หันค่าย
หันค่าย (หาน จี้) | |
---|---|
韓曁 | |
เสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู) | |
ดำรงตำแหน่ง 12 กุมภาพันธ์ – 10 เมษายน ค.ศ. 238 | |
กษัตริย์ | โจยอย |
ที่ปรึกษาราชวัง (太中大夫 ไท่จงต้าฟู) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 234 – 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 238 | |
กษัตริย์ | โจยอย |
เสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 226 – ค.ศ. 234 | |
กษัตริย์ | โจผี / โจยอย |
นายร้อยโลหะ (司金都尉 ซือจินตูเว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 226 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ (จนถึง ค.ศ. 220) / โจผี (ตั้งแต่ ค.ศ. 220) |
หัวหน้ารัฐบาล | โจโฉ (จนถึง ค.ศ. 220) |
ผู้กำกับดูแลงานหลอมเหล็ก (監冶謁者 เจียนเหย่เย่เจ่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
หัวหน้ารัฐบาล | โจโฉ |
เจ้าเมืองเล่าหลิง (樂陵太守 เล่าหลิงไท่โฉ่ว) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
หัวหน้ารัฐบาล | โจโฉ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ อำเภอฟางเฉิง มณฑลเหอหนาน |
เสียชีวิต | 10 เมษายน พ.ศ. 238[a] |
บุตร |
|
บุพการี |
|
ความสัมพันธ์ |
|
อาชีพ | ขุนนาง |
ชื่อรอง | กงจื้อ (公至) |
สมัญญานาม | กงโหว (恭侯) |
บรรดาศักดิ์ | หนานเซียงถิงโหว (南鄉亭侯) |
หันค่าย[2] (เสียชีวิต 10 เมษายน ค.ศ. 238)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หาน จี้ (จีน: 韓曁; พินอิน: Hán Jì) ชื่อรอง กงจื้อ (จีน: 公至; พินอิน: Gōngzhì) เป็นขุนนางชาวจีนผู้รับราชการในรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน เดิมรับใช้ขุนศึกเล่าเปียวและโจโฉในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[3]
ประวัติช่วงต้น
[แก้]หันค่ายเป็นชาวอำเภอตู่หยาง (堵陽縣 ตู่หยางเซี่ยน) เมืองลำหยง (南陽郡 หนานหยางจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอฟางเฉิง มณฑลเหอหนาน[4] บรรพบุรุษของหันค่ายคือหาน ซิ่น (韓信) หรือหานหวางซิ่น (韓王信)[5] เป็นหนึ่งในผู้ปกครองของยุคสิบแปดรัฐในช่วงเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์จิ๋นเป็นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ปู่ของหันค่ายคือหาน ชู่ (韓術) และบิดาของหันค่ายคือหาน ฉุน (韓純) รับราชการเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองฮอตั๋ง (河東郡 เหอตงจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครยฺวิ่นเฉิง มณฑลชานซีในปัจจุบัน) และเมืองลำกุ๋น (南郡 หนานจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครจิงโจว มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน) ตามลำดับในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[6]
