หุยสิว
หุยสิว (เผย์ ซิ่ว) | |
---|---|
裴秀 | |
เสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 268 – 3 เมษายน ค.ศ. 271 | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
หัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 265 – ค.ศ. 268 | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
รองราชเลขาธิการ (尚書僕射 ช่างชูผูเย่) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 260 – ค.ศ. 265 | |
กษัตริย์ | โจฮวน |
ที่ปรึกษาการทหาร (參謀 ชานโหมว) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 257 – ค.ศ. 260 | |
กษัตริย์ | โจมอ |
นายกองพัน (司馬 ซือหม่า) (ภายใต้สุมาเจียว) | |
ดำรงตำแหน่ง ป. คริสต์ทศวรรษ 250 – ค.ศ. 257 | |
กษัตริย์ | โจฮอง / โจมอ |
เจ้าพนักงานสำนักประตูเหลือง (黃門侍郎 หฺวางเหมินชื่อหลาง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ป. คริสต์ทศวรรษ 250 | |
กษัตริย์ | โจฮอง |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ค.ศ. 224 อำเภอเหวินสี่ มณฑลชานซี |
เสียชีวิต | ค.ศ. 271[a] (47 ปี) |
คู่สมรส | บุตรสาวของกัว เพ่ย์ (郭配) |
บุตร |
|
บุพการี |
|
ญาติ |
|
อาชีพ | นักทำแผนที่, นักภูมิศาสตร์, ขุนนาง, นักเขียน |
ชื่อรอง | จี้เยี่ยน (季彥) |
บรรดาศักดิ์ | จฺวี้ลู่กง (鉅鹿公) |
หุยสิว | |||||||||||
ภาษาจีน | 裴秀 | ||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
| |||||||||||
จี้เยี่ยน (ชื่อรอง) | |||||||||||
ภาษาจีน | 季彥 | ||||||||||
|
หุยสิว[2][3][4], โปยสิว[5] หรือ โปยซิว[6] (ค.ศ. 224–3 เมษายน ค.ศ. 271[a]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เผย์ ซิ่ว (จีน: 裴秀; พินอิน: Péi Xiù) ชื่อรอง จี้เยี่ยน (จีน: 季彥; พินอิน: Jìyàn) เป็นนักทำแผนที่ นักภูมิศาสตร์ ขุนนาง และนักเขียนของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กตอนปลายและยุคราชวงศ์จิ้นของจีน หุยสิวได้รับความไว้วางใจจากสุมาเจียวอย่างมาก และมีส่วนร่วมในการปราบปรามกบฏของจูกัดเอี๋ยน หลังสุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิและก่อตั้งราชวงศ์จิ้น หุยสิวและกาอุ้นทำการถอดถอนโจฮวนจักรพรรดิแห่งวุยก๊กลงจากตำแหน่งตามเจตจำนงแห่งสวรรค์ ในปี ค.ศ. 267 หุยสิวได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) ในราชสำนักราชวงศ์จิ้น[7]
หุยสิวสรุปและวิเคราะห์ความก้าวหน้าของการทำแผนที่ การสำรวจรังวัด และคณิตศาสตร์จนถึงสมัยของตน[8] หุยสิววิจารณ์แผนที่ในยุคราชวงศ์ฮั่นว่าขาดความแม่นยำและคุณภาพเมื่อแสดงมาตราส่วนและระยะทางที่วัดได้ แม้ว่าการขุดค้นทางโบราณคดีในศตวรรษที่ 20 และการค้นพบแผนที่ก่อนศตวรรษที่ 3 จะพิสูจน์ว่าผลเป็นไปในทางอื่นก็ตาม นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าจาง เหิง (ค.ศ. 78–139) เป็นคนแรกที่สร้างระบบพิกัดกริดในการทำแผนที่ของจีน
