พรรคชาติพัฒนา (พ.ศ. 2535)
พรรคชาติพัฒนา | |
---|---|
ผู้ก่อตั้ง | ร้อยเอก สมหวัง สารสาส |
หัวหน้า | สุวัจน์ ลิปตพัลลภ |
เลขาธิการ | ปวีณา หงสกุล |
บุคคลสำคัญในพรรค | พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ |
คำขวัญ | ชาติพัฒนา เพื่อพัฒนาชาติ |
ก่อตั้ง | 20 เมษายน พ.ศ. 2525 พรรคปวงชนชาวไทย 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พรรคชาติพัฒนา |
ถูกยุบ | 21 กันยายน พ.ศ. 2547 |
แยกจาก | (ในยุคพรรคชาติพัฒนา) พรรคชาติไทย พรรคสามัคคีธรรม |
ยุบรวมกับ | พรรคไทยรักไทย |
ถัดไป | พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา |
การเมืองไทย รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
พรรคชาติพัฒนา (อังกฤษ: National Development Party) เป็นพรรคการเมืองไทยที่จดทะเบียนก่อตั้งพรรคเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2525 โดยใช้ชื่อว่า พรรคปวงชนชาวไทย และได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น พรรคชาติพัฒนา ใน พ.ศ. 2535 โดยมี ส.ส. และมีฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ลงเลือกตั้งตลอดชีวิตทางการเมือง จนกระทั่งยุบรวมกับพรรคไทยรักไทยในปี พ.ศ. 2548 หลังจากการยุบพรรคไทยรักไทยในปี พ.ศ. 2550 กลุ่มรวมใจไทยและกลุ่มชาติพัฒนาได้ควบรวมกันและก่อตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
ประวัติ
[แก้]พรรคปวงชนชาวไทย
[แก้]พรรคปวงชนชาวไทย (อังกฤษ: THAI PEOPLE'S PARTY) จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2525 เป็นลำดับที่ 2/2525 โดยมีร้อยเอก สมหวัง สารสาส เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก[1]
วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่โดยได้ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก อดีต ผู้บัญชาการทหารบก และอดีต ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค[2]
วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2535 พลเอกอาทิตย์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย[3] และย้ายไปสมัครเป็นสมาชิก พรรคสามัคคีธรรม พร้อมกับรับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคสามัคคีธรรมทำให้พรรคปวงชนชาวไทยกลับมาเป็นพรรคขนาดเล็กอีกครั้ง
โดยในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ทางพรรคได้ทำการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และได้พันเอก (พิเศษ) พล เริงประเสริฐวิทย์ อดีตหัวหน้า พรรคสยามประชาธิปไตย เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่[4]
พรรคชาติพัฒนา
[แก้]หลังจากนั้นในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535[5] อันเป็นวันเดียวกับที่ พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ทางพรรคปวงชนชาวไทยได้ทำการเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคชาติพัฒนา พร้อมกับตราสัญลักษณ์ของพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่โดยได้ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคคนแรกต่อมาพลเอกอาทิตย์ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคและสมาชิกพรรคสามัคคีธรรมกลับมารับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา
มีนักการเมืองที่มีชื่อเสียงหลายคนเข้าร่วม โดยสมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคเดิมที่พลเอกชาติชายสังกัด และ พรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคที่เกี่ยวข้องกับ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งเคยรัฐประหารรัฐบาลชาติชายมาก่อนอีกด้วย[6]
สส. ที่มาจากพรรคชาติไทย
สส. ที่มาจากพรรคสามัคคีธรรม (บางคนเคยอยู่ในพรรคปวงชนชาวไทยมาก่อน)
- ร.ต. ประพาส ลิมปะพันธุ์
- ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ
- วุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย
- สนธยา คุณปลื้ม
- สุวัจน์ ลิปตพัลลภ
- จำลอง ครุฑขุนทด
- พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก
- สมพงษ์ อมรวิวัฒน์
ภายหลัง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535 ก็ได้มีการจัดตั้ง กลุ่ม 16 ร่วมกับพรรคชาติไทย เพื่อตรวจสอบรัฐบาลในขณะนั้นด้วย
ภายหลังการถึงอสัญกรรมของพลเอกชาติชายในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 กร ทัพพะรังสี จึงดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อมา
บทบาททางการเมือง
[แก้]พรรคปวงชนชาวไทย
