เฮ่งเสียง
เฮ่งเสียง (หวาง เสียง) | |
---|---|
王祥 | |
เฮ่งเสียงนอนแนบกับสระน้ำที่กลายเป็นน้ำแข็งเพื่อใช้อุณหภูมิร่างกายละลายน้ำแข็งแล้วจึงจับปลา ปรากฏในภาพอูกิโยะโดยอูตางาวะ คูนิโยชิ | |
มหาองครักษ์ (太保 ไท่เป่า) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 266 – ค.ศ. 268 | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ซื่อจง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 264 – ค.ศ. 266 | |
กษัตริย์ | โจฮวน |
เสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง 30 เมษายน ค.ศ. 264 – ค.ศ. 266 | |
กษัตริย์ | โจฮวน |
ก่อนหน้า | เตงงาย |
เสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) | |
ดำรงตำแหน่ง 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 261 – 30 เมษายน ค.ศ. 264 | |
กษัตริย์ | โจฮวน |
ก่อนหน้า | อองก๋วน |
ถัดไป | สฺวิน อี่ |
เสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 255 – 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 261 | |
กษัตริย์ | โจมอ / โจฮวน |
นายกองพันผู้กำกับการมณฑลนครหลวง (司隸校尉 ซือลี่เซี่ยวเว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 254 – ค.ศ. 255 | |
กษัตริย์ | โจมอ |
เสนาบดีกรมวัง (光祿勳 กวางลู่ซฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 254 – ค.ศ. 255 | |
กษัตริย์ | โจมอ |
เสนาบดีพระคลัง (大司農 ต้าซือหนาง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
นายอำเภอเวิน (溫令 เวินลิ่ง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ค.ศ. 184 นครหลินอี๋ มณฑลชานตง |
เสียชีวิต | 30 เมษายน ค.ศ. 268 (84 ปี) |
บุตร |
|
บุพการี |
|
ญาติ |
|
อาชีพ | ขุนนาง |
ชื่อรอง | ซิวเจิง (休徵) |
สมัญญานาม | ยฺเหวียนกง (元公) |
บรรดาศักดิ์ | ซุยหลิงกง (睢陵公) |
เฮ่งเสียง[1] (ค.ศ. 184[a] – 30 เมษายน ค.ศ. 268[b]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หวาง เสียง (จีน: 王祥; พินอิน: Wáng Xiáng) ชื่อรอง ซิวเจิง (จีน: 休徵; พินอิน: Xiūzhēng) เป็นขุนนางชาวจีนในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25–220), ยุคสามก๊ก (ค.ศ. 220–280) และต้นยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ค.ศ. 266–316) ของจีน เฮ่งเสียงรับราชการในตำแหน่งขุนนางระดับสูงสุดของราชสำนัก ได้แก่ตำแหน่งเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) และเสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์) ในรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน และตำแหน่งมหาองครักษ์ (太保 ไท่เป่า) ในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตก เฮ่งเสียงยังเป็นหนึ่งในยี่จับสี่เห่าหรือยี่สิบสี่ยอดกตัญญู
ภูมิหลังครอบครัว
[แก้]บรรพบุรษของเฮ่งเสียงคือหวาง จี๋ (王吉) ผู้รับราชการเป็นขุนนางเสนอและทัดทาน (諫議大夫 เจี้ยนอี้ต้าฟู) ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก[2] ปู่ของเฮ่งเสียงคือหวาง เหริน (王仁) รับราชการเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลเฉงจิ๋วในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[3] ลุงของเฮ่งเสียงคือหวาง รุ่ย (王叡; เสียชีวิต ค.ศ. 189) รับราชการเป็นข้าหลวงมณฑลของมณฑลเกงจิ๋วและถูกขุนศึกซุนเกี๋ยนสังหาร
