บริติชมาลายา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บริติชมาลายา

1826–1957
ธงชาติบริติชมาลายา
ดินแดนภายใต้อธิปไตยของสหราชอาณาจักรในมาลายาและสิงคโปร์ 1888
ดินแดนภายใต้อธิปไตยของสหราชอาณาจักรในมาลายาและสิงคโปร์ 1888
เดมะนิมชาวบริติช, ชาวมาลายา
สมาชิก
การปกครองจักรวรรดิอังกฤษ
• 1826–1830
จอร์จที่ 4
• 1830–1837
วิลเลียมที่ 4
• 1837–1901
วิกตอเรีย
• 1901–1910
เอ็ดเวิร์ดที่ 7
• 1910–1936
จอร์จที่ 5
• 1936–1936
เอ็ดเวิร์ดที่ 8
• 1936–1941
จอร์จที่ 6
• 1941–1945
ช่วงว่างระหว่างรัชกาล
• 1946–1952
จอร์จที่ 6
• 1952–1957
เอลิซาเบธที่ 2
สภานิติบัญญัติรัฐสภา
สภาขุนนาง
สภาสามัญชน
จักรวรรดิอังกฤษ
17 มีนาคม 1824
27 พฤศจิกายน 1826
20 มกราคม 1874
8 ธันวาคม 1941
12 กันยายน 1945
1 เมษายน 1946
1 กุมภาพันธ์ 1948
18 มกราคม 1956
31 กรกฎาคม 1957
31 สิงหาคม 1957
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ มาเลเซีย
 สิงคโปร์
ธงของสหพันธรัฐมลายูในบริติชมาลายาระหว่าง พ.ศ. 2452 - 2489
บริติชมาลายาระหว่าง พ.ศ. 2452 - 2489

บริติชมาลายา (อังกฤษ: British Malaya /məˈlə/; มลายู: Tanah Melayu British) เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มของรัฐบนคาบสมุทรมาเลย์และเกาะสิงคโปร์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23 – 25 ซึ่งต่างจากบริติชอินเดียซึ่งไม่รวมรัฐราชบุตรของอินเดีย บริติชมลายามักใช้กล่าวถึงรัฐมาเลย์ที่ถูกอังกฤษควบคุมโดยอ้อม เช่นเดียวกับอาณานิคมช่องแคบที่อังกฤษปกครองโดยตรง ก่อนการจัดตั้ง สหภาพมลายาใน พ.ศ. 2489 เขตการปกครองนี้ไม่ได้รวมกันเป็นเอกภาพ บริติชมลายาประกอบด้วยนิคมช่องแคบ สหพันธรัฐมลายู และรัฐนอกสหพันธรัฐมลายู ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มลายาเป็นเขตการปกครองที่สร้างกำไรให้แก่จักรวรรดิ เพราะเป็นแหล่งผลิตดีบุกที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นแหล่งผลิตยางพารา ญี่ปุ่นปกครองมลายาทั้งหมดเป็นหน่วยปกครองเดียวกันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองแยกต่างหากจากสิงคโปร์[1]

สหภาพมลายาสลายตัวและถูกแทนที่ด้วยสหพันธรัฐมลายาใน พ.ศ. 2491 ได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ต่อมา ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2506 สหพันธรัฐได้รวมซาบะฮ์ ซาราวัก และสิงคโปร์ กลายเป็นสหพันธรัฐที่ใหญ่ขึ้นเรียก มาเลเซีย

การเข้ามาเกี่ยวข้องในการเมืองมาเลย์ในช่วงเริ่มต้น[แก้]

อังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมาเลย์ใน พ.ศ. 2314 โดยสหราชอาณาจักรพยายามเข้ามาจัดตั้งท่าเรือการค้าในปีนัง ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของเกอดะฮ์ อังกฤษยึดครองสิงคโปร์เป็นอาณานิคมใน พ.ศ. 2362

ปีนังและเกอดะฮ์[แก้]

จอร์จทาวน์ เมืองหลวงของปีนัง เมื่อข้ามนอร์ทคะแนล คือบัตเตอร์เวิร์ท บนแผ่นดินหลักรู้จักในชื่อเซอบารัง เปอไร แต่เดิมคือจังหวัดเวลเลสเลย์