[แก้]เมื่อเกษียณอายุราชการ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ได้ตัดสินใจลงสนามเลือกตั้ง โดยร่วมมือกับ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ทายาทประยูรวิศว์ก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้างทางที่คุ้นเคยกับอาทิตย์ สมัยเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 โดยมีการชูคำขวัญในการหาเสียงว่า "นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง" ที่สอดรับกับอารมณ์ของผู้คนในขณะนั้น ซึ่งอยู่ในภาวะเบื่อหน่ายการปกครองของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มากขึ้นเรื่อยๆ และนอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก เป็นไปในทางที่ดี ในฐานะนายทหารมืออาชีพ ซึ่งถอดเครื่องแบบลงสนามเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย[7]
ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 พรรคปวงชนชาวไทยชนะไปได้ 17 ที่นั่ง โดยทั้งพลเอกอาทิตย์และสุวัจน์ก็ได้เป็น สส. สมัยแรก โดยในช่วงแรกทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ จนกระทั่งมีการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่ พรรคปวงชนชาวไทยจึงถูกเชิญให้มาร่วมรัฐบาลในเวลาต่อมา โดยพลเอกอาทิตย์ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
ภายหลังการปฏิวัติรัฐประหารโดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ สมาชิกส่วนมากก็ได้ลาออกไปสังกัด พรรคสามัคคีธรรม นำโดยพลเอกอาทิตย์ หัวหน้าพรรค หลังจากเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม พลเอกชาติชายที่ลี้ภัยไปต่างประเทศได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยและได้เข้ามาเทคโอเวอร์พรรคปวงชนชาวไทยพร้อมกับเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น พรรคชาติพัฒนา
พรรคชาติพัฒนา
[แก้]ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539 พรรคชาติพัฒนาได้เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคความหวังใหม่ และหลังจากที่ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พรรคชาติพัฒนาได้ร่วมมือกับทางพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเพื่อสนับสนุน พลเอกชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ว่า รวบรวมเสียงสนับสนุนได้น้อยกว่าฝ่ายของทางพรรคประชาธิปัตย์ สืบเนื่องจาก กลุ่มงูเห่า จึงเปลี่ยนบทบาทเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็ได้ร่วมรัฐบาลในปี พ.ศ. 2541
ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 หลังจากการเลือกตั้ง 1 ปี พรรคชาติพัฒนาได้เข้าร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ไม่นานหลังจากนี้ กร ทัพพะรังสี ก็ได้ลาออกจากพรรคและไปเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเสียงข้างมาก นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จึงเป็นหัวหน้าพรรคต่อ ซึ่งนายสุวัจน์ได้ประกาศว่า จะไม่ขอเป็นหัวหน้าพรรคคนสุดท้าย
แต่ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 ไม่นาน สุวัจน์ได้ยุบพรรคชาติพัฒนาเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย[8]
"พรรคจอมเสียบ" และ "เสียบเพื่อชาติ"
[แก้]ฉายาของพรรคชาติพัฒนาจากสื่อมวลชนคือ พรรคจอมเสียบ สืบเนื่องจากความพยายามที่จะเข้าร่วมรัฐบาลของพรรค ซึ่งมีทั้งหมด 4 ครั้งด้วยกัน
ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นใน คณะรัฐมนตรีชวน 1 ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 พรรคความหวังใหม่เกิดความขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องการกระจายอำนาจ จึงตัดสินใจถอนตัวออกจากรัฐบาล โดยก่อนหน้านั้นพรรคฝ่ายค้าน ได้ทำสัตยาบันประกาศไม่ร่วมรัฐบาล แต่พรรคชาติพัฒนาตัดสินใจฉีกสัตยาบัน และเข้าร่วมรัฐบาลแทนที่ในส่วนของพรรคความหวังใหม่แทน จนกลายเป็นที่มาของคำว่า "เสียบเพื่อชาติ"
ครั้งที่สองเกิดขึ้นหลัง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539 โดยก่อนหน้านั้น พรรคชาติพัฒนาขอตกลงเรื่องการจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทย จัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคความหวังใหม่ ซึ่งชนะเลือกตั้งในครั้งนั้น แต่พรรคประชาธิปัตย์ปฎิเสธ จึงตัดสินใจไปร่วมรัฐบาลกับพรรคความหวังใหม่ ตัดหน้าพรรคชาติไทยที่ตัดสินใจจะขอเข้าร่วมรัฐบาลเช่นเดียวกัน จนได้ร่วมคณะรัฐมนตรีชวลิตในที่สุด
