กวยทายเฮา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กวยทายเฮา (กัวไท่โฮฺ่ว)
郭太后
จักรพรรดินีพันปีหลวงแห่งวุยก๊ก
ดำรงตำแหน่ง22 มกราคม ค.ศ. 239 – 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 264
ก่อนหน้ากุยฮุย
จักรพรรดินีแห่งวุยก๊ก
ดำรงตำแหน่ง16 มกราคม 239 – 22 มกราคม 239
ก่อนหน้ามอซือ
ถัดไปเจินหฺวางโฮ่ว
ประสูติไม่ทราบ
สวรรคต8 กุมภาพันธ์ 264[a]
คู่อภิเษกโจยอย
พระราชบุตรองค์หญิงอี้แห่งเพงงวน
พระมรณนาม
จักรพรรดินีหมิง-ยฺเหวียน (明元皇后 หมิง-ยฺเหวียนหฺวางโฮฺ่ว)
พระราชบิดากัว หม่าน
พระราชมารดาตู้ชื่อ

กวยทายเฮา[b] (จีน: 郭太后; พินอิน: Guō Tàihòu กัวไท่โฮ่ว; สิ้นพระชนม์ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 264[a]) หรือ โกยฮุยหยิน[c] (จีน: 郭夫人; พินอิน: Guō Fūrén กัวฟูเหริน) หรือ จักรพรรดินีกัว (จีน: 郭皇后; พินอิน: Guō Huánghòu กัวหฺวางโฮ่ว) ไม่ทราบชื่อตัว รู้จักในอีกชื่อว่า จักรพรรดินีหมิง-ยฺเหวียน (明元皇后 หมิง-ยฺเหวียนหฺวางโฮฺ่ว) เป็นจักรพรรดินีของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน อภิเษกสมรสกับโจยอย จักรพรรดิลำดับที่ 2 ของวุยก๊ก ถือเป็นภรรยาลำดับที่ 3 และจักรพรรดินีลำดับที่ 2 ของจักรพรรดิโจยอย ข้อมูลที่จำกัดเกี่ยวกับกวยทายเฮาแสดงให้เห็นว่ากวยทายเฮาเป็นสตรีที่เฉลียวฉลาดที่ต่อสู้อย่างหนักเพื่อไม่ให้วุยก๊กตกอยู่ในมือของตะกูลสุมา (สุมาอี้และบุตรชายคือสุมาสูและสุมาเจียว) ในรัชสมัยของโจฮองโอรสบุญธรรมของพระองค์ และรัชสมัยของโจมอที่เป็นพระญาติของโจฮอง แต่ไม่สามารถต้านทานได้

ภูมิหลังครอบครัวและสมรสกับโจยอย[แก้]

กวยทายเฮาหรือโกยฮุยหยินเป็นชาวเมืองเสเป๋ง (西平郡 ซีผิงจฺวิ้น; ปัจจุบันบริเวณนครซีหนิง มณฑลชิงไห่) ครอบครัวของโกยฮุยหยินเป็นตระกูลทรงอิทธิพลในพื้นที่ แต่ในรัชสมัยของโจผีผู้เป็นพระบิดาของโจยอย ในช่วงก่อนปี ค.ศ. 223[d] ตระกูลของโกยฮุยหยินมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มกบฏ โกยฮุยหยินและคนอื่น ๆ ในครอบครัวจึงถูกคุมตัวไปโดยราชสำนักวุยก๊กในภายหลัง[6] โกยฮุยหยินกลายเป็นสนมของโจยอยหลังโจยอยขึ้นครองราชย์ โจยอยโปรดปรานโกยฮุยหยินอย่างมาก[7]

ในปี ค.ศ. 237 โกยฮุยหยินมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสิ้นพระชนม์ของมอซือ จักรพรรดินีพระองค์แรกในรัชสมัยของโจยอย (และถือเป็นภรรยาคนที่ 2 ของโจยอย) ครั้งหนึ่งเมื่อโจยอยเข้าร่วมงานเลี้ยงที่จัดโดยโกยฮุยหยิน โกยฮุยหยินทูลเสนอให้เชิญมอซือมาร่วมงานเลี้ยง แต่โจยอยปฏิเสธและมีรับสั่งห้ามไม่ให้แจ้งข่าวเรื่องงานเลี้ยงกับมอซือ แต่ข่าวรั่วไหลและมอซือก็ได้มาทูลโจยอยเกี่ยวกับงานเลี้ยง โจยอยทรงพระพิโรธจึงสั่งประหารชีวิตข้าราชบริพารของพระองค์ไปหลายคนซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นผู้ปล่อยข่าวรั่วไหลรู้ไปถึงมอซือ และมีรับสั่งให้มอซือกระทำอัตวินิบัติกรรม

