ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ
อาคารใบไม้สามใบ
ประเภทสวนสมุนไพร, สวนสาธารณะ
ที่ตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
พื้นที่140 ไร่
เปิดตัว8 สิงหาคม พ.ศ. 2531
ผู้ดำเนินการมหาวิทยาลัยมหิดล
สถานะเปิดให้บริการ

อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เป็นสวนสาธารณะและแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางด้านพฤกษศาสตร์และสมุนไพร ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อยู่ภายใต้การดำเนินการของภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 140 ไร่ รวบรวมพันธุ์สมุนไพรไว้ประมาณ 800 ชนิด

ประวัติ

[แก้]

โครงการปลูกสวนสมุนไพร เกิดจากการวางรากฐานของ ศ.นพ.ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลในระยะนั้น และศ.พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ พวกเขามีความคิดที่จะใช้พื้นที่ศาลายาเป็นพื้นที่นันทนาการ และเขียนหนังสือ "สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ" เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา เมื่อ พ.ศ. 2539

สวนสมุนไพรเริ่มดำเนินการใน พ.ศ. 2524 หลังจากปลูกไม้ร่มเงาแล้วจึงนำสมุนไพรไทยทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่มจัดปลูกลงตามที่สถาปนิกวางรูปแบบไว้ รวบรวมสมุนไพรที่มีศักยภาพและมีรายงานการวิจัยสนับสนุนในพื้นที่ 12 ไร่ พืชสมุนไพรเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำดับ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อว่า "สิรีรุกขชาติ" ต่อมาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดสวนสมุนไพรแห่งนี้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2531

ใน พ.ศ. 2550 ได้ยกระดับพื้นที่สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติและพื้นที่อนุรักษ์ข้างเคียงบริเวณด้านทิศใต้จนมีขนาด 140 ไร่[1] ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติระดับชาติและระดับนานาชาติในลักษณะสวนพฤษศาสตร์ เพื่อเป็นอุทยานการเรียนรู้ทางธรรมชาติวิทยาและภูมิปัญญาไทยของจังหวัดนครปฐม ต่อมาในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อสวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติเป็น อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ[2]

พื้นที่

[แก้]

ปัจจุบัน อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 140 ไร่ รวบรวมพันธุ์สมุนไพรไว้ประมาณ 800 ชนิด ภายในมีทั้งพรรณไม้สมุนไพรที่พบทั่วไปและสมุนไพรที่หาได้ยาก พื้นที่ในสวนสมุนไพรแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

  • ส่วนแรก เป็นเรือนเพาะชำ ซึ่งปลูกสมุนไพรที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ไม่ต้องการแสงแดดจัด และขนาดไม่ใหญ่มาก เช่น ดองดึง หญ้าหวาน รวมทั้งพืชที่มีพิษ เช่น ช้างร้อง สลอด เป็นต้น
  • ส่วนที่สอง เป็นพื้นที่สวนหย่อมสมุนไพร จัดปลูกสมุนไพรเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ไม้เลื้อย และไม้ล้มลุกที่ตกแต่งไว้อย่างสวยงามเหมาะกับการพักผ่อน และเรียนรู้พืชสมุนไพร ได้แก่ มะเกลือ ส้มเสี้ยว กันเกรา สารภี สีเสียด เป็นต้น
  • ส่วนสุดท้าย ปลูกในลักษณะสวนป่าเพื่อแสดงระบบนิเวศที่สมุนไพรเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นไม้ต้น และไม้เล็กที่ขึ้นแซมไม้ใหญ่ ให้ความร่มรื่นเหมาะกับผู้ที่สนใจศึกษาสมุนไพรอย่างเป็นธรรมชาติ พืชในส่วนนี้ เช่น สมอไทย สมอพิเภก สมอดีงู การบูร อบเชย โมกมัน เป็นต้น

นอกจากนี้อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มีสมุนไพรที่หาชมได้ยากหลายชนิด เช่น โมกราชินี สิรินธรวัลลี สามสิบกีบน้อย และจิกดง ซึ่งเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก มะลิซาไกสมุนไพรหายากที่ใช้เป็นยาคุมกำเนิดของชนเผ่าซาไก กำแพงเจ็ดชั้น กวาวเครือขาว และกวาวเครือแดงสมุนไพรบำรุงกำลังของไทย รวมทั้งสมุนไพรที่เป็นพืชผักพื้นบ้านอีกหลากหลายชนิด

สถานที่

[แก้]

