เจียวปั้น
เจียวปั้น (เจี่ยง ปาน) | |
---|---|
蔣班 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ |
อาชีพ | นายทหาร |
เจียวปั้น[1][2] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เจี่ยง ปาน (จีน: 蔣班; พินอิน: Jiǎng Bān) เป็นนายทหารของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน ภายหลังเป็นขุนพลและขุนนางของราชวงศ์จิ้นตะวันตก เจียวปั้นเคยเป็นนายทหารคนสนิทของจูกัดเอี๋ยน
กบฏบู๊ขิวเขียมและบุนขิม
[แก้]ในปี ค.ศ. 255 บู๊ขิวเขียมและบุนขิมขุนพลวุยก๊กก่อกบฏที่อำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว นครลู่อาน มณฑลอานฮุย) เพื่อต่อต้านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาสู ซุนจุ๋นมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) แห่งง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กได้ข่าวเรื่องการก่อกบฏ จึงยกพลไปฉิวฉุนเพื่อสนับสนุนการก่อกบฏ พร้อมด้วยลิกี๋, เล่าเบา และขุนพลง่อก๊กคนอื่น ๆ แต่ยังไม่ทันที่จะยกพลไปถึง จูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กก็เข้ายึดฉิวฉุนได้ก่อนแล้ว ซุนจุ๋นไม่สามารถเข้าโจมตีได้จึงล่าถอย จูกัดเอี๋ยนส่งเจียวปั้นให้นำทหารไล่ตามตี เจียวปั้นสังหารขุนพลเล่าเบาของง่อก๊กได้ที่กูเปย์ (菰陂)[3][4]
กบฏจูกัดเอี๋ยน
[แก้]ในปี ค.ศ. 257 สุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊กออกพระราชโองในนามของราชสำนักให้จูกัดเอี๋ยนกลับมานครหลวงลกเอี๋ยงเพื่อให้มารับตำแหน่งเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) จูกัดเอี๋ยนได้รับราชโองการแล้วก็กลัวสุมาเจียวระแวงตน จูกัดเอี๋ยนจึงตัดสินใจก่อกบฏที่อำเภอฉิวฉุน
ผู้ช่วยคนสนิทสองคนของจูกัดเอี๋ยนคือเจียวปั้นและเจียวอี้ (焦彝 เจียว อี๋) บอกกับจูกัดเอี่ยนว่า "จูอี้มาพร้อมทัพใหญ่แต่ไม่อาจทำการใดได้ ซุนหลิมประหารชีวิตจูอี้และกลับไปกังตั๋ง แท้จริงแล้วซุนหลิมกำลังจะสร้างแนวร่วมเมื่อส่งกำลังพลมาช่วยเรา การตัดสินใจของซุนหลิมที่จะถอยกลับไปแสดงให้เห็นว่าเขามีท่าทีจะรอและเฝ้าดู บัดนี้ในเมื่อทหารของเรายังมีขวัญกำลังใจสูงและกระหายที่จะออกรบ เราจึงควรมุ่งกำลังทั้งหมดไปที่การตีฝ่าวงล้อมไปทางด้านใดด้านหนึ่ง อย่างน้อยเราก็สามารถนำกำลังพลวางส่วนหลบหนีและเอาตัวรอดไปได้"[5]
บุนขิมไม่เห็นด้วยและบอกจูกัดเอี๋ยนว่า "ทัพกังตั๋งเป็นที่ขึ้นชื่อในเรื่องการได้รับชัยชนะหลายครั้ง ข้าศึกของเราทางเหนือก็หยุดทัพกังตั๋งไม่ได้ ท่านควรนำทหารหมื่นกว่านายเข้าร่วมกับกังตั๋ง จวนตวน ตัวข้า และคนอื่น ๆ จากกังตั๋งก็ติดอยู่กับท่านที่นี่ ครอบครัวของเรายังคงอยู่ในกังตั๋ง แม้ว่าซุนหลิมไม่ต้องการช่วยพวกเรา ท่านคิดหรือว่าองค์จักรพรรดิและพระญาติวงศ์จะทอดทิ้งเรา ในอดีตมีเหตุที่ข้าศึกของเราประสบกับภัยโรคระบาดหลายครั้ง บัดนี้พวกเราติดอยู่ที่นี่มาเกือบปีแล้ว หากเราปลุกปั่นให้เกิดความรู้สึกแตกแยก ก็จะเกิดการก่อกำเริบภายในขึ้น เราควรยืนหยัดต่อไปและมีความหวังว่าความช่วยเหลือจะมาถึงในไม่ช้า"[6]
