ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ทองดี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี
(ทองดี)
เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวัง
ข้อมูลส่วนบุคคล
สัญชาติสยาม
ศาสนาพุทธ
บุพการีเจ้าพระยาอภัยราชา (เจ้าคุณประตูจีน)

เจ้าพระยาธรรมาธิกร (ทองดี) ต้นสกุลธรรมสโรช นามเดิมว่า ทองดี เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยชั้นเดิมมีบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นศรีสรรักษ์ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระยาพิพัฒโกษาและได้รับประราชทานโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นเจ้าพระยาธรรมากร เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวังคนที่ 2 ในรัชกาลที่ 1[1][2]

ประวัติ

[แก้]

เจ้าพระยาธรรมาธิกร (ทองดี ธรรมสโรช) เป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยราชา ที่เรียกกันว่า เจ้าคุณประตูจีน ครั้งกรุงศรีอยุธยา เจ้าพระยาอภัยราชาผู้นี้ตามความในราชพงศาวดาร เดิมเป็นเจ้าพระยาสุภาวดี บ้านอยู่ประตูจีน แล้วได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา ตำแหน่งสมุหพระกลาโหม ในตอนปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พร้อมกันกับพระยาธรรมไตรโลก บ้านคลองแกลบ ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนาธิบดีศรีสมุห พระกลาโหม (เจ้าพระยากลาโหม คลองแกลบ) เจ้าพระยาอภัยราชา (เจ้าคุณประตูจีน) มีบุตรชายคนโตคือพระสำราญองค์ (ต้นสกุลสโรบล) เป็นข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 1 พระสำราญองค์มีบุตรคือพระยาศรีสุริยะพาหะ (สระ) ข้าราชการในรัชกาลที่ 2 พระยาศรีพาหะ มีบุตรคือพระยามณเฑียรบาล (บัว) เป็นพระพี่เลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านผู้นี้เป็นคุณตาของคุณจอมมารดาเลี่ยม (เล็ก) ผู้เป็นคุณจอมมารดาของพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจำรัส

นามสกุลธรรมสโรช ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ นายพลตรี พระวิบุลอายุรเวท (เสข ธรรมโรช) แต่ครั้งยังเป็นนายพันตรี หลวงศักดาพลรักษ์ ผู้รั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารบกกลาง ว่า ธรรมสโรช (Dharmasaroja) ซึ่งท่านผู้นี้เป็นบุตรของหลวงเทวะวงศวโรปการ (เสน) อันเป็นบุตรของจมื่นสรสิทธิราช (จุ้ย) กับท่านไม้จีน บุตรของท่านคล้าย (ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ทางมารดาของพระยาวิบุลอายุรเวทคือท่านศิลาเป็นบุตรีของท่านทันและเป็นหลานตาของพระยาอุทัยธรรม (นุด) ผู้เป็นบุตรของเจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมารหรือพระนเรนทรราชา (ต้นสกุลรุ่งไพโรจน์) ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 18 ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) ซึงเป็นพระราชธิดาของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

ในเวลาก่อนหน้าที่พระยาวิบุลอายุรเวทจะได้รับนามสกุลพระราชทานก็ได้มีผู้สืบสายโลหิตโดยตรงในสกุลอีกผู้หนึ่งได้รับพระราชทานนามสกุลจากรัชกาลที่ 6 ว่าสกุล รัตนทัศนีย (Ratnadasniya) คือพระยามหิมานุภาพ (เป๋า รัตนทัศนีย์) กรมพระตำรวจในซ้าย บิดาคือพระยาณรงค์วิไชย (ทัศ) ผู้เป็นต้นสกุลรัตนทัศนีย ปู่คือพระยาเพชรพิไชย (เอี่ยม ธรรมสโรช) ซึ่งเป็นพี่ชายของท่านคล้ายและพระยาราชงคราม (อินทร์) และท่านพลับ

ในเวลาใกล้เคียงกันกับที่พระยาวิบุลอายุรเวทได้รับพระราชทานนามสกุล ก็ได้มีผู้สืบสายโลหิตโดยตรงในสกุลอีกผู้หนึ่งได้รับพระราชทานนามสกุลจากรัชกาลที่ ๖ ว่าสกุล อินทรวิมล (Indravimala) คือ นายร้อยโท นายศุขแพทย์ ผู้บังคับหมวดพยาบาล โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม บิดาชื่อนายเผื่อน ปู่คือพระยาราชสงคราม (อินทร์) ผู้เป็นต้นตระกูล อินทรวิมล ซึ่งแยกออกไปจากสกุลธรรมสโรช

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์, เรื่องการตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์, โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, พ.ศ. 2461
  2. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เพลงยาว เก็บถาวร 2005-04-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2545, ปีที่ 49, ประจำวันอังคารที่ 29 กรกฎาคม 2546

http://www.brh.thaigov.net/new/brh/about/brh_history_web/036.htm[ลิงก์เสีย] หนังสือประวัติสำนักพระราชวัง พิมพ์ครั้งที่ ๓ สำนักพระราชวัง กรกฎาคม ๒๕๔๓)