สุมาปอง
สุมาปอง (ซือหม่า ว่าง) 司馬望 | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อ๋องแห่งงีหยง (義陽王 อี้หยางหวาง) | |||||||||
ดำรงฐานันดรศักดิ์ | ค.ศ. 265–271 | ||||||||
ถัดไป | ซือหม่า ฉี (司馬奇) | ||||||||
ประสูติ | ค.ศ. 205 | ||||||||
สวรรคต | ค.ศ. 271 (66 พรรษา) | ||||||||
พระราชบุตร รายละเอียด |
| ||||||||
| |||||||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์จิ้น | ||||||||
พระราชบิดา | สุมาหู |
สุมาปอง (ค.ศ. 205–271) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซือหม่า ว่าง (จีน: 司馬望; พินอิน: Sīmǎ Wàng) ชื่อรอง จื่อชู (จีน: 子初; พินอิน: Zǐchū) เป็นเจ้าชายและขุนพลของราชวงศ์จิ้นของจีน เดิมรับราชการในรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก
การรับราชการกับวุยก๊ก
[แก้]สุมาปองเป็นบุตรชายคนที่ 2 ของสุมาหู แต่ไปเป็นบุตรบุญธรรมของซือหมา หล่าง (司馬朗) ลุงคนโตที่ไม่มีบุตรชายเป็นทายาท สุมาปองจึงเป็นทายาทอย่างเป็นทางการของซือหมา หล่าง[1] สุมาปองเริ่มรับราชการในรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก และดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง เช่น เจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองผิงหยาง (平陽郡 ผิงหยางจฺวิ้น) และขุนพลราชองครักษ์นิคมการเกษตรแห่งลกเอี๋ยง (洛陽典農中郎將 ลั่วหยางเตี่ยนหยงจงหลางเจี้ยง)[2] ในปี ค.ศ. 251 สุมาปองติดตามสุมาอี้ผู้เป็นลุงในการรบกับหวาง หลิง (王淩) ผู้ก่อก่อกบฏ หลังปราบปรามกบฏสำเร็จ ราชสำนักวุยก๊กตั้งให้สุมาปองมีบรรดาศักดิ์เป็นหย่งอานถิงโหว (永安亭侯) จากความดีความชอบในการศึก ต่อมาสุมาปองได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นโหวระดับตำบลในชื่อ "อานเล่อเซียงโหว" (安樂鄉侯) และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นขุนพลพิทักษ์ทัพ (護軍將軍 ฮู่จฺวินเจียงจฺวิน) และนายทหารม้ามหาดเล็ก (散騎常侍 ซ่านฉีฉางชื่อ)
โจมอจักรพรรดิวุยก๊ก (ครองราชย์ ค.ศ. 254–260) ทรงชื่นชมปัญญาชนเป็นอย่างมาก จึงทรงสนิทกับปัญญาชนที่มีชื่อเสียงอย่างสุมาปอง, หุยสิว, อองซิม และจงโฮย โจมอทรงขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีพระทัยเร็ว และทรงต้องการให้ปัญญาชนเหล่านี้มาร่วมงานเลี้ยงที่พระองค์จัดขึ้นให้เร็วที่สุด เนื่องจากหุยสิว, อองซิม, จงโฮย และคนอื่น ๆ รับราชการเป็นขุนนางในพระราชวังจึงสามารถเดินทางไปร่วมงานเลี้ยงได้ทันเวลา แต่สุมาปองใช้เวลานานในการเดินทางไปถึงพระราชวังเพราะสุมาปองประจำการอยู่ในค่ายทหาร โจมอจึงพระราชทานรถม้าแล่นเร็วให้สุมาปองเพื่อให้สุมาปองเดินทางได้เร็วขึ้น และยังพระราชทานราชองครักษ์ 5 นายมาช่วยคุ้มกันด้วย
ในช่วงเวลานั้น โจมอเป็นเพียงจักรพรรดิหุ่นเชิด เนื่องจากอำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเจียว (ลูกพี่ลูกน้องของสุมาปอง) แม้ว่าสุมาปองจะเป็นคนสนิทของโจมอ แต่ก็มักรู้สึกไม่สบายใจเมื่อเข้าเฝ้าโจมอ สุมาปองจึงทูลขอไปดำรงตำแหน่งที่ห่างไกลจากนครหลวงลกเอี๋ยง โจมอจึงทรงแต่งตั้งให้สุมาปองเป็นขุนพลโจมตีภาคตะวันตก (征西將軍 เจิงซีเจียงจฺวิน) และมอบอำนาจดูแลราชการทหารในมณฑลยงจิ๋วและเลียงจิ๋วบริเวณชายแดนด้านตะวันตกของวุยก๊ก ช่วงก่อนที่สุมาปองจะไปถึงมณฑลยงจิ๋วและเลียงจิ๋ว ภูมิภาคแถบนี้ได้ถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องจากจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก โดยเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กเปิดฉากการบุกหลายครั้ง