ซุนโจย
ซุนโจย (สฺวิน ซฺวี่) | |
---|---|
荀勗 / 荀勖 | |
หัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) | |
ดำรงตำแหน่ง ป. คริสต์ทศวรรษ 280 – ค.ศ. 289 | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
ที่ปรึกษาผู้ใหญ่ราชสำนัก (光祿大夫 กวางลู่ต้าฟู) | |
ดำรงตำแหน่ง ?–? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
นักเขียนผู้ใหญ่ (著作 จู้จั้ว) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 266–? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 266–? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 264–266 | |
กษัตริย์ | โจฮวน |
ผู้กำกับสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書監 จงชูเจียน) | |
ดำรงตำแหน่ง 266–? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
เจ้าพนักงานหอจดหมายเหตุ (記室 จี้ชื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ?–? | |
กษัตริย์ | โจมอ / โจฮวน |
ผู้พิพากษาในสังกัดเสนาบดีตุลาการ (廷尉正 ถิงเว่ย์เจิ้ง) | |
ดำรงตำแหน่ง ?–? | |
กษัตริย์ | โจมอ / โจฮวน |
ผู้ช่วยทหารมหาดเล้ก (從事中郎 ฉงชื่อจงหลาง) | |
ดำรงตำแหน่ง ?–? | |
กษัตริย์ | โจฮอง / โจมอ |
นายอำเภออานหยาง (安陽令 อานหยางลิ่ง) | |
ดำรงตำแหน่ง ?–? | |
กษัตริย์ | โจฮอง / โจมอ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ[a] |
เสียชีวิต | ธันวาคม ค.ศ. 289[b] |
บุตร |
|
บุพการี |
|
ญาติ |
|
อาชีพ | นักดนตรี, จิตรกร, ขุนนาง, นักเขียน |
ชื่อรอง | กงเจิง (公曾) |
สมัญญานาม | เฉิงโหว (成侯) |
ซุนโจย[1] (ป. ค.ศ. 221 – 289)[2] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า สฺวิน ซฺวี่ (จีน: 荀勗 หรือ 荀勖; พินอิน: Xún Xù) ชื่อรอง กงเจิง (จีน: 公曾; พินอิน: Gōngzēng) เป็นนักดนตรี จิตรกร ขุนนาง และนักเขียนชาวจีนผู้มีชีวิตในช่วงปลายยุคสามก๊กและต้นยุคราชวงศ์จิ้นของจีน ซุนโจยเกิดในตระกูลซุน (荀 สฺวิน) ที่ทรงอิทธิพล เป็นเหลนชายของซุนซอง และเป็นญาติห่าง ๆ ฝ่ายมารดาของครอบครัวของจงฮิว (ซุนโจยเป็นหลานตาของพี่ชายหรือน้องชายของจงฮิว) ซุนโจยรับราชการในรัฐวุยก๊กในช่วงปลายยุคสามก๊กก่อนจะได้รับราชการกับราชวงศ์จิ้น[3][4]
ภูมิหลังครอบครัวและประวัติช่วงต้น
[แก้]ซุนโจยเกิดในตระกูลซุน (荀 สฺวิน) ที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีบ้านเกิดของบรรพบุรุษอยู่ที่อำเภออิ่งอิน (潁陰縣 อิ่งอินเซี่ยน) เมืองเองฉวน (穎川郡 อิ่งชฺวานจฺวิ้น) ซึ่งอยู่ในนครสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน ปู่ทวดของซุนโจยคือซุนซอง (荀爽 สฺวิน สฺว่าง) มีตำแหน่งเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ปู่ของซุนโจยคือสฺวิน เฝ่ย์ (荀棐) รับราชการเป็นนายกองพันทหารเกาทัณฑ์ฝึกหัด (射聲校尉 เช่อเชิงเซี่ยวเว่ย์)[5]
บิดาของซุนโจยคือสฺวิน ซี (荀肸) เสียชีวิตก่อนเวลาก่อนควร ซุนโจยจึงได้รับการเลี้ยงดูโดยจงฮิวผู้เป็นพี่ชายหรือน้องชายของตา จงฮิวมีตำแหน่งเป็นราชครู (太傅 ไท่ฟู่) ในราชสำนักของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีนหลังการสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่นตะวันอกก ซุนโจยในวัยเด็กเป็นคนเรียนรู้เร็วและสามารถเขียนความเรียงได้ขณะอายุเพียง 10 ปี จงฮิวเคยกล่าวว่าซุนโจยจะเติบโตขึ้นมาเป็นเหมือนซุนซองผู้ปู่ทวด[6]
ในบรรดาญาติของซุนโจย คนที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ซุนฮก (荀彧 สฺวิน ยฺวี่), สฺวิน เยฺว่ (荀悅) และซุนฮิว (荀攸 สฺวิน โยว) ซุนฮกและซุนฮิวเป็นญาติที่อยู่ขึ้นไป 2 รุ่นจากซุนโจย ส่วนซุนฮิวเป็นญาติที่อยู่ขึ้นไป 1 รุ่นจากซุนโจย ซุนฮกและซุนฮิวเป็นรัฐบุรุษที่ทรงอิทธิพลในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและเป็นที่ปรึกษาของขุนศึกโจโฉผู้วางรากฐานของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก สฺวิน เยฺว่เป็นขุนนาง นักประวัติศาสตร์ และบัณฑิตลัทธิขงจื๊อในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก
รับราชการกับรัฐวุยก๊ก
