แฮหัวหลิม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แฮหัวหลิม (เซี่ยโหว เหมา)
夏侯楙
ขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออก
(鎮東將軍 เจิ้นตงเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจยอย
ราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 228 (228) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจผี / โจยอย
ขุนพลสงบภาคตะวันตก
(安西將軍 อานซีเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 220 (220) – ค.ศ. 228 (228)
กษัตริย์โจผี / โจยอย
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
เสียชีวิตไม่ทราบ
คู่สมรสเจ้าหญิงชิงเหอ
บุพการี
ญาติ
  • เซี่ยโหว ชง (พี่ชาย)
  • เซี่ยโหว จื่อจาง (น้องชาย)
  • เซี่ยโหว จื่อเจียง (น้องชาย)
  • พี่ชายน้องชายคนอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 3 คน
อาชีพขุนพล
ชื่อรองจื่อหลิน (子林)
บรรดาศักดิ์เลี่ยโหว (列侯)

แฮหัวหลิม (มีบทบาทในช่วงทศวรรษ 190[a] – 230) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เซี่ยโหว เหมา (จีน: 夏侯楙; พินอิน: Xiàhóu Máo) ชื่อรอง จื่อหลิน (จีน: 子林; พินอิน: Zǐlín) เป็นขุนพลของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นบุตรชายคนที่สองของแฮหัวตุ้นขุนพลผู้รับใช้ขุนศึกโจโฉ โดยที่แฮหัวหลิมเป็นเพื่อนสนิทของโจผีจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐวุยก๊กและบุตรชายของโจโฉ แฮหัวหลิมแต่งงานกับเจ้าหญิงชิงเหอซึ่งเป็นบุตรสาวคนหนึ่งของโจโฉ แม้ว่าชีวิตสมรสจะไม่ค่อยมีความสุข และครั้งหนึ่งแฮหัวหลิมถูกกล่าวหาว่าคิดการกบฏจากครอบครัวของตนเอง[1][2]

ประวัติ[แก้]

จากการที่ตระกูลแฮหัวสนิทสนมกับตระกูลโจมาอย่างยาวนาน[3] และช่วยสนับสนุนในการสงคราม แฮหัวหลิมจึงเป็นสหายสนิทของโจผีขณะโจผีอยู่ในวัยเยาว์[4] แฮหัวหลิมได้รับการแต่งตั้งจากโจโฉให้เป็นราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) และได้รับบรรดาศักดิ์เลี่ยโหว (列侯) แฮหัวหลิมยังได้แต่งงานกับบุตรสาวคนโตของโจโฉ[5] เมื่อโจผีบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ (จักรพรรดิลำดับสุดท้ายของราชวงศ์ฮั่น) สละราชบัลลังก์ในปี ค.ศ. 220 และขึ้นเป็นจักรพรรดิลำดับแรกของวุยก๊ก แฮหัวหลิมมีส่วนช่วยสนับสนุนการสร้างศิลาจารึกบันทึกเหตุการณ์ อาจจะในฐานะตัวแทนของแฮหัวตุ้นบิดาที่ล่วงลับไปแล้ว[6] โจผีตั้งให้น้องสาว (ที่เป็นภรรยาของแฮหัวหลิม) เป็นเจ้าหญิงชิงเหอ (清河公主 ชิงเหอกงจู่)[5] และตั้งให้แฮหัวหลิมเป็นขุนพลสงบภาคตะวันตก (安西將軍 อันซีเจียงจฺวิน) มอบหมายให้ดูแลกิจการการทหารในภูมิภาคกวนต๋ง (關中 กวานจง) โดยมีศูนย์บัญชาการที่นครเตียงฮัน (長安 ฉางอัน; ปัจจุบันคือนครซีอาน มณฑลฉ่านซี) ซึ่งเดิมมีตำแหน่งว่างจากการเสียชีวิตของแฮหัวเอี๋ยนผู้เป็นญาติ ข้อมูลในเว่ย์เลฺว่บันทึกว่าแฮหัวหลิมมีชื่อเสียงในเรื่องการไร้ความสามารถด้านการทหารและมีความสนใจในกิจการส่วนตัว[7] โฮเวิร์ด กูดแมน (Howard Goodman) ให้ความเห็นว่าแฮหัวหลิมอาจจะใช้เวลาไปกับการเที่ยวเตร่ในพื้นที่มากกว่าจะทำหน้าที่ของตน[6] ขณะที่อยู่ห่างจากนครหลวง แฮหัวหลิมสนุกไปกับการสะสมนางรำและภรรยาน้อย เจ้าหญิงชิงเหอไม่พอใจกับความเจ้าชู้ของแฮหัวหลิม[8]