หลังสุมาปองมาประจำการ ก็ได้เสริมการป้องกันภายในภูมิภาคและนำกลวิธีการป้องกันใหม่ ๆ มาใช้ จึงประสบความสำเร็จในการป้องกันข้าศึกไม่ให้เข้ายึดพื้นที่ หลังสุมาปองปฏิบัติหน้าที่ที่ชายแดนด้านตะวันตกเป็นเวลาประมาณ 8 ปี สุมาปองก็ถูกเรียกตัวกลับมาลกเอี๋ยงให้มารับตำแหน่งเป็นขุนพลพิทักษ์ (衛將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน) และภายหลังเป็นขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน) ไม่นานหลังจากนั้น สุมาปองได้มาแทนที่โฮเจ้ง (何曾 เหอเจิง) ในตำแหน่งเสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู)
การรับราชการกับราชวงศ์จิ้น
[แก้]ในปี ค.ศ. 265 หลังการเสียชีวิตของสุมาเจียว สุมาเอี๋ยน (จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) บุตรชายของสุมาเจียวชิงบัลลังก์จากโจฮวนจักรพรรดิลำดับสุดท้ายของวุยก๊กและก่อตั้งราชวงศ์จิ้น โดยตัวสุมาเอี๋ยนขึ้นเป็นจักรพรรดิ หลังการขึ้นครองราชย์ สุมาเอี๋ยนทรงตั้งให้สุมาปองมีฐานันดรศักดิ์เป็นอ๋องแห่งงีหยง (義陽王 อี้หยางหวาง) มีเขตศักดินาที่ประกอบด้วย 10,000 ครัวเรือน และยังมีกำลังพล 2,000 นายใต้บังคับบัญชา ในปี ค.ศ. 267 สุมาเอี๋ยนทรงแต่งตั้งสุมาปองเป็นเสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์)
ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 260 ซือ จี (施績) ขุนพลของง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของราชวงศ์จิ้น นำกำลังพลบุกเมืองกังแฮ (江夏郡 เจียงเซี่ยจฺวิ้น) สุมาปองนำกำลังพล 20,000 นายไปประจำการที่หลงเปย์ (龍陂) และเสริมกำลังป้องกันโดยรอบเมืองกังแฮ จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนยังพระราชทานอาญาสิทธิ์แก่สุมาปอง และแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพใหญ่ดูแลราชการทหารในภูมิภาค สุมาปองกลับไปลกเอี๋ยงหลังทัพง่อก๊กถูกขับไล่กลับโดยเฮาเหลก (胡烈 หู เลี่ย) ข้าหลวงมณฑลของมณฑลเกงจิ๋ว ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 260 เตงฮองขุนพลง่อก๊กนำกำลังพลโจมตีจุดยุทธศาสตร์ของราชวงศ์จิ้นที่เชฺว่เปย์ (芍陂) เมื่อสุมาปองทราบเรื่องนี้จึงนำทัพราชวงศ์จิ้นไปต้านข้าศึก แต่เตงฮองล่าถอยไปเองก่อนที่สุมาปองจะยกมาถึงเชฺว่เปย์ จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนจึงเลื่อนตำแหน่งสุมาปองให้เป็นเสนาบดีกลาโหมชื่อตำแหน่งต้ายสุม้า (大司馬 ต้าซือหม่า)
ในปี ค.ศ. 271 ซุนโฮจักรพรรดิง่อก๊กทรงนำทัพด้วยพระองค์เข้าโจมตีฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) สุมาปองจึงนำทหารราบ 20,000 นายและทหารม้า 3,000 นายไปยังแม่น้ำห้วย (淮河 หฺวายเหอ) เพื่อเสริมการป้องกันในภูมิภาค ในที่สุดซุนโฮก็ทรงถอนทัพกลับง่อก๊ก สุมาปองสิ้นพระชนม์หลังจากนั้นในปีเดียวกันขณะพระชนมายุ 67 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) สุมาเอี๋ยนพระราชทานสมัญญานามให้สุมาปองเป็น "เฉิงหวาง" (成王) สุมาปองจึงทรงได้รับการเรียกอย่างเป็นทางการว่า "เฉิงหวางแห่งงีหยง" (義陽成王 อี้หยางเฉิงหวาง) เนื่องจากสุมาปองเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวขณะยังมีชีวิตอยู่ ครอบครัวของสุมาปองจึงมีทรัพย์สินมากมายในช่วงเวลาที่สุมาปองเสียชีวิต คนอื่น ๆ ดูหมิ่นสุมาปองจากความตระหนี่ดังกล่าว
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ฝาน เสฺวียนหลิง (648). จิ้นชู.
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.