[แก้]เมื่อซุนโจยเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ซุนโจยก็เป็นชายหนุ่มที่คงแก่เรียนและรอบรู้แล้ว ซุนโจยสนใจในเรื่องการบริหารราชการและการเมืองจึงเริ่มรับราชการในฐานะผู้ช่วยของโจซองขุนพลผู้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของโจฮองจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของวุยก๊ก ต่อมาได้ย้ายไปเป็นเลขาธิการการสื่อสารในสำนักราชเลขาธิการราชวัง ในปี ค.ศ. 249 โจซองถูกประหารชีวิตหลังเสียอำนาจในรัฐประหารที่ก่อขึ้นโดยสุมาอี้ที่เป็นผู้สำเร็จราชการร่วม ในบรรดาเหล่าอดีตผู้ช่วยของโจซองไม่มีใครกล้ารับศพของโจซองมาประกอบพิธีศพให้เพราะเกรงว่าพวกตนจะถูกพาดพิง ซุนโจยจึงรับหน้าที่เป็นผู้จัดงานศพให้โจซอง และกระตุ้นคนอื่น ๆ ให้ทำตามตน[7]
ภายหลังซุนโจยขึ้นเป็นนายอำเภอของอำเภออานหยาง (安陽縣 อานหยางเซี่ยน) และผู้ช่วยของขุนพลทหารม้าทะยาน ระหว่างดำรงตำแหน่งในอำเภออานหยาง ซุนโจยได้รับความเคารพรักจากราษฎรในพื้นที่อย่างมากจนถึงขั้นที่ราษฎรสร้างศาลเพื่อเป็นเกียรติแก่ซุนโจย ต่อมาซุนโจยได้รับการแต่งตั้งแต่ในตำแหน่งต่อไปนี้: ผู้พิพากษาในสังกัดเสนาบดีตุลาการ (廷尉正 ถิงเว่ย์เจิ้ง), ที่ปรึกษาทัพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเจียวผู้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนที่ 3 ของตระกูลสุมา, เจ้าพนักงานหอจดหมายเหตุ (記室 จี้ชื่อ) ซุนโจยยังได้รับการตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว)[8]
ในปี ค.ศ. 260 โจมอจักรพรรดิลำดับที่ 4 ของวุยก๊กทรงพยายามก่อรัฐประหารเพื่อชิงพระราชอำนาจคืนจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเจียวผู้ผูกขาดอำนาจรัฐตั้งแต่ปี ค.ศ. 255 ซือหม่า ก้าน (司馬榦) ผู้เป็นน้องชายของสุมาเจียวได้ข่าวเรื่องการก่อรัฐประหารจึงพยายามจะเข้าพระราชวังเพื่อช่วยเหลือสุมาเจียวพี่ชาย แต่ซุน โย่ว (孫佑) นายทหารรักษาประตูหลักไม่ยอมให้ซือหม่า ก้านเข้า ซือหม่า ก้านจึงเข้าพระราชวังผ่านประตูอื่น เมื่อสุมาเจียวรู้สาเหตุที่ซือหม่า ก้านเข้ามาช้า จึงต้องการจะสั่งประหารชีวิตซุน โย่วและครอบครัว แต่ซุนโจยทัดทานสุมาเจียวและชี้ให้เห็นว่าเป็นการไม่ยุติธรรมที่จะลงโทษครอบครัวของซุน โย่วไปด้วย สุมาเจียวฟังคำแนะนำของซุนโจยและลงโทษเฉพาะซุน โย่วโดยการปลดจากตำแหน่งลงเป็นสามัญชน[9]
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ลู่ อี๋ (路遺) นายทหารม้าขออนุญาตจากสุมาเจียวเพื่อจะแทรกซึมเข้าไปในจ๊กก๊กซึ่งเป็นรัฐอริของวุยก๊กทางตะวันตกเฉียงใต้ และจะลอบสังหารเหล่าผู้นำของจ๊กก๊ก ซุนโจยแนะนำสุมาเจียวคัดแค้นการลอบสังหารเพราะตนเห็นว่าการเอาชนะทัพจ๊กก๊กในยุทธการนั้นเป็นวิธีการที่ดีกว่าในการโน้มน้าวให้ผู้คนจ๊กก๊กยอมจำนน และเพื่อให้สุมาเจียวมีชื่อเสียงที่ดีมากยิ่งขึ้น สุมาเจียวชื่นชมซุนโจยสำหรับคำแนะนำที่ดีนี้[10]
ในปี ค.ศ. 264 จงโฮยขุนพลวุยก๊กเริ่มก่อกบฏต่อต้านสุมาเจียวภายหลังจากการนำทัพวุยก๊กพิชิตจ๊กก๊ก ในเวลานั้น สุมาเจียวได้ยินเพียงข่าวลือเกี่ยวกับการก่อกบฏและยังไม่มีหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากตลอดมาสุมาเจียวปฏิบัติต่อจงโฮยเป็นอย่างดี สุมาเจียวจึงไม่เต็มใจจะเชื่อว่าจงโฮยจะก่อกบฏต่อตน หลังซุนโจยเตือนสุมาเจียวไม่ให้ไว้ใจจงโฮย สุมาเจียวจึงนำทัพไปตั้งมั่นที่เตียงอั๋น (長安 ฉางอาน) เพื่อเป็นมาตรการป้องกัน กัว อี้ (郭奕) และหวาง เชิน (王深) โน้มน้าวสุมาเจียวให้เนรเทศซุนโจยเพราะพวกตนกลัวว่าซุนโจยจะเข้าข้างจงโฮย โดยให้เหตุผลว่าเพราะซุนโจยได้รับการเลี้ยงดูโดยตระกูลจง (จงโฮยเป็นบุตชายของจงฮิว) แต่สุมาเจียวเพิกเฉยต่อคำของทั้งสอง และยังคงปฏิบัติต่อซุนโจยเช่นเดิม และถึงขนาดอนุญาตให้ซุนโจยนั่งบนรถม้าคันเดียวกับตน ก่อนหน้านี้เมื่อสุมาเจียวสั่งจงโฮยให้นำทัพวุยก๊กยกไปพิชิตจ๊กก๊ก ซุนโจยได้ตั้งให้อุยก๋วนให้กำกับดูแลการศึก ภายหลังอุยก๋วนมีบทาทสำคัญในการปราบกบฏจงโฮย หลังภูมิภาคจ๊กถูกสยบลง ซุนโจยติดตามสุมาเจียวกลับไปลกเอี๋ยง (洛陽 ลั่วหยาง) นครหลวงของวุยก๊ก ซุนโจย, หุยสิว และเอียวเก๋าได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลคณะองคมนตรี[11]