ครั้งที่สามเกิดขึ้นใน คณะรัฐมนตรีชวน 2 ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2541 ภายหลังจากที่เสถียรภาพคณะรัฐมนตรีเริ่มเปลี่ยนแปลง สืบเนื่องจากการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบกับกลุ่มงูเห่าทั้ง 12 คน อยู่ระหว่างการตัดสินจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยในขณะนั้นมีแนวโน้มสูงว่าทั้ง 12 คนจะพ้นจากการเป็น สส. ทำให้ สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ทาบทามให้พรรคชาติพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาลในเวลาต่อมา
ครั้งที่สี่เกิดขึ้นใน คณะรัฐมนตรีทักษิณ 1 ซึ่งเดิมที พรรคไทยรักไทยที่ชนะเลือกตั้งนั้น จับมือร่วมรัฐบาลเพียงแค่ พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติไทย และ พรรคเสรีธรรม รวม 4 พรรคเท่านั้น ต่อมาได้มีท่าทีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร และพรรคชาติพัฒนามากขึ้น จนเป็นที่จับตามองของสื่อมวลชน จนในที่สุด พรรคชาติพัฒนาก็ได้ร่วมรัฐบาลเป็นพรรคที่ 5 ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 ในที่สุด[9]
บุคลากรพรรค
[แก้]หัวหน้าพรรค
[แก้]ลำดับ | รูปภาพ | ชื่อ | เริ่มดำรงตำแหน่ง | สิ้นสุดวาระ |
พรรคปวงชนชาวไทย | ||||
1 | ร้อยเอก สมหวัง สารสาส | 20 เมษายน พ.ศ. 2525 | 22 ธันวาคม พ.ศ. 2528 | |
2 | พลตรี ระวี วันเพ็ญ | 22 ธันวาคม พ.ศ. 2528 | 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 | |
3 | พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก | 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 | 21 มกราคม พ.ศ. 2535 | |
(-) | พันเอก ลาภ์พร ศิริปาลกะ (รักษาการ) |
21 มกราคม พ.ศ. 2535 | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 | |
4 | พันเอก พล เริงประเสริฐวิทย์ | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 | 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 | |
พรรคชาติพัฒนา | ||||
1 | พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ | 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 | 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 (ถึงแก่อสัญกรรม) | |
(-) | พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก (รักษาการ) |
6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 | 29 ธันวาคม พ.ศ. 2541 | |
2 | กร ทัพพะรังสี | 30 ธันวาคม พ.ศ. 2541 | 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546[10] | |
3 | สุวัจน์ ลิปตพัลลภ | 15 มีนาคม พ.ศ. 2546[11] | 31 สิงหาคม พ.ศ. 2547 |
เลขาธิการพรรค
[แก้]ลำดับ | รูปภาพ | ชื่อ | เริ่มดำรงตำแหน่ง | สิ้นสุดวาระ |
พรรคปวงชนชาวไทย | ||||
1 | ไศล สุขพันธ์โพธาราม | 20 เมษายน พ.ศ. 2525[12] | 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 | |
2 | ชัยสิทธิ์ ธิติสุทธิ | 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2529[13] | 17 สิงหาคม พ.ศ. 2531 | |
3 | เรืออากาศตรี บุญยง วัฒนพงษ์ | 17 สิงหาคม พ.ศ. 2531[14] | 16 มีนาคม พ.ศ. 2534 | |
(-) | สุวัจน์ ลิปตพัลลภ
(รักษาการ) |
16 มีนาคม พ.ศ. 2534[15] | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 | |
4 | พลตรี ระวี วันเพ็ญ | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535[16] | 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 | |
พรรคชาติพัฒนา | ||||
1 | ประจวบ ไชยสานส์ | 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2535[17] | 8 สิงหาคม พ.ศ. 2538 | |
2 | สุวัจน์ ลิปตพัลลภ | 8 สิงหาคม พ.ศ. 2538[18] | 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546[10] | |
3 | ปวีณา หงสกุล | 15 มีนาคม พ.ศ. 2546[11] | 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2547[19] |
การเลือกตั้ง
[แก้]ผลการเลือกตั้งทั่วไป
[แก้]การเลือกตั้ง | จำนวนที่นั่ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ที่นั่งเปลี่ยน | สถานภาพพรรค | ผู้นำเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|---|
พรรคปวงชนชาวไทย | ||||||
2526 | 1 / 324
|
1 | ร่วมรัฐบาล | ร้อยเอก สมหวัง สารสาส | ||
2529 | 1 / 347
|
0 | ฝ่ายค้าน | |||
2531 | 17 / 357
|
3,143,851 | 8.0% | 16 | ฝ่ายค้าน (2531-2533) | พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก |
ร่วมรัฐบาล (2533-2534) | ||||||
มี.ค. 2535 | 1 / 360
|
16 | ฝ่ายค้าน | พันเอก (พิเศษ) พล เริงประเสริฐวิทย์ | ||
พรรคชาติพัฒนา | ||||||
ก.ย. 2535 | 60 / 360
|
7,332,388 | 15.88% | 59 | ฝ่ายค้าน (2535-2537) | พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ |
ร่วมรัฐบาล (2537-2538) | ||||||
2538 | 53 / 391
|
6,612,512 | 11.95% | 7 | ฝ่ายค้าน | |
2539 | 52 / 393
|
7,044,304 | 12.4% | 1 | ร่วมรัฐบาล (2539-2540) | |
