข้ารับตำแหน่งครบ 100 วัน โดยได้จัดให้โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทเ ป็นผลงานประเภท "คิดไปทำไป" เนื่องจากที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการอย่างน้อย 4 ครั้ง ทั้งเรื่องแหล่งที่มาของเงินในโครงการ, เทคโนโลยีที่ใช้, จำนวนผู้ได้รับสิทธิ และระยะเวลาเริ่มต้นโครงการ พร้อมเสนอแนะว่าหลังจากนี้รัฐบาลควรมีแผนสำรองในกรณีที่โครงการนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ หรือติดปัญหาในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนโครงการนี้ควรมีความชัดเจนและไม่มีการปรับเปลี่ยนอีก และควรมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพิ่มเติม[66]

ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท เหมาะกับกลุ่มเปราะบางมากกว่า เพราะหลายกลุ่มมีรายได้ฟื้นตัวเกินจุดและมีท่าที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง[67][68][69]

บทบาทของคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฏร

[แก้]

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ในการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมีสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานกรรมาธิการ มีวาระสำคัญคือการพิจารณาโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่เข้ามาให้ข้อมูล โดยระบุว่าโครงการนี้มีความจำเป็นน้อย เพราะการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้สูง และแรงงานก็ฟื้นตัว[70][71]

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วีระ ธีระภัทรานนท์[72] ในฐานะกรรมาธิการ ระบุว่า ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจัดการโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทไม่ดี จะสุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในอนาคต[73] เนื่องจากการตั้งงบประมาณในครั้งนี้เป็นการตั้งงบขาดดุลที่สูงจนติดเพดานงบประมาณขาดดุลในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน[74]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประวัติ "เผ่าภูมิ โรจนสกุล" รมช. คลังคนใหม่ ครม.เศรษฐา 1/1". pptvhd36.com. 28 April 2024. สืบค้นเมื่อ 28 April 2024.
  2. "กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท". ประชาชาติธุรกิจ. 22 สิงหาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "เพื่อไทยประกาศ 'แพทองธาร' เป็นผู้นำครอบครัวบ้านหลังใหญ่ ยันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล". สำนักข่าวทูเดย์. 20 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "เลือกตั้ง 66 สรุปนโยบายเพื่อไทย 'คนไทยไร้จน'". สำนักข่าวทูเดย์. 17 มีนาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "เลือกตั้ง 2566 : เศรษฐา แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ประกาศตัวเลข นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่". เดอะสแตนดาร์ด. 5 เมษายน 2023. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "เปิดรายละเอียดงบประมาณนโยบายขายฝันแจกเงินดิจิทัล 10,000". ไทยโพสต์. 20 เมษายน 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "โผ ครม.เศรษฐา 1 "เสี่ยนิด" นายกฯ ควบ รมว.คลัง-"วราวุธ" นั่ง รมว.พาณิชย์". ไทยรัฐ. 24 สิงหาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. 8.0 8.1 "เศรษฐาประกาศ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เริ่มใช้ 1 ก.พ. 67 ระบุ รัฐบาลเพื่อไทยต้องทำงานแบบไม่มีเวลาหายใจ". เดอะสแตนดาร์ด. 5 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "คำแถลงนโยบายรัฐบาลเศรษฐา ปัดฝุ่น "ผู้ว่า CEO" แก้ รธน.ไม่แตะหมวดสถาบันฯ". บีบีซีไทย. 6 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. ""เงินดิจิทัล 10,000 บาท" นายกฯสั่งเร่งศึกษาแนวทางกลับมาเสนอโดยเร็วที่สุด". ทีเอ็นเอ็น 16. 13 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. "เงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังไม่เคาะ! – ยืมออมสินบางส่วน สัญญาใช้คืน 3 ปี". THAIPUBLICA. 26 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "นักวิชาการ ชี้ แบงก์รัฐช่วยเงินดิจิทัลได้ แต่มีความเสี่ยงที่ต้องแลก". ฐานเศรษฐกิจ. 28 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. "เปิดหน้า บอร์ดคุมแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท 28 คน มีบิ๊กต่อ ผบ.ตร.ด้วย". ประชาชาติธุรกิจ. 3 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. "นายกฯ เคาะตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท". โพสต์ทูเดย์. 