หลังการพิชิตจ๊กก๊ก สุมาเจียววางแผนจะพิชิตง่อก๊กที่เป็นอีกหนึ่งรัฐอริของวุยก๊ก สุมาเจียวจึงส่งทูตนำจดหมายไปถึงซุนโฮจักรพรดิง่อก๊ก ตอนแรกสุมาเจียวสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาร่างจดหมายถึงที่จะส่งถึงซุนโฮ จากร่างจดหมายจำนวนมากที่สุมาเจียวอ่าน ในที่สุดสุมาเจียวก็เลือกร่างจดหมายที่เขียนโดยซุนโจย ซุนโฮทรงตกลงที่จะดำรงสันติภาพกับวุยก๊กหลังทรงอ่านจดหมาย สุมาเจียวกล่าวว่าจดหมายที่ซุนโจยเขียนมีอานุภาพเทียบเท่ากับทหาร 100,000 นาย ในช่วงกลางปี ค.ศ. 264 โจฮวนจักรพรรดิลำดับที่ 5 ของวุยก๊กทรงตั้งให้สุมาเจียวในฐานันดรศักดิ์เป็น "จีนอ๋อง" (晉王 จิ้นหวาง) ซุนโจยได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) และมีบรรดาศักดิ์เป็นอานหยางโหว (安陽侯)[c] และได้รับศักดินา 1,000 ครัวเรือน[12]
รับราชการกับราชวงศ์จิ้น
[แก้]หลังการเสียชีวิตของสุมาเจียวในเดือนกันยายน ค.ศ. 265 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 โจฮวนจักรพรรดิวุยก๊กทรงสละราชบัลลังก์ให้กับสุมาเอี๋ยนบุตรชายของสุมาเจียว ผู้ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นแทนที่วุยก๊ก หลังสุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชย์และเป็นที่รู้จักทางประวัติศาสตร์ในพระนามว่าจักรพรรดิจิ้นอู่ตี้ (晉武帝) พระองค์ทรงตั้งให้ซุนโจยมีบรรดาศักดิ์เป็นเป็นก๋งแห่งเมืองเจปัก (濟北郡公 จี้เป่ย์จฺวิ้นกง) แต่ซุนโจยทูลปฏิเสธการรับบรรดาศักดิ์หลังเห็นว่าเอียวเก๋าก็ปฏิเสธการรับบรรดาศักดิ์เช่นกัน แต่ซุนโจยยังคงบรรดาศักดิ์เฮา (侯 โหว) ในชื่อบรรดาศักดิ์ "เฮาแห่งเจปัก" (濟北侯 จี้เป่ย์โหว) ภายหลังซุนโจยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้กำกับสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書監 จงชูเจียน), ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) และนักเขียนผู้ใหญ่ (著作 จู้จั้ว) จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนยังทรงมีรับสั่งให้ซุนโจยและกาอุ้นร่างกฎหมายของราชวงศ์จิ้น[13]
ในช่วงต้นศักราชเสียนหนิง (咸寧; ค.ศ. 275–280) จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนยกย่องให้ซุนโจย โจเป๋า และคนอื่น ๆ เป็นกลุ่มผู้บุกเบิกของราชวงศ์จิ้น และพระราชทานเกียรติให้ได้รับการการจารึกชื่อในศาลบรรพชนของราชวงศ์จิ้น ในช่วงปี ค.ศ. 280 เมื่อองโยยขออนุญาตนำทัพไปพิชิตง่อก๊ก (รัฐสุดท้ายของยุคสามก๊ก) ซุนโจยและกาอุ้นคัดค้านอย่างหนัก แต่จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงเพิกเฉยต่อการทัดทานของทั้งคู่ และมีรับสั่งให้องโยยและคนอื่น ๆ ให้นำทัพราชวงศ์จิ้นบุกง่อก๊ก การบุกประสบความสำเร็จและนำไปสู่การรวมจีนเป็นหนึ่งภายใต้ของราชวงศ์จิ้น เมื่อจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงประเมินความดีความชอบของซุนโจยในการช่วยพระองค์ร่างพระราชโองการ พระองค์จึงทรงตั้งให้บุตรชายคนหนึ่งของซุนโจยขึ้นเป็นเฮาระดับหมู่บ้าน (亭侯 ถิงโหว) พร่้อมศักดินา 1,000 ครัวเรือน ทั้งยังพระราชทานผ้าไหม 1,000 ม้วน[14] จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงยังตั้งให้สฺวิน เสี่ยน (荀顯) หลานปู่ของซุนโจยมีบรรดาศักดิ์เป็นอิ่งหยางถิงโหว (潁陽亭侯)[15]
ในช่วงเวลานั้นมีการหารือกันอย่างในราชสำนักในประเด็นเรื่องการคืนบรรดาศักดิ์ให้กับเหล่าผู้สูงศักดิ์และการอนุญาตให้ปกครองในเขตศักดินาของตน เมื่อจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนตรัสถามความเห็น ซุนโจยทูลแสดงความไม่เห็นด้วยเพราะตนเห็นว่าผู้สูงศักดิ์เหล่ายังดำรงตำแหน่งว่าการด้วย จึงอาจเพิกเฉยต่ออำนาจราชสำนักเมื่อกลับไปสู่เขตศักดินาของตน ซุนโจยยังชี้ให้เห็นถึงความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้น เช่นการแบ่งเขตศักดินาออกเป็นเมืองและอำเภอ รวมถึงความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้คนไม่พอใจเพราะการแบ่งเขตปกครองจะทำให้จะมีการโยกย้ายผู้อาศัยจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง ซุนโจยชี้ให้เห็นอีกว่าพวกตนต้องระดมทหารจากชายแดนและให้ทหารอยู่ใต้การบังคับบัญชาแบบกระจายอำนาจในเขตศักดินาต่าง