เมื่อหันค่ายอายุยังเยาว์ เฉิน เม่า (陳茂) ชายผู้มั่งคั่งและทรงอิทธิพลในอำเภอตู่หยางได้ใส่ร้ายบิดาและพี่ชายของหันค่ายในข้อหาอุกฉกรรจ์ เป็นผลทำให้บิดาและพี่ชายของหันค่ายถูกจับและถูกประหารชีวิต[7] หันค่ายยังคงนิ่งเงียบต่อความอยุติธรรมที่ครอบครัวของตนได้รับ ขณะเดียวกันก็วางแผนอย่างลับ ๆ ที่จะแก้แค้นเฉิน เม่า หันค่ายหางานทำสะสมรายได้ และใช้เงินจ้างมือสังหารเพื่อช่วยในการแก้แค้น พวกเขาสะกดรอยตามเฉิน เม่าและสังหารเสีย ตัดศีรษะเฉิน เม่าไปวางเซ่นหลุมศพของบิดาหันค่าย[8] หันค่ายกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงหลังจากเหตุการณ์นี้[9]
หันค่ายได้รับการเสนอชื่อเป็นเซี่ยวเหลียน (ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับราชการพลเรือน) และได้รับเสนองานในสำนักของเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) แต่หันค่ายปฏิเสธ เมื่อความวุ่นวายทั่วแผ่นดินจีนในทศวรรษ 180[10] หันค่ายปลอมตัวตนและไปอาศัยอยู่ในชนบทของอำเภอโลเอี๋ยง (魯陽縣 หลู่หยางเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอหลู่ชาน มณฑลเหอหนาน)[11] เวลานั้นหันค่ายได้ยินว่าชาวบ้านกำลังวางแผนจะกลายเป็นโจรเพราะชีวิตยากลำบากเกินไป หันค่ายจึงใช้ทรัพย์สินส่วนตัวจัดงานเลี้ยงให้กับเหล่าผู้นำชาวบ้านและโน้มน้าวให้พวกเขายกเลิกแผนที่จะกลายเป็นโจร[12][8]
ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 189 ถึง ค.ศ. 192[13] เมื่อขุนศึกอ้วนสุดครองเมืองลำหยง อ้วนสุดได้ยินชื่อเสียงของหันค่ายจึงเรียกหันค่ายมารับใช้ตน หันค่ายปฏิเสธและไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่เนินเขาใกล้อำเภอชานตู (山都縣 ชานตูเซี่ยน; อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครเซียงหยาง มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน) เพื่อหลีกเลี่ยงอ้วนสุด[14] เมื่อเล่าเปียวเจ้ามณฑลเกงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) พยายามจะเชิญหันค่ายมาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา หันค่ายก็หนีลงใต้ไปยังอำเภอช่านหลิง (孱陵縣 ช่านหลังเซี่ยน; ทางตะวันตกของอำเภอกงอาน มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน) เพื่อหลบหลีกเล่าเปียว ภายหลังหันค่ายเป็นผู้บุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นับถือของผู้คนในท้องถิ่น เล่าเปียวรู้สึกไม่พอใจเมื่อได้ยินเรื่องนี้ หันค่ายกลัวว่าเล่าเปียวจะดำเนินการรุนแรงกับตนจึงตกลงอย่างไม่เต็มใจที่จะรับใช้เล่าเปียว เล่าเปียวตั้งให้หันค่ายเป็นนายอำเภอ (長 จ่าง) ของอำเภอยี่เซง (宜城縣 อี๋เฉิงเซี่ยน; อยู่ในนครเซียงหยาง มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน)[15]
รับใช้โจโฉ
[แก้]ภายหลังการเสียชีวิตของเล่าเปียวในปี ค.ศ. 208 เล่าจ๋องบุตรชายคนรองและทายาทของเล่าเปียวยอมสวามิภักดิ์และสละตำแหน่งเจ้ามณฑลเกงจิ๋วให้กับขุนศึกโจโฉผู้ควบคุมพระเจ้าเหี้ยนเต้จักรพรรดิหุ่นเชิดและกุมอำนาจราชสำนักราชวงศ์ฮั่น [16] โจโฉรับหันค่ายเข้ารับราชการในสำนักของอัครมหาเสนาบดี (丞相 เฉิงเซี่ยง) ซึ่งเป็นตำแหน่งของโจโฉ ภายหลังได้เลื่อนขั้นให้หันค่ายเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองเล่าหลิง (樂陵郡 เล่าหลิงจฺวิ้น; อยู่บริเวณอำเภอหยางซิ่น มณฑลชานตงในปัจจุบัน)[17]