หลังการสิ้นพระชนม์ของมอซือ โกยฮุยหยินก็ขึ้นเป็นจักรรดินีโดยพฤตินัย สมาชิกในครอบครัวของโกยฮุยหยินก็ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติ (แม้ว่าจะมีอำนาจน้อย) อย่างไรก็ตามโกยฮุยหยินก็ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นจักรพรรดินี จนกระทั่งโจยอยทรงพระประชวรในช่วงปีใหม่ของปี ค.ศ. 239 พระองค์สวรรคตในอีกหนึ่งเดือนต่อมา โกยฮุยหยิน (กวยทายเฮา) จึงขึ้นเป็นจักรพรรดินีพันปีหลวงหรือทายเฮา (太后 ไท่โฮ่ว) ของโจฮองที่เป็นพระโอรสบุญธรรมของพระองค์ แต่ไม่ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในฐานะจักรพรรดินีพันปีหลวง[แก้]

สุมาอี้และโจซองผู้เป็นพระญาติของโจยอยได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามพระประสงค์ของโจยอย แต่ต่อมาไม่นานโจซองก็ขึ้นเป็นบุคคลสำคัญที่สุดของราชสำนัก แม้ว่าโจซองจะแสดงท่าทีเคารพสุมาอี้ แต่ก็ได้กีดกันสุมาอี้จากการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ากวยทายเฮาทรงมีความคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ เนื่องจากบทบาททางการเมืองของกวยทายเฮาในช่วงที่โจซองเป็นผู้สำเร็จราชการนั้นมีน้อยมาก แม้ว่าโจซอง (รวมถึงตระกูลสุมาในภายหลัง) จะยื่นเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญกับพระองค์ แต่ก็ตัดสินใจในประเด็นเหล่านั้นด้วยตนเองโดยไม่มีพระวินิจฉัยที่แท้จริงจากพระองค์

โจซองมักถูกมองว่าเป็นผู้สำเร็จราชการที่ไร้ความสามารถ ซึ่งไว้วางใจคนสนิทหลายคนที่ขาดความสามารถพอ ๆ กัน ตัวอย่างเช่นในปี ค.ศ. 244 โจซองที่ขาดความสามารถทางการทหาร แต่ก็ทำตามคำแนะนำของหลีซินและเตงเหยียงให้เข้าโจมตีจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก โดยไม่มีการวางแผนการขนส่งเสบียงอย่างรอบคอบ แม้ในท้ายที่สุดยุทธการไม่มีผลสรุป แต่โจซองก็จำต้องล่าถอยเพราะปศุสัตว์ตายจำนวนมาก และระหว่างการล่าถอยก็มีทหารหลายคนเสียชีวิตในยุทธการหรือสาเหตุอื่น ๆ โจซองยังสะสมทรัพย์สินจำนวนมากให้ตนและคนสนิท และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการท่องเที่ยว ห่างไกลจากราชการสำคัญของรัฐตั้งแต่ปี ค.ศ. 247[e]

ในปี ค.ศ. 249 สุมาอี้พร้อมด้วยการสนับสนุนจากเหล่าขุนนางที่เบื่อหน่ายกับความไร้ความสามารถของโจซอง ได้ร่วมกันออกพระราชเสาวนีย์ในนามของกวยทายเฮา ก่อการรัฐประหารและปลดโจซองจากตำแหน่ง ภายหลังยังให้นำตัวโจซองและคนสนิทรวมถึงครอบครัวทั้งหมดไปประหารชีวิต สุมาอี้จึงกุมอำนาจในราชสำนักอย่างเบ็ดเสร็จ หลังสุมาอี้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 251 สุมาสูบุตรชายสืบทอดอำนาจจากบิดาและรักษาอำนาจของตนในราชสำนักได้เท่ากับทีบิดาเคยทำได้ ในปี ค.ศ. 254 สุมาสูดำเนินการกวาดล้างกลุ่มขุนนางที่ต่อต้านตน สุมาสูสงสัยว่าขุนนางเหล่านี้ลอบสมคบคิดกับจักรพรรดิโจฮองและอาจจะกับกวยทายเฮาเพื่อจะพยายามโต้กลับตระกูลสุมา แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด ตั้งแต่นั้นมา ขุนนางคนใดก็ตามที่กล้าเข้าใกล้จักรพรรดิโจฮองและกวยทายเฮาจะตกเป็นเป้า