ๆ เมื่อจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนตรัสถามซุนโจยให้พิจารณะความคิดเห็นของตนใหม่อีกครั้ง ซุนโจยทูลอธิบายเพิ่มเติมว่าแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดคือการคงสถานะเดิมไว้ เนื่องจากการกำหนดเขตแดนใหม่ระหว่างเขตศักดินาอาจจไปสู่ความไม่พอใจและความไม่สงบได้หากไม่จัดการอย่างรอบคอบ ซุนโจยยังชี้ให้เห็นว่ายังมีประเด็นสำคัญอื่น ๆ อีกมากที่ควรให้ความสนใจในทันที จึงควรมุ่งเน้นที่ประเด็นเหล่านั้นก่อน จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงเห็นว่าคำแนะนำของซุนโจยมีความเหมาะสมจึงทรงปฏิบัติตาม[16]
ในช่วงเวลานั้น ราชสำนักกำลังหารือเกี่ยวกับข้อเสนอที่จะลดจำนวนข้าราชการในแต่ละเมืองและแต่ละอำเภอลงประมาณครึ่งหนึ่ง เพื่อเพิ่มแรงงานสำหรับงานการเกษตร ซุนโจยยกตัวอย่างจากราชวงศ์ฮั่นและให้คำอธิบายขนาดยาวว่าเหตุใดตนจึงเห็นว่าการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการลดขั้นตอนของระบบในการบริหารราชการ ซุนโจยชี้ให้เห็นว่าการทำเช่นนี้จะช่วยป้องการข้าราชการไม่ให้กระทำทุจริต ปรับปรุงประสิทธิภาพของการบริหารราชการ และสร้างความไว้วางใจทางสังคมมากขึ้นในหมู่มวลชน ซุนโจยมักใช้การวิเคราะห์เชิงวิจารณ๋เช่นนี้ในการประเมิค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ของนโนยายของราชสำนัก[17]
ในช่วงศักราชไท่คาง (太康; 280–289) จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนออกพระราชโองการยกย่องซุนโจยในเรื่องความสามารถและความดีความชอบ และตรัสว่าซุนโจยมีความสามารถที่จะรับมอบหมายความรับผิดชอบที่สำคัญมากขึ้น จากนั้นพระองค์จึงทรงแต่งตั้งให้ซุนโจยเป็นที่ปรึกษาผู้ใหญ่ราชสำนัก (光祿大夫 กวางลู่ต้าฟู) ให้ปฏิบัติต่อซุนโจยเทียบเท่าเสนาบดีระดับซันกง (三公) รวมถึงอนุญาตให้ซุนโจยมำสำนักบริหารของตนเอง นอกเหนือจากตำแหน่งจากตำแหน่งที่มีอยู่แล้วคือตำแหน่งผู้กำกับสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書監 จงชูเจียน) และขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) ในช่วงเวลานั้น กาอุ้นและหลี่ อิ้น (李胤) เสียชีวิตไปแล้ว และตำแหน่งราชครูประจำองค์รัชทายาท (太子太傅 ไท่จื่อไท่ฟู่) ก็ว่างลง ซุนโจยเขียนฎีกาถวายจักรพรรดิสุมาเอี๋ยน เสนอชื่อหยาง เหยา (楊珧) ให้เป็นราชครูประจำองค์รัชทายาท และเสนอชื่ออุยก๋วนหรือชาน เทา (山濤) ให้เป็นเสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู) คนใหม่ จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงยอมรับข้อเสนอนี้ของซุนโจย[18]
ในฤดูใบไม้ร่วงของปีถัดมา เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายเมือง โดยมณฑลกุนจิ๋วได้รับผลกระทบหนักที่สุด ซุนโจยเขียนฎีกาถวายจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนและทูลเสนอให้ตนก่อตั้งสำนักดูแลการชลประทาน (都水使者 ตูฉุยฉือเจ่อ) เพื่อรับมือกับน้ำท่วมในอนาคต[19] ต่อมาในอีกวาระหนึ่ง ซุนโจยแต่งตั้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคืออิ่น เซี่ยน (伊羨) และเจ้า เสียน (趙咸) เป็นข้าราชบริพาร (舍人 เฉ่อเหริน) และมอบหมายให้ร่างกฎหมาย เมื่อจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนตรัสถามว่าเหตุใดจึงทำเช่นนั้น ซุนโจยจึงทูลอธิบายถึงความสำคัญของการมอบหมายความรับผิดชอบให้เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชา ซุนโจยยังชี้ให้เห็นด้วยว่าเหตุใดตนถึงเห็นว่าการมีข้าราชการที่มีหน้าที่มุ่งเน้นเพียงการร่างกฎหมายเพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องซ้ำซ้อน เนื่องจากหน้าที่ของข้าราชการเหล่านี้ทับซ้อนกับหน้าที่ของข้าราชการคนอื่น ๆ ดังนั้นจึงควรมอบหมายความรับผิดชอบเพิ่มเติมให้เหล่าข้าราชการที่มีหน้าที่อยู่แล้วจะเป็นการดีกว่า[20]
