พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เดช ฐานจาโร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระธรรมไตรโลกาจารย์ นามเดิม เดช ฉายา ฐานจาโร เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมฝ่ายธรรมยุติกนิกาย อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร และอดีตนายกสภากรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย[1]

ประวัติ[แก้]

พระธรรมไตรโลกาจารย์ มีนามเดิมว่า เดช เกิดในปีมะแม จ.ศ. 1209 (ราว พ.ศ. 2389-2390) ภูมิลำเนาอยู่บ้านราชบุรณ แขวงจังหวัดพระประแดง[2] (ปัจจุบันคือเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร) ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร โดยมีพระพรหมมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยธร (ด้วง) เป็นพระกรรมวาจาจารย์[3] ได้ฉายาว่า ฐานจาโร

ท่านศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่หลายปี จนปีชวด พ.ศ. 2419 ได้เข้าสอบที่พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เป็นเปรียญธรรม 4 ประโยค ต่อมาปีมะเส็ง พ.ศ. 2424 ได้เข้าสอบอีกได้เปรียญธรรม 5 ประโยค

เมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเลือกพระมหาเปรียญจากวัดโสมนัสวิหารมาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งขณะนั้นมีพระมหาเดช ฐานจาโร กับพระมหายัง เขมาภิรโต ได้ทูลปรึกษาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ทราบว่าพระมหายังเชี่ยวชาญเทศนาจึงเป็นที่นิยมของคฤหัสถ์ แต่พระมหาเดชเป็นที่รักใคร่นับถือของเพื่อนบรรพชิตมากกว่า ที่สุดทรงตัดสินพระทัยตั้งพระมหาเดชเป็นพระราชาคณะไปครองวัดเทพศิรินทราวาสตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2427[4]

นอกจากนี้ ท่านยังได้เป็นพระอุปัชฌาย์และกรรมวาจาจารย์ในการอุปสมบทกุลบุตรจำนวนมาก เช่น ได้รับเลือกจากพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) ให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าพระมนุษยนาคมานพ คราวทรงทำทัฬหีกรรม[5] ได้สั่งสอนอุบาสกอุบาสิกาให้เลื่อมใสในพระธรรมและรักษาศีล ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฝ่ายบรรพชิต ในตำแหน่งสภานายก[1] เคยตามเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสไปตรวจการพระศาสนาในหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก เป็นต้น[3]

ลำดับสมณศักดิ์[แก้]

  • 30 มิถุนายน พ.ศ. 2427 ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระอริยมุนี มีนิตยภัตเดือนละ 4 ตำลึง ได้รับตาลปัตรแฉกหักทองขวางเป็นเครื่องยศ[3]
  • 17 มีนาคม ร.ศ. 111 เลื่อนเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระเทพกระวี ศรีวิสุทธินายก ตรีปิฎกปรีชา มหาคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตรเดือนละ 18 บาท[6] ได้รับพระราชทานตาลปัตรแฉกหักทองขวางประดับพลอย กับไตรแพร 1 สำรับ[7]
  • 20 ธันวาคม ร.ศ. 113 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์ ญาณวิสาระทะนายก ตรีปิฎกปรีชา มหาคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตรเดือนละ 5 ตำลึง[8] แต่ในวันดังกล่าวท่านอาพาธ ไม่ได้มารับสัญญาบัตร จึงโปรดให้เจ้าพนักงานนำไปถวายถึงพระอารามในวันที่ 22 ธันวาคม ศกนั้น[9]

มรณภาพ[แก้]

พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เดช ฐานจาโร) อาพาธเป็นโรคริดสีดวง มีโลหิตออกมาก อาการเรื้อรังอยู่นาน แพทย์หลายคนแม้แต่แพทย์หลวง เช่น หม่อมเจ้าภูลสวัสดิ์ ทินกร มารักษาก็ไม่หาย จนวันที่ 14 มกราคม ร.ศ. 113 เริ่มมีอาการหอบมาก และถึงแก่มรณภาพเมื่อเวลา 3 โมงเช้าวันนั้น[3][10] (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2438) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอาลัยเสียดายเป็นอย่างมาก โปรดให้พระราชทานโกศเหลี่ยมราชนิกูลเป็นเกียรติยศเป็นกรณีพิเศษ[3]

วันที่ 28 เมษายน ร.ศ. 114 เวลาค่ำ โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพรหมวรานุรักษ์ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมไตรโลกาจารย์ ณ เมรุหลังพลับพลาอิศริยาภรณ์[11]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตราตั้งกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย, เล่ม 12, ตอน 41, 12 มกราคม ร.ศ. 114, หน้า 385
  2. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 176
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 แจ้งความกระทรวงธรรมการ เรื่อง พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เดช) มรณภาพ, หน้า 380
  4. "วัดเทพศิรินทราวาส ยุคที่ 2 พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นเจ้าอาวาส". สมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. พระประวัติตรัสเล่า, หน้า 67
  6. ราชกิจจานุเบกษา, คำประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 9, ตอนที่ 52, 26 มีนาคม ร.ศ. 111, หน้า 462
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 9, ตอนที่ 52, 26 มีนาคม ร.ศ. 111, หน้า 461
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 11, ตอนที่ 39, 23 ธันวาคม ร.ศ. 113, หน้า 313
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งคณะสงฆ์ , เล่ม 11, ตอนที่ 39, 23 ธันวาคม ร.ศ. 113, หน้า 308
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวตายในกรุง, เล่ม 11, ตอนเพิ่มเติม 44, 31 มกราคม ร.ศ. 113, หน้า 181
  11. ราชกิจจานุเบกษา, การเมรุพระธรรมไตรโลกาจารย์ที่วัดเทพศิรินธราวาศ , เล่ม 12, ตอนที่ 5, 5 พฤษภาคม ร.ศ. 114, หน้า 34-35
บรรณานุกรม