ประวัติช่วงต้น
[แก้]หุยสิวเป็นชาวอำเภอเหวินสี่ (聞喜縣 เหวินสี่เซี่ยน) เมืองฮอตั๋ง (河東 เหอตง)[9] หุยสิวเกิดในตระกูลขุนนาง ปู่ของหุยสิวคือเผย์ เม่า (裴茂) เป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[10] บิดาของหุยสิวคือเผย์ เฉียน (裴潛) เป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก[11] พ่อตาของหุยสิวคือกัว เพ่ย์ (郭配) น้องชายของกุยห้วย (郭淮 กัว หฺวาย) ขุนพลผู้มีชื่อเสียงของวุยก๊ก[12]
หุยสิวเป็นคนฉลาดและเรียนดีตั้งแต่วัยเด็ก[13] เผย์ ฮุย (裴徽) อาของหุยสิวก็มีชื่อเสียงมากเช่นกัน มักมีแขกมาเยี่ยมบ้านอยู่บ่อย ๆ หลังเหล่าแขกได้พบเผย์ ฮุยแล้ว ต่างต้องการพบและสนทนากับหุยสิวซึ่งมีอายุเพียงสิบกว่าปี[14] ผู้คนในเวลานั้นกล่าวขานว่า "ผู้นำของคนรุ่นหลังคือหุยสิว"[15]
การรับราชการกับวุยก๊ก
[แก้]ในรัชสมัยจักรพรรดิโจฮองแห่งรัฐวุยก๊ก บู๊ขิวเขียมขุนพลวุยก๊กเสนอชื่อหุยสิวกับโจซองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก โจซองจึงแต่งตั้งให้หุยสิวเป็นเจ้าพนักงานสำนักประตูเหลือง (黃門侍郎 หฺวางเหมินชื่อหลาง) และให้สืบทอดบรรดาศักดิ์ชิงหยางถิงโหว (清陽亭侯) ของบิดา[16]
หลังโจซองถูกสุมาอี้สั่งประหารชีิวิตในปี ค.ศ. 249 เวลานั้นสุมาเจียวบุตรชายของสุมาอี้่ดำรงตำแหน่งขุนศึกสงบภาคตะวันตก (安東將軍 อานตงเจียงจฺวิน) และขุนพลพิทักษ์ (衛將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน) และทำศึกป้องกันรัฐจ๊กก๊กและง่อก๊ก หุยสิวได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งนายกองพัน (司馬 ซือหม่า) ในสังกัดของสุมาเจียว มีส่วนร่วมในการวางกลยุทธ์และได้รับความไว้วางใจอย่างสูง[17]
ในปี ค.ศ. 257 จูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กก่อกบฏต่อต้านสุมาเจียว หุยสิวเข้าร่วมติดตามสุมาเจียวในการปราบปรามกบฏในฐานะที่ปรึกษาการทหาร (參謀 ชานโหมว) ร่วมกับต้านท่ายและจงโฮย หลังปราบปรามกบฏได้สำเร็จในปีถัดมา หุยสิวได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลู่หยางเซียงโหว (魯陽鄉侯) จากการมีส่วนร่วมในการศึก[18]
ในปี ค.ศ. 260 โจมอจักรพรรดิแห่งวุยก๊กถูกพระชนม์ระหว่างทรงพยายามจะก่อรัฐประหารโค่นล้มสุมาเจียว หุยสิวเสนอกับสุมาเจียวให้เชิญโจฮวนผู้เป็นฉางเต้าเซียงกง (常道鄉公) มาขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ หลังจากโจฮวนขึ้นครองราชย์ หุยสิวได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์จากโหวระดับตำบล (鄉侯 เซียงโหว) เป็นโหวระดับอำเภอ (縣侯 เซี่ยนโหว) และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองราชเลขาธิการ (尚書僕射 ช่างชูผูเย่)[19]
ในเวลานั้น สฺวิน อี่ (荀顗) มีหน้าที่กำหนดธรรมเนียมและพิธีการ กาอุ้นเป็นหัวหน้าในการแก้ไขกฎหมาย และหุยสิวมีหน้าที่ในการกำหนดตำแหน่งขุนนางและบรรดาศักดิ์ใหม่ หุยสิวเสนอให้ฟื้นฟูระบบบรรดาศักดิ์ห้าขั้นของราชวงศ์จิวตะวันตก เป็นผลทำให้ผู้สนับสนุนของตระกูลสุมาจำนวนมากได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ[20]