ในปี ค.ศ. 254 ขุนนางบางคนทูลแนะนำจักรพรรดิโจฮองให้ใช้โอกาสที่สุมาเจียวน้องชายของสุมาสูมาเข้าเฝ้าที่พระราชวัง จัดการสังหารสุมาเจียวและยึดกองกำลังของสุมาเจียวจากนั้นจึงเข้าโจมตีสุมาสู โจฮองตัดสินพระทัยลงมือกระทำตามคำทูลไม่ได้ แต่แล้วข่าวก็รั่วไหล สุมาอี้จึงปลดโจฮองจากการเป็นจักรพรรดิ ในช่วงเหตุการณ์นี้เองที่กวยทายเฮาแสดงพระปัญญาของพระองค์ในความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะรักษาความเป็นไปได้ที่จะป้องกันตระกูลสุมาจากการเข้ายึดอำนาจในวุยก๊กอย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อสุมาสูทูลกวยทายเฮาว่าตนตั้งใจจะตั้งโจกี๋ (曹據 เฉา จฺวี้) ผู้เป็นอ๋องแห่งแพเสีย (彭城王 เผิงเฉิงหวาง) และเป็นพระอนุชาของโจผีให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิ กวนทายเฮาพยายามโน้มน้าวว่าทำเช่นนั้นไม่เหมาะสม เพราะโจกี๋เป็นพระปิตุลา (อา) ของโจยอยที่เป็นพระสวามีของพระองค์ หากสถาปนาโจกี๋จะทำให้โจยอยไม่มีทายาท สุมาอี้จำต้องเห็นด้วยกับกวยทายเฮา และทำตามที่กวยทายเฮาทรงเสนอคือสถาปนาโจมอ (เกากุ้ยเซียงกง) โอรสของเฉา หลิน (曹霖) พระอนุชาของโจยอย ให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน โจมอในเวลานั้นมีพระชนมายุเพียง 13 พรรษาแต่ก็มีชื่อเสียงในด้านสติปัญญา กวยทายเฮาอาจจะทรงเชื่อว่าโจมออาจจะมีโอกาสโต้กลับตระกูลสุมา เมื่อสุมาสูถามหาพระราชลัญจกรจากกวยทายเฮา กวยทายเฮาก็ปฏิเสธอย่างสุภาพโดยให้เหตุผลว่าพระองค์เคยพบกับโจมอมาก่อนและต้องการจะพระราชทานพระราชลัญจกรแก่โจมอด้วยพระองค์เอง

ในปี ค.ศ. 255 บู๊ขิวเขียมและบุนขิมประกาศอ้างว่าพวกตนได้รับพระราชเสาวนีย์ลับจากกวยทายเฮา และพยายามก่อกบฏโดยเริ่มที่ฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) หวังจะโค่นล่มสุมาสูแต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากวยทายเฮามีการติดต่อกับบู๊ขิวเขียมและบุนขิมจริง ๆ

