ข้ามไปเนื้อหา

โครงการรับจำนำข้าว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกรในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้ชาวนาสามารถนำผลผลิตมาแลกเป็นเงินได้ ซึ่งมีความพิเศษคือไม่จำกัดโควตาและกำหนดราคาไว้สูงกว่าราคาตลาดมาก[1] ถึงแม้นโยบายดังกล่าวจะเป็นที่นิยมของชาวนา แต่นโยบายนี้ถูกวิจารณ์ในหลายด้านทั้งในเรื่องความเสี่ยงต่อการฉ้อราษฎร์บังหลวง ข้อกล่าวหา "ขาดทุน" และการยกมาเป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง

รายงาน "การคอร์รัปชั่นกรณีการศึกษา : โครงการรับจํานําข้าวทุกเม็ด" เมื่อปี 2557 เขียนว่าประโยชน์จากโครงการนี้ส่วนใหญ่ตกอยู่กับชาวนารายกลางและรายใหญ่ ในพื้นที่ชลประทานภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง แต่ได้ทำให้เกิดต้นทุนสวัสดิการ (welfare cost) 1.2 แสนล้านบาท เป็นการทำลายกลไกตลาดและส่งผลเสียต่อคุณภาพข้าว[2] รายงานดังกล่าวยังอ้างมูลค่าการทุจริตที่คำนวณจากแบบจำลองตลาดข้าว คิดเป็น 84,476 ล้านบาท ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การลักลอบนำข้าวไปขายก่อน การขายสิทธิ การซื้อข้าวจากต่างประเทศหรือนำข้าวนอกโครงการมาจำนำ เป็นต้น[2] ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการอย่างโปร่งใสเพื่อป้องกันการทุจริต โดยมีการปกปิดตัวเลขการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือขายให้พ่อค้าที่เสนอราคาซื้อข้าวของรัฐ[2] นโยบายนี้ยังก่อให้เกิดอุปทานเทียม ทำให้มีการเร่งลงทุนเพื่อแสวงกำไรพิเศษ (rent seeking activities) อย่างกว้างขวาง โดยมีการใช้ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช และใช้น้ำเพิ่มขึ้น[2]

อีกด้านหนึ่งนโยบายดังกล่าวเกิดจากการคาดการณ์ที่ผิดพลาด โดยรัฐบาลมองว่าเมื่อรับจำนำข้าวจากเกษตรกรแล้วจะสามารถระบายข้าวในตลาดโลกได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทำให้ไม่สามารถระบายข้าวได้ ผลทำให้มีข้าวคงค้างถึง 18 ล้านตันเมื่อสิ้นโครงการปี 2557 และยังส่งผลทำให้การส่งออกข้าวของไทยลดลงเพราะต้นทุนสูงขึ้น[1] ในปี 2565 องค์การคลังสินค้ายังพบว่ามีข้าวคงค้างอีก 220,000 ตัน และคาดว่าจะระบายหมดในเดือนกันยายน 2565[3] องค์การคลังสินค้าได้ส่งฟ้องร้องดำเนินคดีรวม 1,143 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับผู้ประกอบการโรงสี และเจ้าของโกดังที่ อคส.เช่าฝากเก็บข้าวสาร ทำให้ข้าวเสื่อมสภาพไปจากเดิม หรือข้าวสูญหายไปจากสต๊อก[4]

องค์การคลังสินค้าคาดการณ์ว่ารัฐจะขาดดุลงบประมาณ 5 แสนล้านบาท[4] แต่ประยุทธ์ จันทร์โอชา อ้างในปี 2565 ว่านโยบายรับจำนำข้าวทำให้รัฐขาดดุลงบประมาณ 9.5 แสนล้านบาท และรัฐบาลของตนชำระหนี้ไปแล้ว 7.8 แสนล้านบาท[5] ส่วนชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ อดีตพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ออกมาเปิดเผยว่ามีการสรุปมูลค่าความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวสูงกว่าจริงอย่างน้อย 32,000 ล้านบาท[6] ทำให้เธอตกเป็นจำเลยในคดีที่ ธ.ก.ส. ฟ้องฐานหมิ่นประมาท ซึ่งในปี 2565 เธอถูกตำรวจจับกุมโดยใช้หมายจับตั้งแต่ปี 2564 ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเป็นคดีการเมืองหรือไม่[7] ทั้งนี้เคยมีผู้บริหาร ธ.ก.ส. ที่ตกเป็นจำเลยในคดีเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วย[8]

