คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
Faculty of Science, Mahidol University
สถาปนา21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 (65 ปี)
คณบดีรองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ
ที่อยู่
คณะวิทยาศาสตร์ (พญาไท)
272 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
คณะวิทยาศาสตร์ (ศาลายา)
999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
สี  สีส้มเหลือง
เว็บไซต์science.mahidol.ac.th
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือได้ว่าเป็นคณะวิทยาศาสตร์ที่มีอาจารย์ได้รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทยมากที่สุดของประเทศ และเป็นคณะวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดในสาขาวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านการเรียนการสอน และด้านการวิจัย จากการจัด อันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อปี พ.ศ. 2549 [1]

ประวัติ[แก้]

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการประกาศจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ในนาม "โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" [2] โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน มีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อจัดการศึกษาเตรียมแพทย์และเตรียมประเภทวิชาอื่นๆ ขึ้นภายในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยใช้สถานที่ที่ตึกเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปีแรก และย้ายมายังอาคารเรียนใหม่ ณ ถนนศรีอยุธยา ในปีต่อมา

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2503 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะขึ้นเป็น "คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์" [3] เปิดหลักสูตรการศึกษาในสาขาต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถึงระดับปริญญาตรี-โท (และเอก ในเวลาต่อมา) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ดำรงตำแหน่งคณบดีท่านแรก

ต่อมา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ย้ายสถานที่ตั้งมาพื้นที่บนถนนพระรามที่ 6 ตรงข้ามกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนที่ดิน 40 ไร่ และงบประมาณร่วมกับมูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์ ในการก่อสร้างอาคารบรรยาย และอาคารทดลองวิทยาศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารทดลองวิทยาศาสตร์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2508 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ใช้พระนามาภิไธย "มหิดล" เป็นนามใหม่ของมหาวิทยาลัย และต่อมาได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ใช้ชื่อใหม่เป็น "คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล" มาจนถึงปัจจุบัน

ทำเนียบคณบดี[แก้]

ทำเนียบคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รายนามคณบดี ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง

1. ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข พ.ศ. 2503 - 2514
2. ศาสตราจารย์ นาวาตรี ดร.กำจร มนุญปิจุ พ.ศ. 2514 - 2518
3. ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.สถิตย์ สิริสิงห พ.ศ. 2518
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ พ.ศ. 2519 - 2534
5. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ พ.ศ. 2534 - 2542
6. ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน พ.ศ. 2542 - 2546
7. ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน พ.ศ. 2546 - 2547
8. ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน พ.ศ. 2547 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
9. ศาสตราจารย์ ดร.ศกรณ์ มงคลสุข 1 ธันวาคม พ.ศ. 2550 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
10. รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
11. รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
12. รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน

ส่วนงานในระดับภาควิชา[แก้]

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2501 จนถึงปี พ.ศ. 2535 คณะวิทยาศาสตร์ประกอบด้วย 14 ภาควิชา จัดตั้งเรียงตามลำดับดังนี้ กายวิภาคศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ภาษาต่างประเทศ จุลชีววิทยา ชีวเคมี สรีรวิทยา ฟิสิกส์ เภสัชวิทยา พยาธิชีววิทยา เทคโนโลยีชีวภาพ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และพฤกษศาสตร์ แต่เนื่องจากในปี พ.ศ. 2549 ภาควิชาภาษาต่างประเทศ ได้ขยายขอบข่ายของงานไปก่อตั้งเป็นคณะศิลปศาสตร์ และในปี พ.ศ. 2552 ภาควิชาคอมพิวเตอร์ และสำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รวมส่วนงานและก่อตั้งเป็นคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์จึงประกอบด้วย 12 ภาควิชา, 2 กลุ่มสาขาวิชา และ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง อ้างอิง ประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การแบ่งหน่วยงานภายในส่วนงานของมหาวิทยาลัย (คณะวิทยาศาสตร์) พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2561

หลักสูตร[แก้]

ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) (หลักสูตรนานาชาติ)