ซุนโจยระมัดระวังและรอบคอบในพฤติกรรมของตน เมื่อใดก็ตามที่มีการประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบาย หากซุนโจยมีบทบาทสำคัญในการวิ่งเต้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ซุนโจยก็จะเก็บงำความเกี่ยวข้องของตนไว้เป็นความลับ[21] สฺวิน เหลียง (荀良) ญาติคนหนึ่งของซุนโจยแนะนำซุนโจยให้บอกถึงความดีที่ตนทำให้คนอื่นได้รู้ เพื่อให้ได้รับความเคารพนับถือมากยิ่งขึ้น[22] อู๋ ถ่ง (武統) บุตรเขยของซุนโจยก็โน้มน้าวซุนโจยให้ดึงดูดผู้คนมาสนับสนุน[23] แต่ซุนโจยปฏิเสธที่จะฟังคำแนะนำของทั้งคู่ และเตือนเหล่าบุตรชายไม่ให้สร้างอิทธิพลทางการเมืองของตนเองและลืมฐานะของตนในฐานะข้าบริพารของจักรพรรดิ[24] ต่อมาจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงเลื่อนตำแหน่งให้ซุนโจยเป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง)[25]
ซุนโจยดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับสำนักราชเลขาธิการราชวังมาเป็นเวลายาวนานและสามารถเข้าถึงความลับของรัฐได้ หลังซุนโจยได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ ซุนโจยก็รู้สึกไม่พอใจและไม่เป็นสุข เมื่อมีบางคมาแสดงความยินดีที่ซุนโจยได้รับตำแหน่งใหม่ ซุนโจยก็แสดงความรู้สึกโกรธที่เสียตำแหน่งก่อนหน้าไป เมื่อซุนโจยมารับตำแหน่งหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ ซุนโจยประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาตามผลการปฏิบัติงานและไล่ออกผู้ที่ไม่สามารถทำงานตามที่ตนคาดหวัง จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนเคยตรัสกับซุนโจยว่าพระองค์หวังว่าซุนโจยจะเรียนรู้จากซุนฮกและซุนฮิวโดยการเลื่อนตำแหน่งให้ข้าราชการที่สมควร และปลดข้าราชการที่ทุจริตออก ไม่กี่เดือนต่อมาหลังซุนโจยรับตำแหน่งใหม่ มารดาของซุนโจยเสียชีวิต ซุนโจยจึงลาออกจากราชการและต้องการกลับไปบ้านไปไว้ทุกข์ แต่จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงไม่อนุญาตให้ซุนโจยกลับไปบ้าน และทรงส่งโจว ฮุย (周恢) ไปประกาศพระราชโองการสั่งให้ซุนโจยกลับไปปฏิบัติงานในตำแหน่ง[26]
ความเกี่ยวข้องกับกาอุ้น, เจี่ย หนานเฟิง และซือหม่า จง
[แก้]เมื่อจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงต้องการตั้งให้กาอุ้น (賈充 เจี่ย ชง) ไปรักษาภูมิภาคกวนต๋ง (關中 กวานจง) ซุนโจยบอกกับเฝิง ต่าน (馮紞) เพื่อนขุนนางว่าสถานะของพวกตนในราชสำนักขึ้นอยู่กับว่ากาอุ้นอยู่ในราชสำนักหรือไม่ พวกตนจึงควรทูลทัดทานจักรพรรดิไม่ให้ส่งกาอุ้นออกไปนอกนครหลวงลกเอี๋ยง ซุนโจยคิดจะทูลโน้มน้าวจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนให้จัดงานสมรสระหว่างรัชทายาทซือหม่า จง (司馬衷) กับเจี่ย หนานเฟิง (賈南風) บุตรสาวของกาอุ้น ด้วยวิธีการนี้ กาอุ้นที่เป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของรัชทายาทจะต้องยังอยู่ในลกเอี๋ยงต่อไป จากนั้นซุนโจยและเฝิง ต่านจึงร้องเพลงยกย่องบุตรสาวของกาอุ้นต่อหน้าจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนและพยายามทูลโน้มน้าวพระองค์ให้จัดงานสมรส ข้าราชการหลายคนรู้สึกรังเกียจพฤติกรรมประจบสอพลอของซุนโจยและเรียกซุนโจยว่าเป็นคนสอพลอ[27]
จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงทราบว่าซือหม่า จงมีภาวะบกพร่องทางพัฒนาการ จึงทรงกังวลว่าพระโอรสของพระองค์จะนำภัยพิบัติมาสู่ราชวงศ์จิ้น พะองค์จึงทรงมีรับสั่งให้ซุนโจยและเหอ เจี้ยว (和嶠) ให้สังเกตและประเมินซือหม่า จง ซุนโจยยกย่องซือหม่า จงในความเป็นรัชทายาทที่ทรงคุณธรรม ส่วนเหอ เจี้ยวทูลว่าซือหม่า จงทรงเป็นเหมือนแต่ก่อน เหอ เจี้ยวได้รับความนับถือเพราะทูลความจริงอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับซือหม่า จง ในขณะที่ซุนโจยถูกเยาะเย้ยว่าทูลความเท็จเพื่อเอาพระทัยจักรพรรดิ[28]
ในอีกวาระหนึ่ง เมื่อจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงมีพระประสงค์จะปลดเจี่ย หนานเฟิงจากตำแหน่งพระชายาของรัชทายาท ซุนโจยและเฝิง ต่านจึงรีบไปทูลวิงวอนให้จักรพรรดิทรงพิจารณาการตัดสินพระทัยของพระองค์อีกครั้ง และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการทัดทานไม่ให้พระองค์ปลดเจี่ย หนานเฟิง ผู้คนหลายคนเชื่อว่าซุนโจยอาจนำมาซึ่งการล่มสลายของราชวงศ์จิ้น และเปรียบซุนโจยในเชิงลบกับซุนจู (孫資 ซุน จือ) และเล่าฮอง (劉放 หลิว ฟ่าง) ซึ่งถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของการล่มสลายของวุยก๊ก[29]