ฝ่ายค้าน (2540-2541) | ||||||
ร่วมรัฐบาล (2541-2544) | ||||||
2544 | 29 / 500
|
1,752,981 | 6.05% | 23 | ฝ่ายค้าน (2544-2545) | กร ทัพพะรังสี |
ร่วมรัฐบาล (2545-2547[ก]) |
- ↑ ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทยในปี พ.ศ. 2547
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
[แก้]การเลือกตั้ง | ผู้สมัคร | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ผลการเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|
2543 | ปวีณา หงสกุล | 116,750 | 5.27% | พ่ายแพ้ |
2547 | วรัญชัย โชคชนะ | 1,087 | พ่ายแพ้ |
การจัดตั้งพรรคชาติพัฒนาขึ้นใหม่
[แก้]ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการยื่นขอจดทะเบียนพรรคชาติพัฒนาขึ้นมาอีกครั้ง[20] แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้อีก[21] ในส่วนของสมาชิกเดิมของพรรคชาติพัฒนาได้เข้าร่วมกับทางกลุ่มรวมใจไทยของกลุ่มนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมหาชน และกลุ่มสมานฉันท์ของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ คือ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอน 66 ก พิเศษ หน้า 1 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2525
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคปวงชนชาวไทยเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอน 89 ก พิเศษ หน้า 26 1 มิถุนายน พ.ศ. 2531
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคปวงชนชาวไทยเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอน 7 ก หน้า 9 31 มกราคม พ.ศ. 2535
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคปวงชนชาวไทยเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคและที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอน 12 ก หน้า 10 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคปวงชนชาวไทยเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค ชื่อพรรค และภาพเครื่องหมายพรรค ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอน 79 ก หน้า 13 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2535
- ↑ Ltd.Thailand, VOICE TV (2019-04-18). "นิทัศน์การเมืองไทย ฉบับ พรรคการเมือง EP.1 - ชาติพัฒนา เพื่อพัฒนาชาติ(ชาย)". VoiceTV.
- ↑ "ผิดตรงไหน? "ทหาร" ตั้งพรรค ดู "บิ๊กซัน" เป็นตัวอย่าง". เนชั่นทีวี. 2018-01-05.
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การยุบพรรคชาติพัฒนาเพื่อรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย
- ↑ ชื่อ ฉายา และสมญานามทางการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2545 เล่มที่ 3, หน้า 333 - 337. โดย วีระ เลิศสมพร ISBN 978-974-916-171-8
- ↑ 10.0 10.1 ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคชาติพัฒนา
- ↑ 11.0 11.1 ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชาติพัฒนา
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง [พรรคปวงชนชาวไทย]
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยอมรับการเปลี่ยนแปลงของพรรคปวงชนชาวไทย ตามนัยมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๒๔ [เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จำนวน ๑๒ คน และเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค]
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคปวงชนชาวไทยเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคและข้อบังคับพรรค
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคปวงชนชาวไทยเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคปวงชนชาวไทยเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคและที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคปวงชนชาวไทยเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค ชื่อพรรค และภาพเครื่องหมายพรรค
- ↑ ประกาศสำนักงานนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง พรรคชาติพัฒนาเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค (รวม ๔๔ คน)
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคชาติพัฒนา
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคชาติพัฒนา
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การยุบพรรคชาติพัฒนา
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- พรรคชาติพัฒนา เก็บถาวร 2007-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน