นาค
ภาพแกะสลักนาคที่ปัทมีคูหามนเทียร ศิลปะกรณาฏกะ | |
กลุ่ม | สัตว์ในนิยาย |
---|---|
กลุ่มย่อย | เทพแห่งน้ำ, เทพแห่งความคุ้มครอง, เทพแห่งงู |
สัตว์คล้ายคลึง | มังกร (มีความสัมพันธ์กับมังกรจีน, มังกรญี่ปุ่น, มังกรเกาหลี, มังกรเวียดนาม, Druk มังกรภูฏาน, และ Bakunawa มังกรฟิลิปปินส์) |
เทพปกรณัม | ประมวลเรื่องปรัมปราฮินดู ประมวลเรื่องปรัมปราพุทธ |
ชื่ออื่น | ภุชงค์ ภุชคะ ภุชงคมะ |
ภูมิภาค | เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
ถิ่นที่อยู่ | บาดาล, แหล่งน้ำ, และถ้ำ |
ตามคติหลายศาสนาในเอเชีย นาค (สันสกฤต: नाग Nāga) คืองูใหญ่มีหงอน[1] อาศัยในเมืองบาดาล ในทางประติมานวิทยามักแสดงในสามรูปแบบคือ มนุษย์มีงูที่ศีรษะ งู หรือครึ่งงูครึ่งมนุษย์[2] นาคเพศหญิงเรียกว่านาคี[3] นาคผู้เป็นหัวหน้าเรียกว่าพญานาค[4][5] ถือเป็นสัตว์ในนิยายที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องปรัมปราในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ศัพทมูล
[แก้]ในภาษาสันสกฤต คำว่า "นาค" (nāgá; नाग) หมายถึง งูเห่าสายพันธุ์งูเห่าอินเดีย (Naja naja) คำเหมือนกันกับนาค คือ ผณิน (फणिन्) โดยทั่วไปแล้วมีคำที่ความหมายเหมือน "นาค" อยู่หลายคำ หนึ่งในคำที่ใช้มากคือคำว่า sarpá (सर्प) ในบางครั้งคำว่านาคเองก็ถูกใช้ในความหมายทั่วไปว่าหมายถึง "งู"[6]
ศาสนาฮินดู
[แก้]แต่ในความเชื่อของฮินดู นาคเป็นสิ่งมีชีวิตกึ่งเทพ (semidivine) ที่มีพลังอำนาจ วิเศษ ภูมิใจ และมหัศจรรย์ ด้วยสถานะความเป็นกึ่งเทพจึงอาจอนุมานรูปลักษณะทางกายภาพของนาคว่าเป็นมนุษย์, กึ่งมนุษย์กึ่งนาค หรือเป็นลักษณะนาคทั้งหมด นาคอาศัยอยู่ในโลกที่เรียกว่า "บาดาล" ซึ่งเต็มไปด้วยอัญมณี ทองคำ และสมบัติทางโลกอื่น ๆ นอกจากนี้นาคยังมีความเกี่ยวพันกับพื้นน้ำ เช่น แม่น้ำ ทะเลสาบ ทะเล หรือแม้แต่บ่อน้ำ และถือว่าเป็นผู้พิทักษ์สมบัติ[7] พลังอำนาจและพิษของนาคทำให้นาคเป็นไปได้ว่าจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ อย่างไรก็ตามนาคมักปรากฏอยู่ในฐานะตัวเองที่เป็นประโยชน์ในตำนานฮินดู เช่นในสมุทรมณฑล ซึ่งพญานาคนามว่าวาสุกีซึ่งประทับรอบพระศอของพระศิวะได้มาเป็นเชือกสำหรับการกวนน้ำในเกษียรสมุทร[8] ศัตรูตลอดกาลของพวกมันคือ ครุฑ[9]