ผลงานอื่น ๆ และเกร็ดประวัติ
[แก้]ซุนโจยเป็นผู้รับผิดชอบการประพันธ์ดนตรี บทเพลงบางเพลงที่ซุนโจยประพันธ์ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ซุนโจยเคยได้ยินเสียงของกระดิ่งวัวและคิดจะใช้กระดิ่งวัวเป็นเครื่องดนตรีเพื่อปรับแต่งบทเพลงให้ไพเราะยิ่งขึ้น[30]
เมื่อซุนโจยดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับห้องสมุดหลวง (秘書監 มี่ชูเจียน) จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนยังทรงมอบหมายให้ซุนโจยและจาง หฺวา (張華) ให้จัดรายการสิ่งสะสมในห้องสมุดหลวงให้เป็นหมวดหมู่เหมือนเปี๋ยลู่ (別錄) ของหลิว เซี่ยง (劉向) เมื่อมีการค้นพบม้วนตำราไม้ไผ่โบราณในสุสานโบราณที่เมืองจี๋ (汲郡 จี๋จฺวิ้น) ในปี ค.ศ. 279 จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงมอบหมายให้ซุนโจยคัดลอก จัดระเบียบ และรวบรวมตำรา ซุนโจยกระทำตามรับสั่งและจัดทำเป็นหนังสือชื่อจงจิง (中經) ซึ่งภายหลังได้เพิ่มเข้าไปในสิ่งสะสมของห้องสมุดหลวง[31]
ซุนโจยจัดตั้งสำนักศึกษาขึ้นเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การเขียนอักษรวิจิตรในรูปแบบของจงฮิวและหู เจา (胡昭)[32]
ครั้งหนึ่ง ระหว่างซุนโจยอยู่ในงานเลี้ยงของจักรพรรดิสุมาเอี๋ยน ซุนโจยบอกกับทุกคนว่าอาหารที่พวกตนกำลังรับประทานอยู่นั้นปรุงขึ้นด้วยไฟจากไม้ซึ่งผ่าน "ความยากลำบาก" มามากมาย ทุกคนไม่เชื่อคำของซุนโจย จักรพรรดิจึงมีรับสั่งให้เรียกตัวหัวหน้าคนครัวมาสอบถาม คนครัวทูลว่าตนใช้ไม้ของล้อรถม้าเก่าในการก่อไฟ ดังนั้นซุนโจยจึงพูดถูก คนทั้งหลายประทับใจในสติปัญญาของซุนโจย[33]
การเสียชีวิตและคำวิจารณ์
[แก้]ซุนโจยเสียชีวิตในช่วงปลายปี ค.ศ. 289 ในช่วงศักราชไท่คาง (太康; 280–289) ในรัชสมัยของจักรพรรดิสุมาเอี๋ยน[4] จักรพรรดิทรงแต่งตั้งย้อนหลังให้ซุนโจยเป็นเสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู) และพระราชทานสมัญญานามว่า "เฉิงโหว" (成侯) นอกจากนี้ยังพระราชทานเครื่องปั้นดินเผาจำนวนหนึ่งจากพระคลัง, ชุดข้าราชการ, เหริญเงิน 500,000 เหรียญ และผ้าไหม 100 ม้วนให้กับครอบครัวของซุนโจย พระองค์ยังทรงส่งราชเลขานุการ (御史 ยฺวี่ฉื่อ) เป็นผู้แทนพระองค์เข้าร่วมพิธีศพของซุนโจย[3]
ซุนโจยทำหน้าที่ในคณะองคมนตรีและรับผิดชอบเกี่ยวกับราชการลับเป็นเวลายาวนาน ซุนโจยไม่เป็นเพียงนักเขียนผู้มีความสามารถเท่านั้น แต่ยังเป็นนักคิดที่ลึกซึ้งผู้เข้าใจสถานะของตนในฐานะข้ารับใช้ของเจ้านายเป็นอย่างดี ซุนโจยรู้ว่าเจ้านายคาดหวังอะไรจากตน และปรับพฤติกรรมเพื่อเอาใจเจ้านาย นั่นเป็นเหตุผลที่ซุนโจยคงความโปรดปรานของจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนไว้ได้และใช้ชีวิตอย่างสุขสบายจนกระทั่งเสียชีวิต[34]
ครอบครัว
[แก้]ซุนโจยมีบุตรชาย 10 คน บุตรชายที่มีชื่อเสียงได้แก่ สฺวิน จี๋ (荀輯), สฺวิน ฟาน (荀籓) และสฺวิน จู่ (荀組) สฺวิน จี๋สืบทอดบรรดาศักดิ์ของบิดาและรับราชการในราชสำนักราชวงศ์จิ้น โดยมีตำแหน่งสูงสุดเป็นเสนาบดีกรมรักษาราชวัง (衛尉 เว่ย์เว๋ย์) ได้รับสมัญญานามหลังเสียชีวิตว่า "เจี่ยนโหว" (簡侯) สฺวิน จฺวิ้น (荀畯) บุตรชายของสฺวิน จี๋สืบทอดบรรดาศักดิ์และได้รับสมัญญานามหลังเสียชีวิตว่า "เลี่ยโหว" (烈侯) สฺวิน จฺวิ้นไม่มีบุตรชายเป็นทายาท บรรดาศักดิ์จึงตกทอดไปยังสฺวิน ฉือ (荀識) ผู้เป็นหลานอา[35]
สฺวิน จี๋มีบุตรชายอีกคนคือสฺวิน ชั่ว (荀綽) ชื่อรอง เยี่ยนชู (彥舒) สฺวิน ชั่วมีชื่อเสียงในด้านความสามารถทางวรรณกรรมและเขียนจิ้นโฮ่วชู (晉後書; พงศาวดารราชวงศ์จิ้นเล่มหลัง) 15 บท ในช่วงปลายศักราชหย่งเจีย (永嘉; ค.ศ. 307–313) ในรัชสมัยของจักรพรรดิจิ้นหฺวายตี้ สฺวิน ชั่วดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยทหารมหาดเล็ก (從事中郎 ฉงชื่อจงหลาง) ใต้สังกัดของเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) สฺวิน ชั่วถูกจับกุมโดยฉือ เลย์ (石勒) เมื่อฉือ เลย์ก่อกบฏต่อราชวงศ์จิ้น และสฺวิน ชั่วก็กลายเป็นที่ปรึกษาทัพของฉือ เลย์[36]
ซุนโจยมีบุตรสาวอย่างน้อย 1 คนซึ่งสมรสกับอู๋ ถ่ง (武統)[23]
