ศรีสุวรรณ จรรยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศรีสุวรรณ จรรยา
เกิด25 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 (55 ปี)
อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
สัญชาติไทย
การศึกษาปริญญาโท
ศิษย์เก่า

ศรีสุวรรณ จรรยา (เกิด 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2511) เป็นนักเคลื่อนไหวชาวไทย ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และอดีตเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โดยในนามสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เขาเคยจัดขบวนการประท้วงร่วมกับประชาชนและองค์กรอื่น ๆ เกี่ยวกับปัญหามลพิษในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่ในนามสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยนั้น เขาเป็นที่รู้จักจากการร้องเรียนนักการเมืองจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มักร้องเรียนนักการเมืองจากฝ่ายต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอยู่หลายครั้ง

ศรีสุวรรณถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2567 จากการร่วมมือกับพวกเพื่อข่มขู่รีดไถทรัพย์สินจากอธิบดีกรมการข้าว แลกกับการยุติการร้องเรียนโครงการที่เกี่ยวข้อง

ประวัติ[แก้]

ศรีสุวรรณ จรรยา เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวังทองพิทยาคม ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ด้านเกษตร จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเกษตรพิษณุโลก (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก) ระดับปริญญาตรีจากคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และระดับปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

การเคลื่อนไหว[แก้]

สิ่งแวดล้อม[แก้]

นับตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2540 เขาได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาของเสีย ป่าไม้ และโรงไฟฟ้าในประเทศไทย และได้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการมูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ก่อตั้งโดยพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้ยื่นฟ้ององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และกรมควบคุมมลพิษ ต่อศาลปกครอง จากการปล่อยให้มีการปล่อยควันดำจากท่อรถโดยสารประจำทาง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ซึ่งถือเป็นคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมคดีแรกที่มีการดำเนินการไต่สวนในศาลปกครอง[1] และเมื่อปี พ.ศ. 2549 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ ขสมก. ตรวจสอบมลพิษจากรถโดยสารประจำทางทุก ๆ 3 เดือน[2]

ต่อมาศรีสุวรรณได้ร่วมก่อตั้ง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2550 โดยตนดำรงตำแหน่งนายกสมาคม[3] และเป็นแกนหลักในการต่อสู้คดีเดิมที่ฟ้อง ขสมก. ซึ่ง ขสมก. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555[2] รวมถึงยังมีบทบาทในการฟ้องนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และคดีบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[1]

การเมือง[แก้]

ต่อมาศรีสุวรรณได้ร่วมก่อตั้ง สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 โดยตนดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคม[4] เพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองเป็นหลัก[1] แต่ต่อมาทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ซึ่งได้รับมอบหมายจากพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 ได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อยื่นนายทะเบียนให้เพิกถอนชื่อสมาคมนี้ออก เนื่องจากเห็นว่าวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งและการกระทำการของสมาคมฯ แห่งนี้ ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมของประชาชน โดยมีการดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา[5]

ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ทนายอนันต์ชัยพบหลักฐานเรื่องที่ตั้งอาคารสำนักงานสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งไม่มีความน่าเชื่อถือ และการถูกแอบอ้างเป็นกรรมการและเหรัญญิกสมาคมฯ ของฐิติมา บุญประเสริฐ โดยที่เขาไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมฯ ไม่เคยมีประวัติการจัดประชุม และเขาไม่เคยทำบัญชีงบดุล[6] ทนายอนันต์ชัยจึงนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้เป็นหลักฐานในการยื่นคำร้องเพื่อเพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมฯ ต่ออธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะนายทะเบียนสมาคมประจำกรุงเทพมหานคร[7] และอธิบดีกรมการปกครองได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566[8][9] อย่างไรก็ตาม อีก 2 วันถัดมา ศรีสุวรรณได้ประกาศก่อตั้ง องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวในวัตถุประสงค์คล้ายกับสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยที่ถูกเพิกถอนไป[10]

ข้อวิจารณ์[แก้]

ศรีสุวรรณถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบจากการร้องเรียนหน่วยงานต่าง ๆ ให้ตรวจสอบนักการเมืองฝ่ายต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นจำนวนมาก จนเกิดเหตุการณ์ถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการยื่นร้องเรียนจำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2565 โดยวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล[11] และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 โดยทศพล ธนานนท์โสภณกุล[12]

คดีความ[แก้]

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2567 ศรีสุวรรณ จรรยา ถูกพลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ นำกำลังเจ้าหน้าที่และสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าจับกุมพร้อมกับคณะทำงานเขตราชการที่ 11 ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อีก 2 คน ได้แก่ ยศวริศ ชูกล่อม (เจ๋ง ดอกจิก) ประธานกลุ่มรวมใจรักชาติ และ พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์ อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต 1 สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากได้รับแจ้งว่าทั้ง 3 คน ข่มขู่เรียกเงินจำนวน 3,000,000 บาท (ก่อนจะมีการเจรจาต่อรองเหลือ 1,500,000 บาทในเวลาต่อมา) จากณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแลกกับการยุติเรื่องร้องเรียนในโครงการที่เกี่ยวข้อง[13] โดยศรีสุวรรณปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ได้รับการประกันตัวด้วยวงเงิน 400,000 บาท[14]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "ศรีสุวรรณ จรรยา กับ 5 เรื่องน่ารู้ของ "นักร้อง"". บีบีซีไทย. 18 เมษายน 2017. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 "ศาลปกครองฟัน ขสมก.ผิดปล่อยควันดำ". ประชาไท. 30 ตุลาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "ประกาศนายทะเบียนสมาคมประจำกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งสมาคม "สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน"" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 124 (112 ง): 150–152. 20 ธันวาคม 2007.
  4. "ประกาศนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งสมาคม [สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย]" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 126 (84 ง). 30 กรกฎาคม 2009.
  5. "ทนายอนันต์ชัย กางข้อกฎหมาย เตรียมยื่นเพิกถอนสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยของศรีสุวรรณ ชี้ดำเนินการขัดวัตถุประสงค์". เดอะสแตนดาร์ด. 13 กันยายน 2021. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "ดร.ถูกอ้างชื่อ เป็นกก.สมาคมศรีสุวรรณ ส่งจม.ร้อง 'เสรีพิศุทธ์' ด้านทนายบี้ นักร้องชี้แจง". มติชน. 10 มิถุนายน 2022. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. ""ทนายอนันต์ชัย" ยื่นถอนสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ของ "ศรีสุวรรณ"". สนุก.คอม. 5 มิถุนายน 2022. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "อธิบดีกรมการปกครอง สั่งเพิกถอน 'สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย' ของ 'ศรีสุวรรณ'". สำนักข่าวทูเดย์. 9 มิถุนายน 2023. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "ประกาศนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร เรื่อง เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 140 (45 ง): 183. 15 มิถุนายน 2023.
  10. "ศรีสุวรรณประกาศจัดตั้ง 'องค์กรรักชาติรักแผ่นดิน' หลังเพิ่งโดนสั่งยุบสมาคม". เดอะ แมทเทอร์. 11 มิถุนายน 2023. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. "ตำรวจจับกุม "ลุงศักดิ์" ด้วยหมายจับเก่าปี 2564 หลังทำร้ายศรีสุวรรณ จรรยา". บีบีซีไทย. 19 ตุลาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "ชายปริศนาบุกต่อย "ศรีสุวรรณ" อ้างไม่พอใจร้องมั่ว-ขวางทางเลือกตั้ง". พีพีทีวี. 11 พฤษภาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. "ตำรวจซ้อนแผนจับกุม 'ศรีสุวรรณ จรรยา' หลังข่มขู่รีดเงินอธิบดีกรมการข้าว 3 ล้าน แลกไม่ยื่นเรื่องร้องเรียน". เดอะสแตนดาร์ด. 26 มกราคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. ""ศรีสุวรรณ" พร้อม "เจ๋ง ดอกจิก-พิมณัฏฐา" ได้ประกันตัว ยันไม่ได้รีดเงิน". ไทยพีบีเอส. 27 มกราคม 2024. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]