ยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะ
ยุทธนาวีช่องแคบสึชิมะ | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามรัสเซีย–ญี่ปุ่น | |||||||
![]() ภาพวาด พลเรือเอกโทโงแปรธง Z บนสะพานเดินเรือของเรือธง มิกาซะ ก่อนการปะทะ | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
![]() |
![]() | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
![]() ![]() ![]() |
![]() ![]() ![]() | ||||||
กำลัง | |||||||
ทั้งหมด: 89 ลำ 4 เรือประจันบาน 27 เรือลาดตระเวน 21 เรือพิฆาต 37 เรือตอร์ปิโดเสริมอาวุธ |
ทั้งหมด: 28 ลำ 8 เรือประจัญบาน 3 เรือประจัญบานชายฝั่ง 8 เรือลาดตระเวน 9 เรือพิฆาต | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
117 เสียชีวิต 583 บาดเจ็บ 3 เรือตอร์ปิโดอับปาง |
4,380 เสียชีวิต 5,917 เชลย 21 เรือรบอับปาง 7 เรือรบถูกยึด 6 เรือรบโดนปลดอาวุธ |
ยุทธนาวีช่องแคบสึชิมะ (รัสเซีย: Цусимское сражение, Tsusimskoye srazheniye), หรือที่รู้จักกันในชื่อ ยุทธนาวีทะเลญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 日本海海戦, นิฮงไก-ไกเซ็ง) เป็นการรบทางทะเลครั้งสุดท้ายระหว่างกองเรือของจักรวรรดิรัสเซียและจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามรัสเซีย–ญี่ปุ่น โดยที่กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นสามารถมีชัยชนะอย่างขาดลอยเหนือกองเรือรัสเซีย นับว่าเป็นยุทธนาวีหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สร้างความอับยศแก่กองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซียอย่างยิ่ง และยังเป็นยุทธนาวีที่มีการนำระบบวิทยุโทรเลขมาใช้ในการรบทางทะเลเป็นครั้งแรก
บทนำ
[แก้]จักรวรรดิรัสเซียที่ต้องทำสงครามกับญี่ปุ่นอยู่แรมปี และตลอดมารัฐบาลแห่งพระเจ้าซาร์ที่กรุงมอสโก ต้องคอยรับแต่ข่าวการรบที่ฝ่ายตนเองเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำอยู่เสมอ ๆ ในที่สุด ตุลาคม ค.ศ. 1904 จักรพรรดิซาร์นีโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย จึงส่งกองเรือบอลติกที่ประจำอยู่ที่ยุโรปมาสนับสนุนกองเรือตะวันออก กองเรือบอลติก (หรือ กองเรือแปซิฟิกที่ 2) อยู่ภายใต้การบัญชาการของ พลเรือตรี โรซเดสท์เวนสกี
ด้วยระยะทางกว่า 18,000 ไมล์ ทำให้กองเรือรัสเซีย อยู่ในสภาพที่อ่อนด้อยเกินกว่าจะต่อสู้ และกองเรือบอลติกนั้น มีเพียงเรือรบใหม่ ชั้น บอร์โอดิโน (Borodino) อยู่เพียงแค่ 4 ลำ ในขณะที่เรือรบที่เหลือทั้งหมดเป็นเรือที่มีการบำรุงรักษาไม่ดีพอ การเดินทางที่ยาวนาน ตลอดจนขาดการบำรุงรักษา ทำให้กองเรือรัสเซียพบกับปัญหามากมาย ซึ่งส่งผลให้เรือรบรัสเซียไม่สามารถแล่นได้อย่างเต็มความเร็ว ในขณะที่เรือรบของญี่ปุ่น สามารถแล่นได้ถึงความเร็วที่ 15 น็อต (28 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ในขณะที่กองเรือรัสเซีย สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 14 น็อต (26 กิโลเมตร/ชั่วโมง) เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ
-
เส้นทางการเดินเรือของกองเรือบอลติก
-
แผนที่แสดงถึงเส้นทางของทั้งสองกองเรือ

กลยุทธ์ของญี่ปุ่น