หลานปู่คนหนึ่งของซุนโจยคือสฺวิน เสี่ยน (荀顯) ได้รับการแต่งตั้งจากจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนให้มีบรรดาศักดิ์อิ่งหยางถิงโหว (潁陽亭侯)[15]
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ แม้ว่าปีเกิดของซุนโจยไม่มีการบันทึกไว้ ในบทชีวประวัติของซุนโจยระบุว่าซุนโอยได้รับการเลี้ยงดูจากจงฮิว และจงฮิวยังมีชีวิตอยู่เมื่อซุนโจยอายุประมาณ 10 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) เนื่องจากจงฮิวเสียขีวิตในปี ค.ศ. 230 ปีเกิดของซุนโจยจึงควรอยู่ในปี ค.ศ. 221 หรือก่อนหน้านั้น
- ↑ ทั้งบทพระราชประวัติสุมาเอี๋ยนในจิ้นชูและในจือจื้อทงเจี้ยนเล่มที่ 82 ระบุว่าซุนโจยเสียชีวิตในวันปิ่งเฉิน (丙辰) ของเดือน 11 ในศักราชไท่คาง (太康) ปีที่ 10 อย่างไรก็ตาม ไม่มีวันปิ่งเฉินในเดือนนั้น ช่วงเดือนนั้นเทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายนถึง 28 ธันวาคม ค.ศ. 289 ในปฏิทินจูเลียน
- ↑ จิ้นชูระบุว่าซุนโจยได้รับบรรดาศักดิ์เป็นอานหยางจื่อ (安陽子) แต่เป็นไปได้ว่าน่าจะบันทึกผิดพลาด เพราะเดิมซุนโจยมีบรรดาศักดิ์เป็นกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว) มาก่อนอยู่แล้ว หากซุนโจยได้รับการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์จื่อ ก็จะกลายเป็นการ "ลดขั้น" จากบรรดาศักดิ์เดิม นอกจากนี้ในยุตราชวงศ์จิ้น จักรรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงตั้งให้หลานปู่ของซุนโจยมีบรรดาศักดิ์เป็นเฮาระดับหมู่บ้าน (亭侯 ถิงโหว) ซึ่งมีระดับสูงกว่าบรรดาศักดิ์จื่อ จึงไม่สมเหตุสมผลที่จักรพรรดิจะต้องให้หลานชายมีบรรดาศักดิ์สูงกว่าปู่
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ("ขณะนั้นฝ่ายซุนโจยจึงว่า อันเมืองเสฉวนทุกวันนี้ พระเจ้าเล่าเสี้ยนมีใจหลงรักผู้หญิงแลเสพย์สุรามิได้ขาด เชื่อถือถ้อยคำอ้ายฮุยโฮซึ่งเปนขันทีคนหนึ่ง บัดนี้ขุนนางซึ่งมีสติปัญญาในเมืองเสฉวนนั้นมีความน้อยใจต่างคนต่างเอาตัวออกหาก ซึ่งเกียงอุยมาตั้งค่ายอยู่ตำบลหลงเสก็หวังจะให้พ้นอันตราย ขอท่านจงเร่งให้ยกทหารไปตีเอาเมืองเสฉวนเถิดเห็นจะได้โดยง่าย สุมาเจียวก็ดีใจหัวเราะแล้วจึงว่า ซึ่งท่านคิดเราก็เห็นชอบด้วย อันน้ำใจเราคิดจะไปตีเอาเมืองเสฉวนช้านานอยู่แล้ว แลบัดนี้ท่านจะเห็นผู้ใดเปนแม่ทัพคุมทหารไปตีเมืองเสฉวนได้ ซุนโจยจึงว่า ข้าพเจ้าเห็นเตงงายประกอบด้วยความคิดมาก ขอท่านจงตั้งเตงงายเปนปลัดทัพ ตั้งจงโฮยให้เปนแม่ทัพยกไป เห็นจะตีเมืองเสฉวนได้") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๕". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ November 5, 2024.
- ↑ Goodman, Howard L.; Lien, Y. Edmund (April 2009). "A Third Century AD Chinese System of Di-Flute Temperament: Matching Ancient Pitch-Standards and Confronting Modal Practice". The Galpin Society Journal. Galpin Society. 62: 3–24. JSTOR 20753625.
- ↑ 3.0 3.1 (太康十年卒,詔贈司徒,賜東園秘器、朝服一具、錢五十萬、布百匹。遣兼御史持節護喪,諡曰成。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ 4.0 4.1 (十一月,丙辰,尚書令濟北成侯荀勗卒。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 82.
- ↑ (荀勖,字公曾,潁川潁陰人,漢司空爽曾孫也。祖棐,射聲校尉。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (父肸,早亡。勖依於舅氏。岐嶷夙成,年十餘歲能屬文。從外祖魏太傅鐘繇曰:「此兒當及其曾祖。」) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (既長,遂博學,達於從政。仕魏,辟大將軍曹爽掾,遷中書通事郎。爽誅,門生故吏無敢往者,勖獨臨赴,眾乃從之。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (為安陽令,轉驃騎從事中郎。勖有遺愛,安陽生為立祠。遷廷尉正,參文帝大將軍軍事,賜爵關內侯,轉從事中郎,領記室。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (高貴鄉公欲為變時,大將軍掾孫佑等守閶闔門。帝弟安陽侯幹聞難欲入,佑謂幹曰:「未有入者,可從東掖門。」及幹至,帝遲之,幹以狀白,帝欲族誅佑。勖諫曰:「孫佑不納安陽,誠宜深責。然事有逆順,用刑不可以喜怒為輕重。今成倅刑止其身,佑乃族誅,恐義士私議。」乃免佑為庶人。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (時官騎路遺求為刺客入蜀,勖言於帝曰:「明公以至公宰天下,宜杖正義以伐違貳。而名以刺客除賊,非所謂刑於四海,以德服遠也。」帝稱善。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (及鐘會謀反,審問未至,而外人先告之。帝待會素厚,未之信也。勖曰:「會雖受恩,然其性未可許以見得思義,不可不速為之備。」帝即出鎮長安,主簿郭奕、參軍王深以勖是會從甥,少長舅氏,勸帝斥出之。帝不納,而使勖陪乘,待之如初。