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) (หลักสูตรนานาชาติ)

หน่วยวิจัยและเครือข่ายวิจัย ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล[แก้]

หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศ

ความร่วมมือการวิจัย (International Collaborative Research Center)

ความร่วมมือกับภาคเอกชน (Industrial Linkage)

ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการแห่งชาติ (National Centres of Excellence)

มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก (The Hornbill Research Foundation)

เริ่มต้นจากโครงการศึกษานิเวศวิทยานกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเริ่มงานวิจัยประมาณปี 2521 โดยทำการศึกษาวิจัยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จนถึงปัจจุบัน (2539)

ต่อมาได้ขยายงานวิจัยออกไปในเขตผืนป่าภาคตะวันตกและภาคใต้ นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้มีการสำรวจการแพร่กระจาย และสถานภาพของนกเงือกทั่วประเทศ และเพื่อความต่อเนื่อง และขอบเขตของงานวิจัย จึงเกิดแรงผลักดันให้มีการจัดตั้งเป็น “มูลนิธิ” ขึ้นโดยได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2536

ที่ตั้ง[แก้]

  1. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท : 272 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร.0-2201-5000 โทรสาร 0-2354-7165
  2. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา : ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170 โทร.0-2441-9323

สถานที่และกิจกรรมสำคัญภายในคณะ[แก้]