5 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. "จุลพันธ์พร้อมเข้าพบ ป.ป.ช. ชี้แจง "แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท" ด้วยตัวเอง". ประชาชาติธุรกิจ. 12 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  16. 16.0 16.1 "ปั้น "ซูเปอร์แอป" แจกเงินดิจิทัล "จุลพันธ์" มอบสมาคมแบงก์จัดการระบบ". 14 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  17. "ผ่าแหล่งเงิน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' 5.6 แสนล้าน ยืม รสก. - รีดภาษี - เกลี่ยงบฯปี67". กรุงเทพธุรกิจ. 19 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  18. "เพื่อไทย ยัน เงินดิจิทัล 10000 จ่ายงวดเดียว ไม่มีแบ่งจ่าย". ฐานเศรษฐกิจ. 3 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  19. "แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลเดินหน้าไม่เลิก เช็กเงื่อนไขล่าสุด". ประชาชาติธุรกิจ. 11 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  20. 20.0 20.1 "เงินดิจิทัลอีก 2 สัปดาห์ชัดเจน! "จุลพันธ์" ยันไม่ตัดสิทธิ์คนรวย". ไทยรัฐ. 16 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  21. "เปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท พ.ย.นี้ รัฐบาล ยันจ่ายรวดเดียวจบ". ไทยรัฐ. 10 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  22. "แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้วันไหน ข้อมูลและข่าวอัปเดตล่าสุด". สนุก.คอม. 15 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  23. 23.0 23.1 "เงินดิจิทัล 10,000 บาท คนไม่มีสมาร์ทโฟนมีสิทธิรับเงินมั้ย เช็กคำตอบที่นี่". สนุก.คอม. 25 สิงหาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  24. "จุลพันธ์ยืนยัน ซูเปอร์แอปเสร็จทันแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เผยคนที่เคยยืนยันตัวตนในระบบเก่าไม่ต้องยืนยันใหม่อีก". เดอะสแตนดาร์ด. 16 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  25. "หาบเร่-แผงลอย ลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท เบิกเงินสดได้มั้ย". สนุก.คอม. 13 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  26. ""จุลพันธ์" เผยเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจล่าช้าถึง เม.ย. ชง 3 แนวทางตัดสิทธิ์คนรวย". พีพีทีวี. 25 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  27. "เคาะวงเงิน 6 แสนล้าน รัฐเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตแจก 10,000 บาท 50 ล้านคน". กรุงเทพธุรกิจ. 10 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  28. "เคาะเงื่อนไข "ดิจิทัลวอลเล็ต" รายได้ไม่เกิน 7 หมื่น หรือเงินฝากต่ำกว่า 5 แสน". ไทยรัฐ. 10 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  29. ""E-Refund" ลดหย่อนภาษี 50,000 บาท เริ่ม 1 ม.ค. 2567". สนุก.คอม. 16 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  30. "ครม.เคาะ Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 5 หมื่น เริ่ม 1 ม.ค.-15 ก.พ.2567". ฐานเศรษฐกิจ. 4 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  31. "ด่วน แจก 10,000 บาท บอร์ดดิจิทัล มีมติตั้งกรรมการดูเอกสารอีก 30 วัน". ประชาชาติธุรกิจ. 15 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  32. ""เศรษฐา" สั่งหาแหล่งเงินอื่น แทนกู้แจกดิจิทัล 1 หมื่นบาท". ไทยพีบีเอส. 27 มีนาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  33. "ด่วน นายกฯประกาศ แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท 50 ล้านคน ไตรมาส 4". ฐานเศรษฐกิจ. 10 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  34. "ปลัดคลัง สรุป 3 แหล่งเงิน 5 แสนล้าน "แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต" งบ 67-68 และธ.ก.ส." ฐานเศรษฐกิจ. 10 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  35. "ชัดเจน! บอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่ เคาะแหล่งเงิน-กลุ่มเป้าหมาย-เงื่อนไข เสนอครม.ในเม.ย. เริ่มใช้จ่าย Q4/67". สำนักข่าวอินโฟเควสท์. 10 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  36. "เศรษฐา ผนึกพรรคร่วมแถลงมติ ครม. อนุมัติโครงการแจกเงิน 10,000 บาท". ประชาชาติธุรกิจ. 23 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  37. "เปิดแนวโน้มรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ แจกเงินสด เงินดิจิทัล 10000 บาท ใช้จ่าย ก.ย. 67". bangkokbiznews. 2024-08-21.