บุนขิมโกรธมากเมื่อเจียวปั้นและเจียวอี้โน้มน้าวจูกัดเอี๋ยนหลายครั้งให้ปฏิบัติตามแผนของตน ด้านจูกัดเอี๋ยนก็รู้สึกรำคาญเจียวปั้นและเจียวอี้จึงขั้นต้องการจะประหารชีวิตทั้งคู่ เจียวปั้นและเจียวอี้กลัวพวกตนจะถูกสังหารและตระหนักว่าจูกัดเอี๋ยนมีชะตาต้องล้มเหลว ดังนั้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 257 หรือมกราคม ค.ศ. 258 เจียวปั้นและเจียวอี้จึงหนีออกจากฉิวฉุนและยอมจำนนต่อสุมาเจียว[7][8]
ยุทธการพิชิตง่อก๊ก
[แก้]ในปี ค.ศ. 279 สุมาเอี๋ยนจักรพรรดิแห่งราชวงศ์จิ้นตะวันตกมีรับสั่งให้ยกทัพครั้งใหญ่บุกง่อก๊ก
ในปี ค.ศ. 280 เตี๋ยวเค้าอัครมหาเสนาบดีแห่งง่อก๊กตั้งทัพเพื่อเผชิญหน้ากับขุนพลราชวงศ์จิ้นอันได้แก่จาง ฮ่าน (張翰) ผู้พิทักษ์ทัพปราบง่อ (討吳護軍 เถ่าอู๋ฮู่จฺวิน) และโจว จฺวิ้น (周浚) ข้าหลวงมณฑลยังจิ๋ว (揚州刺史 หยางโจวชื่อฉื่อ) สิมเอ๋ง (沈瑩 เฉิ่น อิ๋ง) ขุนพลง่อก๊กนำทหารมากฝีมือแห่งเมืองตันเอี๋ยง (丹楊 ตานหยาง) 5,000 นายเรียกว่า "ทหารโพกผ้าเขียว" (青巾兵 ชิงจินปิง) เข้าบุกฝ่าแนวรบของทัพราชวงศ์จิ้น 3 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ ทหารง่อก๊กที่เหลือเกิดความโกลาหลระหว่างล่าถอย เซฺว เชิ่ง (薛勝) และเจียวปั้นนายทหารฝ่ายราชวงศ์จิ้นถือโอกาสนี้เข้าโจมตีจนกระบวนทัพของง่อก๊กพังถูกตีแตกพ่ายกระจัดกระจาย[9][10]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ("เจียวปั้นกับเจียวอี้ที่ปรึกษาจึงว่าแก่จูกัดเอี๋ยนว่า สเบียงอาหารในเมืองนี้ก็เบาบางลงแล้ว ทหารก็มากซึ่งจะกินนานไปเห็นหาพอไม่ จะให้เขาล้อมไว้นานนักเห็นจะไม่ได้ ข้าพเจ้าคิดว่าจะให้ยกทหารเรากับทหารเมืองกังตั๋งตีบากออกไปให้จงได้ ถ้าไปมิได้ก็จะรบพุ่งให้จงสามารถกว่าจะตายลงด้วยกัน") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 23, 2024.
- ↑ ("เจียวปันเจียวอี้ได้ยินดังนั้นก็จนใจ เงยหน้าขึ้นทอดใจใหญ่แล้วพากันออกมาจึงปรึกษากันว่า จูกัดเอี๋ยนนี้จะถึงที่ตายอยู่แล้ว เร่งคิดอ่านสมัคไปเข้าด้วยสุมาเจียวเถิด เห็นจะรอดจากความตาย ครั้นเวลายามเศษเจียวปั้นเจียวอี้ปีนกำแพงออกไปเข้าด้วยสุมาเจียว ๆ ก็เอาไว้ใช้ราชการ") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 23, 2024.
- ↑ (吳大將孫峻、呂據、留贊等聞淮南亂,會文欽往,乃帥眾將欽徑至壽春;時誕諸軍已至,城不可攻,乃走。誕遣將軍蔣班追擊之,斬贊) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (留贊爲誕別將蔣班所敗於菰陂) สามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
- ↑ (漢晉春秋曰:蔣班、焦彝言於諸葛誕曰:「朱異等以大衆來而不能進,孫綝殺異而歸江東,外以發兵為名,而內實坐須成敗,其歸可見矣。今宜及衆心尚固,士卒思用,并力決死,攻其一靣,雖不能盡克,猶可有全者。」) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (文欽曰:「江東乘戰勝之威乆矣,未有難北方者也。況公今舉十餘萬之衆內附,而欽與全端等皆同居死地,父兄子弟盡在江表,就孫綝不欲,主上及其親戚豈肯聽乎?且中國無歲無事,軍民並疾,今守我一年,勢力已困,異圖生心,變故將起,以往準今,可計日而望也。」) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (班、彝固勸之,欽怒,而誕欲殺班。二人懼,且知誕之必敗也,十一月,乃相攜而降。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (城中食轉少,外救不至,衆無所恃。將軍蔣班、焦彝,皆誕爪牙計事者也,棄誕,踰城自歸大將軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (與討吳護軍張翰、揚州刺史周浚成陳相對。沈瑩領丹楊銳卒刀楯五千,號曰青巾兵,前後屢陷堅陳,於是以馳淮南軍,三沖不動。退引亂,薛勝、蔣班因其亂而乘之,吳軍以次土崩) จิ้นจึ้ ของก้าน เป่า
- ↑ (悌與揚州刺史汝南周浚,結陳相對,沈瑩帥丹楊銳卒、刀楯五千,三沖晉兵,不動。瑩引退,其眾亂;將軍薛勝、蔣班因其亂而乘之,吳兵以次奔潰) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 81.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.