จูกัดสู
จูกัดสู (จูเก่อ ซฺวี่) | |
---|---|
諸葛緒 | |
เสนาบดีกรมรักษาราชวัง (衛尉 เว่ย์เว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
เสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
ข้าหลวงมณฑลยงจิ๋ว (雍州刺史 ยงโจวชื่อฉื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 265 | |
กษัตริย์ | โจฮวน |
เจ้าเมืองไทสัน (泰山太守 ไท่ชานไท่โฉ่ว) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ อำเภออี๋หนาน มณฑลชานตง |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ |
บุตร |
|
ญาติ | |
อาชีพ | ขุนศึก, ขุนนาง |
จูกัดสู (ราว ค.ศ. 250 – คริสต์ทศวรรษ 260) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จูเก่อ ซฺวี่ (จีน: 諸葛緒; พินอิน: Zhūgě Xù) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน
ประวัติ
[แก้]จูกัดสูเป็นชาวอำเภอหยางตู (陽都縣 หยางตูเซี่ยน) เมืองลองเอี๋ยหรือลงเสีย (琅邪郡 หลางหยาจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภออี๋หนาน มณฑลชานตง จูกัดสูอาจเป็นญาติห่าง ๆ ของบุคคลที่มีนามสกุลจูกัดคนอื่น ๆ ในยุคสามก๊ก เช่น จูกัดกิ๋น จูกัดเหลียง และจูกัดเอี๋ยน เนื่องจากมีบ้านเกิดเดียวกัน จูกัดสูรับราชการในรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก
ในปี ค.ศ. 255 เมื่อบู๊ขิวเขียมและบุนขิมเริ่มก่อกบฏในอำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วชุ่น; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) จูกัดสูในเวลานั้นรับราชการเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองไทสัน (泰山郡 ไท่ชานจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครไท่อาน มณฑลชานตงในปัจจุบัน) จูกัดสูนำกำลังพลจากเมืองไทสันไปช่วยทัพหลวงของวุยก๊กที่นำโดยผู้สำเร็จราชแทนพระองค์สุมาสูในการปราบปรามกบฏ
ต่อมาจูกัดสูได้เลื่อนตำแหน่งเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลยงจิ๋ว (ไม่ทราบปีที่ได้รับตำแหน่ง)
ในปี ค.ศ. 263 จูกัดสูเข้าร่วมในศึกที่รบกับจ๊กก๊กอันเป็นรัฐอริของวุยก๊ก จูกัดสูได้รับมอบหมายให้นำกำลังพล 30,000 นายไปสกัดเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กที่สะพานในอิมเป๋ง (陰平 อินผิง) เพื่อหยุดยั้งไม่ให้เกียงอุยไปหนุนช่วยด่านเองเปงก๋วน (陽平關 หยางผิงกวาน) หรือหยางอานกวาน (陽安關; อยู่ในอำเภอหนิงเฉียง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) เมื่อเกียงอุยทราบข่าวเรื่องนี้ ก็แสร้งทำเป็นยกพลจะเข้าโจมตีมณฑลยงจิ๋วผ่านหุบเขาข่งหาน (孔函谷 ข่งหานกู่) จูกัดสูหลงกลคิดว่าเกียงกุยต้องการโจมตีฐานที่มั่นของคน จึงสั่งให้กำลังพลล่าถอยจากอิมเป๋ง 30 ลี้ จากนั้นเกียงอุยจึงฉวยโอกาสนี้ข้ามสะพานที่อิมเป๋ง จูกัดสูทราบความจริงจึงพยายามไปหยุดยั้งเกียงอุยแต่ช้าไปหนึ่งวัน ต่อมาจงโฮยขุยพลวุยก๊กเคลื่อนทัพลงใต้จากด่านเองเปงก๋วนและมาถึงไป๋ฉุ่ย (白水) เวลานั้นเตงงายขุนพลวุยก๊กอีกคนต้องการร่วมมือกับจูกัดสูในการโจมตีข้าศึกที่อิวกั๋ง (江油 เจียงโหยว) ด้วยกัน แต่จูกัดสูปฏิเสธแล้วเคลื่อนกำลงไปยังไป๋ฉุ่ยเพื่อสมทบกับจงโฮยแทน ที่ไป๋ฉุ่ยนั้น จงโฮยกล่าวโทษว่าจูกัดสูขี้ขลาดและยึดอำนาจบัญชาการกำลังพลของจูกัดสู แล้วจึงส่งตัวจูกัดสูกลับไปมณฑลยงจิ๋วในฐานะนักโทษ
ภายหลังจูกัดสูได้รับราชการกับราชวงศ์จิ้นซึ่งขึ้นมาแทนที่รัฐวุยก๊กในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 หลังผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเอี๋ยนชิงราชบัลลังก์จากโจฮวนจักรพรรดิวุยก๊กลำดับสุดท้าย จูกัดสูดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) และเสนาบดีกรมรักษาราชวัง (衛尉 เว่ย์เว๋ย์) ในราชสำนักวุยก๊ก[4]
บุตรและทายาท
[แก้]จูกัดสูมีบุตรชายอย่างน้อย 2 คน ได้แก่ จูเก่อ ชง (诸葛冲) และจูเก่อ หง (诸葛厷)[5]
บุตรสาวของจูเก่อ ชงคือจูเก๋อ หว่าน (諸葛婉) ได้รับเลือกให้เป็นสนมของสุมาเอี๋ยนในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 273[6]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ (诸葛夫人名婉,琅邪阳都人也。父冲,字茂长,廷尉卿。) จิ้นชู, เล่มที่ 31
- ↑ (兄铨,字德林,散骑常侍。铨弟玫,字仁林,侍中、御史中丞。) จิ้นชู, เล่มที่ 31. ไม่ทราบลำดับอายุระหว่างจูเก๋อ หว่านกับจูเก่อ เหมย์
- ↑ ชื่อของ จูเก่อ เฉฺวียนได้รับการบันทึกชื่อด้วยตัวอักษรต่างออกไปในเหยี่ยนโจวจี้ (兖州记) โดยสฺวิน ชั่ว (荀绰). (荀绰《兖州记》曰:冲子诠,字德林,玫字仁林,并知名显达。诠,兖州刺史。玫,侍中御史中丞。) อรรถาธิบายจากเหยี่ยนโจวจี้ (โดยสฺวิน ชั่ว) ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (〈按《百官名》:绪入晋为太常崇礼卫尉。子冲,廷尉。) อรรถาธิบายจากไป่กวานหมิงในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28
- ↑ (厷字茂远,琅邪人,魏雍州刺史绪之子。) อรรถาธิบายจากจิ้นชู (โดยหวาง อิ่น) ใน ชื่อชัวซิน-ยฺหวี่ เล่มที่ 4
- ↑ (婉以泰始九年春入宫,...) จิ้นชู เล่มที่ 31. เดือน 1 ถึง 3 ของปีนั้นเทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ถึง 3 พฤษภาคม ค.ศ. 273 ในปฏิทินจูเลียน
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ฝาง เสฺวียนหลิง (บก.) (648). จิ้นชู.
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.