ต่อมาหุยสิวพูดกับสุมาเจียวที่กำลังตัดสินใจว่าจะตั้งให้บุตรชายคนใดเป็นทายาทว่า "ผู้สงบทัพกลาง (中撫軍 จงฟู่จฺวิน; หมายถึงสุมาเอี๋ยนบุตรชายคนโตของสุมาเจียว) เป็นผู้ได้รับความนิยมจากปวงชนทั้งยังมีความสามารถ รูปการณ์แห่งฟ้าเป็นเช่นนี้ เขาจะไม่เป็นเพียงแค่เสนาบดีอย่างแน่นอน" ทำให้สุมาเจียวตัดสินใจแน่วแน่ในการตั้งให้สุมาเอี๋ยนเป็นทายาท[21]
ในปี ค.ศ. 265 สุมาเจียวเสียชีวิต สุมาเอี๋ยนสืบทอดฐานันดรศักดิ์จีนอ๋อง (晉王 จิ้นหวาง) สุมาเอี๋ยนตั้งให้หุยสิวมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง)[22]
การรับราชการกับราชวงศ์จิ้น
[แก้]ในปี ค.ศ. 266 สุมาเจียวโค่นล้มวุยก๊กและสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิ ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นตะวันตก ทรงตั้งให้หุยสิวมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาผู้ใหญ่ราชสำนักฝ่ายซ้าย (左光祿大夫 จั่วกวางลู่ต้าฟู) และให้มีบรรดาศักดิ์เป็นจฺวี้ลู่กง (鉅鹿公)[23]
ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 268[b] หุยสิวได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง)[24][25]
เนื่องจากตำแหน่งเสนาบดีโยธาธิการเป็นตำแหน่งระดับสูงและรับผิดชอบงานวิศวกรรมโยธาและที่ดิน ทำให้หุยสิวมีเวลาว่างจากราชการต่างจากช่วงที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ และสามารถเข้าถึงหนังสือและข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์ของสถานที่ต่าง ๆ หุยสิวนั้นเป็นผู้มีความสามารถและเคยทำหน้าทีเ่ป็นที่ปรึกษาการทหารมาโดยตลอด จึงให้ความสนใจในเรื่องภูมิประเทศของสถานที่ต่าง ๆ หุยสิวเริ่มคิดจะแก้ไขข้อผิดพลาดของบทยฺหวี่ก้ง (禹貢) ในคัมภีร์ชูจิง (書經) โดยใช้ภาพและคำอธิบายประกอบ หุยสิวจึงเขียนตำรายฺหวี่ก้งตี้-ยฺวี่ถู (禹貢地域圖; "แผนที่ภูมิประเทศในยฺหวี่ก้ง") 18 บท และเขียนเรื่อง "การเขียนแผนที่หกประเภท" เป็นคำนำ[26]
ในปี ค.ศ. 271 หุยสิวซึ่งได้รับฉายาว่า "ท่านผู้มีชื่อเสียงแห่งยุค" (當世名公 ตางชื่อหมิงกง) รับประทานผงยาหานฉือส่าน (寒食散; "ผงอาหารธาตุเย็น") หลังรับประทานยานี้ต้องรับประทานอาหารที่เย็นและดื่มสุราที่ร้อนเพื่อช่วยในการกระจายยา แต่หุยสิวทำผิดพลาดโดยไปดื่มสุราที่เย็น จึงเสียชีวิตในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 271[a] ขณะอายุ 48 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[27] หุยสิวได้รับสมัญญานามว่า "ยฺเหวียนกง" (元公)[28]
