สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
Institute of Nutrition, Mahidol University | |
คติพจน์ | อาหารและโภชนาการเป็นพื้นฐานของชีวิต นำไปสู่การมีสุขภาพดี และเสริมสร้างศักยภาพของประชาชน |
---|---|
สถาบันหลัก | มหาวิทยาลัยมหิดล |
สถาปนา | 25 มกราคม พ.ศ. 2520 |
ผู้อำนวยการ | ชลัท ศานติวรางคณา |
ที่อยู่ | 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170 |
เว็บไซต์ | www |
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนไทยในขณะนั้น และเพิ่มความเข้มแข็งด้านอาหาร และโภชนาการของชาติ ภายใต้กำกับของมหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีความชำนาญ ในด้านสาธารณสุขและการแพทย์ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นแหล่งรวมของผู้ทรงคุณวุฒิ ในด้านอาหารและโภชนาการ
ปัจจุบันสถาบันโภชนาการ ได้ดำเนินการในด้านงานวิจัย ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ และระดับชุมชน และจัดให้มีการเรียนการสอน และการฝึกอบรมทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ อีกทั้งยังให้บริการทางด้านเทคนิค โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อส่งเสริมงานอาหารและโภชนาการของประเทศ ให้ประชาชนไทยมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้า อีกทั้งเผื่อแผ่ความรู้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ความสำเร็จของสถาบัน ได้แก่ การมีบทบาท ในการแก้ไขทุกปัญหาโภชนาการของชาติ โดยมีส่วนร่วม ในการกำหนดนโยบายด้านอาหาร และโภชนาการของชาติ มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือโครงการอาหารและโภชนาการ ในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้สถาบันฯ ยังได้รับการคัดเลือก ให้เป็นศูนย์ประสานด้านโภชนาการชุมชนและความปลอดภัยของอาหารขององค์การอนามัยโลก และจัดให้เป็นหน่วยงาน ที่มีความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพ และความปลอดภัยของอาหาร ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีเพียง 16 แห่งในโลก การดำเนินการอย่างต่อเนื่องทำให้ปัญหา ทุพโภชนาการของประเทศลดลง และจากการที่สภาวะเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศเปลี่ยนแปลง ทำให้การดำเนินงานของสถาบันมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย คือ จากการมุ่งเน้นเพื่อเจาะจงแก้ไขปัญหาด้านอาหารและโภชนาการ เป็นการศึกษาและพัฒนาด้านอาหารและโภชนาการ ที่เหมาะสมกับวัยต่าง ๆ ตลอดวงจรชีวิต
ความเชี่ยวชาญด้านการดำเนินงานด้านอาหารและโภชนาการ ทำให้เกิดความร่วมมืออย่างเหนียวแน่นของกลุ่มนักวิชาการ ที่มีความชำนาญทางด้านเกษตร มานุษยวิทยา ชีวเคมี ชีวเคมีทางการแพทย์ เทคโนโลยีทางอาหาร การเผยแพร่สื่อสารและพฤติกรรมศาสตร์ โภชนาการทางชุมชน วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ศึกษาศาสตร์ การวางแผนทางด้านอาหารและโภชนาการ โภชนาการระดับนานาชาติ จุลชีววิทยา สรีรวิทยา สาธารณสุขชุมชน การพัฒนาชนบท วิทยาศาสตร์การกีฬา และพิษวิทยา
ประวัติ
[แก้]ในช่วงทศวรรษ 2510 คนไทยในชนบทซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศกำลังประสบปัญหาโภชนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดสารอาหาร ปัญหาที่รุนแรงในขณะนั้นคือการขาดโปรตีนและพลังงาน โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โรคเหน็บชาจากการขาดวิตามินบี 1 โรคปากนกกระจอกจากการขาดวิตามินบี 2 โรคคอพอกจากการขาดธาตุไอโอดีน การขาดวิตามินเอ และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อันก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญยิ่งต่อสุขภาพอนามัยและศักยภาพของประชากรวัยต่าง ๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ในแทบทุกภูมิภาค
ข้อมูลจากการศึกษาและการสำรวจโดยคณะผู้เชี่ยวชาญของไทยและต่างประเทศที่ถูกเผยแพร่ออกไปส่งผลให้สถานการณ์ปัญหานี้เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นตามลำดับ ทั้งจากนักวิชาการ และผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุข
จนกระทั่งปี 2517 หลังจากองค์การยูนิเซฟ ได้สนับสนุนให้จัดสัมมนาเพื่อหาแนวทางพัฒนางานด้านโภชนาการของชาติ ผู้บริหารกองโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้หารือกันและเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาโภชนาการของประเทศ ในที่สุดได้จัดทำเป็นแผนพัฒนาด้านอาหารและโภชนาการ ซึ่งต่อมาได้ถูกบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524)
ผลจากการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานเพื่อแก้ปัญหาในระดับประเทศครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดแนวคิดในการจัดตั้งสถาบันโภชนาการแห่งชาติขึ้นเพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิจัย จัดการศึกษาฝึกอบรม ตลอดจนบริการทางวิชาการด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับดังกล่าว โดยที่กำหนดให้มีฐานะเป็นหน่วยงานระดับชาติ อยู่ในรูปของสถาบันวิชาการในมหาวิทยาลัย
เมื่อรัฐบาลเล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยมหิดลมีความพร้อมมากที่สุดในขณะนั้น จึงเห็นชอบให้จัดตั้งสถาบันนี้ขึ้นในมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้ตัดคำว่า "แห่งชาติ" ออก และใช้ชื่อว่า "สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล" ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2520 ตามพระราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 94 ตอนที่ 8
การศึกษา
[แก้]สถาบันฯ ให้การศึกษา ในระดับมหาบัณฑิต เป้าหมายสูงสุดประการหนึ่งของสถาบันโภชนาการ โดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ สนับสนุนการฝึกอบรม สำหรับบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ด้วยการยกระดับ มาตรฐานของบุคลากร ทั้งภาครัฐ และเอกชนโดยเฉพาะบุคลากร ทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งองค์ความรู้ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพ และเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ ดังกล่าว สถาบันโภชนาการ ได้ให้การศึกษา และการฝึกอบรมทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ เพื่อตอบสนอง ความต้องการของรัฐบาล องค์กรพัฒนาระดับนานาชาติ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ทั้งนี้ เพราะสถาบันฯ มีเป้าหมายในการพัฒนาภาวะโภชนาการ ในระดับชาติ ชุมชน ครัวเรือน และบุคคล
หลักสูตรที่สถาบันโภชนาการเปิดสอน ได้แก่
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาโภชนศาสตร์ (Doctor of Philosophy Program in Nutrition)
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย (ภาคปกติ) (Master of Science Program in Toxicology and Nutrition for Food Safety)
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย (ภาคพิเศษ) (Master of Science Program in Toxicology and Nutrition for Food Safety)
- หลักสูตรวิทยาศาสตร์การอาหารเพื่อโภชนาการ (หลักสูตรนานาชาติ) (Master of Science Program in Food Science for Nutrition (International Program))
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ) (Master of Science Program in Nutrition and Dietetics (International Program))
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโภชนศาสตร์ (โครงการร่วมคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล) (ภาคปกติ) (Master of Science Program in Nutrition)
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโภชนศาสตร์ (โครงการร่วมคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล) (ภาคพิเศษ) (Master of Science Program in Nutrition)
งานวิจัย
[แก้]ตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันโภชนาการจนกระทั่งปัจจุบัน สถาบันโภชนาการได้ทำงานวิจัยเพื่อส่งเสริมภาครัฐ ในการแก้ปัญหาโภชนาการ ของชาติอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานตามกระแสการเปลียนแปลงของสภาพปัญหาที่เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลง ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
จากการดำเนินงานได้ก่อเกิดผลงานวิจัยที่สร้างคุณูปการต่อประเทศ โดยผลงานวิจัยของสถาบันโภชนาการ ได้ถูกส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งในประเทศและ ภูมิภาค เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาทุพโภชนาการและพิษภัยในอาหาร นอกจากนี้ยังได้นำความรู้ต่างๆ ดังกล่าวเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านอาหารและโภชนาการ และพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ประชาชน
พ.ศ. 2520 - 2529
สถาบันโภชนาการเน้นการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารที่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มคนยากจนในชนบท โดยผลงานที่ได้ดำเนินการมีผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชนตลอดจนการพัฒนาประเทศและภูมิภาค
พ.ศ. 2530 - 2539