หลังจากโจมอขึ้นเป็นจักรพรรดิ พระองค์ค่อย ๆ สร้างกลุ่มอำนาจของพระองค์เองจากขุนนางจำนวนหนึ่งซึ่งก็ไม่ได้สงสัยในการสนับสนุนตระกูลสุมาแต่เห็นว่าอาจมีบางสิ่งที่ได้รับจากการภักดีต่อจักรพรรดิ ขุนนางเหล่านี้เช่น สุมาปองผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของสุมาสู, อองซิม (王沈 หวาง เฉิ่น), โปยสิว และจงโฮย โจมอหวังว่าพระองค์จะสามารถลดความแคลงใจของขุนนางเหล่านี้ต่อพระองค์และขณะเดียวก็ค่อย ๆ ชนะใจพวกเขาได้ ในปี ค.ศ. 255 โจมอพยายามชิงอำนาจกลับคืนมาแต่ไม่สำเร็จ เมื่อสุมาสูเสียชีวิตขณะอยู่ที่ฮูโต๋ สุมาเจียวในเวลานั้นก็อยู่ที่ฮูโต๋เช่นกัน โจมอจึงออกพระราชโองการว่าสุมาสูเพิ่งปราบกบฏบู๊ขิวเขียมและบุนขิมได้ และชายแดนดานตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่สงบราบคาบ จึงมีรับสั่งให้สุมาเจียวยังคงอยู่ที่ฮูโต๋และให้เปาต้าน (傅嘏 ฟู่ กู่) กลับมายังนครหลวงลกเอี๋ยงพร้อมกับทัพหลัก แต่สุมาเจียวทำตามคำแนะนำของเปาต้านและจงโฮย กลับมายังลกเอี๋ยงทั้งที่เป็นการขัดกับพระราชโองการ และสามารถรักษาอำนาจในราชสำนักไว้ได้ ตั้งแต่นั้นมาสุมาเจียวก็ไม่ปล่อยให้โจมอและกวยทายเฮานอกอยู่การควบคุม เมื่อจูกัดเอี๋ยนก่อกบฏในปี ค.ศ. 257 เพราะเชื่อว่าสุมาเจียวจะชิงบัลลังก์ในอีกไม่นาน สุมาเจียวก็บังคับให้โจมอและกวยทายเฮาติดตามตนในการทัพปราบจูกัดเอี๋ยนด้วย

ในปี ค.ศ. 260 โจมอที่ไม่สามารถก้าวหน้าได้มากจากความพยายามในการลดอำนาจของสุมาเจียว จึงพยายามเริ่มก่อการรัฐประหารด้วยด้วยพระองค์เองโดยใช้ทหารราชองครักษ์ที่ภักดีต่อพระองค์ หลังโจมอประสบความสำเร็จในช่วงต้นที่ใกล้พระราชวัง แต่ในที่สุดพระองค์ก็ถูกปลงพระชนม์ระหว่างการรบ กวยทายเฮาถูกบังคับให้ต้องออกพระราชเสาวนีย์ปลดโจมอจากตำแหน่ง จากนั้นสุมาเจียวก็เพิกเฉยต่อพระประสงค์ของกวยทายเฮาในการกำหนดตัวผู้สืบราชบัลลังก์ถัดจากโจมอ แล้วตั้งโจฮวนผู้เป็นฉางเต้าเซียงกง (常道鄉公) พระนัดดาของโจโฉให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิ แม้ว่ายังมีพระอนุชาของโจยอยที่มีทายาท กวยทายเฮาสิ้นพระชนม์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 264 โดยไม่สามารถส่งผลกระทบใด ๆ ต่ออำนาจของตระกูลสุมาได้ และในที่สุดสุมาเอี๋ยนบุตรชายของสุมาเจียวก็ชิงบัลลังก์ได้เมื่อต้นปี ค.ศ. 266 และก่อตั้งราชวงศ์จิ้น พระศพของกวยทายเฮาได้รับการฝังในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 264[8]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. 1.0 1.1 พระราชประวัติโจฮวนในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าว่ากวยทายเฮาสิ้นพระชนม์ในวันอี๋เหม่า เดือน 12 ของศักราชจิ่งยฺเหวียนปีที่ 4 ในรัชสมัยของโจฮวน เทียบได้กับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 264 ในปฏิทินกริโกเรียน[4])
  2. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 79, 81 และ 82 ขณะมีฐานะเป็นจักรพรรดินีพันปีหลวงในรัชสมัยของโจฮองและโจมอ[1][2][3]
  3. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 79 ขณะมีฐานะเป็นสนมของโจยอย[5]
  4. ในพระประวัติของกวยทายเฮาในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่ากวยทายเฮาถูกคุมตัวโดยราชสำนักวุยก๊กหลังการกบฏในช่วงกลางของศักราชอ้วยโช่ (ค.ศ. 220-226) ในรัชสมัยของโจผี
  5. ในบางแหล่งข้อมูล โจซองที่ต้องการรักษาอำนาจของตน จึงทำตามคำแนะนำของหลีซิน เตงเหยียง และเตงปิด (丁谧 ติง มี่) ที่ให้ย้ายที่ประทับของกวยทายเฮาไปยังวังหย่งหนิงให้แยกห่างจากจักรพรรดิโจฮอง ทำให้กวยทายเฮาถูกกักบริเวณ กวยทายเฮาและจักรพรรดิโจฮองผู้เยาว์ต่างทรงพระกรรเสงเมื่อต้องอยู่แยกกัน แต่นักวิชาการอย่างหู ซานสิ่งและหวาง เม่าหงสงสัยว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าเคยเกิดขึ้นเพราะกวยทายเฮาก็ประทับอยู่ที่วังหย่งหนิงตั้งแต่โจฮองขึ้นครองราชย์แล้ว เรื่องราวนี้อาจเพิ่มเติมเข้าไปโดยขุนนางราชวงศ์จิ้นเพื่อให้ร้ายโจซอง

