ม้ากิ้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ม้ากิ้น (หม่า จฺวิน)
馬鈞
เกิดไม่ทราบ
นครซิงผิง มณฑลฉ่านซี
เสียชีวิตไม่ทราบ
ชื่ออื่นเต๋อเหิง (徳衡)
อาชีพวิศวกรเครื่องกล, นักประดิษฐ์, ขุนนาง
ม้ากิ้น (หม่า จฺวิน)
อักษรจีนตัวเต็ม馬鈞
อักษรจีนตัวย่อ马钧

ม้ากิ้น (มีบทบาทในช่วง ค.ศ. 220-265)[1] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หม่า จฺวิน (จีน: 馬鈞; พินอิน: Mǎ Jūn) ชื่อรอง เต๋อเหิง (จีน: 徳衡; พินอิน: Déhéng) เป็น วิศวกรเครื่องกล นักประดิษฐ์ และขุนนางชาวจีนของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน สิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่นที่สุดของม้ากิ้นคือรถชี้ทิศใต้ ยานพาหนะเข็มทิศชี้ทิศทางซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีความเป็นแม่เหล็ก แต่ทำงานโดยใช้เฟืองท้าย (ซึ่งใช้แรงบิดเท่ากันกับล้อขับเคลื่อนที่หมุนด้วยความเร็วต่าง ๆ กัน)[2] ด้วยอุปกรณ์ที่ปฏิวัติวงการชิ้นนี้ (รวมถึงผลงานสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ) ทำให้ม้ากิ้นมีชื่อเสียงในฐานะวิศวรกรเครื่องกลและนักประดิษฐ์ที่มีความสามารถมากที่สุดในยุคนี้ (เคียงคู่กับจาง เหิงเมื่อต้นยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก) อุปกรณ์ได้รับการคิดค้นพัฒนาขึ้นใหม่โดยหลายคนหลังจากม้ากิ้น รวมถึงจู่ ชงจือ (ค.ศ. 429-500) นักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ ในสมัยราชวงศ์ยุคกลางในภายหลัง รถชี้ทิศใต้ของม้ากิ้นได้รับการประยุกต์รวมเป็นอุปกรณ์เดียวกับมาตรระยะทาง

ประวัติ[แก้]

จากการระบุโดยฟู่ เสฺวียน (傅玄; ค.ศ. 214-278) ผู้เป็นสหายของม้ากิ้นและเป็นกวีกับนักปราชญ์ร่วมสมัยกับม้ากิ้น ระบุว่าม้ากิ้นเป็นชาวเมืองฝูเฟิง (扶風郡 ฝูเฟิงจฺวิ้น) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณนครซิงผิง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน[3] ม้ากิ้นในวัยเยาว์ออกเดินทางไปทั่วบริเวณที่เป็นมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน และได้รับวุฒิปั๋วชื่อ (博士; ราชบัณฑิต)[3] แม้ว่าจะได้รับวุฒิปั๋วชื่อ แต่ม้ากิ้นในวัยเยาว์ค่อนข้างยากจน แต่ก็พบวิธีที่ทำให้ได้รับการยอมรับโดยใช้อัจฉริยภาพในการสร้างอุปกรณ์และสิ่งประดิษฐ์เครื่องกล

ม้ากิ้นเป็นขุนนางที่ค่อนข้างโดดเด่นของรัฐวุยก๊ก ขึ้นมามีตำแหน่งขุนนางกรมวัง (給事中 จี่ชื่อจง)[2] ครั้งหนึ่งม้ากิ้นเคยรับผิดชอบกำกับการก่อสร้างพระราชวังฉงหฺวา (崇華殿 ฉงหฺวาเตี้ยน) ภายใต้รับสั่งของโจยอยจักรพรรดิลำดับที่สองของวุยก๊ก ม้ากิ้นเป็นที่รู้จักในวุยก๊กในฐานะนักออกแบบผู้มีพรสวรรค์ในการออกแบบอาวุธและอุปกรณ์บางชนิด และได้รับการยกย่องอย่างสูงโดยเฉพาะจากฟู่ เสฺวียนที่เขียนยกย่องในข้อเขียนของตน ฟู่ เสฺวียนระบุว่าม้ากิ้นไม่ใช่นักพูดที่ดีและไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวาทศิลป์ มักมีปัญหาในการถ่ายทอดความคิดของตนให้ผู้อื่นเพราะมีบุคลิกที่ค่อนข้างเก็บตัว แต่ม้ากิ้นก็มีชื่อเสียงจากความเป็นผู้มีอัจฉริยภาพในด้านเครื่องกล และได้รับการยกย่องในระดับสากลว่าเป็นวิศวกรเครื่องกลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของจีนโบราณ

ผลงานทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี[แก้]