ช่วงเวลาที่โครงสร้างของประเทศที่กำลังเปลี่ยนจากเศรษฐกิจภาคการเกษตร มาเป็นภาคอุตสาหกรรม ทำให้สังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบท มาสู่ความเป็นสังคมเมืองมากยิ่งขึ้น ปัญหาโภชนาการเกินมีมากขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเกิดร่วมกับการขาดวิตามินและแร่ธาตุ (Double Burden) ประชากรเริ่มมีความตื่นตัวกระแสอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ปัญหาการขาดสารอาหารที่พบ ในช่วงเริ่มแรกก่อตั้งสถาบันโภชนาการ คือ พ.ศ. 2520 ถึง พ.ศ. 2529 ได้ลดระดับความรุนแรงลง ภาครัฐมุ่งส่งเสริมให้มีการส่งออกมากขึ้น
พ.ศ. 2540 - 2549
ทศวรรษนี้เน้นการพัฒนา“คน”ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วยการเตรียมความพร้อม ของเด็กปฐมวัย พัฒนาสุขภาพและพลานามัย ที่มุ่งเสริมสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า และมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรค การแก้ปัญหาลักษณะ Double Burden ต้องใช้การวิจัยแบบสหสาขาวิชาที่มีการสร้างองค์ความรู้ ในเชิงลึกมากขึ้น
ปัจจุบัน
ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 จนกระทั่ง พ.ศ. 2560 นับเป็นทศวรรษที่ 4 สถาบันโภชนาการยังคงมีการดำเนินงานวิจัยหลายด้านอย่างต่อเนื่อง จากช่วงที่ผ่านมา เพื่อสานต่อทั้งการสร้างองค์ความรู้ใหม่ และการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน สถาบันต้องเตรียมความพร้อมให้สังคมไทย ที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging society) มากขึ้น โดยงานวิจัยที่ดำเนินการต้องสามารถเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสม ในการลดผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ยังคงมีส่วนในการพัฒนาประเทศและไม่สร้างภาระให้กับภาครัฐ ในด้านสาธารณสุขจนมากเกินไป ในการดำเนินงานวิจัย สถาบันโภชนาการได้ให้ความร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างเสริมความมั่นคงทางด้านอาหาร และโภชนาการในห่วงโซ่อาหาร ทั้งในด้านคุณภาพอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ ความปลอดภัยของอาหาร และอาหารศึกษา เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของชาติ ในความพยายามแก้ปัญหาอาหารและโภชนาการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรและการส่งออก
งานบริการวิชาการ
[แก้]งานบริการวิชาการ สถาบันโภชนาการ เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2521 ที่ศูนย์วิจัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านอาหารโภชนาการ และความปลอดภัยของอาหาร รวมทั้งการสร้างข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย โดยมีนักวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการฝึกอบรมด้านการวิเคราะห์ในอาหารจากสถาบันที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับในยุโรป คือ CIVO (Toxicology and Nutrition Institute), TNO, Zeist ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Institute of Food Research, Norwich ประเทศอังกฤษ
พ.ศ. 2526 เริ่มให้บริการทั่วไปแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการตรวจวิเคราะห์ตามพระราชบัญญัติอาหารกระทรวงสาธารณสุข จนได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นห้องปฏิบัติการซึ่งสามารถวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารเพื่อขึ้นทะเบียนได้
พ.ศ. 2530 งานบริการวิชาการ ย้ายมายังมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จังหวัดนครปฐม
งานบริการวิขาการด้านการวิเคราะห์ของสถาบันได้มีการขยายงานจนสามารถครอบคลุมการวิเคราะห์อาหารเพื่อขึ้นทะเบียนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมากกว่า 25 ฉบับ และสถาบันเป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่ให้บริการวิเคราะห์และจัดทำฉลากโภชนาการของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยได้อย่างครบวงจร นอกจากนี้สถาบันยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ และคุณภาพการวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการ ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย เพื่อให้ห้องปฏิบัติการภายในประเทศ มีมาตรฐานการวิเคราะห์ใกล้เคียงกัน และทัดเทียมกับต่างประเทศ โดยได้จัดทำการวิจัย และพัฒนาตัวอย่างอาหารอ้างอิง สำหรับใช้ในโครงการประเมินสถานภาพความชำนาญในการวิเคราะห์ (Laboratory performance study or proficiency test) ของห้องปฏิบัติการวิเคราะห์อาหารซึ่งสถาบันจัดขึ้นเป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อช่วยกันพัฒนาคุณภาพการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน ห้องปฏิบัติการของสถาบันโภชนาการ ผ่านการรับรองความสามารถ ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2005