แฮฮัวเหลง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แฮฮัวเหลง (เซี่ยโหว ลิ่ง-นฺหวี่)
夏侯令女
ภาพวาดแฮฮัวเหลง
อาชีพชนชั้นสูง
คู่สมรสโจวุนซก (ลูกพี่ลูกน้องของโจซอง)
บุตรบุตรชายบุญธรรมอย่างน้อย 1 คน
บิดามารดา
  • เซี่ยโหว เหวินหนิง (บิดา)

แฮฮัวเหลง[a] หรือ แฮหัวเหลง มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เซี่ยโหว ลิ่ง-นฺหวี่ (จีน: 夏侯令女; พินอิน: Xiàhóu Lìngnǚ) เป็นสตรีสูงศักดิ์และสมาชิกของตระกูลแฮฮัวหรือแฮหัว (夏侯 เซี่ยโหว) ที่เป็นชนชั้นสูงในยุคสามก๊กของจีน แฮฮัวเหลงและตระกูลรับใช้ในรัฐวุยก๊กตลอดชีวิต แฮฮัวเหลงมีชื่อเสียงจากบทบาทในเหตุการณ์ก่อนอุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลง โดยยังคงซื่อสัตย์ต่อวุยก๊กและคัดค้านความต้องการของตระกูลที่ต้องการให้นางแต่งงานใหม่และเข้าร่วมในการรัฐประหารของสุมาอี้ที่ล้มอำนาจโจซอง แฮฮัวเหลงเฉือนอวัยวะบนใบหน้าส่วนหนึ่งออกให้เสียโฉมทุกครั้งที่ถูกขอให้แต่งงานใหม่ การกระทำของแฮฮัวเหลงได้รับความชื่นชมจากสุมาอี้ผู้ซึ่งยอมให้แฮฮัวเหลงมีบทบาทในการสืบมรดกของเชื้อสายตระกูลโจต่อไป

ข้อมูลที่โดดเด่นที่สุดของแฮฮัวเหลงมาจากเลี่ย-นฺหวี่จฺว้าน (列女傳; "ชีวประวัติสตรีตัวอย่าง") ของหฺวางฝู่ มี่ (皇甫謐) ซึ่งน่าจะเป็นตำราสอนใจสตรีในลัทธิขงจื๊อ จากการกระทำอันกล้าหาญของแฮฮัวเหลงที่ยังคงซื่อสัตย์ต่อตระกูลโจแม้ตระกูลโจจะเสื่อมอำนาจลงก็ตาม เรื่องราวของแฮฮัวเหลงจึงเป็นอมตะในฐานการกระทำแห่งความซื่อสัตย์โดยสตรีที่น่าจดจำที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์[2]

ลำดับพงศ์พันธุ์และการเข้าสู่ตระกูลโจ[แก้]

แฮฮัวเหลงเป็นบุตรสาวของเซี่ยโหว เหวินหนิง (夏侯文寧) ในบรรดาญาติของแฮฮัวเหลงมีขุนพลที่มีชื่อเสียงคือแฮหัวตุ้น (夏侯惇 เซี่ยโหว ตุน) และแฮหัวเอี๋ยน (夏侯淵 เซี่ยโหว เยฺวียน) ผู้รับใช้โจโฉผู้ก่อตั้งรัฐวุยก๊ก คนอื่น ๆ ที่อาจเป็นญาติของแฮฮัวเหลง ได้แก่ เซี่ยโหวชื่อ (夏侯氏) ผู้สมรสกับเตียวหุยจากรัฐจ๊กก๊ก, แฮหัวป๋า (夏侯霸 เซี่ยโหว ป้า) ขุนพลวุยก๊กผู้แปรพักตร์ไปเข้าด้วยรัฐจ๊กก๊กภายหลังจากการบุกขึ้นเหนือของเกียงอุยเริ่มต้นได้ไม่นาน, เซี่ยโหว ฮุย (夏侯徽) สมาชิกของตระกูลโจและภรรยาของสุมาสู (บุตรชายของสุมาอี้) การเสียชีวิตของเซี่ยโหว ฮุยก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างตระกูลสุมาและตระกูลโจ บุตรสาวของเซี่ยโหวชื่อ (ภรรยาของเตียวหุยและหลานสาวของแฮหัวเอี๋ยน) 2 คนคือ จักรพรรดินีจิงไอ่ (เตียวซี) และจักรพรรดินีเตียวกลายเป็นจักรพรรดินีของรัฐจ๊กก๊ก ทำให้ตระกูลแฮหัว (แฮฮัว) ถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย

แฮฮัวเหลงได้สมรสทางการเมืองกับโจวุนซก (曹文叔 เฉา เหวินชู) ลูกพี่ลูกน้องของโจซองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทำให้แฮฮัวเหลงได้กลายเป็นชนชั้นสูง ในชีวิตสมรสของแฮฮัวเหลงไม่เคยมีบุตร[3]

อุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลง[แก้]

เมื่อไม่นานก่อนที่การก่อรัฐประหารโค่นล่มโจซองจะเริ่มต้น โจวุนซกสามีของแฮฮัวเหลงเสียชีวิต เวลานั้นเนื่องด้วยการต่อต้านสมาชิกของตระกูลโจขยายตัวมากขึ้นและความนิยมของตระกูลสุมาก็มากขึ้น เซี่ยโหว เหวินหนิงบิดาของแฮฮัวเหลงจึงเข้าร่วมกับฝ่ายที่ต่อต้านตระกูลโจ เซี่ยโหว เหวินหนิงตัดสินใจจะให้แฮฮัวเหลงแต่งงานใหม่เข้าตระกูลใหม่เพื่อตัดสัมพันธ์กับตระกูลโจ แต่แฮฮัวเหลงต้องการจะรักษาเกียรติของตนเองและคงความซื่อสัตย์ต่อตระกูลโจจึงยอมตัดผมและเฉือนหูของตนเองเพื่อแสดงการปฏิเสธต่อคำขอของบิดา[4]

ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249[b] โจซองและน้องชาย 2 คนคือโจอี้ (曹羲 เฉา ซี) และโจหุ้น (曹訓 เฉา ซฺวิ่น) ออกจากนครหลวงลกเอี๋ยงตามเสด็จจักรพรรดิโจฮองไปสักการะบรรพชนที่สุสานโกเบงเหลง (高平陵 เกาผิงหลง) หลังจากนั้นจึงจะไปล่าสัตว์นอกนครลกเอี๋ยง สุมาอี้ขุนพลที่มีชื่อเสียงที่บิดาของแฮฮัวเหลงนับถือได้ฉวยโอกาสนี้เข้าก่อการรัฐประหารและเข้าบัญชาการกำลังทหารที่ประจำการในลกเอี๋ยง

เมื่อสุมาอี้ควบคุมนครหลวงลกเอี๋ยงและออกฎีกาแสดงรายการความผิดจำนวนมากที่โจซองเคยกระทำ โจซองยอมจำนนและยอมสละอำนาจหลังจากได้รับคำมั่นจากสุมาอี้ว่าตัวโจซองและครอบครัวจะได้รับการไว้ชีวิต ภายหลังสุมาเข้าเฝ้ากวยทายเฮาและบังคับให้พระองค์มีพระราชเสาวนีย์ให้จับกุมโจซองและเหล่าน้องชายในข้อหากบฏ ครั้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ โจซองและเหล่าน้องชายรวมถึงผู้สนับสนุนถูกตั้งข้อหากบฏและถูกประหารชีวิตพร้อมกับครอบครัว

หลังจากการเสียชีวิตของโจซอง แฮฮัวเหลงเฉือนจมูกของตนเองเพื่อตอบโต้คำขอของคนในครอบครัวที่ให้ตัดสัมพันธ์กับตระกูลโจที่สิ้นอำนาจ คนในครอบครัวต่างตกตะลึงกับการกระทำของแฮฮัวเหลงแล้วพูดว่า "ชีวิตของเราบนแผ่นดินนี้เปรียบเหมือนฝุ่นบางเบาบนใบหญ้าอ่อน เหตุใดเจ้าต้องทรมานตนเองขนาดนี้ นอกจากนี้ตระกูลของสามีเจ้าก็ถูกทำลายล้างจนสิ้นแล้ว จะยังรักษาพรหมจรรย์อยู่เพื่อประโยชน์อันใด"