อ้างอิง[แก้]

  1. ("ฝ่ายสุมาอี้พาขุนนางเก่าทั้งปวงเข้าไปเฝ้านางกวยทายเฮามารดาพระเจ้าโจฮองจึงทูลว่า บัดนี้โจซองไม่คิดถึงคำพระเจ้าโจยอยซึ่งฝากฝังพระเจ้าโจฮองไว้เลย จะทำการสิ่งใดก็ทำตามอำเภอใจ ความผิดชอบประการใดก็ไม่ทูล ที่โจซองทำการทั้งนี้เห็นคิดขบถต่อแผ่นดิน โทษอันนี้ใหญ่นักจะนิ่งเสียนั้นไม่ควร นางกวยทายเฮาได้ยินดังนั้นก็ตกใจจึงว่า บัดนี้พระองค์เสด็จไปประพาสป่า เราจะรู้แห่งคิดประการใด สุมาอี้จึงทูลว่า ข้าพเจ้าจะขอทำเรื่องราวถวายพระเจ้าโจฮองว่า ให้กำจัดบันดาคนซึ่งเปนพรรคพวกศัตรูนั้นเสีย การครั้งนี้พระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย เปนธุระข้าพเจ้า") "สามก๊ก ตอนที่ ๗๙". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 14, 2023.
  2. ("สุมาสูจึงพาขุนนางทั้งปวงเข้าไปเฝ้านางกวยทายเฮา ทูลเล่าเนื้อความทั้งปวงให้ฟังแต่ต้นจนปลาย นางกวยทายเฮาจึงถามว่า ท่านจะยกท่านผู้ใดขึ้นเปนเจ้า สุมาสูจึงทูลว่า ข้าพเจ้าพิเคราะห์เห็นโจกี๋เปนเชื้อพระวงศ เปนเจ้าเมืองแพเสีย คนนี้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลมนัก เห็นควรจะเปนเจ้ารักษาแผ่นดินได้") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 14, 2023.
  3. ("ขณะเมื่อสุมาเจียวกับจูกัดเอี๋ยนรบติดพันกันอยู่นั้น ทหารสอดแนมรู้จึงเอาเนื้อความเข้าไปแจ้งแก่เกียงอุยว่า บัดนี้จูกัดเอี๋ยนยกกองทัพไปรบสุมาเจียว ซุนหลิมยกกองทัพหนุนไปเปนอันมาก เห็นสุมาเจียวบอบชํ้านักอยู่แล้ว จนนางกวยทายเฮากับพระเจ้าโจมอก็ยกทหารออกมาช่วยรบ") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 14, 2023.
  4. (景元四年十二月)乙卯...皇太后崩。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 04
  5. ("บัดนี้พระเจ้าโจยอยมีพระสนมคนหนึ่ง ชื่อนางโกยฮุยหยิน พระเจ้าโจยอยรักยิ่งกว่านางมอซือ ด้วยการใช้สอยมีอัชฌาสัย ขณะนั้นพระเจ้าโจยอยอยู่กับนางโกยฮุยหยิน มิได้ออกว่าราชการประมาณเดือนเศษ") "สามก๊ก ตอนที่ ๗๙". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 14, 2023.
  6. (黄初中,本郡反叛,遂没入宫) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 5
  7. (明帝即位,甚见爱幸,拜为夫人。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 5
  8. ([咸熈元年二月]庚申,葬明元郭后。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.

บรรณานุกรม[แก้]

ก่อนหน้า กวยทายเฮา ถัดไป
มอซือ จักรพรรดินีแห่งวุยก๊ก
(ค.ศ. 238–239)
เจินหฺวางโฮ่ว