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 บทพระราชประวัติสุมาเอี๋ยน (จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) ในจิ้นชูระบุว่าหุยสิวเสียชีวิตในวันปิ่งซฺวี (丙戌) ในเดือน 3 ของศักราชไท่ฉื่อ (泰始) ปีที่ 7 ในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยน[1] วันที่นี้เทียบได้กับวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 271 ในปฏิทินกริกอเรียน
- ↑ วันซินเว่ย์ (辛未) ในเดือน 1 ของศักราชไท่ฉื่อ (泰始) ปีที่ 4 ในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ [(泰始七年)三月......丙戌,司空、鉅鹿公裴秀薨。] จิ้นชู เล่มที่ 3
- ↑ ("ครั้นรุ่งขึ้นเช้าวันหนึ่งจีนอ๋องจึงให้หากาอุ้นกับหุยสิวเข้ามาถามว่า โจโฉกับบิดาของเราข้างไหนจะดีกว่ากัน กาอุ้นกับหุยสิวจึงว่า อันโจโฉนั้นทำการทั้งปวงมีความชอบมากก็จริง แต่ทว่าอาณาประชาราษฎรหารักใคร่สนิธไม่ ถึงมาทว่าทำสมบัติไว้ให้แก่โจผีผู้บุตรนั้นเล่าก็ยังมิราบคาบสิ้น ทิศเหนือทิศใต้ก็เปนเสี้ยนหนามอยู่ อันพระไอยกาของท่านได้ทำการมาก็หนักหนา ปรากฎชื่อเสียงเลื่องลือเปนอันมาก แลอาณาประชาราษฎรก็รักใคร่สนิธ พระบิดาของท่านเล่าก็ซ้ำได้เมืองเสฉวน ครั้งนี้มีเกียรตยศเปนที่ยำเกรงก็มาก ซึ่งจะเอาโจโฉมาเปรียบด้วยนั้นเห็นไกลกันนัก") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๗". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 20, 2024.
- ↑ ("กาอุ้นหุยสิวจงว่าท่านว่านี้ชอบ ซึ่งจะชิงเอาราชสมบัติของพระเจ้าโจฮวนนั้น ก็เหมือนกับช่วยแก้แค้นพระเจ้าเหี้ยนเต้ ท่านคิดฉนี้ก็ต้องด้วยประเพณีแผ่นดินอยู่แล้ว จีนอ๋องได้ฟังกาอุ้นหุยสิวว่าก็กำเริบนํ้าใจ ครั้นเวลารุ่งเช้าก็ถือกระบี่เข้าไปในวัง") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๗". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 20, 2024.
- ↑ ("ขณะนั้นพระเจ้าโจฮวนจึงปรึกษากาอุ้นหุยสิวว่า การเกิดกำเริบฉนี้แล้วท่านจะคิดประการใด กาอุ้นหุยสิวจึงว่า ทุกวันนี้ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดูเห็นแผ่นดินก็จะร่วงโรยลงแล้ว ซึ่งพระองค์จะขัดแขงอยู่นั้นมิได้ การจวนตัวถึงเพียงนี้ ควรหรือพระองค์จะไม่ผ่อนผันนั้นก็จะมีภัยมาถึงตัว ขอพระองค์จงยกสมบัติให้แก่จีนอ๋องเสียเถิด ก็จะมีความสุขสืบไป") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๗". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 20, 2024.
- ↑ ("ฝ่ายสุมาเจียวรู้ว่าทัพจูกัดเอี๋ยนยกมาบัญจบทัพกังตั๋งแล้ว จึงให้หาขุนนางผู้ใหญ่สองคน ชื่อว่าโปยสิวคนหนึ่งจงโฮยคนหนึ่งมาปรึกษาราชการสงคราม") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 20, 2024.
- ↑ ("โปยซิวจึงว่าแก่สุมาเจียวว่า ซึ่งทหารเมืองกังตั๋งมาสมัคเข้าด้วยเรานี้ สมัคพรรคพวกพี่น้องอยู่ในเมืองกังตั๋งเปนอันมากจะไว้ใจไม่ได้ เกลือกนานไปจะกลับเปนใส้ศึกขึ้น ขอให้ท่านฆ่าเสียให้สิ้นจึงจะชอบ") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 20, 2024.
- ↑ Needham, Volume 3, 538.
- ↑ Hsu, 96.