ในราวพุทธศตวรรษที่ 23 อังกฤษเข้ามามีส่วนร่วมในการค้าในคาบสมุทรมาเลย์ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2314 จอร์เดน ซูลิแวน และ เด ซูซา ซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางการค้ากับอังกฤษ มีฐานที่มั่นในมัทราส อินเดีย ได้ส่งฟรานซิส ไลท์เข้าพบสุลต่านแห่งเกอดะฮ์ มูฮัมหมัด ยีวา ชาห์ ให้เปิดตลาดการค้า ไลท์ยังเป็นกัปตันของบริษัทอินเดียตะวันออก ในขณะนั้น สุลต่านเกอดะฮ์เผชิญกับแรงกดดันมากมาย สยามซึ่งทำสงครามกับพม่าและมองเกอดะฮ์เป็นรัฐบรรณาการ ในการเจรจาระหว่างสุลต่านและไลท์ สุลต่านอนุญาตให้อังกฤษเข้ามาสร้างท่าเรือได้ ถ้าอังกฤษตกลงจะปกป้องเกอดะฮ์จากอิทธิพลภายนอก แต่เมื่อรายงานไปยังอินเดีย อังกฤษปฏิเสธข้อเสนอนี้

อีก 2 ปีต่อมา สุลต่านมูฮัมหมัด ยีวาสิ้นพระชนม์ สุลต่านอับดุลลอห์ มะห์รุม ชาห์ สุลต่านองค์ใหม่เสนอจะยกเกาะปีนังให้กับไลท์แลกกับการนำกองทหารมาคุ้มครองเกอดะฮ์ ไลท์ได้เสนอไปยังบริษัทอินเดียตะวันออก บริษัทได้สั่งให้ไลท์เข้ามายึดปีนังแต่ไม่ยืนยันการให้ความช่วยเหลือทางทหารตามที่ร้องขอมาแต่แรก ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2331 ไลท์ได้เสนอการตัดสินใจของบริษัท สุลต่านรู้สึกผิดหวังจึงสั่งให้ไลท์ออกจากปีนัง แต่ไลท์ปฏิเสธ

การปฏิเสธของไลท์ทำให้สุลต่านส่งทหารไปยังไปรซึ่งเป็นชายหาดฝั่งตรงข้ามกับปีนัง อังกฤษได้ยกทัพมายังไปรและกดดันให้สุลต่านลงนามในข้อตกลง ทำให้อังกฤษได้สิทธิครอบครองปีนัง สุลต่านได้ค่าเช่ารายปี ปีละ 6,000 เปโซสเปน ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2334 ธงยูเนียนแจ๊กของอังกฤษชักขึ้นเหนือปีนังเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2343 เกอดะฮ์มอบไปรให้กับอังกฤษและสุลต่านได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้น 4,000 เปโซต่อปี ไปรเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดเวลเลสเลย์ ใน พ.ศ. 2364 สยามรุกรานเกอดะฮ์ ยึดครองอะลอร์สตาร์ และยึดไว้จนถึง พ.ศ. 2385

การขยายอำนาจของอังกฤษ[แก้]

ปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความต้องการวัตถุดิบและความปลอดภัยผลักดันให้อังกฤษดำเนินการรุกรานมากขึ้นต่อรัฐมาเลย์ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 22 – 24 มะละกาอยู่ภายใต้การปกครองของดัตช์ ในสงครามนโปเลียนระหว่าง พ.ศ. 2354 – 2359 มะละกาอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษเช่นเดียวกับดินแดนอื่นของดัตช์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝรั่งเศสเข้ามาอ้างสิทธิ์ เมื่อสงครามสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2359 มะละกากลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของดัตช์ ใน พ.ศ. 2367 อังกฤษและดัตช์ลงนามในข้อตกลงที่เรียกสนธิสัญญาแองโกล-ดัตช์ พ.ศ. 2367 ซึ่งเป็นการโอนมะละกาให้อังกฤษ สนธิสัญญานี้ยังแบ่งโลกมาเลย์เป็นสองฝั่ง และเป็นที่มาของการแบ่งแยกระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซียในปัจจุบัน

ยะโฮร์และสิงคโปร์[แก้]