  38. ฐานเศรษฐกิจ (2024-08-20). ""ผอ.สำนักงบ" ยัน โครงการเงินดิจิทัล 10,000 แจกเป็นเงินสดได้". thansettakij.
  39. ""ภูมิธรรม"ยันแจกต่อ "ดิจิทัลวอลเล็ต" เล็งปรับแผนจ่ายเงินหมื่น". Thai PBS.
  40. "ครม.อนุมัติจ่ายเงินสด 10,000 บาท ผู้พิการ-กลุ่มเปราะบาง เริ่ม 25 ก.ย.นี้". อสมท. สำนักข่าวไทย. 17 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  41. "เปิดไทม์ไลน์ โอนเงิน 10,000 บาท เข้าบัญชีพร้อมเพย์ กลุ่มเปราะบาง-ผู้พิการ". พีพีทีวี. 18 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  42. "คลิกเดียว govwelfare.cgd.go.th ประกาศรายชื่อ เงิน 10000 บาท โอนเงินเข้าทันที". กรุงเทพธุรกิจ. 24 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  43. ""แพทองธาร" กด Kick Off โอนเงินหมื่นให้กลุ่มเปราะบาง ยันเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตแน่นอน". ไทยรัฐ. 25 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  44. 44.0 44.1 "เลื่อนประกาศผลลงทะเบียนเงินดิจิทัล ผ่าน-ไม่ผ่าน บนแอปทางรัฐ". สนุก.คอม. 15 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  45. 45.0 45.1 "เลื่อนลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท กลุ่มไม่มีมือถือ 16 ก.ย. นี้ อย่าพึ่งไป 3 แบงก์รัฐ". ประชาชาติธุรกิจ. 14 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  46. "ลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท วันแรก ยอดพุ่ง 14.4 ล้านราย". ประชาชาติธุรกิจ. 1 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  47. "วันสุดท้าย ลงทะเบียน "ดิจิทัลวอลเล็ต" เตรียมปิดรับสิทธิสำหรับ "กลุ่มสมาร์ทโฟน"". ไทยรัฐ. 15 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  48. "แจกเงิน 10,000 กลุ่มเปราะบาง เข้าบัญชีพร้อมเพย์ ไม่ต้องลงทะเบียน "ทางรัฐ"". ไทยรัฐ. 17 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์) {
  49. "แจกเงิน 10,000 บาท คลังปรับโอนซ้ำเร็วขึ้น รอบแรก 21 ต.ค.นี้". ประชาชาติธุรกิจ. 17 ตุลาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  50. "ยื่น กกต. ฟันเพื่อไทย 'แจกเงินดิจิทัล' ส่อขัดกม.พรรคการเมือง-เลือกตั้ง". 21 เมษายน 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  51. ""กรณ์" เตือน แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจสะเทือนต้นทุนการเงิน-การคลัง". สปริงนิวส์. 17 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  52. "ศิริกัญญาลั่น ปริศนากระจ่างแล้ว งบเงินดิจิทัล 10,000 บาท มาจากไหน". ประชาชาติธุรกิจ. 25 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  53. "เปิดรายชื่อนักวิชาการ-เศรษฐศาสตร์ คัดค้านแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท". ฐานเศรษฐกิจ. 7 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  54. "ป.ป.ช.ตั้งกก.ศึกษาแจกเงิน 1 หมื่น ชี้แนะ-เตือนครม. "ภูมิธรรม" เตรียมร้านธงฟ้า". ไทยรัฐ. 12 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  55. "เงินหมื่นดิจิทัล วุ่น! ผู้ตรวจการฯ รับเรื่องสอบนโยบายรบ. ลุ้นส่งศาลรธน.หรือไม่ ?". มติชน. 12 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  56. "สตง.ลุยสอบนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท". ฐานเศรษฐกิจ. 13 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  57. ""หมอวรงค์" ชี้ ดิจิทัล 1 หมื่น ช่วยคนรวย เอาคนจนบังหน้า". องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. 