ประกอบด้วย 7 อาคาร 7 ลาน ดังนี้

  • อาคารใบไม้สามใบ เป็นอาคารต้อนรับผู้เข้าเยี่ยมชมเข้าสู่อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ พร้อมจัดแสดงนิทรรศการถาวร "สมุนไพร ภูมิปัญญาไทยสู่สากล"
  • ลานนานาสมุนไพร เป็นลานจัดแสดงสมุนไพรไม้พุ่ม และไม้ล้มลุก ในกระถางขนาดใหญ่รูปดอกไม้บนลานหินกว้าง
  • บ้านหมอยา เป็นอาคารให้บริการ ส่งเสริมสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย และให้คำปรึกษาการใช้ยาสมุนไพร พร้อมการนวดรักษาแบบราชสำนัก
  • สวนสมุนไพร จัดปลูกในรูปแบบสวนสาธารณะ มีไม้ยืนต้นเป็นหลัก พร้อมทั้งไม้เลื้อยขนาดใหญ่และพรรณไม้ชนิดอื่น ๆ
  • พื้นที่ชุ่มน้ำของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เป็นแหล่งพักพิงของนกหลายชนิด มีหอดูนก 2 หอที่ใช้เฝ้าดูและสังเกตพฤติกรรมของนก
  • ลานไม้เลื้อย เป็นลานรวบรวมไม้เลื้อยสมุนไพรขนาดกลางและเล็กปลูกไว้ด้วยกันเพื่อศึกษาเปรียบเทียบ
  • ลานสมุนไพรวงศ์ขิง เป็นลานปลูกกลุ่มพืชหัววงศ์ขิง ซึ่งมีคุณค่าเป็นยา และเป็นพืชในเขตร้อนที่มีความสำคัญทั้งในการใช้ระดับชุมชนและการวิจัยพัฒนายาใหม่
  • อาคารใบไม้ใบเดียว เป็นอาคารสาธิตการขยายพันธุ์และห้องปฏิบัติการสำหรับการฝึกอบรมต่าง ๆ
  • ลานสมุนไพรเพื่อคนพิการ เป็นลานสมุนไพรที่อำนวยความสะดวกในการศึกษาสมุนไพรสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยใช้สื่อการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษ
  • ศาลาหมอชีวกโกมารภัจจ์ ประดิษฐานรูปหล่อหมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำพระโคตมพุทธเจ้า และเป็นครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ
  • ลานสมุนไพรเพื่อสุขภาพ รวบรวมสมุนไพรจำนวน 69 ชนิดที่สามารถนำไปใช้ป้องกันและรักษาอาการป่วยพื้นฐานได้
  • อาคารสัมมนาห้องอบรมเชิงปฏิบัติการเฉพาะทางเรื่องการใช้ประโยชน์สมุนไพรไทย มีห้องอาหาร 180 ที่นั่ง
  • อาคารวิจัยและพิพิธภัณฑ์พืช ประกอบด้วย ชั้นที่ 1 เป็นห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และชั้นที่ 2 เป็นพิพิธภัณฑ์สมุนไพร (Herbarium) ที่รวบรวมตัวอย่างพรรณไม้สมุนไพรแห้ง เพื่อเป็นมาตรฐานเปรียบเทียบให้บริการตรวจสอบชนิดและสร้างเครือข่ายติดต่อกับพิพิธภัณฑ์พืชในต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

รางวัล

[แก้]

พ.ศ. 2565 ได้รับเครื่องหมาย SHA Plus จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (วันที่ 25 กรกฎาคม 2565)

พ.ศ. 2565 ได้รับเครื่องหมายมาตรฐาน SHA หมายเลข C1443 ประเภทนันทนาการและการท่องเที่ยว จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (วันที่ 7 กรกฎาคม 2565)

พ.ศ. 2565 เกียรติบัตรแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูมิปัญญาไทยและสมุนไพร ระดับ “ดีเยี่ยม” ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 19 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี (วันที่ 8 กรกฎาคม 2565)

พ.ศ. 2564 รางวัล Museum Thailand Awards 2021 ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และรางวัลดีเด่นด้านการอนุรักษ์และสืบสาน จาก สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.)

พ.ศ. 2564 อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองจาก Botanic Gardens Conservation International (BGCI) ให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่มีมาตรฐานระดับสากล แห่งแรกของประเทศไทย

พ.ศ. 2563 อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้รับรางวัลชมเชย จากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ MUSEUM THAILAND AWARDS 2020

พ.ศ. 2561 รางวัลประเภท “แหล่งท่องเที่ยว Friendly Design”  ในงาน Thailand Friendly Design Expo 2018  มหกรรมอารยสถาปัตย์  และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 3  

พ.ศ. 2561 อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการบริการ และใน พ.ศ. 2539 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายก

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประวัติอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-06. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-19. สืบค้นเมื่อ 2020-08-13.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]