- ↑ (裴秀,字季彥,河東聞喜人也。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (祖茂,漢尚書令。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (父潛,魏尚書令。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (淮弟配,字仲南,有重名,位至城陽太守。裴秀、賈充皆配女壻。) อรรถาธิบายจากจิ้นจูกงจ้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 26.
- ↑ (秀少好學,有風操,八歲能屬文。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (叔父徽有盛名,賓客甚眾。秀年十餘歲,有詣徽者,出則過秀。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (時人為之語曰:「後進領袖有裴秀。」) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (渡遼將軍毌丘儉嘗薦秀于大將軍曹爽,曰:「生而岐嶷,長蹈自然,玄靜守真,性入道奧;博學強記,無文不該;孝友著于鄉党,高聲聞於遠近。誠宜弼佐謨明,助和鼎味,毗贊大府,光昭盛化。非徒子奇、甘羅之儔,兼包顏、冉、游、夏之美。」爽乃辟為掾,襲父爵清陽亭侯,遷黃門侍郎。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (爽誅,以故吏免。頃之,為廷尉正,曆文帝安東及衛將軍司馬,軍國之政,多見信納。遷散騎常侍。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (帝之討諸葛誕也,秀與尚書僕射陳泰、黃門侍郎鍾會以行台從,豫參謀略。及誕平,轉尚書,進封魯陽鄉侯,增邑千戶。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (常道鄉公立,以豫議定策,進爵縣侯,增邑七百戶,遷尚書僕射。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (魏咸熙初,厘革憲司。時荀顗定禮儀,賈充正法律,而秀改官制焉。秀議五等之爵,自騎督已上六百餘人皆封。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (初,文帝未定嗣,而屬意舞陽侯攸。武帝懼不得立,問秀曰:「人有相否?」因以奇表示之。秀後言于文帝曰:「中撫軍人望既茂,天表如此,固非人臣之相也。」由是世子乃定) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (武帝既即王位,拜尚書令、右光祿大夫,與御史大夫王沈、衛將軍賈充俱開府,加給事中。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (及帝受禪,加左光祿大夫,封钜鹿郡公,邑三千戶。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (四年春正月辛未,以尚書令裴秀爲司空。) จิ้นชู เล่มที่ 3.
- ↑ (久之,詔曰:「夫三司之任,以翼宣皇極,弼成王事者也。故經國論道,賴之明喆,苟非其人,官不虛備。尚書令、左光祿大夫裴秀,雅量弘博,思心通遠,先帝登庸,贊事前朝。朕受明命,光佐大業,勳德茂著,配蹤元凱。宜正位居體,以康庶績。其以秀為司空。」) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (以《禹貢》山川地名,從來久遠,多有變易。後世說者或強牽引,漸以暗昧。於是甄摘舊文,疑者則闕,古有名而今無者,皆隨事注列,作《禹貢地域圖》十八篇,奏之,藏于秘府。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (在位四載,為當世名公。服寒食散,當飲熱酒而飲冷酒,泰始七年薨,時年四十八) จิ้นชู เล่มที่ 35.
- ↑ (詔曰:「司空經德履哲,體蹈儒雅,佐命翼世,勳業弘茂。方將宣獻敷制,為世宗範,不幸薨殂,朕甚痛之。其賜秘器、朝服一具、衣一襲、錢三十萬、布百匹。諡曰元。」) จิ้นชู เล่มที่ 35.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ฝาน เสฺวียนหลิง (648). จิ้นชู.
- Hsu, Mei-ling (1993). "The Qin Maps: A Clue to Later Chinese Cartographic Development". Imago Mundi. 45: 90–100. doi:10.1080/03085699308592766.
- Needham, Joseph (1986). Science and Civilization in China. Vol. 3, Mathematics and the Sciences of the Heavens and the Earth. Taipei: Caves Books Ltd.
- Nelson, Howard (1974). "Chinese Maps: An Exhibition at the British Library". The China Quarterly. 58 (58): 357–362. doi:10.1017/S0305741000011346. S2CID 154338508.
- Temple, Robert (1986). The Genius of China: 3,000 Years of Science, Discovery, and Invention. New York: Simon and Schuster, Inc. ISBN 0-671-62028-2.