ตังสิม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตังสิม (ต่ง สฺวิน)
董尋
นายอำเภอเป้ย์ชิว (貝丘令 เป้ย์ชิวลิ่ง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
เจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาประจำ
ทัพเสนาบดีมหาดไทย
(司徒軍議掾 ซือถูจฺวินอี้เยฺวี่ยน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจยอย
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
อำเภอเซี่ย มณฑลชานซี
เสียชีวิตไม่ทราบ
บุตรบุตรชาย 8 คน
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองเหวินเอ้า (文奧)

ตังสิม มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ต่ง สฺวิน (จีน: 董尋; พินอิน: Dǒng Xún) ชื่อรอง เหวินเอ้า (จีน: 文奧; พินอิน: Wén'ào) เป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน

ประวัติ[แก้]

ตังสิมเป็นชาวเมืองฮอตั๋ง (河東郡 เหอตงจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอเซี่ย มณฑลชานซี เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ยุติธรรม ในรัชสมัยจักรพรรดิโจยอยแห่งวุยก๊ก ตังสิมดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาประจำทัพเสนาบดีมหาดไทย (司徒軍議掾 ซือถูจฺวินอี้เยฺวี่ยน)

ในช่วงศักราชชิงหลง (ค.ศ. 233-237) จักรพรรดิโจยอยโปรดให้ดำเนินโครงการก่อสร้างพระราชวังขนานใหญ่ ตังสิมเขียนฎีกาขึ้นถวายพระองค์ว่า:

"กระหม่อมทราบมาว่านายทหารผู้ซื่อตรงในยุคโบราณ ล้วนพูดเพื่อแผ่นดิน ไม่หลีกหนีความตาย ดังนั้นโจว ชาง (周昌) จึงเปรียบเทียบฮั่นโกโจ (漢高祖 ฮั่นเกาจู่) กับเจี๋ย (桀) แห่งราชวงศ์เซี่ยและติวอ๋อง (紂王 โจ้วหวาง) แห่งราชวงศ์ชาง หลิว ฝู่ (劉輔) เปรียบเทียบเจ้าโฮ่ว (趙後) กับหญิงรับใช้ ขุนนางผู้ภักดีซื่อตรงเผชิญหน้ากับดาบเปลือยและน้ำเดือด กล้าเดินหน้าอย่างไม่หวั่นเกรงเพื่อรักษาแผ่นดินให้เจ้าเหนือหัว นับตั้งแต่ศักราชเจี้ยนอัน (ค.ศ. 196-220) ผู้คนจำนวนมากตายในสงคราม แม้จะมีผู้รอดชีวิตก็มีแต่เด็ก คนชรา คนพิการ หากพระราชวังมีขนาดเล็กต้องการขยายก็ควรดำเนินการในเวลาที่เหมาะสม ไม่กระทบการเกษตร ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการสร้างของที่ไม่ก่อประโยชน์อย่างมังกรเหลือง (黃龍 หฺวางหลง) นกหงส์ (黃龍 เฟิ่งหฺวาง) เก้ามังกร ถาดรองน้ำค้าง ภูเขาดิน และสระน้ำลึก ของเหล่านี้ปราชญ์ผู้ทรงปัญญาล้วนไม่นิยม และต้องใช้แรงงานสร้างเป็น 3 เท่าของการสร้างพระราชวัง ขงจื๊อกล่าวว่า 'ประมุขปฏิบัติกับขุนนางตามจารีต ขุนนางก็ต้องรับใช้ประมุขด้วยความภักดี' เมื่อไม่มีความภักดีไม่มีการปฏิบัติตามจารีต บ้านเมืองจะดำรงอยู่ได้อย่างไร ประมุขไม่ใช่ประมุข ขุนนางไม่ใชขุนนาง บนล่างไม่เชื่อมถึงกัน ก็เกิดความคับข้องใจ หยินหยางไม่ประสานกัน ภัยพิบัติก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก คนชั่วก็เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ กระหม่อมทราบดีว่าหากทูลไปเช่นนี้ กระหม่อมคงต้องตายเป็นแน่ แต่กระหม่อมก็เปรียบเหมือนขนเส้นหนึ่งของวัว อยู่ไปก็ไม่ประโยชน์อันใด ตายไปจะเป็นไรไปเล่า กระหม่อมมีบุตรชายแปดคน หลังกระหม่อมตายไปจะเป็นภาระต่อฝ่าบาท"[1]

ฎีกาของตังสิมได้รับการยื่นขึ้นถวายจักรพรรดิโจยอยขณะพระองค์เตรียมจะสรงน้ำ โจยอยจึงตรัสถามว่า "ตังสิมไม่กลัวความตายหรือ" เหล่าขุนนางผู้ถวายงานทูลเสนอให้จับกุมตังสิม แต่โจยอยมีรับสั่งว่าไม่ต้องดำเนินการไต่สวนใด ๆ[2]

ต่อมาตังสิมดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอ (令 ลิ่ง) ของอำเภอเป้ย์ชิว (貝丘縣 เป้ย์ชิวเซี่ยน) เป็นที่เคารพนับถือของราษฎร[3]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. (載司徒軍議掾河東董尋上書諫曰:「臣聞古之直士,盡言於國,不避死亡。故周昌比高祖於桀、紂,劉輔譬趙后於人婢。天生忠直,雖白刃沸湯,往而不顧者,誠爲時主愛惜天下也。建安以來,野戰死亡,或門殫戶盡,雖有存者,遺孤老弱。若今宮室狹小,當廣大之,猶宜隨時,不妨農務,況乃作無益之物,黃龍、鳳皇,九龍、承露盤,土山、淵池,此皆聖明之所不興也,其功參倍於殿舍。三公九卿侍中尚書,天下至德,皆知非道而不敢言者,以陛下春秋方剛,心畏雷霆。今陛下旣尊羣臣,顯以冠冕,被以文繡,載以華輿,所以異於小人;而使穿方舉土,面目垢黑,沾體塗足,衣冠了鳥,毀國之光以崇無益,甚非謂也。孔子曰:『君使臣以禮,臣事君以忠。』無忠無禮,國何以立!故有君不君,臣不臣,上下不通,心懷鬱結,使陰陽不和,災害屢降,凶惡之徒因閒而起,誰當爲陛下盡言是者乎?又誰當干萬乘以死爲戲乎?臣知言出必死,而臣自比於牛之一毛,生旣無益,死亦何損?秉筆流涕,心與世辭。臣有八子,臣死之後,累陛下矣!」) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  2. (將奏,沐浴。旣通,帝曰:「董尋不畏死邪!」主者奏收尋,有詔勿問。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  3. (後爲貝丘令,清省得民心。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.

บรรณานุกรม[แก้]