ต่อมาหันค่ายได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแลงานหลอมเหล็ก (監冶謁者 เจียนเหย่เย่เจ่อ) ทำหน้าที่ดูแลอุตสากรรมการหล่อเหล็ก[18] ในสมัยก่อนลูกสูบของเตาหลอมเหล็กทุกเตาใช้ม้าลาก 100 ตัว ต่อมาอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปใช้แรงงานคน เมื่อหันค่ายเข้ามาดูอุตสาหกรรม หันค่ายเห็นว่าการใช้แรงงานคนไร้ประสิทธิภาพเกินไปและต้องใช้กำลังคนมากเกินไป จึงเสนอเสนอให้ใช้พลังน้ำในการควบคุมลูกสูบ ซึ่งเป็นวิธีการที่คิดค้นโดยตู้ ชือเมื่อต้นยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[3] หลังการเปลี่ยนแปลง ปริมาณเหล็กหล่อที่ผลิตได้ในอุตสาหกรรมจึงเพิ่มขึ้นสามเท่าเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน[19] หันค่ายดูแลอุตสาหกรรมการหล่อเหล็กเป็นเวลา 7 ปี และทำงานได้เป็นอย่างดีโดยระดับการผลิตเหล็กหล่อยังคงสูง จึงมั่นใจได้ว่าทหารโจโฉจะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีคุณภาพ ราชสำนักของราชวงศ์ฮั่นจึงออกพระราชโองการยกย่องหันค่ายสำหรับความดีความชอบอันยอดเยี่ยม และเลื่อนขั้นให้หันค่ายมีตำแหน่งนายร้อยโลหะ (司金都尉 ซือจินตูเว่ย์) มีฐานะรองลงมาจากเก้าเสนาบดีในลำดับชั้นราชการของราชวงศ์ฮั่น[20][21]
รับราชการในวุยก๊ก
[แก้]ช่วงปลายปี ค.ศ. 220[22] โจผีบุตรชายและทายาทของโจโฉแย่งชิงบัลลังก์จากพระเจ้าเหี้ยนเต้ โค่นล้มราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและก่อตั้งรัฐวุยก๊กโดยตนขึ้นเป็นจักรพรรดิพระองค์ใหม่ หลังขึ้นครองราชย์ โจผีตั้งให้หันค่ายมีบรรดาศักดิ์เป็นอี๋เฉิงถิงโหว (宜城亭侯)[23][21]
ในปี ค.ศ. 226 โจผีเลื่อนตำแหน่งให้หันค่ายเป็นเสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) เปลี่ยนบรรดาศักดิ์จาก "อี๋เฉิงถิงโหว" เป็น "หนานเซียงถิงโหว" (南鄉亭侯) และพระราชทานศักดินา 200 ครัวเรือน[24]
ในช่วงเวลานั้น เนื่องจากโจผีเพิ่มกำหนดให้ลกเอี๋ยงเป็นนครหลวงของวุยก๊ก จึงยังมีราชพิธี ธรรมเนียม พิธีกรรม และเรื่องที่เกี่ยวกับระเบียบวิธีที่ยังไม่เรียบร้อยดี นอกจากนี้ศาลบรรพชนของตระกูลโจยังคงอยู่ที่เงียบกุ๋น (鄴 เย่; อยู่ในนครหานตาน มณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน) นครหลวงของราชรัฐเดิมของวุยก๊กในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หลังจากหันค่ายเข้ารับตำแหน่งเสนาธิบดีพิธีการแล้ว จึงเขียนฎีกาเสนอให้ราชสำนักสร้างศาลบรรพชนแห่งใหม่ในลกเอี๋ยง และย้ายป้ายวิญญาณบรรพชนจากเงียบกุ๋นมายังลกเอี๋ยง เพื่อให้จักรพรรดิและข้าราชบริหารสามารถทำพิธีเซ่นไหว้บรรพชนได้อย่างเหมาะสม ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่หันค่ายดำรงตำแหน่งเสนาบดีพิธีการ หันค่ายได้คิดค้นรูปแบบราชพิธี ธรรมเนียม พิธีกรรม และระเบียบวิธีีสำหรับรัฐวุยก๊ก และยกเลิกแนวปฏิบัติเก่าจากยุคราชวงศ์ฮั่น หันค่ายลาออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ. 234 เนื่องจากปัญหาสุขภาพ[25][21] และได้รับตำแหน่งกิตติมศักดิ์ในฐานะที่ปรึกษาราชวัง (太中大夫 ไท่จงต้าฟู)
ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 238[b] ในรัชสมัยของโจยอยทายาทของโจผี[27] ราชสำนักออกพระราชโองการว่า "ที่ปรึกษาราชวังหันค่ายเปี่ยมด้วยคุณธรรมและประพฤติตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แม้ว่าท่านจะอายุเกิน 80 ปีแล้ว ก็ยังคงมุ่งมั่นในการส่งเสริมความชอบธรรมและหลักศีลธรรม นี่คือความหมายของการที่ยิ่งอาวุโสมากขึ้น ยิ่งมีคุณธรรมและยิ่งซื่อสัตย์มากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงขอแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู)"[28][21]
เสียชีวิต
[แก้]หันค่ายเสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 238[a] ก่อนที่จะเสียชีวิต หันค่ายบอกว่าตนต้องการให้จัดงานศพอย่างเรียบง่าย ให้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ตนสวมตามปกติขณะมีชีวิต และอยู่ในหลุมศพธรรมดาที่ไม่มีอะไรนอกจากดินที่กลบหน้าโลงศพ ถูกฝังพร้อมด้วยเครื่องใช้ในงานศพที่ทำจากเครื่องดินเผา[29] หันค่ายยังเขียนฎีกาถึงราชสำนักเพื่อสื่อถึงความต้องการตนที่ให้จัดงานศพอย่างเรียบง่าย แม้ว่าตนจะรู้อยู่ว่าตามธรรมเนียมแล้วตนควรได้รับการจัดงานศพที่ประณีตกว่านี้เพราะมีตำแหน่งระดับเสนาบดี[30] หลังจากโจยอยทรงอ่านฎีกาของหันค่าย จึงทรงชื่นชมในความถ่อมตนของหันค่ายและมีรับสั่งให้หันค่ายได้รับการจัดงานศพอย่างเรียบง่ายตามความปรารถนาสุดท้ายของหันค่าย[31] พระองค์ยังพระราชทานเครื่องใช้ในงานศพ ชุดเสื้อคลุมราชสำนัก และกระบี่พิธีการทำจากหยก[32] นอกจากนี้ยังพระราชทานสมัญญานามว่า "กงโหว" (恭侯)[33]
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 จดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าหันค่ายเสียชีวิตในวันเกิงจื่อในเดือน 4 ของศักราชจิ่งชูปีที่ 2 ในรัชสมัยของโจยอย[1] เทียบได้กับวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 238 ในปฏิทินกริโกเรียน
- ↑ จดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าหันค่ายได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีมหาดไทยในวันกุ๋ยเหม่า เดือน 2 ศักราชจิ่งชูปีที่ 2 ในรัชสมัยของโจยอย[26] เทียบได้กับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 238 ในปฏิทินกริโกเรียน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ([景初二年]夏四月庚子,司徒韓曁薨。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
- ↑ ("พระเจ้าโจยอยเห็นชอบด้วย จึงแต่งหนังสือตามคำสุมาอี้ให้หันค่ายถือไปแจ้งแก่โจจิ๋น สุมาอี้จึงสั่งแก่คนถือหนังสือว่า ท่านอย่าบอกแก่โจจิ๋นว่า เราทูลพระเจ้าโจยอยให้มีหนังสือกำชับมา โจจิ๋นจะน้อยใจเรา หันค่ายผู้ถือหนังสือรับคำแล้วก็คำนับลาไป") "สามก๊ก ตอนที่ ๗๔". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ November 4, 2023.