  1. ตึกกลม [4]  : อาคารเรียนขนาด 1,500 ที่นั่ง เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของคณะวิทยาศาสตร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2508 มีโถงใหญ่บริเวณด้านล่างสำหรับจัดกิจกรรม และพื้นที่ใช้สอยบริเวณโดยรอบ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมในวาระโอกาสพิเศษต่าง ๆ ภายในแบ่งเป็นห้องบรรยาย 5 ห้อง ขนาด 250 ที่นั่ง 4 ห้อง (L02-L05) และ หนึ่งห้องขนาดใหญ่ขนาดจุ 500 ที่นั่ง (L01)
    พ.ศ. 2553 ตึกกลม ได้รับการคัดเลือกจาก สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2553 ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ
  2. สวนป่าในเมือง : เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ ที่มีการรักษาคุณลักษณะเฉพาะของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ จนได้รับรางวัลหน้าบ้านน่ามอง และรางวัลพระราชทานพฤกษานคราเหรียญเชิดชูเกียรติ จากกรุงเทพมหานคร บริเวณโดยรอบเป็นสวนป่าสัก สวนหย่อม สวนสุขภาพเพื่อการออกกำลังกาย ลานรวมใจ สวนนกเงือก และเส้นทาง Bio-Geo Path แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนทางชีววิทยา พฤกษศาสตร์ และธรณีวิทยา
  3. พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข และหอเกียรติยศนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น [5]  : ตั้งอยู่ภายในห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ชั้น 2-3 ตึกฟิสิกส์ เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงเกียรติคุณของ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีท่านแรกและผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ จัดแสดงนิทรรศการถาวรแสดงประวัติผลงานของคณาจารย์ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่คณะวิทยาศาสตร์ เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
  4. อนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข [6]  : ก่อสร้างขึ้นจากแนวคิดของกลุ่มศิษย์เก่าเพื่อรำลึกถึงพระคุณของท่าน เสนอโครงการมายังคณะวิทยาศาสตร์และสมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทั้งได้มอบเงินทุนเบื้องต้นจำนวนหนึ่งในการจัดสร้าง โดยก่อสร้างบริเวณพื้นที่ระหว่างตึกกลมและอาคารเฉลิมพระเกียรติพร้อมปรับภูมิทัศน์ให้งดงาม และเปิดโอกาสให้ผู้มีกตเวทิตาและจิตศรัทธาได้มีส่วนร่วมในการจัดสร้าง
    วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ ครบ 58 ปี เป็นวันประกอบพิธีประดิษฐานรูปหล่อ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณาจารย์ ศิษย์เก่า นักศึกษา และบุคลากร เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียงกัน
  5. ปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข : จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2536 โดยกำหนดแนวทางเบื้องต้นที่จะให้ความสำคัญแก่สาขาวิชาที่ท่านอาจารย์สนใจเป็นพิเศษ คือการวิจัยและพัฒนางานด้านอินทรีย์เคมี ผลงานการพัฒนาสถาบันต่าง ๆ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของวงการวิชาการและสังคม และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
  6. Open House : จัดขึ้นทุกปีที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่น และผู้สนใจ เข้าชมคณะ งานวิจัย ห้องปฏิบัติการ และกิจกรรมต่างๆ ของคณะฯ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาต่อทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน ในงานนี้นอกจากจะได้เข้าชมสถานที่และการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างใกล้ชิดแล้ว นักเรียนยังสามารถปรึกษาการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมหิดลกับนักศึกษารุ่นพี่และคณาจารย์ได้อีกด้วย
  7. มหกรรมหนังสือมหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์ : จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2548 และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลากว่าสิบปี มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมนิสัยการรักการอ่านให้แก่นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ ภายในงานมีการออกร้านจำหน่ายหนังสือตำราวิชาการภาษาไทยและต่างประเทศที่ผ่านการ คัดสรรจากสำนักพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับจากแวดวงวิชาการ นอกจากนี้ยังออกร้านจำหน่ายหนังสือทั่วไปทั้งประเภทสารคดีและบันเทิงคดี เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์แห่งการเรียนรู้นอกตำรา ช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เติมเต็มให้นักศึกษามีความรู้และประสบการณ์ที่ดี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
  8. Science Cafe วิทยาศาสตร์มีคำตอบ : เป็นโครงการเสวนาสาธารณะ นำความรู้จากผลงานวิจัยมาให้บริการวิชาการสู่สังคม ตอบข้อสงสัย หรือชี้แจงให้ประชาชนรวมทั้งสื่อมวลชนเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง โดยใช้หลักการ แนวคิด ทฤษฎี ข้อค้นพบและผลจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อาศัยศักยภาพและความเชี่ยวชาญของคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในสาขาวิชาต่าง ๆ จัดขึ้นในโอกาสพิเศษตามสถานการณ์ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนที่อยู่ในความสนใจของสังคม เพื่อให้ความรู้ทางวิชาการ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมและประชาชนโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ อาทิ จันทรุปราคาและความก้าวหน้าทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์, ถอดบทเรียนวิทยาศาสตร์ ถ้ำหลวงขุนน้ำ – นางนอน, จับตามอง!! โรคอุบัติใหม่ สายพันธุ์โคโรนา, ปริศนาหลุมดำและใจกลางทางช้างเผือก เป็นต้น
  9. ประชุมวิชาการ : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโอกาสส่งเสริม เผยแพร่ งานด้านวิทยาศาสตร์ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ดังต่อไปนี้


คณาจารย์และศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง[แก้]

นับตั้งแต่ก่อตั้งคณะฯ เมื่อปี พ.ศ. 2501 มาจนถึงปัจจุบัน มีคณาจารย์ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ โดยได้รับรางวัลดีเด่นด้านการสอนและการวิจัยทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ เป็นจำนวนมาก อาทิ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จำนวน 10 ท่าน รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 ท่าน รางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ จากที่ประชุมประธานสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) จำนวน 4 ท่าน รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นจำนวน 5 ท่าน รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จำนวน 13 ท่าน รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ จำนวน 1 ท่าน รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จำนวน 6 ท่าน เป็นต้น โดยศิษย์เก่าและคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง เช่น

อ้างอิง[แก้]

  1. "เปิด 50 อันดับสาขาด้าน "วิจัย-สอน"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-11. สืบค้นเมื่อ 2021-08-13.
  2. ตั้งโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์
  3. คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
  4. "ตึกกลม" ศูนย์รวมใจชาววิทยาศาสตร์
  5. พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข
  6. จดหมายเหตุการก่อสร้าง "รูปหล่อและฐานที่ตั้ง ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข" คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]