เมื่อจูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กเตรียมการจะโจมตีวุยก๊กเป็นครั้งแรก อุยเอี๋ยนเสนอให้ส่งกองทหารข้ามภูมิประเทศกันดารลอบเข้าโจมตีเตียงฮันด้วยเชื่อว่าแฮหัวหลิมยังอายุน้อย ขี้ขลาด และโลเล เมื่อทัพจ๊กก๊กมาถึงแฮหัวหลิมจะต้องตื่นตระหนกและหนีออกจากเตียงฮัน ทิ้งเมืองให้อุยเอี๋ยนเข้ายึดได้โดยง่ายดาย[9][10] แต่จูกัดเหลียงปฏิเสธแผนของอุยเอี๋ยน ครั้นฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 228 จูกัดเหลียงเริ่มการรบบุกขึ้นเหนือครั้งแรก โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กลำดับที่ 2 ทรงนำทัพเสริมด้วยพระองค์เองไปยังเตียงฮัน และทรงได้ยินข้อร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของแฮหัวหลิม จึงทรงถอดแฮหัวหลิมจากตำแหน่งบัญชาการ และมอบหมายให้โจจิ๋นที่เหมาะสมกว่าแทน แล้วแต่งตั้งให้แฮหัวหลิมกลับไปเป็นราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) ในราชสำนักวุยก๊กที่นครลกเอี๋ยง (洛陽 ลั่วหยาง)

ราวปี ค.ศ. 230[1] ความตึงเครียดระหว่างแฮหัวหลิมและภรรยาก็เลวร้ายลง น้องชายสองคนของแฮหัวหลิมคือเซี่ยโหว จื่อจาง (夏侯子臧) และเซี่ยโหว จื่อเจียง (夏侯子江) ทำให้แฮหัวหลิมโกรธเพราะไม่มีมารยาท น้องชายทั้งสองกลัวการลงโทษจึงร่วมมือกับเจ้าหญิงชิงเหอพี่สะใภ้เขียนฎีกากล่าาวหาว่าแฮหัวหลิมคิดการกบฏ โจยอยมีรับสั่งให้จับกุมแฮหัวหลิมและกำลังจะสั่งประหารชีวิต แต่ตฺว้าน มั่ว (段默) ทูลทัดทานโดยยกเรื่องความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างแฮหัวหลิมและภรรยาซึ่งบ่งบอกว่าเรื่องนี้เป็นการใส่ร้ายและเรื่องที่แฮหัวหลิมรับใช้จักรพรรดิโจผีเป็นอย่างดี โจยอยมีรับสั่งให้สอบสอนว่าใครเป็นผู้เขียนฎีกา เมื่อความจริงปรากฏจึงมีรับสั่งให้ปล่อยตัวแฮหัวหลิมและคืนตำแหน่งราชเลขาธิการดังเดิม[11]

ภายหลังในช่วงหนึ่งของรัชสมัยโจยอย แฮหัวหลิมได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลผู้พิทักษ์ภาคตะวันออก (鎮東將軍 เจิ้นตงเจียงจฺวิน) ไม่มีการบันทึกว่าแฮหัวหลิมเสียชีวิตเมื่อใด

ในนิยายสามก๊ก[แก้]

ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 แฮหัวหลิมมีชื่อรองว่า จื่อซิว (จีน: 子休; พินอิน: Zǐxiū) เป็นบุตรชายของแฮหัวเอี๋ยน แต่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของแฮหัวตุ้นตั้งแต่วัยเด็ก ภายหลังเมื่อแฮหัวเอี๋ยนถูกฮองตงสังหาร โจโฉรู้สึกสงสารจึงให้เจ้าหญิงชิงเหอบุตรสาวแต่งงานเป็นภรรยาของแฮหัวหลิม

ความน่าจะไร้ความสามารถของแฮหัวหลิมได้รับการเสริมแต่งในนวนิยายสามก๊ก เมื่อแฮหัวหลิมได้รับมอบหมายให้ป้องกันชายแดนระหว่างวุยก๊กและจ๊กก๊ก แต่ไม่ได้รับความเชื่อถือจากเหล่าขุนนางเพราะเห็นว่าแฮหัวหลิมคงไม่สามารถทำหน้าที่ได้สำเร็จ แฮหัวหลิมจึงตอบโต้คำวิจารณ์ของขุนนางเหล่านี้ว่า:

"แม้ว่าข้ายังเยาว์ แต่ก็เรียนพิชัยสงครามมาและคุ้นเคยกับเรื่องการทหารเป็นอย่างดี เหตุใดท่านจึงดูหมิ่นความเยาว์ของข้า แม้นว่าข้าจับตัวจูกัดเหลียงไม่ได้ก็ขอสาบานว่าจะไม่กลับมาเข้าเฝ้าฝ่าบาทอีก"

ในการรบกับจ๊กก๊กในช่วงต้นเป็นไปได้ไม่ดี และแฮหัวหลิมถูกบีบให้ต้องล่าถอย หลังจากปรึกษากับเหล่าขุนพลจึงวางแผนซุ่มโจมตีเตียวจูล่งขุนพลของจ๊กก๊กได้สำเร็จและเข้ารบตัวต่อตัวกับเตียวจูล่งได้มากกว่า 50 เพลง โชคไม่ดีที่ชัยชนะของแฮหัวหลิมครั้งนี้เกิดเพียงชั่วคราว เมื่อขุนพลจ๊กก๊กเตียวเปาและกวนหินยกกำลังทหาร 10,000 นายมาช่วยชีวิตเตียวจูล่งไว้ได้ ทัพของแฮหัวหลิมถูกตีแตกพ่ายในตอนกลางคืน แฮหัวหลิมนำทหารม้าที่เหลือเพียง 100 นายไปยังเมืองลำอั๋น (南安郡 หนานอานจฺวิ้น) แฮหัวหลิมต้านทานการปิดล้อมได้เป็นเวลาสิบวัน กระทั่งจูกัดเหลียงยกทัพมาถึงและเข้าตีเมืองฮันเต๋ง (安定郡 อานติ้งจฺวิ้น) ซุยเหลียง (崔諒 ชุย เลี่ยง) เจ้าเมืองฮันเต๋งพ่ายแพ้ต่อจูกัดเหลียงถูกจับตัวได้ ซุยเหลียงเสนอตนกับจูกัดเหลียงขอไปเกลี้ยกล่อมเอียวเหลง (楊陵 หยาง หลิง) เจ้าเมืองลำอั๋นให้ยอมยกเมืองลำอั๋นให้ แต่แท้จริงแล้วซุยเหลียงไม่ได้มีเจตนาจะเกลี้ยกล่อมเอียวเหลง แต่ไปแจ้งเอียวเหลงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทั้งสองและแฮหัวหลิมพยายามจะลวงทัพจ๊กก๊กเข้าเมืองและเข้าโจมตี