- ↑ 3.0 3.1 de Crespigny (2007), pp. 297–298.
- ↑ (韓曁字公至,南陽堵陽人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (楚國先賢傳曰:曁,韓王信之後。) อรรถาธิบายจากฉู่กั๋วเซียนเสียนจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (祖術,河東太守。父純,南郡太守。) อรรถาธิบายจากฉู่กั๋วเซียนเสียนจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (同縣豪右陳茂,譖曁父兄,幾至大辟。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ 8.0 8.1 de Crespigny (2007), p. 297.
- ↑ (曁陽不以為言,庸賃積資,陰結死士,遂追呼尋禽茂,以首祭父墓,由是顯名。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ Sima (1084), vols. 58-59.
- ↑ (舉孝廉,司空辟,皆不就。乃變名姓,隱居避亂魯陽山中。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (山民合黨,欲行寇掠。曁散家財以供牛酒,請其渠帥,為陳安危。山民化之,終不為害。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ Sima (1084), vols. 59-60.
- ↑ (避袁術命召,徙居山都之山。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (荊州牧劉表禮辟,遂遁逃,南居孱陵界,所在見敬愛,而表深恨之。曁懼,應命,除宜城長。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ Sima (1084), vol. 65.
- ↑ (太祖平荊州,辟為丞相士曹屬。後選樂陵太守, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (... 徙監冶謁者。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (舊時冶,作馬排,每一熟石用馬百匹;更作人排,又費功力;曁乃因長流為水排,計其利益,三倍於前。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (在職七年,器用充實。制書襃歎,就加司金都尉,班亞九卿。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 de Crespigny (2007), p. 298.
- ↑ Sima (1084), vol. 69.
- ↑ (文帝踐阼,封宜城亭侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (黃初七年,遷太常,進封南鄉亭侯,邑二百戶。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (時新都洛陽,制度未備,而宗廟主祏皆在鄴都。曁奏請迎鄴四廟神主,建立洛陽廟,四時蒸嘗,親奉粢盛。崇明正禮,廢去淫祀,多所匡正。在官八年,以疾遜位。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ [景初二年]二月癸卯,以太中大夫韓曁為司徒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
- ↑ Sima (1084), vol. 74.
- ↑ (景初二年春,詔曰:「太中大夫韓曁,澡身浴德,志節高絜,年踰八十,守道彌固,可謂純篤,老而益劭者也。其以曁為司徒。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (楚國先賢傳曰:曁臨終遺言曰:「夫俗奢者,示之以儉,儉則節之以禮。歷見前代送終過制,失之甚矣。若爾曹敬聽吾言,斂以時服,葬以土藏,穿畢便葬,送以瓦器,慎勿有增益。」) อรรถาธิบายจากฉู่กั๋วเซียนเสียนจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (又上疏曰:「生有益於民,死猶不害於民。況臣備位台司,在職日淺,未能宣揚聖德以廣益黎庶。寢疾彌留,奄即幽冥。方今百姓農務,不宜勞役,乞不令洛陽吏民供設喪具。懼國典有常,使臣私願不得展從,謹冒以聞,惟蒙哀許。」) อรรถาธิบายจากฉู่กั๋วเซียนเสียนจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (帝得表嗟歎,乃詔曰:「故司徒韓曁,積德履行,忠以立朝,至於黃髮,直亮不虧。旣登三事,望獲毗輔之助,如何奄忽,天命不永!曾參臨沒,易簀以禮;晏嬰尚儉,遣車降制。今司徒知命,遺言卹民,必欲崇約,可謂善始令終者也。其喪禮所設,皆如故事,勿有所闕。」) อรรถาธิบายจากฉู่กั๋วเซียนเสียนจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (時賜溫明祕器,衣一稱,五時朝服,玉具劒佩。) อรรถาธิบายจากฉู่กั๋วเซียนเสียนจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
- ↑ (夏四月薨,遺令歛以時服,葬為土藏。謚曰恭侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 24.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
- de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.