พระวิษณุนั้นดั้งเดิมแล้วมีการสร้างรูปเคารพในรูปลักษณะที่ทรงมีพญานาคนามว่าเศษะประทับปกคลุม หรือประทับนอนบนพญานาคนามว่าเศษะ อย่างไรก็ตามประติมานวิทยานี้ได้ขยายออกไปตามเทพองค์อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับในพระคเณศซึ่งปรากฏนาคในหลายลักษณะ ทั้งประทับคล้องพระศอของพระคเณศ[10] ใช้เป็นด้ายศักดิ์สิทธิ์ (สันสกฤต: ยัชโญปวีตะ; yajñyopavīta),[11] ประทับคล้องพระวรกายของพระคเณศ หรือแแต่ในลักษณะเป็นบัลลังก์ให้พระคเณศประทับ[12] พระศิวะมักปรากฏในรูปเคารพพร้อมนาคในลักษณะคล้ายมาลัยเช่นกัน[13] Maehle (2006: p. 297) ระบุว่า "ปตัญชลีนั้นเชื่อกันว่าเป็นการประจักษ์ของความเป็นนิรันดร์"
ศาสนาพุทธ
[แก้]นาคในศาสนาพุทธ ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกระบุว่า นาคแบ่งออกเป็น 4 จำพวก ได้แก่ จำพวกที่ 1 เกิดแล้วโตทันที จำพวกที่ 2 เกิดจากสิ่งหมักหมม จำพวกที่ 3 เกิดจากไข่ จำพวกที่ 4 เกิดจากครรภ์[14] นอกจากนี้ นาคที่เกิดบนบกสามารถเนรมิตตนเฉพาะบนบก ส่วนนาคที่เกิดในน้ำสามารถเนรมิตตนเฉพาะในน้ำ แต่ไม่สามารถเนรมิตตนได้ในขณะเกิด ลอกคราบ นอนหลับ สมสู่ และตาย[15] ในศาสนาพุทธเชื่อว่านาคอาศัยทั้งในน้ำ เช่นลำธาร แม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร และบนบกเช่นในถ้ำ
นาคเป็นบริวารของท้าววิรูปักษ์ หนึ่งในโลกบาลผู้พิทักษ์ทิศตะวันตก นาคต่าง ๆ ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์บนเขาพระสุเมรุ เพื่อปกป้องชั้นดาวดึงส์จากอสูร
หนึ่งในนาคที่เป็นที่รู้จักกันดีในศาสนาพุทธเป็นพญานาคที่ปรากฏในมุจจลินทสูตรว่า ระหว่างที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข เกิดฝนฟ้าคะนองรุนแรง พญานาคจึงได้ขนดรอบพระพุทธองค์แล้วแผ่พังพานปรกพระเศียรของพระพุทธเจ้าเพื่อมิให้ทรงต้องฝน[16] หลังจากฝนหยุด พญานาคได้คลายขนดออกและแปลงกายเป็นชายหนุ่มยืนพนมมือถวายความเคารพอยู่เฉพาะพระพักตร์[17]
ความเชื่อท้องถิ่น
[แก้]ประเทศศรีลังกา
[แก้]ชาวนาค (Naga people) มีความเชื่อกันว่าเป็นชนเผ่าโบราณที่ครั้งหนึ่งเคยอาศัยอยู่ในประเทศศรีลังกา มีการอ้างถึงในคัมภีร์โบราณ เช่น มหาวงศ์, มณิเมกไล
ประเทศไทย
[แก้]ในความเชื่อของวัฒนธรรมร่วมไทย-ลาว มีการนับถือนาคในลักษณะเป็นเทพแห่งน้ำ และมีความเชื่อว่าในแม่น้ำโขงนั้นมีนาคอาศัยอยู่ ตามตำนาน[โปรดขยายความ] สัตว์จำพวกงู, แมงป่อง, ตะขาบ, คางคก มีพิษจากพิษที่นาคได้คายทิ้งไว้[ต้องการอ้างอิง] ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อว่า แม่น้ำโขงเกิดจากการแถตัวของพญานาค 2 ตน จึงเกิดเป็นแม่น้ำโขงและแม่น้ำน่าน นอกจากนี้ยังรวมถึงบั้งไฟพญานาค โดยมีความเชื่อว่า เกิดจากการกระทำของพญานาค[18]
ในฐานะเทพแห่งน้ำ