[แก้]เรือต่างในกองเรือ ได้แก่ เรือประจัญบาน, เรือลาดตระเวน ตลอดจนเรืออื่น ๆ จะถูกแบ่งออกเป็นหมู่เรือย่อย ๆ โดยแต่ละหมู่เรือจะรับคำบัญชาจากเรือธง ในยุทธนาวีช่องแคบสึชิมะ พลเรือเอกโทโง เฮฮาจิโร เป็นผู้บัญชาการกองเรือจากเรือธง มิกาซะ ในขณะที่หมู่เรือต่างๆนั้น จะมีผู้บัญชาการยศนายพลเรือบัญชาการอยู่ และเรือรบแต่ละลำ จะมีนายทหารเรือชั้นนาวาเอก, นาวาโท หรือ นาวาตรี เป็นผู้บัญชาการเรือ ตามแต่ขนาดของเรือ ในกระบวนเรือธงนั้น เรือธงมิกาซะ แล่นนำ และมีเรือรบชิกิชิมะ, ฟุจิ และ อาซาฮิ แล่นตาม
จากข้อมูลของกองเรือข้าศึกที่ได้รับจากหน่วยสอดแนม ทำให้ พลเรือเอกโทโง สามารถจัดวางตำแหน่งเรือต่าง ๆ ในกองเรืออย่างเหมาะสมได้ แม้กระทั่งตอนที่กองเรือญี่ปุ่นของกลับฐานทัพ นายพลโทโงก็ยังคงรักษารูปแบบกระบวนเรือไว้เหมือนเดิม โดยการที่กองเรือมีเรือธงมิกะซะ แล่นนำ
ในกระบวนเรือนั้น การเปลี่ยนทิศทางของกระบวนเรือใด ๆ จะยึดเอาเรือที่แล่นนำหน้าเป็นหลัก โดยที่เรือลำอื่น ๆ ที่แล่นตามมา จะต้องแล่นไปในทิศทางตามไปด้วย หากมีเหตุสุดวิสัยที่เรือลำใดลำหนึ่งต้องแล่นออกจากกระบวน เรือที่ตามมาก็จะต้องแล่นไปในทิศทางตามเรือลำนั้น กลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธแบบเดียวกับกองเรือผสมฝรั่งเศส-สเปน ในยุทธนาวีทราฟัลการ์ แม้ว่าการให้เรือในกองเรือทั้งหมดเลี้ยวพร้อม ๆ กัน (อาทิ การให้เรือในกองเรือทั้งหมดเลี้ยว 45° พร้อมกัน แทนที่จะให้เรือที่อยู่ข้างหน้าเลี้ยวก่อนและให้เรือที่ลำมาเลี้ยวตาม) อาจจะทำให้กองเรือทั้งหมดแล่นไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น แต่ก็จะทำให้เสียรูปกระบวนเรือ ซึ่งจะทำให้แผนการรบเกิดความสับสน ซึ่งเป็นสิ่งที่นายพลโทโงต้องการหลีกเลี่ยง
เหตุการณ์
[แก้]ด้วยสภาพของกองเรือที่ย่ำแย่และไม่พร้อมออกรบ พลเรือตรี โรซเดสท์เวนสกี ต้องการที่จะนำกองเรือเข้าเทียบท่าที่ฐานทัพเรือในวลาดีวอสตอค ให้เร็วที่สุด จึงตัดสินใจเลือกเดินเรือผ่านช่องแคบสึชิมะที่ใกล้กว่า แต่ก็มีความอันตรายกว่า ในคืนวันที่ 26 พฤษภาคม 1905 กองเรือบอลติกได้อาศัยช่วงเวลากลางคืนเคลื่อนพลผ่านช่องแคบสึชิมะ คืนนั้นเป็นคืนที่หมอกลงซึ่งเอื้อต่อการพรางตัวของกองเรือรัสเซีย แต่เวลา 02:45 น. เรือลาดตระเวน ชินาโนมารุ ขนาด 6,300 ตันของญี่ปุ่นตรวจพบดวงไฟสามดวงในแนวระนาบ จึงได้เข้าไปใกล้เพื่อตรวจสอบ แล้วก็พบว่าเป็นเรือพยาบาล โอเร ของรัสเซีย ซึ่งสามารถแล่นผ่านไปได้ตามกฎหมายสงคราม เรือชินะโนะมะรุตามติดอยู่ห่าง ๆ โดยไม่ให้เรือพยาบาลรับรู้ จนกระทั่งเมื่อเวลา 04:30 เรือชินาโนมารุก็แสดงตนเข้าหาเรือพยาบาล เมื่อเรือโอเรเห็นเรือชินาโนมารุ ก็เข้าใจผิดว่านั่นคือเรือรบลำอื่นของรัสเซีย จึงส่งสัญญาณเพื่อยืนยันไปยังเรือชินะโนะมะรุ ทำให้ทราบว่ามีเรือลำอื่นของรัสเซียอยู่ใกล้ ๆ เรือชินะโนะมะรุรีบส่องไฟดูโดยรอบและพบเงาเรือรัสเซียนับสิบลำในสายหมอก เรือชินาโนมารุจึงรีบวิทยุแจ้งไปยังพลเรือเอกโทโงในเวลา 04:55 น. ว่าพบกองเรือรัสเซีย โอกาสของกองเรือรัสเซียที่จะไปถึงวลาดีวอสตอคจึงมลายหายไปในทันใด
ก่อนปะทะ
[แก้]เวลา 06:34 น. ก่อนที่กองเรือผสมของพลเรือเอกโทโงจะออกจากฐานทัพ นายพลโทโงได้ส่งโทรเลขแจ้งไปยังเสนาบดีกองทัพเรือที่กรุงโตเกียวว่า