แผนที่ของเยอรมัน พ.ศ. 2431 แสดงเกาะสิงคโปร์

สิงคโปร์สมัยใหม่ก่อตั้งโดยเซอร์สแตมฟอร์ด รัฟเฟิล ก่อนการจัดตั้งสิงคโปร์ รัฟเฟิลเป็นรองผู้ว่าการชวาระหว่าง พ.ศ. 2354 – 2359 ใน พ.ศ. 2361 เขาเห็นว่าอังกฤษต้องการสถานีการค้าแห่งใหม่เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลทางการค้าของดัตช์ เขาได้เดินทางไปสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเกาะอยู่ปลายสุดของแหลมมลายู เกาะนี้ปกครองโดยเตอเมิงกุง

สิงคโปร์อยู่ภายใต้การควบคุมของเติงกูอับดุลเราะห์มาน สุลต่านแห่งยะโฮร์-รีเยาโดยอยู่ภายใต้อิทธิพลของดัตช์และบูกิส สุลต่านไม่เคยทำความตกลงกับอังกฤษเกี่ยวกับสิงคโปร์ สุลต่านอับดุลเราะห์มานครองราชย์หลังจากสุลต่านองค์ก่อนที่เป็นพระบิดาสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2355 และพี่ชายของพระองค์คือเติงกูฮุสเซนหรือเติงกูลงถูกตัดสิทธิ์เพราะเดินทางไปแต่งงานที่ปาหัง เติงกูฮุสเซนไม่พอใจและเตอเมิงกูที่สิงคโปร์นิยมเติงกูฮุสเซนมากกว่า

ในตอนแรก อังกฤษยอมรับสุลต่านอับดุลเราะห์มาน จนกระทั่ง พ.ศ. 2361 ฟาร์กวูฮารฺไปเยี่ยมเติงกูฮุสเซนที่เกาะเปอเญองัต ใกล้กับชายฝั่งบินตัน เมืองหลวงของรีเยา แผนการใหม่ได้ถูกร่างขึ้น และใน พ.ศ. 2362 รัฟเฟิลได้ติดต่อกับเติงกูฮุสเซน และทำข้อตกลงว่าอังกฤษจะยอมรับเติงกูฮุสเซนเป็นผู้ปกครองสิงคโปร์ถ้าเขาอนุญาตให้ตั้งสถานีการค้าที่นั่น และจะได้รับเงินรายปีจากอังกฤษ ได้ลงนามในสนธิสัญญาเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2361 ด้วยความช่วยเหลือของเตอเมิงกุง เติงกูฮุสเซนได้เดินทางมาถึงสิงคโปร์และตั้งตัวเป็นสุลต่าน ดัตช์ไม่พอใจการกระทำของรัฟเฟิล อย่างไรก็ตาม หลังการลงนามในสนธิสัญญาแองโกล-ดัตช์ พ.ศ. 2367 สนธิสัญญานี้ได้แบ่งรัฐยะโฮร์เดิมออกเป็นสองส่วนคือยะโฮร์สมัยใหม่และรัฐสุลต่านรีเยา

นิคมช่องแคบ[แก้]

แสตมป์จากนิคมช่องแคบเมื่อ พ.ศ. 2426

หลังจากที่อังกฤษได้สิงคโปร์มาตามสนธิสัญญาแองโกล-ดัตช์ พ.ศ. 2367 อังกฤษพยายามรวมศูนย์การบริหารปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ ใน พ.ศ. 2369 ได้สร้างกรอบสำหรับนิคมช่องแคบโดยมีปีนังเป็นเมืองหลวง ต่อมาใน พ.ศ. 2375 ได้ย้ายเมืองหลวงไปสิงคโปร์ ต่อมา เกาะคริสต์มาส หมู่เกาะโคโคส ลาบวน และดินดิงในเปรักได้รวมเข้ามาในนิคมช่องแคบ แต่เดิม นิคมช่องแคบอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทอินเดียตะวันออกที่กัลกัตตา จนบริษัทสลายตัวใน พ.ศ. 2401 และบริติชอินเดียจนถึง พ.ศ. 2410 แต่ต่อมา ได้เกิดความขัดแย้งในการบริหารงาน ใน พ.ศ. 2410 ได้เปลี่ยนมาขึ้นกับสำนักงานอาณานิคมในลอนดอนโดยตรง ซึ่งแสดงถึงความเป็นอิสระและอิทธิพลภายในจักรวรรดิอังกฤษ

ใน พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาณานิคมได้สลายไป มะละกากับปีนังรวมเข้ากับสหภาพมลายา สิงคโปร์แยกออกมาเป็นอาณานิคมต่างหาก ต่อมา สหภาพมลายาถูกแทนที่ด้วยสหพันธรัฐมลายาใน พ.ศ. 2491 และใน พ.ศ. 2506 รวมกับบอร์เนียวเหนือ ซาราวัก และสิงคโปร์กลายเป็นมาเลเซีย

กลุ่มรัฐมาเลย์ทางเหนือและสยาม[แก้]

อังกฤษและฝรั่งเศสกดดันสยามให้ส่งมอบดินแดนในอินโดจีนและคาบสมุทรมาเลย์

ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 บริษัทอินเดียตะวันออกสนใจเฉพาะการค้ากับรัฐมาเลย์เท่านั้น อิทธิพลของสยามต่อรัฐมาเลย์ทางเหนือโดยเฉพาะเกอดะฮ์ กลันตัน ตรังกานูและปัตตานี ทำให้การค้าของบริษัทไม่ราบรื่น ใน พ.ศ. 2369 บริษัทได้ลงนามในสัญญาลับซึ่งเป็นที่รู้จักในทุกวันนี้ว่าสนธิสัญญาเบอร์นีกับสยาม รัฐมาเลย์ทั้งสี่รัฐไม่ได้ปรากฏในสัญญา อังกฤษยอมรับอธิปไตยของสยามเหนือรัฐเหล่านี้ สยามยอมรับอธิปไตยของอังกฤษเหนือปีนังและจังหวัดเวลเลสเลย์ และยอมให้บริษัทเข้ามาค้าขายในกลันตันและตรังกานูได้

อีก 83 ปีต่อมา มีสนธิสัญญาใหม่คือสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม พ.ศ. 2452 หรือสนธิสัญญากรุงเทพฯ สยามยกเลิกการอ้างสิทธิ์เหนือเกอดะฮ์ ปะลิส ตรังกานู และกลันตัน ในขณะที่ปัตตานียังอยู่ในเขตแดนของสยาม ปะลิสเคยเป็นส่วนหนึ่งของเกอดะฮ์ แต่สยามได้เข้าไปยึดครองและแยกออกจากเกอดะฮ์ สตูลซึ่งเคยเป็นดินแดนหนึ่งของเกอดะฮ์ ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยามในสนธิสัญญาเดียวกัน ปัตตานีต่อมาถูกแบ่งเป็น 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส หลังจากที่รัชกาลที่ 5 ได้ตัดสินใจลงนามในสนธิสัญญานี้กับอังกฤษ ซึ่งเป็นเพราะการที่ฝรั่งเศสกดดันสยามทางตะวันออกมากขึ้น ทำให้สยามตัดสินใจร่วมมือกับอังกฤษ ข้อตกลงในสนธิสัญญานี้เป็นที่มาของแนวชายแดนไทย-มาเลเซียในปัจจุบัน

สุลต่านของมาเลย์ไม่ยอมรับข้อตกลงนี้ แต่อ่อนแอเกินกว่าจะต่อต้านอิทธิพลของอังกฤษ ในเกอดะฮ์ หลังการลงนามในสนธิสัญญา จอร์จ แมกซ์เวลได้เป็นที่ปรึกษาสุลต่านรัฐเกอดะฮ์ อังกฤษเข้าครอบงำทางด้านเศรษฐกิจ การวางแผนและการประหารชีวิต ได้สร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมเกอดะฮ์กับสยามเมื่อ พ.ศ. 2455 และเกิดการปฏิรูปที่ดินใน พ.ศ. 2457 ในปะลิสมีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน สุลต่านไม่ยอมรับสนธิสัญญา พ.ศ. 2452 แต่อังกฤษได้เข้ามาปกครองโดยพฤตินัย ใน พ.ศ. 2473 รายา เชด อัลวีจึงยอมรับตัวแทนของอังกฤษเป็นที่ปรึกษาในรัฐปะลิส

สนธิสัญญาปังโกร์และเปรัก[แก้]

รายาอับดุลลอห์

เปรักเป็นรัฐที่อยู่ตามแนวชายฝั่งตะวันตกของมาเลเซีย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 – 25 เป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยดีบุก ยุโรปในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมต้องการดีบุกมาก อังกฤษและดัตช์เข้ามามีอิทธิพลในรัฐนี้ ใน พ.ศ. 2361 สยามได้สั่งให้เกอดะฮ์โจมตีเปรัก ด้วยสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงในเปรัก ทำให้อังกฤษเข้ามาปกป้องเปรักใน พ.ศ. 2369

การทำเหมืองแร่ในเปรักทำให้ต้องการผู้ใช้แรงงานมากจึงนำแรงงานจีนจากปีนังเข้ามาทำงานในเปรัก ในทศวรรษ 2383 จำนวนชาวจีนในเปรักขยายตัวขึ้น มีผู้อพยพเข้ามาใหม่ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมลับของชาวจีนสองกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือคี ฮิน และไฮ ซัน ทั้งสองกลุ่มพยายามเพิ่มอิทธิพลของตนในเปรักและมักปะทะกันบ่อยครั้ง และงะห์ อิบราฮิม มนตรีบาซาร์ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ในขณะเดียวกัน มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นในราชวงศ์ของเปรัก สุลต่านอาลีสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2414 และผู้ที่จะครองราชย์สมบัติต่อมาคือรายา อับดุลลอห์ แต่พระองค์ไม่ปรากฏตัวระหว่างพิธีศพของสุลต่าน ทำให้รายาอิสมาอีลขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่านองค์ต่อไปของเปรัก รายาอับดุลลอห์เมื่อได้ทราบข่าวนี้ พระองค์ไม่ยอมรับและพยายามแสวงหาความช่วยเหลือทางการเมืองหลายช่องทางจากผู้ปกครองท้องถิ่นในเปรักและชาวอังกฤษที่พระองค์เคยทำธุรกิจด้วย ทำให้เกิดตัวแทนในการต่อสู้เพื่อราชบัลลังก์ ในกลุ่มของชาวอังกฤษนี้ มีพ่อค้าชาวอังกฤษ ดับบลิว เอช เอ็ม รีด รายายอมรับให้เขาเป็นที่ปรึกษาชาวอังกฤษ ถ้าอังกฤษช่วยให้ตนได้เป็นผู้ปกครองเปรัก

ผู้ปกครองนิคมช่องแคบในขณะนั้นคือ เซอร์ เฮนรี ออร์ดและเป็นเพื่อนกับงะห์ อิบราฮิมซึ่งมีความขัดแย้งกับรายาอับดุลลอห์มาก่อน ด้วยความช่วยเหลือของออร์ด งะห์ อิบราฮิมส่งทหารซีปอยจากอินเดียไปยับยั้งความพยายามของรายาอัลดุลลอห์ในการอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์และควบคุมสมาคมลับของชาวจีน ใน พ.ศ. 2416 สำนักงานอาณานิคมในลอนดอนได้แต่งตั้งเซอร์ แอนดริว คลาร์กมาทำหน้าที่แทนออร์ด และคลาร์กได้วางรากฐานในการครอบครองมลายาของอังกฤษ เหตุเพราะลอนดอนกังวลว่านิคมช่องแคบจะต้องพึ่งพารัฐมาเลย์อื่นๆมากขึ้นทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งเปรัก เมื่อคลากร์มาถึงสิงคโปร์ พ่อค้าชาวอังกฤษจำนวนมากรวมทั้งรีดมีความใกล้ชิดรัฐบาลมากขึ้น คลากร์ได้รับรู้ปัญหาของรายาอับดุลลอห์ คลากร์ใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มอิทธิพลของอังกฤษ นำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาปังโกร์เมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2416 คลากร์ยอมรับรายาอับดุลลอห์เป็นสุลต่านของเปรัก และ เจ ดับบลิว ดับบลิว เบิร์ชเป็นตัวแทนอังกฤษในเปรัก

สลังงอร์[แก้]

กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมลายา ยังคงเป็นเมืองหลวงของมาเลเซียปัจจุบัน

เช่นเดียวกับเปรัก สลังงอร์เป็นรัฐมาเลย์อีกรัฐหนึ่งที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีเหมืองแร่จำนวนมาก มีเหมืองดีบุกฮูลูสลังงอร์อยู่ทางเหนือ ฮูลูกลังอยู่ตอนกลาง และลูกุตอยู่ทางใต้ใกล้เนอเกอรีเซิมบีลัน เมื่อราว พ.ศ. 2383 ภายใต้การนำของรายายูมาอัตจากรีเยา เหมืองแร่ดีบุกกลายเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ทำให้สุลต่านมูฮัมหมัดแห่งสลังงอร์ยกการบริหารลูกุตแก่รายายูมาอัตใน พ.ศ. 2389 ในทศวรรษ 2393 บริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยผู้ตั้งหลักแหล่งใหม่จากนิคมช่องแคบ มีคนงานชาวจีนไม่น้อยกว่า 20,000 คน รายายูมาอัตสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2407 ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ลูกุตถูกส่งคืนและถูกลืมไป

ฮูลูกลังได้เติบโตขึ้นมาแทนในฐานะแหล่งแร่ดีบุก ระหว่าง พ.ศ. 2392 – 2393 รายาอับดุลลอห์ บินรายา ยาอาฟาร์ ซึ่งเป็นญาติของรายายูมาอัต ได้รับการมอบหมายจากสุลต่านให้บริหารกลัง ความสำคัญทางเศรษฐกิจของลูกุตค่อยๆลดลง ในขณะที่ฮูลูกลังเพิ่มขึ้น ดึงดูดผู้ใช้แรงงานจำนวนมากมาที่นี่ โดยเฉพาะผู้อพยพจากจีนที่เคยทำงานที่ลูกุต ผู้ที่มีความสำคัญในการดึงดูดให้ชาวจีนเคลื่อนย้ายจากลูกุตไปยังฮูลูกลังคือซูตัน ปัวซาจากอัมปัง เขาค้าขายกับชาวเหมืองแร่ในฮูลูกลังด้วยสินค้าตั้งแต่ข้าวจนถึงฝิ่น และทำให้เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานในราว พ.ศ. 2403 เพิ่มขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์และกลัง กัปตันชาวจีนชื่อ ยับ อะห์ลอยเป็นผู้มีบทบาทในการสร้างกัวลาลัมเปอร์

ดังที่เกิดขึ้นในเปรัก การพัฒนาอย่างรวดเร็วดึงดูดการลงทุนจากบริติชในนิคมช่องแคบ เศรษฐกิจของสลังงอร์มีความสำคัญเพียงพอที่นิคมช่องแคบจะเห็นเป็นคู่แข่ง อังกฤษจึงต้องการเข้ามามีอิทธิพลในการเมืองของสลังงอร์ รวมทั้งการเกิดสงครามกลางเมื องที่เรียกสงครามกลังที่เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2410 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2416 เรือจากปีนังถูกโจมตีโดยโจรสลัดใกล้กัวลาลังกัตของสลังงอร์ โจรสลัดถูกจับใกล้ยูกราและถูกสั่งประหารชีวิต สุลต่านได้ขอความช่วยเหลือจากเซอร์แอนดริว คลากร์ แฟรงก์ สเวตเตนแฮมได้มาเป็นที่ปรึกษาของสุลต่าน หลังจากนั้นอีกราวปีนึง นักกฎหมายจากสิงคโปร์ เจ จี ดาวิดสัน ได้เป็นตัวแทนอังกฤษในสลังงอร์ สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ. 2417

ซูไงอูยง เนอเกอรีเซิมบีลัน[แก้]

ธงของเนอเกอรีเซิมบีลัน

เนอเกอรีเซิมบีลันเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตดีบุกในมลายา ใน พ.ศ. 2412 เกิดความขัดแย้งระหว่างเติงกูอันตะห์และเต็งกูอาหมัด ตุงกัลในการสืบทอดอำนาจปกครองเนอเกอรีเซิมบีลัน ทำให้สหพันธ์ถูกแบ่งแยกและทำลายความน่าเชื่อถือของเนอเกอรีเซิมบีลันในฐานะผู้ผลิตดีบุก

ซูไงอูยงเป็นรัฐหนึ่งภายในสหพันธ์ และเป็นพื้นที่ที่มีดีบุกมาก ปกครองโยดาโต๊ะกลานา เซ็นเดิง แต่มีผู้ปกครองอีกคนหนึ่งคือดาโต๊ะบันดาร์ กูลบ ตุงกิล ซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากกว่าดาโต๊ะกลานา ดาโต๊ะบันดาร์ได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นมากกว่า รวมทั้งจากผู้อพยพชาวจีนภายในเหมืองในซูไงอูยง การที่ดาโต๊ะกลานามีอำนาจจำกัดเขาจึงต้องพึ่งพาผู้ปกครองอีกคน คือ ซายิด อับดุลเราะห์มาน ผู้บังคับกองเรือหลวง ความสำคัญที่ตรึงเครียดนี้ก่อให้เกิดปัญหาในซูไงอูยง

ก่อน พ.ศ. 2416 หนึ่งปี ดาโต๊ะกลานามีอิทธิพลมากขึ้นในซูไงลิงกีและเริมเบาซึ่งเป็นอีกรัฐหนึ่งในสหพันธ์ เขาพยายามจะดึงซูไงลิงกีออกจากการควบคุมของซูไงอูยง เนอเกอรีเซิมบีลันในขณะนั้นมีพื้นที่ติดต่อกับมะละกาผ่านทางซูไงลิงกีและมีการค้ามหาศาลผ่านบริเวณซูไงลิงกีในแต่ละปี การครอบครองซูไงลิงกีจะทำให้ได้ภาษีจำนวนมาก หลังจากดาโต๊ะกลานาเสียชีวิตใน พ.ศ. 2416 ซายิด อับดุล้ราะห์มานเข้ายึดครองสถานที่นี้ ขึ้นดำรงตำแหน่งดาโต๊ะกลานาคนใหม่ การเสียชีวิตนี้ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างดาโต๊ะกลานากับดาโต๊ะบันดาร์ดีขึ้น แต่กลับแย่ลง

เมื่อคลาร์กเข้ามาเป็นผู้บริหารนิคมช่องแคบ ดาโต๊ะกลานาได้เข้ามาพึ่งอังกฤษเพื่อให้เขาคงสถานะในซูไงลิงกีต่อไปได้ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2417 เซอร์แอนดริว คลาร์กได้รับข้อเสนอของดาโต๊ะกลานาในการให้อังกฤษเข้าไปในซูไงอูยงและเนอเกอรีเซิมบีลัน คลาร์กยอมรับให้ดาโต๊ะกลานาเป็นผู้นำซูไงอูยง อังกฤษและดาโต๊ะกลานาลงนามในสนธิสัญญาให้ดาโต๊ะกลานาปกครองซูไงอูยง ปกป้องการค้า และป้องกันการต่อต้านอังกฤษที่นั่น ดาโต๊ะบันดาร์ไม่ได้รับเชิญให้ไปร่วมลงนาม ดาโต๊ะบันดาร์และผู้ปกครองท้องถิ่นไม่ยอมรับการเข้ามาสู่ซูไงอูยงของอังกฤษ ดาโต๊ะกลานาจึงไม่ได้รับความนิยม

อีกไม่นาน บริษัทของวิลเลียม เอ พิกเกอริง จากนิคมช่องแคบถูกส่งไปยังซูไงอูยง เพื่อประเมินสถานการณ์ อังกฤษได้ส่งทหารมาช่วยพิกเกอริงรบกับดาโต๊ะบันดาร์ สิ้นปี พ.ศ. 2417 ดาโต๊ะกลานาหนีไปเกอปายัง อังกฤษได้ให้ดาโต๊ะกลานาลี้ภัยไปยังสิงคโปร์ ในปีต่อมา อิทธิพลของอังกฤษเพิ่มขึ้นจนสามารถตั้งที่ปรึกษาและให้ดาโต๊ะกลานาเป็นรัฐบาลปกครองซูไงอูยงได้

ปาหัง[แก้]

อังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารปาหังหลังจากสงครามกลางเมืองระหว่างผู้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ 2 คน ระหว่าง พ.ศ. 2401 - 2404

พัฒนาการของมาเลเซีย

การรวมศูนย์[แก้]

ในการบริหารรัฐมาเลย์และการปกป้องเหมืองแร่ดีบุกและยางพารา อังกฤษพยายามเข้ามาควบคุมการบริหารโดยจัดตั้งสหพันธรัฐระหว่างสี่รัฐคือ สลังงอร์ เปรัก เนอเกอรีเซิมบีลันและปาหัง เรียกว่าสหพันธรัฐมาเลย์ มีกัวลาลัมเปอร์เป็นศูนย์กลาง การบริหารในรูปสหพันธ์นี้ สุลต่านยังคงมีอยู่แต่มีอำนาจจำกัด ในฐานะเป็นตัวแทนวัฒนธรรมมาเลย์และอิสลาม การออกกฎหมายเป็นหน้าที่ของสภาสหพันธรัฐ แม้ว่าสุลต่านจะมีอำนาจน้อยกว่ารัฐนอกสหพันธรัฐมาเลย์ แต่สหพันธรัฐก็พอใจในการทำให้ทันสมัย การเป็นสหพันธรัฐมีข้อดีในด้านความร่วมมือทางการพัฒนาเศรษฐกิจ มีหลักฐานในยุคแรกที่ปาหังฟื้นตัวจากทุนจากสลังงอร์และเปรัก