[แก้]นาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ จึงปรากฏความเชื่อเรื่องนาคที่เกี่ยวกับน้ำไว้ในด้านต่าง ๆ ดังเช่น ในตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคนามว่า พันธุ แปลงกายเป็นพราหมณ์มาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมือง 4 ด้าน แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองนาคพันธุสิงหนวัติ[19] นอกจากนี้ยังปรากฏความเชื่อเรื่องนาคในคำเสี่ยงทายปริมาณของน้ำและฝนที่จะตกในแต่ละปี เรียกว่า "นาคให้น้ำ" จำนวนนาคให้น้ำมีตั้งแต่ 1 ถึง 7 ตัว ถ้าปีไหนอุดมสมบูรณ์มีน้ำมากเรียกว่า "นาคให้น้ำ 1 ตัว" แต่หากปีไหนแห้งแล้งเรียกว่าปีนั้น "มีนาคให้น้ำ 7 ตัว" ด้วยความเชื่อว่านาคเกี่ยงกันให้น้ำ แต่ละตัวจึงกลืนน้ำไว้ในท้องไม่ยอมพ่นน้ำลงมา ซึ่งคำทำนายเรื่องนาคให้น้ำนี้ จะปรากฏเห็นได้ชัดที่สุดในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันพืชมงคลของแต่ละปี[20]
ในงานศิลปะ
[แก้]ในประติมากรรมไทยและลาว มักจะเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคได้เสมอ ในงาน จิตรกรรม ประติมากรรม และหัตถกรรม นาคเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทางสถาปัตยกรรมของวัดและวัง ตามคตินิยมที่ว่า "นาคยิ่งใหญ่คู่ควรกับสถาบันอันสูงส่ง" เช่นที่พบในการสร้าง นาคสะดุ้ง ที่ทอดลำตัวยาวจากแปหาญถึงหางหงส์, นาคลำยอง ซึ่งเป็นป้านลมหลังคาโบสถ์ ที่ต่อเชื่อมกับนาคสะดุ้ง, นาคเบือน, นาคลำยอง และนาคทันต์ หรือคันทวยรูปนาค และแม้แต่ในโขนเรือของเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ในขบวนเรือกระบวนพยุหยาตราชลมารค นอกจากนี้ในประเทศไทยมีการนำความเชื่อเรื่องการเกิดพระธันวันตริ เทพเจ้าแห่งการแพทย์ในคติฮินดู และน้ำอมฤต จากการกวนเกษียรสมุทร มาเกี่ยวพันกับสัญลักษณ์ของการแพทย์ในประเทศไทย โดยได้นำลักษณะของนาคมาประกอบโดยเชื่อมโยงกับตำนานดังกล่าวมาประยุกต์ใช้แทนงูในสัญลักษณ์การแพทย์สากลคทาแอสคลีเพียส และคทางูไขว้ที่มักถูกใช้สลับกัน ดังที่พบในตราประจำสภาการแพทย์แผนไทย[21], สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย และในตราเดิมของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ[22] เป็นต้น
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 617
- ↑ Jones, Constance; Ryan, James D. (2006). Encyclopedia of Hinduism (ภาษาอังกฤษ). Infobase Publishing. p. 300. ISBN 9780816075645.
- ↑ "Sanskrit Dictionary". sanskritdictionary.com. สืบค้นเมื่อ 2018-09-27.
- ↑ Elgood, Heather (2000). Hinduism and the Religious Arts. London: Cassell. p. 234. ISBN 0-304-70739-2.