ตามที่ได้มีการแจ้งเตือนการตรวจพบกองเรือข้าศึกแล้วนั้น บัดนี้ กองเรือผสมจะเริ่มปฏิบัติการ โจมตีและทำลายเป้าหมายในทันที วันนี้สภาพอากาศดีแต่มีคลื่นสูง[2]
ประโยคสุดท้ายของโทรเลข "...วันนี้สภาพอากาศดีแต่มีคลื่นสูง" เป็นการเปรยถ่ายทอดความรู้สึกของนายพลโทโง ที่ว่า ผลการรบในวันนี้คงจะเป็นที่ยินดี แต่ถึงอย่างไร การออกรบย่อมมีความเสี่ยง
ในขณะที่ที่นายพลโทโงกับเรือธง มิกาซะ ของเขา กำลังนำกองเรือแห่งองค์จักรพรรดิออกสู่ทะเลเพื่อเผชิญหน้ากองเรือรัสเซีย ขณะเดียวกัน กองเรือลาดตระเวนญี่ปุ่นที่สอดแนมอยู่ ได้รายงานสถานการณ์ทางวิทยุแทบจะทุกนาที ถึงการวางตำแหน่งเรือและข้อมูลต่าง ๆ ของกองเรือรัสเซีย ขณะนั้นมีมีหมอกลงทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลง มีผลต่อการส่งสัญญาณธงและสัญญาณไฟสื่อสารระหว่างเรือเป็นไปอย่างลำบากขึ้น กองเรือญี่ปุ่นที่มีระบบวิทยุในการสื่อสาร จึงมีความได้เปรียบในเรื่องนี้ ตามบันทึกของพลเรือเอกโทโงที่ว่า

แม้ว่าจะมีหมอกหนาปกคลุมท้องทะเลซึ่งทำให้ไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดเกินกว่าห้าไมล์ แต่เราก็ทราบถึงสภาวะทั้งหมดของกองเรือศัตรูที่อยู่ห่างออกไป 30 หรือ 40 ไมล์อย่างชัดเจนแล้ว ประหนึ่งว่าพวกเขากำลังถูกเราจับจ้องด้วยสายตามากมาย[3]
เวลา 13:40 น. กองเรือทั้งสองสามารถมองเห็นกันและกัน และต่อมา เวลา 13:55 น. นายพลโทโงได้สั่งให้แปรธง Z ขึ้น เพื่อประกาศแก่กองเรือทั้งหมดว่า:
ชะตากรรมของจักรวรรดิเรา ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของศึกครั้งนี้ ขอให้ทหารทุกนายปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ถึงที่สุด[4]
เวลา 14:45 น. นายพลโทโง ได้กระทำการ ตัดกระบวนเรือรูปตัว T กับกองเรือรัสเซีย เพื่อที่กองเรือญี่ปุ่นจะได้สามารถโจมตีด้วยหมู่ปืนรองจากด้านข้างที่มีจำนวนมากกว่า ในขณะที่เรือรัสเซียจะสามารถตอบโต้จากปืนหลักไม่กี่กระบอกที่อยู่หน้าเรือได้เท่านั้น
ดูเพิ่ม
[แก้]- ยุทธนาวีที่ช่องแคบอื่น ๆ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 100 Battles, Decisive Battles that Shaped the World, Dougherty, Martin, J., Parragon, p.144-45
- ↑ Translated by Andrew Cobbing in Shiba Ryotaro, Clouds Above the Hill, volume 4, p. 212. Routledge, 2013.
- ↑ Admiral Togo’s report on the Battle of Tsushima, as published by the Japanese Imperial Naval Headquarters Staff, Sept. 1905; http://www.russojapanesewar.com/togo-aar3.html เก็บถาวร 2010-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Koenig, Epic Sea Battles, p. 141.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วีดีทัศน์ยุทธนาวีช่องแคบสึชิมะ จากภาพยนตร์เรื่อง Cloud above the Slope Youtube
- History.com— This Day In History: The Battle of Tsushima Strait
- Battlefleet 1900—Free naval wargame rules covering the pre-dreadnought era, including the Russo-Japanese War.
- Russojapanesewar.com—Contains a complete order of battle of both fleets. It also contains Admiral Tōgō's post-battle report and the account of Russian ensign Sememov.