ข้ามไปเนื้อหา

สุเมา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุเมา (ชือ จฺว่าน)
師纂
ข้าหลวงมณฑลเอ๊กจิ๋ว (益州刺史 อี้โจวชื่อฉื่อ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 263 (263) – ค.ศ. 264 (264)
กษัตริย์โจฮวน
นายกองพัน (司馬 ซือหม่า)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 262 (262) – ค.ศ. 263 (263)
กษัตริย์โจฮวน
นายทะเบียน (主簿 จู่ปู้)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 262 (262)
กษัตริย์โจฮวน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
เสียชีวิตมีนาคม ค.ศ. 264
นครเหมียนจู๋ มณฑลเสฉวน
อาชีพนายทหาร

สุเมา[a], สูกี๋[b], สูเป๋า[c] หรือ สุม่อ[d] (เสียชีวิต มีนาคม ค.ศ. 264) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ชือ จฺว่าน (จีน: 師纂; พินอิน: Shī Zuǎn) เป็นนายทหารของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน

ประวัติ

[แก้]

สุเมาเดิมรับราชการเป็นนายทะเบียน (主簿 จู่ปู้) ของสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งรัฐวุยก๊ก ก่อนการยกทัพพิชิตจ๊กก๊ก เนื่องด้วยเตงงายขุนพลจ๊กก๊กคัดค้านการโจมตีจ๊กก๊ก สุมาเจียวจึงโยกย้ายให้สุเมาให้มาเป็นนายกองพัน (司馬 ซือหม่า) ของเตงงายเพื่อโน้มน้าวเตงงาย[14]

การพิชิตจ๊กก๊กของวุยก๊ก

[แก้]

ในปี ค.ศ. 263 เตงงายส่งเตงต๋ง (鄧忠 เติ้ง จง) บุตรชายพร้อมด้วยสุเมาให้นำกำลังทหารจากทางซ้ายขวาสองด้านเข้าโจมตีทัพของรัฐจ๊กก๊กที่นำโดยจูกัดเจี๋ยมขุนพลของจ๊กก๊ก ทัพวุยก๊กพ่ายแพ้ เตงงายโกรธมากจึงคาดโทษประหารชีวิตกับเตงต๋งและสุเมาไว้ แล้วสั่งให้ทั้งคู่ออกรบอีกครั้งเพื่อทำความชอบหักลบกับความผิดพลาด ผลปรากฏว่าเตงต๋งและสุเมาตีทัพจ๊กก๊กแตกพ่าย สังหารจูกัดเจี๋ยมตลอดจนถึงเตียวจุ๋น (張遵 จาง จุน), หฺวาง ฉง (黃崇), หลี่ ฉิว (李球) และคนอื่น ๆ[15] ทัพวุยก๊กยึดได้กิมก๊ก (綿竹 เหมียนจู๋) และมุ่งเข้าสู่เซงโต๋ (成都 เฉิงตู) นครหลวงของรัฐจ๊กก๊กในทันที หลังการล่มสลายของรัฐจ๊กก๊ก เตงงายแต่งตั้งให้สุเมาเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลเอ๊กจิ๋ว ตั้งให้คันห่องและคนอื่น ๆ ทำหน้าที่กำกับดูแลเมืองต่าง ๆ ที่เดิมอยู่ในรัฐจ๊กก๊ก[16] จงโฮย, เฮาเหลก, สุเมา และคนอื่น ๆ ร่วมกันลอบรายงานต่อสุมาเจียวว่าเตงงายมีใจกำเริบจากความสำเร็จในการพิชิตจ๊กก๊กและต้องการจะก่อกบฏ สุมาเจียวจึงสั่งให้จงโฮยจับตัวเตงงายใส่รถนักโทษและคุมตัวกลับมาราชสำนัก[17]

ผลสืบเนื่องจากการก่อกบฏของจงโฮย

[แก้]