จูกัดเหลียงมองแผนการฝ่ายวุยก๊กออกจึงดำเนินการซ้อนแผน ทำให้ทั้งซุยเหลียงและเอียวเหลงถูกสังหารโดยเตียวเปาและกวนหิน ส่วนแฮหัวหลิมถูกจับตัวได้ แฮหัวหลิมร้องขอชีวิตจึงได้รับการปล่อยตัวภายใต้เงื่อนไขว่าเกียงอุยแปรพักตร์มาเข้าด้วยจ๊กก๊กจึงยอมปล่อยตัวแฮหัวหลิมไป ความจริงแล้วแฮหัวหลิมเพียงถูกหลอกให้คิดว่าเกียงอุยแปรพักตร์แล้ว แฮหัวหลิมเดินไปทางไปยังเมืองเทียนซุย (天水 เทียนฉุ่ย) เข้าพบกับม้าจุ้น (馬遵 หม่า จุน) เจ้าเมืองเทียนซุย ความเชื่อที่ผิดที่ว่าเกียงอุยแปรพักตร์ถูกทำให้แน่ใจยิ่งขึ้นเมื่อเกียงอุยตัวปลอมนำกองกำลังเข้าโจมตีเมืองเทียนซุย แฮหัวหลิมและม้าจุ้นจึงขับไล่ไป และทำกับเกียงอุยตัวจริงเช่นกันเมื่อเกียงอุยตัวจริงมาถึงเมืองเทียนซุยในภายหลัง เกียงอุยตัวจริงจึงเข้าสวามิภักดิ์กับจ๊กก๊ก จากการแปรพักตร์ของเกียงอุยและการทรยศของเลี้ยงซี (梁緒 เหลียง ซฺวี่) และอินเชียง (尹賞 อิ๋น ฉ่าง) (ทั้งคู่เป็นสหายของเกียงอุย) เมืองเทียนซุยจึงตกเป็นของทัพจ๊กก๊ก แฮหัวหลิมถอยหนีพร้อมด้วยผู้ภักดีไม่กี่ร้อยคนและลี้ภัยไปอาศัยด้วยชนเผ่าเกี๋ยง โดยรักษาคำพูดของตนว่าจะไม่กลับมายังนครหลวงอีกหากจับตัวจูกัดเหลียงไม่ได้

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. เนื่องจากโจผีเกิดเมื่อปลายปี ค.ศ. 187 ชีวิตวัยเยาว์ของแฮหัวหลิมจึงอยู่ในช่วงระหว่างทศวรรษ 190 ถึงต้นทศวรรษ 200

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 De Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23–220 AD (ภาษาอังกฤษ). Boston: Brill. p. 884. ISBN 978-90-04-15605-0.
  2. จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  3. De Crespigny, Rafe (18 August 2010). Imperial Warlord: A biography of Cao Cao 155-220 AD (ภาษาอังกฤษ). Leiden: Brill. pp. 19–22, 28. ISBN 9789004188303.
  4. (文帝少与楙亲) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9
  5. 5.0 5.1 De Crespigny, Rafe (18 August 2010). Imperial Warlord: A biography of Cao Cao 155-220 AD (ภาษาอังกฤษ). Leiden: Brill. p. 400. ISBN 9789004188303.
  6. 6.0 6.1 Goodman, Howard (1998). Ts'ao P'i Transcendent The Political Culture of Dynasty-Founding in China at the End of the Han (ภาษาอังกฤษ) (2016 ed.). Seattle: Scripta Serica. p. 214. ISBN 9780966630008.
  7. (楙性無武略,而好治生) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9
  8. (楙在西時,多畜伎妾,公主由此與楙不和) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  9. (夏侯楙為安西將軍,鎮長安,亮於南鄭與群下計議,延曰:「聞夏侯楙少,主婿也,怯而無謀。今假延精兵五千,負糧五千,直從褒中出,循秦嶺而東,當子午而北,不過十日可到長安。楙聞延奄至,必乘船逃走。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  10. Killigrew, John (2013). "Zhuge Liang and the Northern Campaign of 228–234". Early Medieval China. 1999 (1): 64. doi:10.1179/152991099788199472.
  11. 其後群弟不遵禮度,楙數切責,弟懼見治,乃共搆楙以誹謗,令主奏之,有詔收楙。帝意欲殺之,以問長水校尉京兆段默,默以為「此必清河公主與楙不睦,出于譖搆,冀不推實耳。且伏波與先帝有定天下之功,宜加三思」。帝意解,曰:「吾亦以為然。」乃發詔推問為公主作表者,果其群弟子臧、子江所搆也。อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.

บรรณานุกรม[แก้]