อองเก๋ง
อองเก๋ง (หวาง จิง) | |
---|---|
王經 | |
ภาพวาดอองเก๋งในยุคราชวงศ์ชิง | |
ราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 255 – ค.ศ. 260 | |
กษัตริย์ | โจมอ |
ผู้บังคับการมณฑลราชธานี (司隸校尉 ซือลี่เซี่ยวเว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 255 – ค.ศ. 260 | |
กษัตริย์ | โจมอ |
ข้าหลวงมณฑลยงจิ๋ว (雍州刺史 ยงโจวชื่อฉื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 255 | |
กษัตริย์ | โจฮอง / โจมอ |
เจ้าเมืองกังแฮ (江夏太守 เจียงเซี่ยไท่โฉ่ว) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ นครหลินชิง มณฑลชานตง |
เสียชีวิต | ป. มิถุนายน ค.ศ. 260 นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน |
อาชีพ | ขุนนาง |
ชื่อรอง | เยี่ยนเหว่ย์ (彦緯) |
อองเก๋ง (เสียชีวิต ป. มิถุนายน ค.ศ. 260[a]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หวาง จิง (จีน: 王經; พินอิน: Wáng Jīng) ชื่อรอง เยี่ยนเหว่ย์ (จีน: 彦緯; พินอิน: Yànwěi) เป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน
ประวัติ
[แก้]อองเก๋งเกิดในครอบครัวชาวนาในเมืองชิงเหอ (清河郡 ชิงเหอจฺวิ้น) ซึ่งอยู่บริเวณนครหลินชิง มณฑลชานตงในปัจจุบัน อองเก๋งได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับราชการในราชสำนักวุยก๊กโดยขุนนางชื่อชุย หลิน (崔林) ซึ่งเป็นชาวเมืองชิงเหอเช่นกัน มารดาของอองเก๋งเคยกล่าวว่าการที่อองเก๋งได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วมากนนั้นไม่ใช่ลางดีนัก[2] แต่อองเก๋งก็ยังคงไต่เต้าในงานราชการได้อย่างรวดเร็ว อองเก๋งดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองกังแฮ (江夏郡 เจียงเซี่ยจฺวิ้น; อยู่บริเวณเขตซินโจว นครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน)[3] และภายหลังดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลยงจิ๋ว
ในปี ค.ศ. 255 เมื่อเกียงอุยขุนพลจากจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กนำทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีเมืองหลงเส (隴西郡 หล่งซีจฺวิ้น; อยู่บริเวณทางด้านใต้และด้านตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) อองเก๋งนำทัพวุยก๊กจากเต๊กโตเสีย (狄道 ตี้เต้า; ปัจจุบันคืออำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่) เพื่อเข้ารบกับข้าศึกแต่พ่ายแพ้ อองเก๋งจึงถูกทัพจ๊กก๊กปิดล้อมอยู่ในเต๊กโตเสีย การปิดล้อมถูกยกเลิกไปเมื่อต้านท่ายและเตงงายขุนพลวุยก๊กนำกำลังเสริมมาหนุนช่วยและขับไล่ข้าศึกถอยกลับไป อองเก๋งถูกเรียกตัวกลับจากมณฑลยงจิ๋วมายังราชสำนักวุยก๊กในนครหลวงลกเอี๋ยงและได้รับการตั้งให้เป็นผู้บังคับการมณฑลราชธานี (司隸校尉 ซือลี่เซี่ยวเว่ย์) และราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู)
ในปี ค.ศ. 260 โจมอจักรพรรดิแห่งวุยก๊กทรงเรียกอองเก๋ง, อองซิม และอองเหงียบมาเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์เพื่อหารือแผนการจะก่อการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจคืนจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเจียว โจมอทรงไม่ฟังคำทัดทานของอองเก๋งและเริ่มดำเนินการก่อรัฐประหาร แต่สุดท้ายพระองค์กลับถูกนายทหารของสุมาเจียวปลงพระชนม์ หลังการสวรรคตของโจมอ สุมาเจียวสั่งให้จับกุมอองเก๋งและมารดาและนำตัวไปประหารชีวิต
ในปี ค.ศ. 266 หลังสุมาเอี๋ยน (จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) โค่นล้มรัฐวุยก๊กและก่อตั้งราชวงศ์จิ้น พระองค์ทรงออกพระราชโองการแสดงความเห็นใจอองเก๋งและครอบครัว แล้วทรงแต่งตั้งให้หลานชายของอองเก๋งเป็นเจ้าหน้าที่มหาดเล็ก (郎中 หลางจง)[4]
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ฝาน เสฺวียนหลิง (648). จิ้นชู.