ภาพเฟืองท้ายระหว่างเพลาและล้อหลังของรถยนต์ในยุคปัจจุบัน
แบบจำลองของรถชี้ทิศใต้ (ค.ศ. 2005)

สิ่งประดิษฐ์หนึ่งในช่วงต้น ๆ ของม้ากิ้นคือกี่ทอไหมที่ปรับปรุงใหม่ ฟู่ เสฺวียนระบุว่ากี่ทอไหมนี้ทำให้ม้ากิ้นได้รับการยอมรับอย่างสูงจากทักษะด้านนวัตกรรม ในสมัยนั้น กี่ทอไหมโดยทั่วไปมีตะกอ 50 อันและคันเหยียบ 50 อัน กี่บางอันมีตะกอและคันเหยียบอย่างละ 60 อัน ม้ากิ้นประดิษฐ์กี่ทอไหมที่มีคันเหยียบเพียง 12 อันซึ่งไม่เพียงทำให้กระบวนการทอไหมเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สามารถทอลวดลายที่ซับซ้อนใหม่ ๆ ได้อีกด้วย[3]

ระหว่างที่ม้ากิ้นรับราชการในราชสำนักวุยก๊ก ม้ากิ้นได้ถกเถียงกับเกาถาง หลง (高唐隆) และจีนล่งเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องรถชี้ทิศใต้ เกาถาง หลงและจีนล่งเยาะเย้ยม้ากิ้นที่เชื่อว่ารถชี้ทิศใต้ได้เคยถูกประดิษฐ์ขึ้นจริง ๆ ในอดีต (ตามตำนานเล่าว่ารถชี้ทิศใต้ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยจักรพรรดิหวงตี้) ซึ่งเกาถาง หลงและจีนล่งมองว่าเป็นตำนานไร้แก่นสารที่ไม่เป็นประวัติศาสตร์ ม้ากิ้นโต้กลับว่า "ข้อโต้แย้งเลื่อนลอยไม่สู้การทดสอบจริง ๆ ที่จะแสดงออกซึ่งผลลัพธ์ในทางปฏิบัติ"[2] หลังม้ากิ้นได้รับคำสั่งให้สร้างอุปกรณ์ดังกล่าว ม้ากิ้นก็ออกแบบรถชี้ทิศใต้ที่ใช้งานได้จริงเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 235[4] ด้วยอุปกรณ์ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนดัวยกลไกนี้ ม้ากิ้นจึงได้สร้างหนึ่งในอุปกรณ์กลไกแรก ๆ ในโลกที่ใช้การออกแบบเฟืองท้าย เฟืองท้ายของม้ากิ้น เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของเฟืองท้าย เฟืองท้ายของม้ากิ้นถือเป็นงานออกแบบที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ตรวจสอบได้ในประวัติศาสตร์ ในประเทศจีน รถชี้ทิศใต้ได้รับการประดิษฐ์ใหม่เป็นครั้งที่ 2 โดยจู่ ชงจือ (ค.ศ. 429–500) เนื่องจากรายละเอียดของวิธีการสร้างดั้งเดิมได้สูญหายไป

ม้ากิ้นเคยประดิษฐ์ละครหุ่นกระบอกที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกและพลังน้ำอย่างซับซ้อนถวายโจยอยจักรพรรดิวุยก๊ก (กลไกซับซ้อนกว่าหุ่นกระบอกกลไกที่ถูกค้นพบโดยเล่าปัง (จักรพรรดิฮั่นโกโจ) จักรพรรดิผู้ก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น ระหว่างที่สำรวจสิ่งของจากพระคลังของจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้)[5] ละครหุ่นกระบอกของม้ากิ้นมีความคล้ายคลึงกับหุ่นของกรีกที่ประดิษฐ์โดยเฮโรแห่งอะเล็กซานเดรีย ความแตกต่างอยู่ที่หุ่นของเฮโรใช้ล้อเฟิิืองทรงกระบอกที่หมุนได้กับเชือกและรอกในการดำเนินละครกลไก

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Day & McNeil (1996), p. 461.
  2. 2.0 2.1 2.2 Needham (1986), p. 40.
  3. 3.0 3.1 3.2 Needham (1986), p. 39.
  4. Needham (1986), p. 288.
  5. Needham (1986), p. 158.

บรรณานุกรม[แก้]

  • ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
  • เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
  • ฟ่าน เย่ (ศตวรรษที่ 5). ตำราประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง (โฮ่วฮั่นชู).
  • Needham, Joseph (1986). Science and Civilization in China: Volume 4, Part 2. Taipei: Caves Books, Ltd.
  • Day, Lance; McNeil, Ian (1996). Biographical Dictionary of the History of Technology. New York: Routledge. ISBN 0-415-06042-7.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]