เค้าอิ๋น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เค้าอิ๋น (สฺวี ยฺหวิ่น)
許允
ขุนพลพิทักษ์ภาคเหนือ
(鎮北將軍 เจิ้นเป่ย์เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 254 (254) – ค.ศ. 254 (254)
กษัตริย์โจฮอง
ราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ค.ศ. 249 หรือหลังจากนั้น (ค.ศ. 249 หรือหลังจากนั้น) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจฮอง
ผู้บัญชาทหารกลาง (中領軍 จงหลิ่นจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ค.ศ. 249 หรือหลังจากนั้น (ค.ศ. 249 หรือหลังจากนั้น) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจฮอง
ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจฮอง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
อำเภอเกาหยาง นครเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย์
เสียชีวิตค.ศ. 254
คู่สมรสรฺเหวี่ยนชื่อ
บุตร
  • สฺวี่ ฉี
  • สฺวี เหมิ่ง
  • บุตรชายอีก 1 คน
บุพการี
  • สฺวี่ จี้ (บิดา)
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองชื่อจง (士宗)

เค้าอิ๋น (เสียชีิวิต ค.ศ. 254) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า สฺวี ยฺหวิ่น (จีน: 許允; พินอิน: Xǔ Yǔn) ชื่อรอง ชื่อจง (จีน: 士宗; พินอิน: Shìzōng) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน

ประวัติ[แก้]

เค้าอิ๋นเป็นชาวเมืองเกาหยาง (高陽) ในมณฑลกิจิ๋ว[1] ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอเกาหยาง นครเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย์ เค้าอิ๋นเกิดในตระกูลขุนนางและเป็นบัณฑิตที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น ในรัชสมัยจักรพรรดิโจยอยแห่งวุยก๊ก เค้าอิ๋นรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่สำนักคัดเลือกของราชเลขาธิการ (尚書選曹郎 ช่างชูเสฺวี่ยนเฉาหลาง)[2] ภายหลังขึ้นเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง)[3] ในอุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลงเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249[a] สุมาอี้ส่งเค้าอิ๋นไปโน้มน้าวโจซองให้นำฎีกาของสุมาอี้ขึ้นถวายจักรพรรดิโจฮอง[5] ภายหลังเค้าอิ๋นขึ้นมามีตำแหน่งเป็นราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) และผู้บัญชาทหารกลาง (中領軍 จงหลิ่นจฺวิน)[3]

ในปี ค.ศ. 254 เค้าอิ๋นมียศเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคเหนือ (鎮北將軍 เจิ้นเป่ย์เจียงจฺวิน) ถืออาญาสิทธิ์ในฐานะแม่ทัพผู้ดูแลราชการทหารทั้งหมดในพื้นที่ทางเหนือของแม่น้ำฮองโห[6] เค้าอิ๋นเป็นมิตรกับแฮเฮาเหียนและลิฮอง[1] แฮเฮาเหียนและลิฮองนั้นวางแผนจะสังหารสุมาสูผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของวุยก๊กแต่ไม่สำเร็จ

ปีเดียวกันนั้น จักรพรรดิโจฮองเสด็จไปที่อำเภอผิงเล่อ (平樂) เพื่อทรงส่งกองกำลังของสุมาเจียวน้องชายของสุมาสู ในเวลานั้นเค้าอิ๋นและเหล่าขุนนางผู้ใหญ่เห็นว่าควรจะใช้โอกาสที่มีการพบปะระหว่างจักรพรรดิโจฮองและสุมาเจียวในการสังหารสุมาเจียวเสีย และวางแผนจะยึดกองกำลังของสุมาเจียวมาใช้โจมตีสุมาสู แต่โจฮองทรงไม่กล้ากระทำการตามแผนดังกล่าว แต่แล้วแผนที่คิดการจะสังหารสุมาเจียวได้รั่วไหลรู้ไปถึงสุมาสู ต่อมาสุมาสูจึงปลดโจฮองจากตำแหน่งจักรพรรดิ[7]

สุมาสูใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ให้ราชสำนักออกราชโองการปลดเค้าอิ๋นจากตำแหน่ง และพาตัวมามอบต่อเสนาบดีตุลาการ (廷尉 ถิงเว่ย์) ตัวเค้าอิ๋นก็ถูกจับในข้อหาสมคบคิดกับผู้อื่นคิดประทุษร้าย ไม่นานหลังจากนั้นเค้าอิ๋นต้องโทษให้ถูกเนรเทศไปยังเมืองเล่อหลาง (樂浪) จักรพรรดิโจฮองทรงพระกันแสงอำลาเค้าอิ๋น เค้าอิ๋นเสียชีวิตระหว่างเดินทาง[8][9]

บู๊ขิวเขียมและบุนขิมเคยเขียนรายการความผิดของสุมาสูในฎีกาที่ถวายราชสำนัก ความตอนหนึ่งมีการกล่าวถึงเค้าอิ๋นว่า "เมื่อไม่นานมานี้ ผู้บัญชาทหารเค้าอิ๋นใกล้จะได้พิทักษ์ภาคเหนือ ด้วยเงินในคลังที่มอบให้ และ[สุมา]สูถวายฎีกาขอให้ลงโทษ แม้ว่า[เค้า]อิ๋นถูกเนรเทศ แต่ก็ตายด้วยความหิวโหยอยู่ตามทาง แผ่นดินได้ยินเรื่องนี้ ไม่มีใครไม่โศกเศร้า นี่คือความผิดประการที่เก้า"[10]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. วันเจี๋ยอู่ (甲午) ของเดือน 1 ในศักราชเจียผิงปีที่ 1 ตามพระราชประวัติโจฮองในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 (初,中領軍高陽許允與豐、玄親善。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  2. (明帝時爲尚書選曹郎) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  3. 3.0 3.1 (稍遷爲侍中尚書中領軍。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  4. (嘉平元年春正月甲午,車駕謁高平陵。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  5. (爽不能用,而夜遣侍中許允、尚書陳泰詣帝,觀望風旨。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  6. (後豐等事覺,徙允為鎮北將軍,假節督河北諸軍事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  7. (此秋,姜維寇隴右。時安東將軍司馬文王鎮許昌,徵還擊維,至京師,帝於平樂觀以臨軍過。中領軍許允與左右小臣謀,因文王辭,殺之,勒其衆以退大將軍。已書詔於前。文王入,帝方食栗,優人雲午等唱曰:「青頭雞,青頭雞。」青頭雞者,鴨也。帝懼不敢發。文王引兵入城,景王因是謀廢帝。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่และเว่ยชื่อชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  8. (未發,以放散官物,收付廷尉,徙樂浪,道死。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  9. (帝以允當出,乃詔會羣臣,羣臣皆集,帝特引允以自近;允前爲侍中,顧當與帝別,涕泣歔欷。會訖,罷出,詔促允令去。會有司奏允前擅以厨錢穀乞諸俳及其官屬,故遂收送廷尉,考問竟,減死徙邊。允以嘉平六年秋徙,妻子不得自隨,行道未到,以其年冬死。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  10. (近者領軍許允當為鎮北,以廚錢給賜,而師舉奏加辟,雖云流徙,道路餓殺,天下聞之,莫不哀傷,其罪九也。) อรรถาธิบายในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28.

บรรณานุกรม[แก้]