แฮฮัวเหลงตอบกลับด้วยความดูถูกการกระทำอันขี้ขลาดของครอบครัวตนเองว่า:

"ข้าได้ยินว่าบุคคลผู้ทรงคุณค่าย่อมไม่ละทิ้งหลักการของตนเพราะโชคชะตาที่เปลี่ยนแปลงไป และบุคคลผู้ชอบธรรมก็ไม่เปลี่ยนความคิดในแง่ของการรักษาหรือการทำลาย ขณะที่ตระกูลโจรุ่งเรือง ข้าก็รักษาพรหมจรรย์ของตนเองไว้ บัดนี้ตระกูลโจสูญสิ้นไปแล้ว ข้าจะกล้าละทิ้งได้อย่างไร แม้แต่สัตว์ยังไม่ทำเช่นนี้ แล้วข้าจะทำได้อย่างไร"[6]

เมื่อสุมาอี้ได้ยินเรื่องการกระทำอันกล้าหาญของแฮฮัวเหลงก็ชื่นชมความซื่อสัตย์ของแฮฮัวเหลง และอนุญาตให้แฮฮัวเหลงรับบุตรบุญธรรมที่เป็นญาติของโจซองเพื่อให้สืบเชื้อสายของตระกูลโจต่อไป

การก่อรัฐประหารของสุมาอี้เพิ่มอิทธิพลให้กับตระกูลสุมาและปูทางให้ราชวงศ์จิ้นของตระกูลสุมามาแทนที่การปกครองของวุยก๊กในที่สุดในปี ค.ศ. 266 แฮฮัวเหลงยังคงอยู่ในอาณาเขตของตระกูลสุมาและเลี้ยงบุตรบุญธรรมคนหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องทางเชื้อสายโดยตรงกับโจโฉ ด้วยบุตรบุญธรรมคนนี้แฮฮัวเหลงจึงได้สืบมรดกของเชื้อสายตระกูลโจต่อไป

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ชื่อ "แฮฮัวเหลง" ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 79 ในความว่า "มีนางคนหนึ่งเปนบุตรแฮฮัวเหลง เปนเมียโจวุนซกน้องโจซอง"[1] ความว่า "บุตรแฮฮัวเหลง" นั้นแปลจากภาษาจีนว่า "เซี่ยโหวลิ่ง-นฺหวี่" (夏侯令女) ซึ่งอาจแปลได้ว่า "บุตรสาวของเซี่ยโหว ลิ่ง (แฮฮัวเหลง)" เพราะคำว่า "นฺหวี่" (女) สามารถแปลว่า "บุตรสาว" ได้ แต่แท้จริงแล้ว "เซี่ยโหว ลิ่ง-นฺหวี่" เป็นชื่อจริงทั้งหมด คือมีชื่อตัวว่า "ลิ่ง-นฺหวี่" และคำว่า "นฺหวี่" ในที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อตัว
  2. วันเจี๋ยอู่ (甲午) ของเดือน 1 ในศักราชเจียผิงปีที่ 1 ตามพระราชประวัติโจฮองในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สามก๊ก ตอนที่ ๗๙". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ March 15, 2024.
  2. The Confucian Four Books for Women: A New Translation of the Nü Sishu and the Commentary of Wang Xiang (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. 2018-04-02. ISBN 978-0-19-046091-4.
  3. 鞠锋 (2017-03-01). 三国人物家庭教育启示录 (ภาษาจีน). Beijing Book Co. Inc. ISBN 978-7-5171-2175-6.
  4. 柏楊 (1998). 柏楊曰:讀通鑑,論歷史(3) (ภาษาจีนกลางสำเนียงไต้หวัน). 遠流出版. ISBN 978-957-32-3542-2.
  5. (嘉平元年春正月甲午,車駕謁高平陵。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  6. 司馬光 (1983). 資治通鑑 (ภาษาจีน). 遠流出版公司.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Lee, Lily Xiao Hong & Stefanowska, A.D. (2007). Biographical Dictionary of Chinese women: Antiquity through Sui, 1600 B.C.E-618 C.E. M.E. Sharpe, Inc.