หวาง หรง (王融) บิดาของเฮ่งเสียงปฏิเสธที่จะรับราชการในราชสำนักและใช้ชีวิตเป็นสามัญชนตลอดชีวิต[4] มารดาของเฮ่งเสียงคือเซฺวชื่อ (薛氏) เป็นชาวอำเภอเกาผิง (高平縣 เกาผิงเซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเวย์ชาน มณฑลชานตงในปัจจุบัน) สันนิษฐานว่าเซฺวชื่ออาจจะเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร เนื่องจากหวาง หรงมีภรรยาคนที่สองคือจูสี[5] (朱氏 จูชื่อ) ซึ่งให้กำเนิดบุตรชายอีกคนคือหวาง หล่าน (王覽)
ประวัติช่วงต้น
[แก้]เฮ่งเสียงเกิดในยุคสมัยแห่งความโกลาหลในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เมื่อขุนศึกต่าง ๆ กำลังรบกันเพื่อแย่งชิงอำนาจทั่วทั้งจักรวรรดิฮั่น ในช่วงเวลานั้น สมาชิกในครอบครัวของเฮ่งเสียงที่หลงเหลืออยู่มีเพียงจูสีผู้เป็นมารดาบุญธรรมและหวาง หล่านผู้เป็นน้องชายต่างมารดา ทั้งสามอพยพจากบ้านเกิดในเมืองลองเอี๋ย (琅邪郡 หลางหยาจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครหลินอี๋ มณฑลชานตงในปัจจุบัน) และมุ่งลงใต้ไปยังเมืองโลกั๋ง (廬江郡 หลูเจียงจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครลู่อาน มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ทั้งสามใช้ชีวิตในเมืองโลกั๋งอย่างสันโดษเป็นเวลามากกวา 20 ปี ในช่วงเวลานั้น เฮ่งเสียงได้รับคำเชิญให้รับราชการในที่ว่าการเมืองท้องถิ่นแต่เฮงเสียงปฏิเสธ
รับราชการในวุยก๊ก
[แก้]ในยุคสามก๊ก ลิยอย[c] (呂虔 ลฺหวี่ เฉียน) ขุนนางของรัฐวุยก๊กผู้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงมณฑลของมณฑลชีจิ๋ว[d] (徐州 สฺวีโจว) ต้องการรับเฮ่งเสียงมารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย[e] (別駕 เปี๋ยเจี้ย) ของตน ตอนแรกเฮ่งเสียงปฏิเสธ แต่ก็เปลี่ยนใจหลังหวาง หล่านน้องชายโน้มน้ามให้เฮ่งเสียงรับตำแหน่ง ลิยอยมอบหมายให้เฮ่งเสียงดูแลราชการพลเรือนและครัวเรือนในมณฑลชีจิ๋ว ในช่วงเวลาที่เฮ่งเสียงดำรงตำหน่ง เฮ่งเสียงได้ดำเนินนโยบายการศึกษาและส่งทหารไปจัดการกับกลุ่มโจรในภูมิภาค นโยบายที่ประสบความสำเร็จของเฮ่งเสียงทำให้เฮ่งเสียงได้รับการเคารพนับถือจากผู้คนในมณฑลชีจิ๋ว
จากความสำเร็จของเฮ่งเสียง เฮ่งเสียงจึงได้รับการเสนอชื่อเป็นเม่าไฉ (茂才; ผู้สมัครรับราชการพลเรือยนที่ความโดดเด่น) และได้รับการแต่งตั้งเป็นนายอำเภอ (令 ลิ่ง) ของอำเภอเวิน (溫縣; ทางตะวันออกของนครเมิ่งโจว มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ต่อมาเฮ่งเสียงได้เลื่อนขึ้นมามีตำแหน่งเป็นเสนาบดีพระคลัง (大司農 ต้าซือหนง) ในราชสำนัก
ในปี ค.ศ. 254 เฮ่งเสียงสนับสนุนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาสูในการปลดโจฮองจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของวุยก๊ก และตั้งโจมอขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน สุมาสูมอบบำเหน็จตอบแทนการสนับสนุนของเฮ่งเสียงโดยการตั้งให้เฮ่งเสียงมีบรรดาศักดิ์เป็นกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว) และตั้งให้มีตำแหน่งเป็นนายกองพันผู้กำกับการมณฑลนครหลวง (司隸校尉 ซือลี่เซี่ยวเว่ย์)
ในปี ค.ศ. 255 เมื่อขุนพลบู๊ขิวเขียมและบุนขิมเริ่มก่อกบฏในฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) เฮ่งเสียงติดตามสุมาสูที่นำทัพหลวงไปปราบกบฏ หลังกบฏถูกปราบปราม สุมาสูแต่งตั้งให้เฮ่งเสียงเป็นเสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) และเลื่อนบรรดาศักดิ์จากวนไล่เหาเป็นเฮา (侯 โหว) ระดับหมู่บ้านในชื่อบรรดาศักดิ์ว่า "ว่านซุ่ยถิงโหว" (萬歲亭侯) เฮ่งเสียงในฐานะเสนาบดีพิธีการทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ให้กับโจมอจักรพรรดิผู้เยาว์และถวายการสอนวิถีแห่งผู้ปกครองแก่พระองค์
ในปี ค.ศ. 260 โจมอทรงไม่ต้องการเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดอีกต่อไป จึงทรงพยายามก่อก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจคืนจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเจียว[f] (น้องชายของสุมาสู) แต่โจมอกลับถูกปลงพระชนม์โดยเซงเจ (成濟 เฉิง จี้) นายทหารใต้บังคับบัญชาของกาอุ้นผู้ช่วยคนสนิทของสุมาเจียว ระหว่างพระราชพิธีพระศพของโจมอ เฮ่งเสียงในวัย 75 ปีร้องไห้ด้วยความขมขื่นและพูดว่า "ข้าผู้เป็นเสนาบดีชราช่างไร้ค่านัก!" คำพูดของเฮ่งเสียงทำให้ข้าราชการบางคนที่เข้าร่วมในพระราชพิธีพระศพของโจมอรู้สึกละอายใจ
ในปี ค.ศ. 261 ในรัชสมัยของโจฮวน[g]จักรพรรดิลำดับที่ 5 ของวุยก๊ก เฮ่งเสียงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง)
ในปี ค.ศ. 264 เฮ่งเสียงได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกลาโหม[h] (太尉 ไท่เว่ย์) และได้รับตำแหน่งเพิ่มเติมเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) ในปีเดียวกันนั้น สุมาเจียวฟื้นฟูระบบบรรดาศักดิ์ห้าขั้นซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกยกเลิกไป และตั้งให้เฮ่งเสียงเป็นซุยหลิงกง (睢陵侯) มีศักดินา 1,600 ครัวเรือน
รับราชการกับราชวงศ์จิ้น
[แก้]ในปี ค.ศ. 265 หลังการเสียชีวิตของสุมาเจียว สุมาเอี๋ยน[i]บุตรชายของสุมาเจียวชิงราชบัลลังก์จากโจฮวน เป็นการสิ้นสุดของรัฐวุยก๊กและเป็นการก่อตั้งของราชวงศ์จิ้นโดยสุมาเอี๋ยนเป็นจักรพรรดิ หลังการขึ้นครองราชย์ จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงแต่งตั้งให้เฮ่งเสียงเป็นมหาองครักษ์[j] (太保 ไท่เป่า) และทรงให้เฮ่งเสียงดำรงบรรดาศักดิ์ซุยหลิงกงต่อไป
ในช่วงเวลานั้น เฮ่งเสียง, โฮเจ้ง (何曾 เหอ เจิง), เจิ้ง ชง (鄭沖) และอดีตขุนนางของวุยก๊กบางคนก็ถึงวัยชราแล้ว จึงไม่สะดวกที่จะไปเข้าร่วมการประชุมในราชสำนักเป็นประจำได้อีก จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนจึงส่งเริ่น ข่าย (任愷) ซึ่งเวลานั้นเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) ให้ไปเยี่ยมเยียนพวกเขาและขอคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนโยบาย
ในช่วงเวลานั้นเฮ่งเสียงมีอายุในช่วงแปดสิบปีแล้ว ได้ทูลขอพระราชานุญาตจากจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนหลายครั้งเพื่อขอลาออกจากราชการ แต่จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงปฏิเสธ โหว ฉื่อกวาง (侯史光) ผู้ช่วยขุนนางตรวจสอบ (御史中丞 ยฺหวี่ฉื่อจงเฉิง) เคยทูลเสนอให้ปลดเฮ่งเสียงจากราชการเพราะเฮ่งเสียงขาดการเข้าประชุมในราชสำนักเป็นเวลาเพราะสุขภาพไม่ดี แต่จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงเคารพและโปรดปรานเฮ่งเสียง จึงทรงมีรับสั่งถึงกรมตรวจสอบของราชสำนัก (御史台 ยฺวี่ฉื่อไถ; รับผิดชอบในการติดตามผลการปฏิบัติงานของข้าราชการในสำนัก) ให้ละเว้นการตรวจสอบเฮ่งเสียง พระองค์ยังทรงอนุญาตให้เฮ่งเสียงยังอยู่ในตำแหน่งและรับเบี้ยหวัดต่อไป แม้ว่าเฮ่งเสียงจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน
เฮ่งเสียงเสียชีวิตในเดือนเมษายน ค.ศ. 268 ขณะอายุ 85 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) และได้รับสมัญญานามว่า "ยฺเหวียนกง" (元公) ด้วยเหตุนี้เฮ่งเสียงจึงมีสมัญญานามเต็มว่า "ซุยหลิง-ยฺเหวียนกง" (睢陵元公)
ครอบครัว
[แก้]หวาง หล่าน (王覽) น้องชายต่างมารดาของเฮ่งเสียง รับราชการเป็นที่ปรึกษาผู้ใหญ่ราชสำนัก (光祿大夫 กวางลู่ต้าฟู) ของราชวงศ์จิ้น หวาง หล่านยังเป็นบรรพบุรุษรุ่นที่ 4 ของหวาง ซีจือ (王羲之) นักอักษรวิจิตรที่มีชื่อเสียง
ผู้สืบเชื้อสายของเฮ่งเสียงบางคนที่เป็นที่รู้จัก มีดังต่อไปนี้:
- หวาง เจ้า (王肇) บุตรชายคนแรกของเฮ่งเสียงที่เกิดกับอนุภรรยา รับราชการเป็นนายกองร้อยทหารม้า (騎都尉 ฉีตูเว่ย์), ขุนนางกรมวัง (給事中 จี่ชื่อจง) และเจ้าเมืองฉื่อผิง (始平太守 ฉื่อผิงไท่โฉ่ว) ในยุคราชวงศ์จิ้น
- หวาง จฺวิ้น (王俊) บุตรชายของหวาง เจ้า รับราชการเป็นผู้ช่วยรัชทายาท ภายหลังได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหย่งชื่อโหว (永世侯)
- หวาง เสีย (王遐) บุตรชายของหวาง จฺวิ้น รับราชการเป็นเจ้าเมืองยฺวี่หลิน (鬱林太守 ยฺวี่หลินไท่โฉ่ว)
- หวาง จฺวิ้น (王俊) บุตรชายของหวาง เจ้า รับราชการเป็นผู้ช่วยรัชทายาท ภายหลังได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหย่งชื่อโหว (永世侯)
- หวาง เซี่ย (王夏) บุตรชายคนแรกของเฮ่งเสียงที่เกิดกับภรรยาหลวง เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
- หวาง ฟู่ (王馥) บุตรชายคนที่ 2 ของเฮ่งเสียงที่เกิดกับภรรยาหลวง สืบทอดบรรดาศักดิ์ซุยหลิงกงของบิดา รับราชการเป็นเจ้าเมืองซ่างลั่ว (上洛太守 ซ่างลั่วไท่โฉ่ว)
- หวาง เกิน (王根) บุตรชายของหวาง ฟู่ สืบทอดบรรดาศักดิ์ซุยหลิงกงของบิดา
- หวาง เลี่ย (王烈) บุตรชายของเฮ่งเสียงที่เกิดกับอนุภรรยา เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
- หวาง เฟิน (王芬) บุตรชายของเฮ่งเสียงที่เกิดกับอนุภรรยา เสียชีวิตในช่วงเวลาเดียวกับหวาง เลี่ย
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ บทชีวประวัติของเฮ่งเสียงในจิ้นชูระบุว่าเฮ่งเสียงมีอายุ 85 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ในช่วงที่ป่วยหนักก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมาไม่นาน เมื่อคำนวณแล้วปีเกิดของเฮ่งเสียงควรเป็น ค.ศ. 184
- ↑ วันอู้ซฺวี (戊戌) ของเดือน 4 ในศักราชไท่ฉื่อ (泰始) ปีที่ 4 ตามที่ระบุในบทพระราชประวัติสุมาเอี๋ยนในจิ้นชู บทชีวประวัติของเฮ่งเสียงในจิ้นชูระบุว่าเฮ่งเสียงเสียชีวิตในศักราชไท่ฉื่อปีที่ 5 แต่ก็ระบุด้วยว่าจักรพรรดินีพันปีหลวงหวาง ยฺเหวียนจีสิ้นพระชนม์ก่อนเฮ่งเสียงไม่นาน เนื่องจากหวาง ยฺเหวียนจีสิ้นพระชนม์ในเดือนเมษายน ค.ศ. 268 วันที่เฮ่งเสียงเสียชีวิตก็ควรเป็นปี ค.ศ. 268 เช่นกัน
- ↑ "ลื่อเคียน" ในยี่จับสี่เห่า[6]
- ↑ "ชื่อจิว" ในยี่จับสี่เห่า[6]
- ↑ "เบียดเก่" ในยี่จับสี่เห่า[6]
- ↑ "ซือม้าเจียว" ในยี่จับสี่เห่า[7]
- ↑ "โจ๊ฮวน" ในยี่จับสี่เห่า[7]
- ↑ "ไทอ่วย" ในยี่จับสี่เห่า[7]
- ↑ "ซือม้าเอียม" ในยี่จับสี่เห่า[8]
- ↑ "ไทเป่า" ในยี่จับสี่เห่า[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ยี่จับสี่เห่า ๑๘. เฮ่งเสียง". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ October 18, 2024.
- ↑ (王祥,字休徵,琅邪臨沂人,漢諫議大夫吉之後也。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (祖仁,青州刺史。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (父融,公府辟不就。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ ("ครั้งสามก๊กตอนปลาย ที่เมืองลิ่มขี มีชายคนหนึ่งชื่อเฮ่งเสียง กำพร้ามารดามาตั้งแต่เยาว์ มีมารดาเลี้ยงชื่อนางจูสี นางจูสีเป็นคนริศยาเฮ่งเสียงผู้เปนบุตรเลี้ยง หาเหตุให้บิดาเกลียดชังเฮ่งเสียงเนือง ๆ") "ยี่จับสี่เห่า ๑๘. เฮ่งเสียง". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ November 13, 2024.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 ("สมัยนั้นลื่อเคียน เป็นเจ้าเมืองชื่อจิว ทราบว่าเฮ่งเสียงเป็นคนมีความกตัญญูกตเวทีมั่นคง และมีสติปัญญาสามารถพอจะช่วยราชการให้ดำเนินไปเป็นผลดีเรียบร้อยได้ จึงแต่งคนให้เชิญสิ่งของมาให้แก่เฮ่งเสียง และวิงวอนขอให้ไปช่วยทำนุบำรุงบ้านเมือง เฮ่งเสียงยอมรับตามคำขอ จึงลามารดาไปทำราชการอยู่ด้วยลื่อเคียน ๆ ตั้งเฮ่งเสียงเป็นเบียดเก่ ตำแหน่งที่ปรึกษาการเมือง") "ยี่จับสี่เห่า ๑๘. เฮ่งเสียง". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ November 13, 2024.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 ("ครั้นงุ่ยเฮียงกงโจ๊ฮวนได้ครองราชสมบัติณเมืองงุ่ย ซือม้าเจียวให้เฮ่งเสียงไปรับราชการที่เมืองหลวงแล้วตั้งเฮ่งเสียงให้เป็นไทอ่วย ตำแหน่งขุนนางเใหญ่") "ยี่จับสี่เห่า ๑๘. เฮ่งเสียง". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ November 13, 2024.
- ↑ ("เมื่อซือม้าเอียมเป็นจินอ๋องแล้ว ซุ่นค้ายชักชวนเฮ่งเสียงไปเฝ้า") "ยี่จับสี่เห่า ๑๘. เฮ่งเสียง". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ November 13, 2024.
- ↑ ("ต่อมาไม่นานจินอ๋องได้ปราบดาภิเศกเป็นพระเจ้าจีนบูฮ่องเต้ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จิ้น ณ ปีระกา พุทธศักราช ๘๐๘ ทรงเลื่อนเฮ่งเสียงซึ่งเป็นตำแหน่งไทอ่วยให้เป็นตำแหน่งไทเป่า") "ยี่จับสี่เห่า ๑๘. เฮ่งเสียง". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ November 13, 2024.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ฝาน เสฺวียนหลิง (648). จิ้นชู.