18 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  58. "'รสนา' ยื่น สตง. ตรวจสอบ พร้อมถกกกต.-ป.ป.ช. หยุดรัฐแจกเงินดิจิทัล ขัดกฎหมาย". เดลินิวส์. 19 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  59. "เปิดรายชื่อ ป.ป.ช.-กรรมการ 30 คน ตรวจสอบแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท". ประชาชาติธุรกิจ. 30 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  60. "ป.ป.ช.แต่งตั้ง "สุภา ปิยะจิตติ" ปธ.คกก.ศึกษาดิจิทัลวอลเล็ต". ผู้จัดการออนไลน์. 26 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  61. ""ศิริกัญญา" ชี้รัฐรู้แก่ใจดิจิทัลวอลเล็ตถึงทางตัน ออก พ.ร.บ.เงินกู้ขัดกฎหมาย". องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. 10 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  62. "มาแล้ว 'ศรีสุวรรณ' จ่อร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ปมรัฐออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน". กรุงเทพธุรกิจ. 10 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  63. "สองนครา 'อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา' วินวิน 'นายกฯคนละครึ่ง'". กรุงเทพธุรกิจ. 31 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  64. ""จุรินทร์" ชี้ ไม่วิกฤติจริง กู้เงิน "ดิจิทัลวอลเล็ต" เหตุ ออกเป็น พ.ร.บ." www.thairath.co.th. 2023-11-15.
  65. https://www.khaosod.co.th/politics/news_7964428 จุรินทร์ จี้ถามรัฐบาล ถ้าเงินดิจิทัลจำเป็นจริง ทำไมไม่ออก พ.ร.ก. แทน พ.ร.บ.
  66. "'ผ่านบ้าง ไม่ผ่านบ้าง' พิธาตัดเกรด 100 วันรัฐบาลเศรษฐา ตรวจการบ้านพบมีผลงานทั้งแบบคิดดีทำได้-คิดอย่างทำอย่าง". เดอะสแตนดาร์ด. 15 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  67. "แบงก์ชาติ ยัน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' เหมาะกับกลุ่มเปราะบาง". bangkokbiznews. 2024-03-29.
  68. ฐานเศรษฐกิจ (2024-03-30). ""ธปท." ย้ำจุดยืน เงินดิจิทัล 10,000ควรแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง". thansettakij.
  69. "ธปท.ย้ำจุดยืนแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต มุ่งเป้ากลุ่มเปราะบาง ระบุ ศก.ไทยเดือน ก.พ.67 ขยายตัวต่ำ". สยามรัฐ. 2024-03-29.
  70. "กมธ. ซัก 'เงินดิจิทัล' ธปท.รับ 'จำเป็นน้อย' กำลังบริโภค - แรงงานฟื้นตัว". bangkokbiznews. 2023-10-19.
  71. https://www.matichon.co.th/politics/news_4239947 แบงก์ชาติ แจงสภาเอง รบ.แจกเงินดิจิทัล จำเป็นน้อย ยันชัดได้ผล ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
  72. isranews (2024-08-21). "สภาฯถกงบเพิ่มปี 67 แจกเงินหมื่น 1.2 แสนล้าน 'วีระ' อัดทำการคลังประเทศวิกฤติ". สำนักข่าวอิศรา.
  73. "อ.วีระ ห่วงงบ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ทำสัดส่วน 'ขาดดุล' พุ่งเกือบชนเพดาน เสี่ยงวิกฤตการคลัง ไม่เหลือช่องว่างทำอย่างอื่น" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2024-07-31.
  74. "ควันหลงกระหึ่มโลกออนไลน์ 'อ.วีระ' ฟาดเตือน'งบฯหนุนดิจิทัลวอลเล็ต' 1.22แสนล้าน กลางสภาฯ". https://www.naewna.com. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |website= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]