先是,勖啟「伐蜀,宜以衛瓘為監軍」。及蜀中亂,賴瓘以濟。會平,還洛,與裴秀、羊祜共管機密。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (時將發使聘吳,並遣當時文士作書與孫皓,帝用勖所作。皓既報命和親,帝謂勖曰:「君前作書,使吳思順,勝十萬之眾也。」帝即晉王位,以勖為侍中,封安陽子,邑千戶。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (武帝受禪,改封濟北郡公。勖以羊祜讓,乃固辭為侯。拜中書監,加侍中,領著作,與賈充共定律令。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (咸甯初,與石苞等並為佐命功臣,列於銘饗。及王浚表請伐吳,勖與賈充固諫不可,帝不從,而吳果滅。以專典詔命,論功封子一人為亭侯,邑一千戶,賜絹千匹。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ 15.0 15.1 (又封孫顯為潁陽亭侯。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (時議遣王公之國,帝以問勖,勖對曰:「諸王公已為都督,而使之國,則廢方任。又分割郡縣,人心戀本,必用嗷嗷。國皆置軍,官兵還當給國,而闕邊守。」帝重使勖思之,勖又陳曰:「如詔准古方伯選才,使軍國各隨方面為都督,誠如明旨。至於割正封疆。使親疏不同誠為佳矣。然分裂舊土,猶懼多所搖動,必使人心聰擾,思惟竊宜如前。若於事不得不時有所轉封,而不至分割土域,有所損奪者,可隨宜節度。其五等體國經遠,實不成制度。然但虛名,其於實事,略與舊郡縣鄉亭無異。若造次改奪,恐不能不以為恨。今方了其大者,以為五等可須後裁度。凡事雖有久而益善者,若臨時或有不解,亦不可忽。」帝以勖言為允,多從其意。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (時又議省州郡縣半吏以赴農功,勖議以為:「省吏不如省官,省官不如省事,省事不如清心。 ... 如其不爾,恐適惑人聽,比前行所省,皆須臾輒復,或激而滋繁,亦不可不重。」勖論議損益多此類。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (太康中詔曰:「勖明哲聰達,經識天序,有佐命之功,兼博洽之才。久典內任,著勳弘茂,詢事考言,謀猷允誠。宜登大位,毗贊朝政。今以勖為光祿大夫、儀同三司、開府辟召,守中書監、侍中、侯如故。」時太尉賈充、司徒李胤並薨,太子太傅又缺,勖表陳:「三公保傅,宜得其人。若使楊珧參輔東宮,必當仰稱聖意。尚書令衛瓘、吏部尚書山濤皆可為司徒。若以瓘新為令未出者,濤即其人。」帝並從之。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (明年秋,諸州郡大水,兗土尤甚。勖陳宜立都水使者。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (其後門下啟通事令史伊羨、趙咸為舍人,對掌文法。詔以問勖,勖曰:今天下幸賴陛下聖德,六合為一,望道化隆洽,垂之將來。而門下上稱程咸、張惲,下稱此等,欲以文法為政,皆愚臣所未達者。昔張釋之諫漢文,謂獸圈嗇夫不宜見用;邴吉住車,明調和陰陽之本。此二人豈不知小吏之惠,誠重惜大化也。昔魏武帝使中軍司荀攸典刑獄,明帝時猶以付內常侍。以臣所聞,明帝時唯有通事劉泰等官,不過與殿中同號耳。又頃言論者皆雲省官減事,而求益吏者相尋矣。多雲尚書郎太令史不親文書,乃委付書令史及幹,誠吏多則相倚也。增置文法之職,適恐更耗擾台閣,臣竊謂不可。」) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (然性慎密,每有詔令大事,雖已宣佈,然終不言,不欲使人知己豫聞也。) จิ้นชู เล่ม 39.
- ↑ (族弟良曾勸勖曰:「公大失物情,有所進益者自可語之,則懷恩多矣。」) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ 23.0 23.1 (其婿武統亦說勖「宜有所營置,令有歸戴者」。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (勖並默然不應,退而語諸子曰:「人臣不密則失身,樹私則背公,是大戒也。汝等亦當宦達人間,宜識吾此意。」) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (久之,以勖守尚書令。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (勖久在中書,專管機事。及失之,甚罔罔悵恨。或有賀之者,勖曰:「奪我鳳皇池,諸君賀我邪!」及在尚書,課試令史以下,核其才能,有暗於文法,不能決疑處事者,即時遣出。帝嘗謂曰:「魏武帝言'荀文若之進善,不進不止;荀公達之退惡,不退不休'。二令君之美,亦望於君也。」居職月餘,以母憂上還印綬,帝不許。遣常侍周恢喻旨,勖乃奉詔視職。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (充將鎮關右也,勖謂馮紞曰:「賈公遠放,吾等失勢。太子婚尚未定,若使充女得為妃,則不留而自停矣。」勖與紞伺帝間並稱「充女才色絕世,若納東宮,必能輔佐君子,有《關雎》后妃之德。」遂成婚。當時甚為正直者所疾,而獲佞媚之譏焉。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (時帝素知太子暗弱,恐後亂國,遣勖及和嶠往觀之。勖還盛稱太子之德,而嶠雲太子如初。於是天下貴嶠而賤勖。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (帝將廢賈妃,勖與馮紞等諫請,故得不廢。時議以勖傾國害時,孫資、劉放之匹。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (既掌樂事,又修律呂,並行於世。初,勖於路逢趙賈人牛鐸,識其聲。及掌樂,音韻未調,乃曰:「得趙之牛鐸則諧矣。」遂下郡國,悉送牛鐸,果得諧者。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (俄領秘書監,與中書令張華依劉向《別錄》,整理記籍。 ... 及得汲郡塚中古文竹書,詔勖撰次之,以為《中經》,列在秘書。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (又立書博士,置弟子教習,以鐘、胡為法。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (又嘗在帝坐進飯,謂在坐人曰:「此是勞薪所炊。」咸未之信。帝遣問膳夫,乃云:「實用故車腳。」舉世伏其明識。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (勖久管機密,有才思,探得人主微旨,不犯顏忤爭,故得始終全其寵祿。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (勖有十子,其達者輯、籓、組。輯嗣,官至衛尉。卒,諡曰簡。子畯嗣。卒,諡曰烈。無嫡子,以弟息識為嗣。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (輯子綽。綽字彥舒,博學有才能,撰《晉後書》十五篇,傳於世。永嘉末,為司空從事中郎,沒於石勒,為勒參軍。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
บรรณานุกรม
[แก้]- ฝาง เสฺวียนหลิง (648). จิ้นชู.
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.