นโยบายนี้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นการเมืองในวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 โดยในขณะนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์หลังยุบสภาผู้แทนราษฎรมีสภาพเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงไม่สามารถสร้างหนี้ที่จะผูกพันรัฐบาลต่อไปได้ ทำให้รัฐบาลผิดนัดชำระหนี้และไม่สามารถโอนเงินให้แก่ผู้เดือดร้อนกว่า 1.3 แสนล้านบาท[9] ด้าน กปปส. ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลขณะนั้น อ้างว่าพวกตนจะขอเรี่ยไรเงินบริจาคไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเอง[9]

ในคดีระบายข้าวจีทูจี มีผู้เกี่ยวข้องถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกและชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากมีการขายข้าวผิดวัตถุประสงค์ ยิ่งลักษณ์เองก็ถูกศาลพิพากษาลับหลังให้จำคุก 5 ปีเนื่องจากปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต[10] แต่ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในโครงการดังกล่าว ซึ่งกรมบังคับคดีอายัดไว้ 35,000 ล้านบาท[11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "ย้อนรอยโครงการจำนำข้าว: สะเทือนสถานะผู้นำตลาดโลกของไทย". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 1 June 2022.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 พัวพงศกร, นิพนธ์. "การทุจริตกรณีการศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด" (PDF). สืบค้นเมื่อ 1 June 2022. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  3. "จำนำข้าว "ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ" ขาดทุนกว่า5แสนล้าน". NationTV. 11 December 2021. สืบค้นเมื่อ 1 June 2022.
  4. 4.0 4.1 "จ่อปิดบัญชีจำนำปีหน้า คาดเจ๊ง 5 แสนล้าน อคส.ชง นบข.ขายข้าวตกค้าง 2.2 แสนตัน". ผู้จัดการออนไลน์. 8 November 2021. สืบค้นเมื่อ 1 June 2022.
  5. "ตามเช็ดยุคยิ่งลักษณ์ ตั้งงบใช้หนี้จำนำข้าวไปแล้ว 7.8 แสนล้าน". ไทยโพสต์. 31 May 2022. สืบค้นเมื่อ 1 June 2022.
  6. มาตาพิทักษ์, ภัคจิรา (16 August 2022). ""ถ้าเรากลัวก็ต้องหนีไปตลอด" 4 ปีแห่งการเปิดโปงทุจริต 'จำนำข้าว' และชีวิตที่เปลี่ยนไปของชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ - The 101 World Thai Politics". The 101 World. สืบค้นเมื่อ 26 December 2022.
  7. "เผย ตร.จับ 'ชญาดา' สมาชิกพรรคเพื่อไทยคดีหมิ่นประมาท ธ.ก.ส." ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 26 December 2022.
  8. "'ชญาดา' งงจำเลยคดีจำนำข้าว เป็น ส.ว." VoiceTV. 18 May 2019. สืบค้นเมื่อ 26 December 2022.
  9. 9.0 9.1 Thanong Khanthong (31 January 2014). "Rice-pledge catastrophe could be final straw for Thailand". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-18. สืบค้นเมื่อ 31 January 2014.
  10. "สั่งจำคุก 5 ปี ยิ่งลักษณ์ ไม่รอลงอาญา คดีจำนำข้าว". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 3 April 2021.
  11. "เปิดสาระสำคัญคำสั่งศาลปกครอง ทำไมยิ่งลักษณ์ไม่ต้องชดใช้ 3.5 หมื่นล้าน คดีจำนำข้าว". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 3 April 2021.