- ↑ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 801
- ↑ Apte, Vaman Shivram (1997). The student's English-Sanskrit dictionary (3rd rev. & enl. ed.). Delhi: Motilal Banarsidass. ISBN 81-208-0299-3., p. 423. The first definition of nāgaḥ given reads "A snake in general, particularly the cobra." p.539
- ↑ "Naga | Hindu mythology" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-05-11.
{{cite news}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|encyclopedia=
ถูกละเว้น (help) - ↑ "Why was vasuki used in Samudra Manthan great ocean Churning". Hinduism Stack Exchange. สืบค้นเมื่อ 2018-05-11.
- ↑ "Garuda | Hindu mythology" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-05-11.
{{cite news}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|encyclopedia=
ถูกละเว้น (help) - ↑ For the story of wrapping Vāsuki around the neck and Śeṣa around the belly and for the name in his sahasranama as Sarpagraiveyakāṅgādaḥ ("Who has a serpent around his neck"), which refers to this standard iconographic element, see: Krishan, Yuvraj (1999), Gaņeśa: Unravelling An Enigma, Delhi: Motilal Banarsidass Publishers, ISBN 81-208-1413-4, pp=51-52.
- ↑ For text of a stone inscription dated 1470 identifying Ganesha's sacred thread as the serpent Śeṣa, see: Martin-Dubost, p. 202.
- ↑ For an overview of snake images in Ganesha iconography, see: Martin-Dubost, Paul (1997). Gaņeśa: The Enchanter of the Three Worlds. Mumbai: Project for Indian Cultural Studies. ISBN 81-900184-3-4, p. 202.
- ↑ Flood, Gavin (1996). An Introduction to Hinduism. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 0-521-43878-0.; p. 151
- ↑ "Indian Nagas and Draconic Prototypes" in: Ingersoll, Ernest, et al., (2013). The Illustrated Book of Dragons and Dragon Lore. Chiang Mai: Cognoscenti Books. ASIN B00D959PJ0
- ↑ Brahmavamso, Ajahn. "VINAYA The Ordination Ceremony of a Monk".
- ↑ P. 72 How Buddhism Began: The Conditioned Genesis of the Early Teachings By Richard Francis Gombrich
- ↑ มุจจลินทสูตร, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อุทาน
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2 October 2019). "ตำนานกำเนิด โขง-ชี-มูล-หนองหาน สายน้ำแห่งชีวิตของคนอีสาน". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ มานิต วัลลิโภดม (25 October 2018). "สำรวจความเชื่อ "นาคสร้างเมืองมนุษย์" ที่ภายหลังคือเมือง "เชียงแสน"". ศิลปวัฒนธรiม.
- ↑ กิเลน ประลองเชิง (8 September 2011). "นาคให้น้ำ". ไทยรัฐ.
- ↑ สภาการแพทย์แผนไทย. "ความหมายของโลโก้สภาการแพทย์แผนไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-05-03. สืบค้นเมื่อ 2020-05-21.
- ↑ เอกสารประชาสัมพันธ์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (2561)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Béer, Robert (1999), The Encyclopedia of Tibetan Symbols and Motifs, Shambhala, ISBN 978-1-57062-416-2
- Müller-Ebeling, Claudia; Rätsch, Christian; Shahi, Surendra Bahadur (2002), Shamanism and Tantra in the Himalayas, Inner Traditions, ISBN 9780892819133
- Maehle, Gregor (2007), Ashtanga Yoga: Practice and Philosophy, New World Library, ISBN 978-1-57731-606-0
- Norbu, Chögyal Namkhai (1999), The Crystal and The Way of Light: Sutra, Tantra and Dzogchen, Snow Lion Publications, ISBN 1-55939-135-9
- Hāṇḍā, Omacanda (2004), Naga cults and traditions in the western Himalaya, Indus Publishing, ISBN 9788173871610
- Visser, Marinus Willem de (1913), The dragon in China and Japan, Amsterdam:J. Müller
- Vogel, J. Ph. (1926), Indian serpent-lore; or, The Nāgas in Hindu legend and art, London, A. Probsthain, ISBN 9788120610712