ในทางตรงกันข้าม รัฐมาเลย์นอกสหพันธรัฐ รักษาสถานะกึ่งเอกราช มีอำนาจในการปกครองตนเองมากกว่า มีอังกฤษเป็นที่ปรึกษา ปะลิส ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมลายาหลังจากสนธิสัญญา พ.ศ. 2452 ยะโฮร์ที่เป็นเอกราชได้ส่งมอบสิงคโปร์ให้แก่อังกฤษในช่วงแรกก่อนจะถูกบีบให้ยอมรับอังกฤษเป็นที่ปรึกษาใน พ.ศ. 2457 ถือเป็นรัฐมาเลย์รัฐสุดท้ายที่สูญเสียเอกราช

ยุคนี้เป็นการรวมศูนย์อำนาจอย่างหลวม ๆ โดยยังคงมีสุลต่านแต่ไม่มีอำนาจในการปกครอง แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างรัฐที่เป็นสหพันธรัฐในอนาคตคือสหพันธรัฐมลายาและมาเลเซีย ซึ่งต่างจากประเทศอื่นในบริเวณเดียวกันที่มีการรวมศูนย์อย่างแน่นหนากว่า

การแยกตัวออกจากศูนย์กลาง[แก้]

มลายาใน พ.ศ. 2465.
รัฐนอกสหพันธรัฐมลายูแสดงด้วยสีน้ำเงิน
มาเลเซีย สหพันธรัฐมลายา (FMS) แสดงด้วยสีเหลือง
นิคมช่องแคบ แสดงด้วยสีแดง

สงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่มีผลต่อมลายาโดยตรง นอกจากยุทธการปีนังที่เกิดการสู้รบระหว่างเยอรมันและรัสเซียที่จอร์จทาวน์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นี้ อังกฤษใช้นโยบายแยกการรวมศูนย์ในมลายาเพื่อให้รัฐนอกสหพันธรัฐรวมเข้าในสหพันธรัฐ

การถดถอยทางเศรษฐกิจ[แก้]

ในช่วงทศวรรษ 2473 เป็นครั้งที่เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ทำให้มลายาได้รับผลกระทบไปด้วย

สงครามโลกครั้งที่ 2[แก้]

มลายาและสิงคโปร์อยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นระหว่าง พ.ศ. 2485 – 2488 ญี่ปุ่นได้ให้รางวัลแก่ประเทศไทยโดยมอบสี่รัฐมาลัยคืนให้ เมื่อสงครามโลกยุติลง มลายาและสิงคโปร์อยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพอังกฤษ

สหภาพมลายาและมลายาอิสระ[แก้]

การประท้วงต่อต้านสหภาพมลายาโดยชาวมาเลย์

อังกฤษได้ประกาศจัดตั้งสหภาพมลายาเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2489 สิงคโปร์ไม่ได้รวมอยู่ในสหภาพแต่เป็นดินแดนอาณานิคมเอกเทศ สหภาพใหม่นี้ถูกต่อต้านจากชาวมาเลย์ท้องถิ่น โดยมีสาเหตุมาจากข้อกำหนดเรื่องพลเมืองที่หลวม และลดอำนาจของผู้ปกครองมาเลย์ หลังจากแรงกดดันอย่างหนัก สหภาพถูกแทนที่ด้วยสหพันธรัฐมลายาเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ. 2491 สหพันธ์นี้ได้รับเอกราชเมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ต่อมา ได้รวมเป็นสหพันธ์ที่ใหญ่ขึ้นเรียก มาเลเซีย เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2506 โดยรวมสิงคโปร์ ซาราวัก และบอร์เนียวเหนือ

อ้างอิง[แก้]

หมายเหตุ
  1. Cheah Boon Kheng (1983). Red Star over Malaya: Resistance and Social Conflict during and after the Japanese Occupation, 1941-1946. Singapore University Press. p. 28. ISBN 9971695081.
บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]