ในปี ค.ศ. 264 จงโฮยและเกียงอุยก่อกบฏต่อสุมาเจียวแต่ไม่สำเร็จและเสียชีวิต อุยก๋วน (衛瓘 เว่ย์ กว้าน) ขุนพลวุยก๊กเห็นว่าตนและจงโฮยเคยร่วมกันใส่ร้ายเตงงาย จึงกังวลว่าจะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น อุยก๋วนจึงส่งเตนซก (田續 เถียน ซฺวีั่) และคนอื่น ๆ ไปโจมตีเตงงายที่กำลังอยู่ระหว่างถูกคุมตัวไป เตนซกและคนอื่น ๆ ยกกำลังทหารตามมาทันทางด้านตะวันตกของกิมก๊ก แล้วจัดการสังหารเตงงาย, เตงต๋ง, สุเมา และคนอื่น ๆ มีรายงานว่าเมื่อสุเมาเสียชีวิตนั้นได้รับบาดแผลทั่วทั่งตัว[18]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ("เตงงายจึงให้เตงต๋งผู้บุตรกับสุเมานายทหารคุมทหารคนละห้าพัน สั่งให้ยกไปตั้งอยู่ที่ซอกเขาตำบลตวนโกะ") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
  2. ("ฝ่ายสุเมากับเตงต๋งยกทหารออกตีกระหนาบไล่มา เกียงอุยก็รบพลางหนีพลางค่อยถอยมา") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
  3. ("เตงงายจึงให้เตงต๋งผู้บุตรกับสูกี๋คุมทหารหมื่นหนึ่งไปรบหน้าค่าย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
  4. ("ฝ่ายอองหำกับเจียวปินอยู่ในค่าย เห็นเตงต๋งกับสูกี๋ยกทหารมาตั้งอยู่หน้าค่ายก็ระวังตัวนัก ให้ทหารทั้งปวงใส่เกราะนอน") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
  5. ("ฝ่ายเตงต๋งกับสูกี๋ครั้นได้ค่ายขวาแล้ว ก็ยกทหารมาเข้าหักเอาค่ายเกียงอุยเปนหลายครั้ง") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
  6. ("ครั้นปรึกษาเห็นพร้อมกันดังนั้นแล้ว จึงจัดแจงให้สูเป๋าคุมททารอยู่รักษาค่ายเขากิสาน สองนายก็ยกทัพไปทำตามปรึกษากันทุกประการ") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๔". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
  7. ("ฝ่ายว่าเตงงายก็นิ่งอยู่ในค่ายมิได้ออกรบ แล้วว่าอันทหารเมืองเสฉวนนี้ แต่ยกมาทำการก็พ่ายแพ้เปนหลายครั้งแล้วยังไม่มีความย่อท้อ กลับมาว่ากล่าวท้าทายดังนี้อีกเล่า เราเห็นว่าสูเป๋าอยู่รักษาค่ายกิสานนั้นทหารก็น้อย ข้าศึกจะยกลัดไปตีเอาเปนมั่นคง") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๔". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
  8. ("ฝ่ายเตียวเอ๊กครั้นคุมทหารมาถึงเขากิสาน ก็เข้าตีค่ายสูเป๋าเปนหลายครั้ง ฝ่ายสูเป๋านั้นความคิดก็น้อยไม่ถึงเตียวเอ๊ก ทั้งทหารก็ร่วงโรยจวนจะเสียค่ายแก่เตียวเอ๊กอยู่แล้ว พอเตงงายยกมาทันเห็นเตียวเอ๊กประชิดตีค่ายสูเป๋าอยู่ดังนั้น ก็เร่งทหารเข้าโจมตีเตียวเอ๊กแตกหนีไปอยู่หลังเขา") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๔". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
  9. ("คิดฉนั้นแล้วจึงแต่งให้สุม่อเตงจ๋งคุมทหารกองหนึ่งยกรีบเข้าไปตีเมืองกิมก๊ก") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๖". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
  10. ("ครั้นสุม่อเตงจ๋งยกมาใกล้ถึงเมืองกิมก๊ก พบกองทัพจูกัดเจี๋ยมยกสวนออกมา") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๖". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
  11. ("จูกัดเจี๋ยมเห็นได้ทีก็ขับทหารไล่ติดตามฆ่าฟันไป ทหารสุม่อแลเตงจ๋งล้มตายเปนอันมาก ตื่นแตกร่นไปเปนอลหม่าน") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๖". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
  12. ("เตงงายจึงถามสุม่อกับเตงจ๋งว่า ท่านทั้งสองมิทันที่จะได้รบพุ่ง เหตุใดจึงพาทหารพ่ายลงมา สุม่อกับเตงจ๋งบอกว่า ข้าพเจ้ายกไปเห็นขงเบ้งขี่เกวียนยกออกมาก็ตกใจ จึงกลับหลังมาจะแจ้งแก่ท่าน") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๖". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
  13. ("ฝ่ายเตงงายครั้นปราบปรามอาณาประชาราษฎรให้เปนปรกติแล้ว จึงตั้งให้สุม่อเปนที่ขุนนางผู้ใหญ่ว่าราชการเมือง") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๖". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 31, 2024.
  14. (征西將軍鄧艾以為未有釁,屢陳異議。帝患之,使主簿師纂為艾司馬以喻之,艾乃奉命。) จิ้นชู เล่มที่ 2.
  15. (蜀衛將軍諸葛瞻自涪還綿竹,列陳待艾。艾遣子惠唐亭侯忠等出其右,司馬師纂等出其左。忠、纂戰不利,並退還,曰:「賊未可擊。」艾怒曰:「存亡之分,在此一舉,何不可之有?」乃叱忠、纂等,將斬之。忠、纂馳還更戰,大破之,斬瞻及尚書張遵等首,進軍到雒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28.
  16. (以師纂領益州刺史,隴西太守牽弘等領蜀中諸郡。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28.
  17. (鍾會、胡烈、師纂等皆白艾所作悖逆,變釁以結。詔書檻車徵艾。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28.
  18. (師纂亦與艾俱死。纂性急少恩,死之日體無完皮。) อรรถาธิบายจากชือ-ยฺหวี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28.

บรรณานุกรม

[แก้]